Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-06-01

มาตรา 1055 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 1055 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1055” คืออะไร? 


“มาตรา 1055” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1055 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ห้างหุ้นส่วนสามัญย่อมเลิกกันด้วยเหตุดังกล่าวต่อไปนี้
              (๑) ถ้าในสัญญาทำไว้มีกำหนดกรณีอันใดเป็นเหตุที่จะเลิกกัน เมื่อมีกรณีนั้น
              (๒) ถ้าสัญญาทำไว้เฉพาะกำหนดกาลใด เมื่อสิ้นกำหนดกาลนั้น
              (๓) ถ้าสัญญาทำไว้เฉพาะเพื่อทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดแต่อย่างเดียว เมื่อเสร็จการนั้น
              (๔) เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งให้คำบอกกล่าวแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ตามกำหนดดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๕๖
              (๕) เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งตาย หรือล้มละลาย หรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ “

อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่อง "ห้างหุ้นส่วน" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

ค้นหาคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติมเรื่อง "ห้างหุ้นส่วน" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1055” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1055 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2650/2565
โจทก์และจำเลยทั้งสามตกลงเข้าหุ้นส่วนกันเพื่อจัดงานแสดงดนตรี เมื่องานแสดงดนตรีดังกล่าวได้จัดขึ้นและเสร็จสิ้นลงแล้ว ห้างหุ้นส่วนสามัญจึงเลิกกันเพราะเสร็จการนั้นแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1055 (3) เมื่อยังไม่ได้มีการชำระบัญชีของห้าง และไม่ปรากฏว่าได้มีการตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินของห้างโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินที่ลงทุนไปทั้งหมดคืนรวมถึงส่วนแบ่งกำไร แต่จำเลยทั้งสามโต้แย้งว่าการจัดงานแสดงดนตรีดังกล่าวขาดทุน กรณีจึงมีข้อโต้แย้งเรื่องผลประกอบการของห้างหุ้นส่วนซึ่งต้องจัดให้มีการชำระบัญชีก่อนเพื่อให้ทราบว่าห้างหุ้นส่วนมีผลประกอบการขาดทุนจริงหรือไม่ และมีทรัพย์สินคงเหลือเพียงใด แม้โจทก์จะไม่ได้มีคำขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีมาด้วย แต่การบรรยายฟ้องของโจทก์ย่อมเห็นความประสงค์ของโจทก์ได้ว่าต้องการให้มีการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนด้วยแล้ว ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้มีการชำระบัญชีและตั้งผู้ชำระบัญชีไปเสียทีเดียวได้ โดยไม่จำต้องให้โจทก์กลับไปฟ้องเป็นคดีใหม่อีกการตั้งโจทก์หรือจำเลยทั้งสามเป็นผู้ชำระบัญชีร่วมกันย่อมเล็งเห็นได้ว่าจะเกิดปัญหาการไม่ร่วมมือกันในการชำระบัญชี เป็นอุปสรรคแก่การชำระบัญชีและไม่เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1055 (3), ม. 1061 วรรคหนึ่ง


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1674/2565
การที่โจทก์ ช. และกลุ่มเพื่อนร่วมรุ่นตกลงเข้าหุ้นกันจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนเพื่อทำการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยประสงค์จะนำกำไรที่ได้จากการลงทุนของแต่ละคนมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในกิจกรรมของรุ่น หากขาดทุนก็ขาดทุนร่วมกัน เข้าลักษณะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 ต่อมา ช. ถึงแก่ความตาย ห้างหุ้นส่วนสามัญดังกล่าวจึงเลิกกันตามมาตรา 1055 (5) และต้องจัดให้มีการชำระบัญชี เว้นแต่จะได้ตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันตามมาตรา 1061 วรรคหนึ่ง ซึ่งการชำระบัญชีนั้นมาตรา 1061 วรรคสาม ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดด้วยกันจัดทำ หรือให้บุคคลอื่นซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้ตั้งแต่นั้นเป็นผู้จัดทำ แต่กลับได้ความว่ามีเพียงหุ้นส่วนบางคนเท่านั้นที่เข้าไปเจรจาตกลงกับจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. เกี่ยวกับการจัดการบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ที่ลงทุนร่วมกันและได้แสดงหลักฐานการโอนเงินร่วมลงทุน ต่อมาจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. ได้ตกลงโอนหลักทรัพย์และเงินลงทุนคงเหลือคืนแก่ผู้ร่วมลงทุนบางคนตามสัดส่วนของการลงทุนที่จำเลยทั้งสองเป็นผู้คิดคำนวณ โดยที่โจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งไม่ได้ร่วมเจรจาหรือตกลงด้วย จึงถือไม่ได้ว่ามีการชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนสามัญ เนื่องจากหุ้นส่วนทุกคนไม่ได้ตกลงร่วมกัน แม้หุ้นส่วนบางคนจะเข้าไปเจรจากับจำเลยทั้งสองจนกระทั่งได้รับโอนหลักทรัพย์และเงินลงทุนคืนไปแล้ว และจำเลยทั้งสองอ้างว่าหุ้นส่วนคนอื่นไม่มีใครคัดค้านก็ตาม แต่หุ้นส่วนบางคนที่ไม่ได้เข้าร่วมเจรจานั้น ย่อมไม่ได้ตรวจสอบหรือยืนยันความถูกต้องในการจัดการทรัพย์สินของห้าง ซึ่งอาจเกิดข้อผิดพลาดและปัญหาโต้แย้งกันได้ในภายหลัง พฤติการณ์ดังกล่าวถือไม่ได้ว่ามีการตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันที่จะทำให้ไม่ต้องมีการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วน และกรณียังมีข้อโต้แย้งกันเรื่องผลเฉลี่ยขาดทุนและการคืนทุน จึงต้องจัดให้มีการชำระบัญชีก่อนเพื่อให้ทราบว่าห้างหุ้นส่วนมีผลประกอบการขาดทุนหรือไม่และมีทรัพย์สินคงเหลือเพียงใด แม้โจทก์จะไม่ได้มีคำขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีมาด้วยก็ตาม แต่การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าห้างหุ้นส่วนเลิกกันแล้วแต่จำเลยทั้งสองไม่คืนเงินลงทุนส่วนที่เป็นของโจทก์ซึ่งจะสามารถบังคับชำระได้เมื่อมีการชำระบัญชี ย่อมเห็นความประสงค์ของโจทก์ได้ว่าต้องการให้มีการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนด้วยแล้ว ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้มีการชำระบัญชีและตั้งผู้ชำระบัญชีไปเสียทีเดียวได้โดยไม่จำต้องให้โจทก์กลับไปฟ้องเป็นคดีใหม่อีก
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1012, ม. 1055 (5), ม. 1061


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 264/2564
เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า ป. บิดาโจทก์กับจำเลย ซึ่งเป็นหุ้นส่วนประกอบกิจการค้าไม้และจำหน่ายโลงศพมีผลกำไรจากการประกอบกิจการซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนต้องแบ่งปันกัน และจำเลยเบียดบังผลกำไรในส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของ ป. ไปโดยทุจริต ผลกำไรอันจำเลยเบียดบังไปมีจำนวนเท่าใดย่อมถือเป็นข้อเท็จจริงและรายละเอียดอันเป็นมูลกรณีของความผิด โจทก์จึงต้องแสดงในฟ้องให้ชัดเจนว่าเมื่อห้างหุ้นส่วนสามัญเลิกกันเนื่องจากผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งตายแล้ว สินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนที่เหลืออยู่ภายหลังการชำระหนี้ที่กฎหมายกำหนดลำดับก่อนหลังไว้ อันถือเป็นผลกำไรของห้างหุ้นส่วนนั้นมีอยู่จำนวนเท่าใด และผลกำไรในส่วนของ ป. ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยเบียดบังเอาไปโดยทุจริตมีอยู่เท่าใด เพื่อที่จำเลยจะได้ตรวจสอบและต่อสู้คดีได้อย่างถูกต้องว่าผลกำไรนั้นหากมีอยู่จริง ใช่ตามจำนวนที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาหรือไม่ โจทก์จะบรรยายฟ้องเพียงว่าห้างหุ้นส่วนมีผลกำไรแล้วสืบพยานในภายหลังเพื่อแสดงให้เห็นจำนวนผลกำไรในส่วนของ ป. หาได้ไม่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.อ. ม. 352
ป.พ.พ. ม. 1055, ม. 1061, ม. 1062
ป.วิ.อ. ม. 158 (5)
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที