Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-06-01

มาตรา 1070 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 1070 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1070” คืออะไร? 


“มาตรา 1070” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1070 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ เมื่อใดห้างหุ้นส่วนซึ่งจดทะเบียนผิดนัดชำระหนี้ เมื่อนั้นเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนนั้นชอบที่จะเรียกให้ชำระหนี้เอาแต่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งก็ได้ “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1070” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1070 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2498/2559
โจทก์ฟ้องกองมรดกของจำเลยที่ 5 โดย ฐ. จำเลยที่ 4 ในฐานะทายาท จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 5 มีบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นเพียงพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับจำเลยที่ 5 ไม่มีหน้าที่แก้คดีแทน ตามคำให้การของจำเลยที่ 4 ปฏิเสธว่าจำเลยที่ 4 ไม่ใช่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกหรือผู้ปกครองทรัพย์ของจำเลยที่ 5 ที่ตาย หรือว่าตนไม่ยอมรับฐานะเช่นนั้นตามกฎหมาย ศาลจึงต้องไต่สวนให้ได้ความดังกล่าวและมีคำสั่งตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 83 วรรคสอง แต่ศาลล้มละลายกลางมิได้ดำเนินการ คงพิจารณาสืบพยานโจทก์ไป จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ศาลฎีกาสมควรให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับจำเลยที่ 5 เสียตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 (เดิม) และให้ศาลล้มละลายกลางดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องและมีคำพิพากษาใหม่เฉพาะจำเลยที่ 5
จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในวันฟ้องคดี จำเลยที่ 2 จึงเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างจำเลยที่ 1 ไม่มีจำกัด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070, 1077 (2) ประกอบ 1087 เมื่อศาลพิจารณาและได้ความว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้สินล้นพ้นตัวและมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด โดยที่ฟ้องของโจทก์มีคำขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายแล้วเช่นนี้ โจทก์ไม่ต้องนำสืบว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัว ถือได้ว่าโจทก์มีคำขอให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายตามห้างจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 89 โดยโจทก์ไม่จำต้องมีคำขอให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายในภายหลังอีก
คดีนี้นับแต่เสร็จการพิจารณา ศาลล้มละลายกลางนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งวันที่ 13 ธันวาคม 2553 ครั้นถึงวันนัดจำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องอ้างว่าได้เจรจาขอประนอมหนี้กับโจทก์ และขอเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งออกไปอีกหลายนัด ครั้งสุดท้ายศาลล้มละลายกลางนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งวันที่ 19 ธันวาคม 2555 อันเป็นเวลาภายหลังเสร็จการพิจารณานานถึง 2 ปีเศษ ซึ่งเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ได้กระทำโดยเร็วตามที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.วิ.พ. ม. 27
ป.พ.พ. ม. 1070, ม. 1077 (2), ม. 1087
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 83, ม. 89
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 ม. 15, ม. 28


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6017/2549
คดีนี้แม้โจทก์จะฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ก็ตาม แต่ตามหนังสือรับรองเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 2 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โดยจำเลยที่ 2 มิได้ให้การโต้แย้งว่าหนังสือรับรองเอกสารท้ายคำฟ้องดังกล่าวไม่ถูกต้องแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้สินของห้างจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070, 1077 (2), 1080 และมาตรา 1087 เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด คดีถึงที่สุดแล้วตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง จำเลยที่ 2 ซึ่งต้องร่วมรับผิดในหนี้ตามฟ้องกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ด้วย จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์โต้เถียงว่าตนเองมิใช่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวอีกได้ เมื่อหนี้ที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์มีจำนวน 5,813,980.32 บาท และจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ทั้งกรณีไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย คดีย่อมมีเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 14
ป.พ.พ. ม. 1070, ม. 1077, ม. 1080, ม. 1087


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6087/2548
เจ้าหนี้เป็นหน่วยงานราชการครอบครองต้นฉบับเอกสารอยู่แล้ว ได้นำส่งสำเนาเอกสารอันเกิดจากการรับรองความถูกต้องของเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานของรัฐ จึงรับฟังเอกสารที่เจ้าหนี้ส่งเป็นพยานเอกสารได้
เจ้าหนี้ได้มีหนังสือเตือนให้ลูกหนี้ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. นำเงินภาษีอากรไปชำระตามแบบแจ้งการประเมินจำนวน 2 ครั้ง โดยลูกหนี้ได้รับหนังสือเตือนแล้ว เป็นกรณีที่เจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการรับผิดในหนี้ภาษีอากรของห้าง นับจากวันที่ลูกหนี้ได้รับหนังสือเตือนครั้งแรกวันที่ 11 พฤศจิกายน 2537 ถึงวันที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้วันที่ 24 พฤษภาคม 2543 หนี้ดังกล่าวจึงยังไม่ขาดอายุความ 10 ปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 และมูลหนี้ค่าภาษีอากรดังกล่าวเป็นมูลหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 13 ธันวาคม 2542 อันเป็นวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด จึงไม่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 94 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลายฯ และเป็นหนี้ที่หุ้นส่วนผู้จัดการต้องรับผิดร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. ผิดนัดชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070 ประกอบมาตรา 1077 (2) โดยเจ้าหนี้ไม่จำต้องไปใช้สิทธิเรียกร้องเอากับลูกหนี้ตามมาตรา 55 แห่ง ป.วิ.พ. แต่อย่างใด กรณีไม่ต้องด้วย มาตรา 88 และ 89 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลายฯ เพราะเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิดำเนินคดีกับตัวลูกหนี้โดยตรงแล้ว
การใช้อำนาจตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 12 สั่งยึดและอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้นำออกขายทอดตลาดเพื่อหักชำระหนี้ภาษีได้นั้น เป็นกระบวนการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหนี้ และลูกหนี้มิได้โต้แย้งจำนวนหนี้ค่าภาษีอากรที่เจ้าหนี้ได้แจ้งการประเมินเรียกให้ลูกหนี้ชำระแต่อย่างใด จึงไม่ได้มีปัญหาที่ศาลจะบังคับใช้กฎหมายตามมาตรา 12 แห่ง ป.รัษฎากรฯ ที่จะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ม. 264
ป.พ.พ. ม. 1070, ม. 1077 (2)
ป.รัษฎากร ม. 12
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 88, ม. 89, ม. 94
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที