Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-06-01

มาตรา 1033 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 1033 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1033” คืออะไร? 


“มาตรา 1033” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1033 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนมิได้ตกลงกันไว้ในกระบวนจัดการห้างหุ้นส่วนไซร้ ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนย่อมจัดการห้างหุ้นส่วนนั้นได้ทุกคน แต่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดจะเข้าทำสัญญาอันใดซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนอีกคนหนึ่งทักท้วงนั้นไม่ได้
              ในกรณีเช่นนี้ ท่านให้ถือว่าผู้เป็นหุ้นส่วนย่อมเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการทุกคน “

 

ค้นหาได้ทุกเรื่อง : "บทความทางกฎหมาย, คำปรึกษาจริงพร้อมคำตอบจากทนายความ, มาตรากฎหมาย" >> คลิก !

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1033” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1033 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9948/2555
โจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ 2 เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนกับบริษัท อ. เพื่อดำเนินกิจการของโรงเรียน อันมีโจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ 2 เป็นหุ้นส่วน เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้เป็นหุ้นส่วนตกลงกันไว้ในกระบวนการห้างหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วนย่อมจัดการห้างหุ้นส่วนนั้นได้ทุกคนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1033 วรรคหนึ่ง โจทก์ร่วมในฐานะหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนสามัญยังมิได้จดทะเบียน ย่อมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา หรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ (วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่)
ขณะเกิดเหตุแม้จำเลยไม่ได้ทำหน้าที่ฝ่ายการเงินของโรงเรียนและไม่มีหน้าที่รับเงินจากนักเรียนโดยตรงก็ตาม แต่จำเลยเป็นอาจารย์ฝ่ายทะเบียนและฝ่ายผู้สอน นักเรียนสามารถฝากเงินแก่จำเลยให้นำไปชำระแก่โรงเรียนได้โดยถือเสมือนหนึ่งว่านักเรียนชำระเงินให้แก่โรงเรียนแล้ว และจำเลยมีหน้าที่นำเงินดังกล่าวไปมอบให้ฝ่ายการเงิน ถือได้ว่าจำเลยได้รับมอบหมายโดยปริยายจากโรงเรียนให้มีหน้าที่รับเงินจากนักเรียนแทนโรงเรียนได้ ซึ่งเมื่อจำเลยได้รับเงินดังกล่าวจากนักเรียนแล้ว เงินดังกล่าวย่อมตกเป็นของโรงเรียน ซึ่งเป็นกิจการของห้างหุ้นส่วนสามัญยังมิได้จดทะเบียน ไม่ได้เป็นของนักเรียนอีกต่อไป นักเรียนผู้ชำระเงินผ่านจำเลย จึงมิใช่ผู้เสียหายผู้มีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย ดังนั้นแม้ก่อนโจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในคดีนี้ นักเรียนผู้ชำระเงินผ่านจำเลยไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในข้อหาฉ้อโกง และถอนคำร้องทุกข์เนื่องจากโรงเรียนออกใบรับรองผลการเรียนให้ไปแล้วก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่านักเรียนดังกล่าวเป็นผู้เสียหายที่จะมีอำนาจถอนคำร้องทุกข์ในความผิดข้อหายักยอกตามฟ้องนี้ได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ ในส่วนนี้จึงยังไม่ระงับไป เพราะมิใช่เป็นการเปลี่ยนตัวผู้เสียหายและเปลี่ยนข้อหาเพื่อดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 2/2555)
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.วิ.อ. ม. 2 (4)
ป.อ. ม. 352 วรรคแรก
ป.พ.พ. ม. 1033 วรรคหนึ่ง


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1632/2552
ส. ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเป็นผู้ครอบครองรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุในสมุดคู่มือการจดทะเบียนมอบรถยนต์กระบะให้แก่โจทก์เป็นผู้ครอบครองโดยใช้เป็นพาหนะส่งอาหารทะเลให้แก่ลูกค้า แม้โจทก์จะไม่มีชื่อเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ในสมุดคู่มือการจดทะเบียน แต่การจดทะเบียนรถยนต์ไม่ใช่หลักฐานแห่งกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายเป็นเพียงหลักฐานที่กำหนดขึ้นเพื่อความสะดวกในการควบคุมใช้รถและการเสียภาษีของเจ้าพนักงานเท่านั้น บุคคลใดจะเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์ต้องพิจารณาไปตามสภาพของข้อเท็จจริง เมื่อปรากฏว่าโจทก์และ ส. ได้ร่วมลงทุนในการประกอบกิจการค้าขายและขนส่งอาหารอันมีลักษณะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ รถยนต์กระบะจึงเป็นทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วน เมื่อทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนได้รับความเสียหายโดยไม่ปรากฏว่าได้ตกลงกันไว้ในกระบวนจัดการห้างหุ้นส่วน โจทก์ในฐานะหุ้นส่วนย่อมมีอำนาจฟ้องร้องผู้กระทำให้ทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนได้รับความเสียหายได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1033
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1025, ม. 1033
ป.วิ.พ. ม. 55


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4264/2547
โจทก์และ ส. ตกลงเข้ากันเป็นหุ้นส่วนทำกิจการบ้านจัดสรรและอาคารพาณิชย์ แม้ในการทำสัญญาขายที่ดินพร้อมอาคารแก่จำเลย จะได้มอบอำนาจให้ ว. เป็นผู้มีอำนาจจัดการแทน อันมีผลทำให้โจทก์และ ส. ผูกพันตามสัญญาที่ ว. ทำไว้กับจำเลย ซึ่งโจทก์หรือ ส. ผู้เป็นหุ้นส่วนมีสิทธิฟ้องจำเลยได้โดยลำพังก็ตาม แต่การฟ้องคดีก็จะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน เมื่อโจทก์และ ส. ยังเป็นหุ้นส่วนกันอยู่ การที่โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้เฉพาะส่วนของตนกึ่งหนึ่ง จึงเป็นการฟ้องเรียกหนี้สินของห้างหุ้นส่วนสามัญในฐานะส่วนตัว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินตามฟ้องได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1033
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที