Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-06-01

มาตรา 1012 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 1012 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1012” คืออะไร? 


“มาตรา 1012” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1012 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ อันว่าสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1012” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1012 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1674/2565
การที่โจทก์ ช. และกลุ่มเพื่อนร่วมรุ่นตกลงเข้าหุ้นกันจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนเพื่อทำการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยประสงค์จะนำกำไรที่ได้จากการลงทุนของแต่ละคนมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในกิจกรรมของรุ่น หากขาดทุนก็ขาดทุนร่วมกัน เข้าลักษณะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 ต่อมา ช. ถึงแก่ความตาย ห้างหุ้นส่วนสามัญดังกล่าวจึงเลิกกันตามมาตรา 1055 (5) และต้องจัดให้มีการชำระบัญชี เว้นแต่จะได้ตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันตามมาตรา 1061 วรรคหนึ่ง ซึ่งการชำระบัญชีนั้นมาตรา 1061 วรรคสาม ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดด้วยกันจัดทำ หรือให้บุคคลอื่นซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้ตั้งแต่นั้นเป็นผู้จัดทำ แต่กลับได้ความว่ามีเพียงหุ้นส่วนบางคนเท่านั้นที่เข้าไปเจรจาตกลงกับจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. เกี่ยวกับการจัดการบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ที่ลงทุนร่วมกันและได้แสดงหลักฐานการโอนเงินร่วมลงทุน ต่อมาจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. ได้ตกลงโอนหลักทรัพย์และเงินลงทุนคงเหลือคืนแก่ผู้ร่วมลงทุนบางคนตามสัดส่วนของการลงทุนที่จำเลยทั้งสองเป็นผู้คิดคำนวณ โดยที่โจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งไม่ได้ร่วมเจรจาหรือตกลงด้วย จึงถือไม่ได้ว่ามีการชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนสามัญ เนื่องจากหุ้นส่วนทุกคนไม่ได้ตกลงร่วมกัน แม้หุ้นส่วนบางคนจะเข้าไปเจรจากับจำเลยทั้งสองจนกระทั่งได้รับโอนหลักทรัพย์และเงินลงทุนคืนไปแล้ว และจำเลยทั้งสองอ้างว่าหุ้นส่วนคนอื่นไม่มีใครคัดค้านก็ตาม แต่หุ้นส่วนบางคนที่ไม่ได้เข้าร่วมเจรจานั้น ย่อมไม่ได้ตรวจสอบหรือยืนยันความถูกต้องในการจัดการทรัพย์สินของห้าง ซึ่งอาจเกิดข้อผิดพลาดและปัญหาโต้แย้งกันได้ในภายหลัง พฤติการณ์ดังกล่าวถือไม่ได้ว่ามีการตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันที่จะทำให้ไม่ต้องมีการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วน และกรณียังมีข้อโต้แย้งกันเรื่องผลเฉลี่ยขาดทุนและการคืนทุน จึงต้องจัดให้มีการชำระบัญชีก่อนเพื่อให้ทราบว่าห้างหุ้นส่วนมีผลประกอบการขาดทุนหรือไม่และมีทรัพย์สินคงเหลือเพียงใด แม้โจทก์จะไม่ได้มีคำขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีมาด้วยก็ตาม แต่การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าห้างหุ้นส่วนเลิกกันแล้วแต่จำเลยทั้งสองไม่คืนเงินลงทุนส่วนที่เป็นของโจทก์ซึ่งจะสามารถบังคับชำระได้เมื่อมีการชำระบัญชี ย่อมเห็นความประสงค์ของโจทก์ได้ว่าต้องการให้มีการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนด้วยแล้ว ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้มีการชำระบัญชีและตั้งผู้ชำระบัญชีไปเสียทีเดียวได้โดยไม่จำต้องให้โจทก์กลับไปฟ้องเป็นคดีใหม่อีก
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1012, ม. 1055 (5), ม. 1061


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4749/2559
สัญญาข้อตกลงร่วมทำผลประโยชน์ เป็นสัญญาที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงเข้ากันเพื่อทำกิจการขายดินลูกรังในที่ดินพิพาทโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงทุนในโครงการผู้เดียว ส่วนโจทก์เป็นผู้ดำเนินการขายดินลูกรัง โดยจำเลยที่ 1 จะได้รับเงินปันผลร้อยละ 40 ส่วนโจทก์ได้รับร้อยละ 60 ข้อตกลงดังกล่าวจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกเงิน ส่วนโจทก์เป็นผู้ลงแรงด้วยประสงค์เพื่อแบ่งกำไรอันจะพึงได้จากการดำเนินกิจการดังกล่าว จึงเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 และเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกเงินซื้อที่ดินพิพาทและเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 เพียงแต่นำที่ดินพิพาทมาให้ใช้เป็นการลงหุ้น มิได้ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเป็นการลงหุ้น โจทก์จึงมิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินพิพาท การที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนจำเลยที่ 1 และได้ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 3 และจดทะเบียนเลิกการเช่าที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 เป็นเรื่องระหว่างจำเลยทั้งสาม มิได้เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้คืนทุน นั้น โจทก์เป็นหุ้นส่วนที่ลงหุ้นด้วยแรงงานเท่านั้น ไม่ได้มีเงินมาลงทุน และในสัญญาข้อตกลงร่วมทำผลประโยชน์ดังกล่าว ก็มิได้บอกว่าจะแบ่งทุนหรือตีราคาค่าแรงงานเป็นทุนเพื่อคืนให้แก่โจทก์ เมื่อห้างหุ้นส่วนเลิกกัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอคืนทุนพร้อมดอกเบี้ย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1012, ม. 1025, ม. 1026, ม. 1029, ม. 1062 (3)


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15105/2558
การเป็นหุ้นส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 คือสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น สัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจึงเป็นการตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้นโดยชัดแจ้ง
โจทก์ทั้งสามและจำเลยเป็นบุตรของ ก. และ ช. บุคคลทั้งสองประกอบอาชีพค้าขายดำเนินกิจการร้านกุหลาบขาวตั้งแต่ปี 2475 และดำเนินกิจการร้านกุหลาบแดงซึ่งเดิมชื่อร้านกุ่ยเชียง มีที่ตั้งร้านอยู่บ้าน เลขที่ 2 - 4 อำเภอสัมพันธวงศ์ จังหวัดพระนคร โดยเริ่มประกอบกิจการตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2494 ก่อนจะแจ้งย้ายสถานที่ประกอบกิจการมาตั้งอยู่อาคารพาณิชย์เลขที่ 95/86 เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร และเปลี่ยนชื่อร้านเป็นร้านกุหลาบแดง ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2508 โดย ก. เป็นผู้ดูแลกิจการร้านค้าทั้งสองและเมื่อ ก. เสียชีวิต ช. เป็นผู้ดูแลแทนจนกระทั่งเจ็บป่วยจึงให้จำเลยเป็นผู้ดูแล โดย ก. และ ช. ให้การอุปการะเลี้ยงดูบุตรทุกคนในฐานะบิดามารดากระทำต่อบุตร โดยโจทก์ทั้งสามและบุตรคนอื่น ๆ รวมทั้งจำเลยหากมีเวลาว่างจะมาช่วยงาน ก. และ ช. ที่ร้านค้าทั้งสอง และเมื่อบุตรแต่ละคนมีรายได้จากอาชีพการงานอื่นจะส่งเงินมาช่วยจุนเจือบิดามารดาอันเป็นการปฏิบัติตนในฐานะบุตรที่มีความกตัญญูรู้คุณต่อบุพการี ไม่ปรากฏโดยชัดแจ้งว่า ก. และ ช. ตกลงร่วมค้าขายกับโจทก์ทั้งสามและบุตรคนอื่น ๆ โดยให้โจทก์ทั้งสามลงแรงเป็นหุ้น และประสงค์จะแบ่งเงินกำไรกันหรือหากขาดทุน โจทก์ทั้งสามและบุตรคนอื่น ๆ ต้องรับผิดชอบอย่างไร ก. และ ช. ไม่เคยแบ่งปันผลกำไรที่ได้จากการดำเนินกิจการร้านค้าทั้งสองให้แก่บุตรคนใดคนหนึ่ง แต่หากบุตรคนใดมีความเดือดร้อนต้องการใช้เงินจึงจะไปขอเบิกจาก ก. และ ช. การที่โจทก์ทั้งสามอ้างว่ามีการช่วยงานที่ร้านค้าทั้งสองหรือแม้แต่แบ่งเงินรายได้บางส่วนให้แก่ ช. หลังจาก ก. เสียชีวิตแล้วจึงไม่เป็นการลงหุ้น คงเป็นความสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่างบิดามารดากับบุตร หาทำให้กิจการของบิดามารดาเป็นกิจการของครอบครัวอันจะถือว่าเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนระหว่างบุตรกับบิดามารดาโดยปริยายไม่ โจทก์ทั้งสามและจำเลยรวมทั้งบุตรคนอื่น ๆ จึงไม่เป็นหุ้นส่วนในร้านค้าทั้งสองกับ ก. และ ช. ตามบทกฎหมายดังกล่าวที่โจทก์ทั้งสามจะมาฟ้องขอเลิกห้างหุ้นส่วนร้านค้าทั้งสองและขอแบ่งส่วนผลกำไรจากการดำเนินกิจการร้านค้าทั้งสองตั้งแต่ครั้งที่ ก. ยังมีชีวิตอยู่ในฐานะเป็นหุ้นส่วนตามฟ้อง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1012
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที