Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 1000 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1000 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1000” คืออะไร? 


“มาตรา 1000” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1000 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ธนาคารใดได้รับเงินไว้เพื่อผู้เคยค้าของตนโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อ อันเป็นเงินเขาใช้ให้ตามเช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ดี ขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ตนก็ดี หากปรากฏว่าผู้เคยค้านั้นไม่มีสิทธิหรือมีสิทธิเพียงอย่างบกพร่องในเช็คนั้นไซร้ ท่านว่าเพียงแต่เหตุที่ได้รับเงินไว้หาทำให้ธนาคารนั้นต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นแต่อย่างหนึ่งอย่างใดไม่ “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1000” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1000 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13113/2553
ที่ดินของโจทก์ที่ 1 และ ก. ถูกเวนคืนทางกรุงเทพมหานครจ่ายเงินค่าเวนคืนโดยจ่ายเช็คธนาคาร ก. ให้แก่โจทก์ที่ 1 และ ก. เช็คระบุผู้รับเงินไว้คือโจทก์ที่ 1 กับ ก. และขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ถือออก ธนาคารต้องจ่ายเงินให้แก่ผู้ที่สั่งจ่ายระบุชื่อ แม้ระหว่างชื่อของบุคคลทั้งสองมีเพียงเครื่องหมาย " , " คั่นไว้ก็ตาม ก็มีความหมายว่าธนาคารต้องจ่ายเงินให้แก่บุคคลทั้งสองมิใช่หมายถึงจ่ายเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 เพียงคนเดียว อีกทั้งเช็คมีการขีดคร่อมระบุคำว่า "A/C PAYEE ONLY" ธนาคารต้องจ่ายเงินเข้าบัญชีของผู้รับเงินซึ่งมีชื่อในเช็คเท่านั้น การที่ธนาคารจำเลยที่ 1 นำเงินที่เรียกเก็บตามเช็คเข้าบัญชีของโจทก์ที่ 1 หรือ ม. ย่อมเป็นความเข้าใจของธนาคารจำเลยที่ 1 เพียงฝ่ายเดียวว่าสามารถกระทำได้ ทั้งๆ ที่บัญชีมีชื่อไม่ตรงกับที่ระบุไว้ในเช็ค อีกทั้งธนาคารจำเลยที่ 1 ยอมให้ ม. ผู้ไม่มีสิทธิรับเงินตามเช็คเบิกถอนเงินออกไปเพียงผู้เดียว ธนาคารจำเลยที่ 1 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามการค้าปรกติของธนาคารย่อมไม่เป็นการกระทำที่สุจริตหรือปราศจากความประมาทเลินเล่อแต่อย่างใด ธนาคารจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระเงินต่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทของ ก. ฐานกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2
แม้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 กล่าวในคำฟ้องว่าด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้รับความเสียหายเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ที่ 1 และที่ 2 มีมูลหนี้จากการละเมิด อันจะต้องฟ้องเรียกค่าเสียหายภายในอายุความ 1 ปีก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาคำฟ้องทั้งหมดแล้วเห็นว่า เป็นการที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิอ้าง ป.พ.พ. มาตรา 1000 เพื่อยกเว้นความรับผิดตามมูลหนี้ตั๋วเงิน มีอายุความ 10 ปี จะนำอายุความเรื่องละเมิด 1 ปี มาใช้บังคับไม่ได้ ฟ้องโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไม่ขาดอายุความ
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 420, ม. 448, ม. 1000


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1444/2551
โจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ที่ 2 สั่งจ่ายเช็คขีดคร่อมของธนาคาร ท. ให้แก่ ส. หรือผู้ถือ แม้เป็นเช็คห้ามเปลี่ยนมือ แต่ผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นคือผู้รับเงินตามเช็ค มิใช่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเช็ค โจทก์ทั้งสองก็มิได้เป็นผู้ทรงเช็ค จึงมิใช่เจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1000 ที่จะมีอำนาจฟ้องธนาคารจำเลยให้รับผิดชดใช้เงินตามเช็ค ทั้งการที่จำเลยเรียกเก็บเงินตามเช็คจากธนาคาร ท. ไปเข้าบัญชีเงินฝากของผู้อื่นเพื่อเรียกเก็บเงิน ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองในอันที่จะทำให้โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องจำเลยให้ชดใช้ค่าเสียหายได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 420, ม. 1000


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3776/2547
การที่จำเลยที่ 1 นำเช็คซึ่งระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงิน และเป็นเช็คมีข้อความระหว่างเส้นขีดคร่อมว่า A/C PAYEE ONLY ไปเข้าบัญชีบริษัท ภ. เป็นการกระทำตามคำสั่งของจำเลยร่วมซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ นำเช็คพิพาทเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ให้แก่บริษัท ภ. เจ้าหนี้โจทก์ การกระทำของจำเลยร่วมเป็นการกระทำในขอบอำนาจของกรรมการโจทก์ มีผลผูกพันโจทก์ นอกจากนี้โจทก์และบริษัท ภ. ต่างก็มีกรรมการชุดเดียวกันรวม 5 คน หากกรรมการอื่นอีก 4 คน เห็นว่าจำเลยร่วมนำเช็คพิพาทไปเข้าบัญชีบริษัท ภ. เป็นการไม่ถูกต้อง ก็ย่อมสามารถใช้สิทธิในฐานะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ภ. สั่งให้โอนเงินตามเช็คพิพาทคืนให้แก่โจทก์ได้อยู่แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 70, ม. 994, ม. 995, ม. 1000
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที