Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-06-01

มาตรา 1037 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 1037 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1037” คืออะไร? 


“มาตรา 1037” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1037 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถึงแม้ว่าผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายได้ตกลงให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคนเป็นผู้จัดการห้างหุ้นส่วนก็ดี ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนนอกจากผู้จัดการย่อมมีสิทธิที่จะไต่ถามถึงการงานของห้างหุ้นส่วนที่จัดอยู่นั้นได้ทุกเมื่อ และมีสิทธิที่จะตรวจและคัดสำเนาสมุดบัญชี และเอกสารใด ๆ ของหุ้นส่วนได้ด้วย “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1037” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1037 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11556/2557
ผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญมีความรับผิดอย่างไม่จำกัดและ ป.พ.พ. มาตรา 1038 วรรคหนึ่ง บัญญัติห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งมีสภาพดุจเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างโดยมิได้รับความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ แตกต่างจากผู้เป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่งรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนรับจะลงหุ้นในห้าง และตาม ป.พ.พ. มาตรา 1090 ผู้เป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดจะประกอบกิจการค้าขายอย่างใด ๆ เพื่อประโยชน์ของตนหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกก็ได้ แม้ว่าการงานเช่นนั้นจะมีสภาพเป็นอย่างเดียวกับการค้าขายของห้างก็ไม่ห้าม ดังนั้น แม้ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดอาจไต่ถามการงานของห้างหุ้นส่วนจำกัด ตรวจดูและคัดสมุดบัญชี เอกสารของห้างหุ้นส่วนจำกัดได้ทุกเมื่อตาม ป.พ.พ. มาตรา 1037 ประกอบมาตรา 1080 แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่ามีเหตุสมควรหรือไม่ ซึ่งต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป เมื่อจำเลยให้การว่า โจทก์มีตำแหน่งในการบริหารห้างหุ้นส่วนจำกัดอยู่ด้วย ย่อมทราบกิจการงานของห้างอยู่แล้ว การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้โดยจำเลยปฏิเสธว่าโจทก์ไม่เคยขอจำเลยตรวจสอบเอกสารตามฟ้องมาก่อนโจทก์มีจุดประสงค์เพื่อให้จำเลยเสียหาย เสียชื่อเสียงทางการค้า เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จึงต้องฟังพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายให้ทราบข้อเท็จจริงเสียก่อน
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1037, ม. 1080


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1768/2520
สามีจำเลยกับโจทก์ร่วมกันเข้าหุ้นตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด ต่อมาสามีจำเลยตายโจทก์จำเลยตกลงให้กิจการของห้างดำเนินต่อไป โดยจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นจากสามีจำเลยเป็นจำเลย ทรัพย์สินของสามีจำเลยซึ่งมีอยู่ในห้างย่อมเป็นมรดกตกได้แก่จำเลย เมื่อจำเลยตกลงเข้าเป็นหุ้นส่วนกับโจทก์แทนที่สามีจำเลยก็เท่ากับจำเลยได้ลงหุ้นแล้ว

โจทก์ในฐานะหุ้นส่วนมีสิทธิที่จะไต่ถามถึงการงาน และมีสิทธิที่จะตรวจและคัดสำเนาสมุดบัญชีและเอกสารใด ๆของห้างได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1037 ประกอบด้วยมาตรา 1080แม้จำเลยจะมีเอกสารของห้างหุ้นส่วนหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ขอให้จำเลยซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแสดงบัญชีรับจ่ายพร้อมทั้งหลักฐานใบสำคัญการรับจ่ายเงินของห้างหุ้นส่วนตั้งแต่วันจำเลยเข้าดำเนินกิจการจนถึงปัจจุบัน ย่อมอยู่ในวิสัยที่จำเลยจะแสดงได้ หาใช่เป็นเรื่องสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับไม่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 213, ม. 1026, ม. 1037, ม. 1055 (5), ม. 1060, ม. 1080


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 173/2513
สามีโจทก์กับสามีจำเลยร่วมทุนกันจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญโดยไม่จดทะเบียนสามีโจทก์ตาย โจทก์รับมรดกและเข้าสวมสิทธิเป็นหุ้นส่วนแทนโดยความยินยอม ของสามีจำเลย ห้างหุ้นส่วนจึงยังไม่เลิกต่อมาสามีจำเลยตาย จำเลยเป็นผู้รับมรดกกลับปฏิเสธว่าสามีโจทก์มิได้เป็นหุ้นส่วนกับสามีจำเลย ดังนี้ ห้างหุ้นส่วนนั้นย่อมเลิกจากกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1055(5)
เมื่อห้างหุ้นส่วนเลิกกันแล้วก็จะต้องจัดการชำระบัญชี เว้นแต่จะได้ตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันแม้จำเลยจะเข้าดำเนินการของห้างหุ้นส่วนจำเลยก็มิได้เป็นหุ้นส่วนกับโจทก์โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยแสดงบัญชีรายรับรายจ่าย
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยแสดงบัญชีรายรับรายจ่ายโดยมิได้ฟ้องขอให้ชำระบัญชี ศาลจะพิพากษาให้ชำระบัญชีไม่ได้เพราะเกินคำขอ
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1025, ม. 1037, ม. 1045, ม. 1061
ป.วิ.พ. ม. 55, ม. 142
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที