Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-06-01

มาตรา 1062 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 1062 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1062” คืออะไร? 


“มาตรา 1062” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1062 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ การชำระบัญชี ให้ทำโดยลำดับดังนี้ คือ
              (๑) ให้ชำระหนี้ทั้งหลายซึ่งค้างชำระแก่บุคคลภายนอก
              (๒) ให้ชดใช้เงินทดรองและค่าใช้จ่ายซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้ออกของตนไปเพื่อจัดการค้าของห้าง
              (๓) ให้คืนทุนทรัพย์ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคนได้ลงเป็นหุ้น
              ถ้ายังมีทรัพย์เหลืออยู่อีกเท่าไร ก็ให้เฉลี่ยแจกเป็นกำไรในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วน “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1062” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1062 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2109/2564
การชำระบัญชีนั้น เป็นกระบวนการที่ผู้ชำระบัญชีเข้าทำการตรวจสอบบัญชี ทรัพย์สินและหนี้สินของห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน หากปรากฏว่าห้างฯ มีหนี้ค้างชำระอยู่แก่บุคคลภายนอก ผู้ชำระบัญชีก็ต้องจัดการนำทรัพย์สินของห้างฯ ชำระหนี้ให้แก่บุคคลภายนอกให้เสร็จสิ้นไป ในทางกลับกัน หากปรากฏว่าห้างฯ มีสิทธิเรียกร้องทรัพย์สินใด ๆ อยู่แก่บุคคลภายนอก ผู้ชำระบัญชีก็ต้องดำเนินการเรียกร้องให้บุคคลภายนอกส่งมอบทรัพย์สินดังกล่าวคืนเข้ากองทรัพย์สินของห้างฯ หากบุคคลภายนอกซึ่งมีทรัพย์สินที่ต้องชำระหรือส่งมอบคืน ไม่ยอมชำระหรือส่งมอบคืน ผู้ชำระบัญชีก็ย่อมต้องฟ้องร้องเป็นคดีขึ้นสู่ศาลเป็นเรื่อง ๆ ไป คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 3 มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) แทนห้างฯ ซึ่งมิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล กรณีถือว่าจำเลยที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์แทนผู้เป็นหุ้นส่วน จึงเป็นหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีที่จะต้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 3 โอนที่ดินดังกล่าวคืนมายังกองทรัพย์สินของห้างฯ เพื่อจัดการชำระบัญชีในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วน หากจำเลยที่ 3 ไม่ยอมโอนที่ดินคืน ผู้ชำระบัญชีก็ต้องฟ้องร้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีต่อศาล เพื่อให้ศาลบังคับให้จำเลยที่ 3 โอนที่ดินดังกล่าวคืน เพื่อผู้ชำระบัญชีจะได้รวบรวมและจัดการทรัพย์สินดังกล่าวต่อไปตามกฎหมาย การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ และขอให้บังคับจำเลยที่ 3 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์ และส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์หรือแก่ผู้ชำระบัญชีเป็นการไม่ชอบ เพราะหน้าที่ดังกล่าวเป็นหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีต้องดำเนินการในการชำระบัญชีของห้างฯ ตามกฎหมาย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1057, ม. 1062, ม. 1063


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 264/2564
เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า ป. บิดาโจทก์กับจำเลย ซึ่งเป็นหุ้นส่วนประกอบกิจการค้าไม้และจำหน่ายโลงศพมีผลกำไรจากการประกอบกิจการซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนต้องแบ่งปันกัน และจำเลยเบียดบังผลกำไรในส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของ ป. ไปโดยทุจริต ผลกำไรอันจำเลยเบียดบังไปมีจำนวนเท่าใดย่อมถือเป็นข้อเท็จจริงและรายละเอียดอันเป็นมูลกรณีของความผิด โจทก์จึงต้องแสดงในฟ้องให้ชัดเจนว่าเมื่อห้างหุ้นส่วนสามัญเลิกกันเนื่องจากผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งตายแล้ว สินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนที่เหลืออยู่ภายหลังการชำระหนี้ที่กฎหมายกำหนดลำดับก่อนหลังไว้ อันถือเป็นผลกำไรของห้างหุ้นส่วนนั้นมีอยู่จำนวนเท่าใด และผลกำไรในส่วนของ ป. ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยเบียดบังเอาไปโดยทุจริตมีอยู่เท่าใด เพื่อที่จำเลยจะได้ตรวจสอบและต่อสู้คดีได้อย่างถูกต้องว่าผลกำไรนั้นหากมีอยู่จริง ใช่ตามจำนวนที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาหรือไม่ โจทก์จะบรรยายฟ้องเพียงว่าห้างหุ้นส่วนมีผลกำไรแล้วสืบพยานในภายหลังเพื่อแสดงให้เห็นจำนวนผลกำไรในส่วนของ ป. หาได้ไม่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.อ. ม. 352
ป.พ.พ. ม. 1055, ม. 1061, ม. 1062
ป.วิ.อ. ม. 158 (5)


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7028/2561
เมื่อห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเลิกกันและไม่ปรากฏว่าหุ้นส่วนได้ตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่น จึงต้องจัดให้มีการชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1061 วรรคหนึ่ง ซึ่งมาตรา 1061 วรรคสาม บัญญัติให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดด้วยกันจัดทำหรือให้บุคคลอื่นซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้ตั้งแต่งขึ้นนั้นเป็นผู้จัดทำ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า หุ้นส่วนได้ตกลงร่วมกันชำระบัญชีโดยได้เริ่มต้นกระบวนการชำระบัญชีทำการรวบรวมรายรับรายจ่ายเพื่อการจัดทำบัญชีและทำการชำระหนี้ค้างชำระแก่ธนาคารผู้ให้กู้ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกแล้ว แต่เกิดข้อโต้แย้งขึ้นในขั้นตอนสรุปผลกำไรขาดทุนของห้างหุ้นส่วนเพราะผู้เป็นหุ้นส่วนอ้างค่าใช้จ่ายแตกต่างกัน เป็นเหตุให้ไม่สามารถจัดการชำระบัญชีต่อไปได้ จึงเป็นกรณีที่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนคนหนึ่ง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้คืนทุนและแบ่งผลกำไร
โจทก์จะมีสิทธิได้รับคืนทุนและส่วนแบ่งผลกำไรของห้างหุ้นส่วนต่อเมื่อได้มีการจัดสรรสินทรัพย์และหนี้สินของห้างหุ้นส่วนและทำการชำระหนี้ของห้างหุ้นส่วนครบถ้วนแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1062 เมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสองยังมีข้อโต้แย้งกันเกี่ยวกับผลกำไรขาดทุนทำให้กระบวนการชำระบัญชีไม่อาจดำเนินต่อไปได้ ถือไม่ได้ว่าหนี้การคืนทุนและแบ่งผลกำไรให้แก่โจทก์ถึงกำหนดชำระแล้ว จำเลยทั้งสองจึงยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินทุนและกำไรของห้างหุ้นส่วนนับแต่วันที่จำเลยทั้งสองได้รับเงินตามสัญญาซื้อขายตามฟ้อง แต่เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกเงินทั้งสองจำนวนและจำเลยทั้งสองปฏิเสธ จำเลยทั้งสองจึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันฟ้อง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 224 วรรคหนึ่ง, ม. 1061, ม. 1062
ป.วิ.พ. ม. 55
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที