“มาตรา 1007 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1007” คืออะไร?
“มาตรา 1007” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1007 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าข้อความในตั๋วเงินใด หรือในคำรับรองตั๋วเงินรายใด มีผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญโดยที่คู่สัญญาทั้งปวงผู้ต้องรับผิดตามตั๋วเงินมิได้ยินยอมด้วยหมดทุกคนไซร้ ท่านว่าตั๋วเงินนั้นก็เป็นอันเสีย เว้นแต่ยังคงใช้ได้ต่อคู่สัญญาซึ่งเป็นผู้ทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น หรือได้ยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น กับทั้งผู้สลักหลังในภายหลัง
แต่หากตั๋วเงินใดได้มีผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ประจักษ์ และตั๋วเงินนั้นตกอยู่ในมือผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ทรงคนนั้นจะเอาประโยชน์จากตั๋วเงินนั้นก็ได้ เสมือนดังว่ามิได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเลย และจะบังคับการใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋วนั้นก็ได้
กล่าวโดยเฉพาะ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเช่นจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านถือว่าเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ คือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างใด ๆ แก่วันที่ลง จำนวนเงินอันจะพึงใช้ เวลาใช้เงิน สถานที่ใช้เงิน กับทั้งเมื่อตั๋วเงินเขารับรองไว้ทั่วไปไม่เจาะจงสถานที่ใช้เงิน ไปเติมความระบุสถานที่ใช้เงินเข้าโดยที่ผู้รับรองมิได้ยินยอมด้วย “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1007” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1007 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4759/2557
จำเลยที่ 1 เป็นธนาคารพาณิชย์ พนักงานของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องระมัดระวังและต้องใช้ความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษตรวจสอบเช็คที่โจทก์สั่งจ่าย หากมีการแก้ไขชื่อผู้รับเงินซึ่งเป็นข้อความสำคัญในเช็คโดยเห็นประจักษ์ ก็ชอบที่จะปฏิเสธการใช้เงิน เพราะเหตุที่เป็นตั๋วเงินปลอมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1007 โดยแจ้งให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของเช็คทราบทันที ไม่เช่นนั้นแล้วหากมีการจ่ายเงินตามเช็คไปย่อมเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของพนักงานของจำเลยที่ 1 การที่โจทก์สั่งจ่ายเช็คพิพาทแล้ว อ. แก้ไขปลอมแปลงเช็คนั้นภายหลัง ไม่อาจถือเป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์ การใช้เงินไปตามเช็คของจำเลยที่ 1 จะได้รับความคุ้มครองเพียงใด ต้องเป็นไปตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1009 บัญญัติไว้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 988 (4), ม. 1007, ม. 1009
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3947/2554
โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คฉบับพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่แรก และต่อมาฝ่ายจำเลยขอผัดการชำระเงิน ทั้งบุตรสาวจำเลยได้นำเช็คพิพาทไปแก้ไขวันที่และมีการลงลายมือชื่อกำกับไว้ แม้จะไม่ใช่การแก้ไขของจำเลยเองก็ตาม การแก้ไขวันที่ในเช็คเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์จะมีส่วนรู้เห็นด้วยอีกทั้งลายมือชื่อกำกับการแก้ไขดังกล่าวคล้ายคลึงกับลายมือชื่อสั่งจ่ายของจำเลยที่ปรากฏในเช็คพิพาทมาก ยากที่บุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญจะทราบได้ว่าไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลย จึงเป็นความเปลี่ยนแปลงอันไม่ประจักษ์ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงโดยชอบย่อมเอาประโยชน์จากเช็คฉบับพิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1007 วรรคสอง จำเลยในฐานะผู้สั่งจ่ายเช็คยังคงต้องรับผิดตามเช็คฉบับพิพาทอยู่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1007 วรรคสอง
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1385/2554
แม้เช็คพิพาทแต่ละฉบับจะถึงกำหนดใช้เงินแล้ว แต่การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ออกเช็คพิพาทแก้ไขวันที่เดือนปีในเช็คพิพาทโดยโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทยินยอม เช็คพิพาทจึงยังคงใช้ได้ต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ทำการแก้ไขตาม ป.พ.พ. มาตรา 1007 วรรคหนึ่ง โดยถือว่าเช็คพิพาทมีกำหนดใช้เงินตามวันที่เดือนปีที่แก้ไขนั้น กรณีหาใช่เป็นการขยายอายุความออกไปอันขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 193/11 ดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาไม่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1007, ม. 193/11