Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-06-01

มาตรา 1032 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 1032 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1032” คืออะไร? 


“มาตรา 1032” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1032 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ห้ามมิให้เปลี่ยนแปลงข้อสัญญาเดิมแห่งห้างหุ้นส่วนหรือประเภทแห่งกิจการ นอกจากด้วยความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนหมดด้วยกันทุกคน เว้นแต่จะมีข้อตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1032” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1032 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1982/2543
โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาเข้าร่วมทุนเป็นหุ้นส่วนกันในการตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญเพื่อดำเนินกิจการเปิด ร้านอาหารโดยมีวัตถุประสงค์หาผลกำไรแบ่งกัน ซึ่งในการร่วมทุนกันนั้นโจทก์เป็นผู้ลงหุ้นเป็นเงิน ส่วนจำเลยลงหุ้น เป็นแรงงาน เมื่อตามสัญญากำหนดให้โจทก์เป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินของร้านอาหารเพียงผู้เดียวซึ่งถือได้ว่าเป็นสาระสำคัญในการตกลงเข้าหุ้นทำกิจการร่วมกันในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ลงทุนเป็นเงินทั้งหมด ข้อสัญญาดังกล่าวนี้จำเลยผู้เป็นหุ้นส่วนเพียงคนเดียวจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เว้นแต่โจทก์หุ้นส่วนอีกคนหนึ่งจะยินยอมด้วย การที่จำเลยปิด ร้านอาหารแล้วเปิดดำเนินกิจการใหม่ในวันรุ่งขึ้น โดยห้ามโจทก์เข้าเกี่ยวข้องในกิจการร้านอาหารนั้น ก็หมายความว่าจำเลยเป็นผู้เข้ารับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินในการจัดเก็บรายได้และรายจ่ายในการดำเนินกิจการของร้านอาหารทั้งหมดแทนโจทก์ อันเป็นหน้าที่ของโจทก์ตามสัญญา จึงถือได้ว่าจำเลยได้เปลี่ยนแปลงข้อสัญญาที่ทำกันไว้โดยที่โจทก์ไม่ได้ยินยอมด้วย เป็นการขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1032 การกระทำของจำเลยดังกล่าวย่อมเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาเข้าหุ้นส่วนกัน
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1032


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5562/2538
บทบัญญัติตามมาตรา 1080 และมาตรา 1040แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นกรณีที่ผู้เป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนสามัญจะโอนหุ้นของตนให้บุคคลภายนอกหรือชักนำบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นหุ้นส่วน โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นทั้งหมดไม่ได้ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวย่อมนำมาใช้กับห้างหุ้นส่วนจำกัดด้วยโดยอนุโลมสำหรับผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดที่จะโอนหุ้นของตนให้บุคคลภายนอกโดยไม่ได้รับความยินยอมจาก ผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นไม่ได้ แต่สำหรับผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดนั้นอาจโอนหุ้นให้แก่บุคคลภายนอกได้โดยลำพัง ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นตามที่มาตรา 1091 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้ ซึ่งเป็นกรณีเฉพาะเรื่องการโอนหุ้นเท่านั้นเพราะผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดมีสิทธิอำนาจหน้าที่และความรับผิดจำกัด และเนื่องจากมีสิทธิอำนาจหน้าที่ และความรับผิดจำกัดนี้เองคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดจึงมิใช่สาระสำคัญ และการเป็นหุ้นส่วนจำพวกดังกล่าวไม่เป็นการเฉพาะตัว ทั้งการโอนหุ้นดังกล่าวก็หาใช่การเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาเดิม แห่งห้างหุ้นส่วนหรือประเภทแห่งกิจการตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1032 ไม่ เมื่อการโอนหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1091 โดยปราศจากความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นก็อาจโอนได้ คำเบิกความของ ว. ที่ว่า จำเลยที่ 2หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1ไม่อาจโอนหุ้นได้โดยขาดความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นย่อมเป็นเพียงความเห็นของพยาน จึงหาจำต้องหยิบยกคำเบิกความของ ว. มาวินิจฉัยให้โดยเฉพาะอีกไม่เพราะที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดจะโอนหุ้นของตนโดยปราศจากความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นก็โอนได้ เท่ากับศาลอุทธรณ์ ได้วินิจฉัยปัญหานี้โดยไม่เห็นด้วยกับคำเบิกความของ ว. ดังกล่าวอยู่ในตัวแล้ว ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่จะต้องดำเนินการขอจดทะเบียน แก้ไขเพิ่มเติมรายชื่อผู้ถือหุ้นให้ถูกต้อง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1032, ม. 1040, ม. 1077, ม. 1078, ม. 1080, ม. 1091
ป.วิ.พ. ม. 104


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 730/2496
โจทก์ฟ้องว่า ได้เข้าหุ้นทำป่าไม้กับจำเลยเป็นเงิน10,000 บาทต่อมาสามีโจทก์บอกล้างนิติกรรมเข้าหุ้นรายนี้และโจทก์ขอคืนเงินค่าหุ้นจำเลยยอมคืนและผ่อนชำระแล้ว 1,500 บาท ที่เหลือ 8,500 บาทขอผัดชำระวันหลังแล้วในที่สุดไม่ยอมชำระจึงขอให้ศาลบังคับ
จำเลยปฏิเสธว่าสามีโจทก์มิได้บอกล้างนิติกรรมเข้าหุ้นส่วน แต่รับว่าได้คืนเงินค่าหุ้นให้ 1,500 บาทจริงเพราะสำคัญผิด คิดว่ามีอำนาจคืนได้โดยไม่ต้องให้หุ้นส่วนทั้งหมดยินยอม ดังนี้ ประเด็นในข้อที่สามีโจทก์บอกล้างนิติกรรมหรือไม่ไม่ใช่ข้อแพ้ชนะ ประเด็นคงมีเพียงว่าจำเลยได้ชำระเงินให้โจทก์ครบถ้วนแล้วหรือยัง เท่านั้นข้อที่จำเลยต่อสู้ว่ายอมให้โจทก์ถอนหุ้นโดยสำคัญผิดเพราะที่ถูกจะต้องได้รับความยินยอมจากหุ้นส่วนทุกคนก่อนนั้น ก็ไม่จำต้องพิจารณาถึง เพราะการที่จำเลยยอมให้โจทก์ถอนหุ้นเช่นเรื่องนี้เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับจำเลย ไม่ใช่เรื่องของหุ้นส่วน
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.วิ.พ. ม. 142, ม. 172, ม. 177
ป.พ.พ. ม. 1032
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที