Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-06-01

มาตรา 1022 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 1022 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1022” คืออะไร? 


“มาตรา 1022” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1022 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ เมื่อได้พิมพ์โฆษณาดังนั้นแล้ว ท่านให้ถือว่าบรรดาเอกสารและข้อความซึ่งลงทะเบียนอันได้กล่าวถึงในย่อรายการนั้น เป็นอันรู้แก่บุคคลทั้งปวงไม่เลือกว่าเป็นผู้เกี่ยวข้องด้วยห้างหุ้นส่วนหรือด้วยบริษัทนั้น หรือที่ไม่เกี่ยวข้อง “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1022” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1022 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8106/2560
คดีก่อนจำเลยที่ 3 เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลย ประเด็นในคดีมีว่าจำเลยยึดทรัพย์โจทก์โดยชอบหรือไม่ ซึ่งศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าภาษีอากรค้างส่วนที่เหลือภายหลังจากการยึดอายัดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 นำมาชำระหนี้แล้ว ประเด็นแห่งคดีจึงแตกต่างกัน การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยที่ 3 คดีนี้จึงมิใช่เป็นเรื่องที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดไว้แล้วอันจะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144
การเป็นนิติบุคคลและอำนาจของผู้แทนนิติบุคคล นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจะต้องแต่งย่อรายการส่งไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษา และถือเป็นอันรู้แก่บุคคลทั้งปวงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1021 และมาตรา 1022 หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลที่ระบุว่าจำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในระหว่างวันที่ 30 มีนาคม 2554 ถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2555 จึงเป็นเอกสารมหาชน ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 127 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง เมื่อจำเลยที่ 3 อ้างว่ามิได้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ที่ถูกเอกสารนั้นมายันต้องนำสืบถึงความไม่ถูกต้องแห่งเอกสาร แต่พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 3 นำสืบมาไม่มีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว คดีฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 และใช้บ้านของจำเลยที่ 3 เป็นสถานที่ตั้งห้างจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้สินของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1077 (2)
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1021, ม. 1022, ม. 1077 (2)
ป.วิ.พ. ม. 127, ม. 144


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 94/2547
ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีก่อนให้จำเลยในคดีดังกล่าวดำเนินการยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงแก้ไขชื่อจำเลยที่ 3 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ต่อนายทะเบียนกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ หากจำเลยในคดีดังกล่าวไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ดังนั้น จำเลยที่ 3 จะพ้นจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ได้ต่อเมื่อนายทะเบียนได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงแก้ไขชื่อจำเลยที่ 3 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแล้วเพราะการเป็นนิติบุคคลและอำนาจของผู้แทนนิติบุคคล นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจะต้องแต่งย่อรายการซึ่งได้ลงทะเบียนส่งไปลงพิมพ์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาและถือเป็นอันรู้แก่บุคคลทั้งปวงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1021 และ 1022 หาใช่จำเลยที่ 3 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 นับแต่วันที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาไม่ ดังนั้น เมื่อในขณะที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีนี้จำเลยที่ 3 ยังเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 อยู่ จำเลยที่ 3 จึงหาหลุดพ้นจากความผิดรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 ไม่ แต่ต้องร่วมรับผิดบรรดาหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070 และ 1077 (2)
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 เด็ดขาด และโจทก์ได้มีคำขอท้ายฟ้องให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสามเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ แล้ว ถือได้ว่าโจทก์ได้มีคำขอให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 และเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 89 โดยไม่จำต้องคำนึงว่าจะได้มีการแจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 3 ทราบแล้วหรือไม่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1021, ม. 1022, ม. 1070, ม. 1077 (2)
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 89


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3369/2541
การเป็นนิติบุคคลและอำนาจของผู้แทนนิติบุคคลนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจะต้องแต่งย่อรายการส่งไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาและถือเป็นอันรู้แก่บุคคลทั้งปวงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1021 และ 1022หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลที่ระบุว่าจำเลยที่ 1เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจึงเป็นเอกสารมหาชน ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 127 อันนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่คดีล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง เมื่อจำเลยที่ 2 อ้างว่ามิได้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1ย่อมเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่ถูกเอกสารนั้นมายันต้องนำสืบถึงความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารเมื่อพยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำสืบไม่มีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดแล้วโจทก์ย่อมขอให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 และเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 โดยไม่ต้องคำนึงว่าหนี้สินของจำเลยที่ 1 เป็นหนี้สินของจำเลยที่ 2หรือไม่ และไม่ต้องคำนึงด้วยว่ากรณีของจำเลยที่ 2 ต้องด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(9) ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่เพราะเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ย่อมต้องรับผิดในหนี้สินดังกล่าวโดยไม่จำกัดจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1070 และ 1077
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1021, ม. 1022, ม. 1070, ม. 1077
ป.วิ.พ. ม. 84, ม. 127
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 8 (9), ม. 89, ม. 153
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที