Banner blog website1.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-06-19

หมวด ๗ การสอบสวนและบทกำหนดโทษ (มาตรา ๑๖๐ - ๑๗๕)

ส่วนที่ ๑
การสอบสวน

-------------------------

               มาตรา ๑๖๐  ในระหว่างดำเนินกระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย ถ้ามีเหตุควรเชื่อได้ว่าลูกหนี้หรือผู้หนึ่งผู้ใดได้กระทำความผิดในทางอาญาเกี่ยวกับการล้มละลาย ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย
               ในกรณีที่พนังานอัยการมีความเห็นว่าไม่ควรฟ้อง ซึ่งแย้งกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ให้ส่งสำนวนไปยังอธิบดีกรมอัยการเพื่อสั่ง

ส่วนที่ ๒
บทกำหนดโทษ

-------------------------

               มาตรา ๑๖๑  ลูกหนี้คนใดฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งมาตรา ๖๗ (๓) โดยไม่มีข้อแก้ตัวอันสมควร มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินสองเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ

               มาตรา ๑๖๒  ลูกหนี้คนใดฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งมาตรา ๖๔ มาตรา ๖๕ มาตรา ๗๙ หรือมาตรา ๘๐ โดยไม่มีข้อแก้ตัวอันสมควร หรือขัดขืนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๑๖ (๑) มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินสี่เดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ

               มาตรา ๑๖๓  ลูกหนี้คนใดกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
               (๑) ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งมาตรา ๒๓ มาตรา ๓๐ หรือมาตรา ๖๗ (๑) หรือ (๒) โดยไม่มีข้อแก้ตัวอันสมควร
               (๒) ละเว้นไม่แจ้งข้อความอันเป็นสาระสำคัญ หรือกล่าวเท็จเกี่ยวกับกิจการหรือทรัพย์สินของตนต่อศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่ามิได้มีเจตนาฉ้อฉล
               (๓) มิได้แจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบภายในกำหนดเวลาหนึ่งเดือน เมื่อได้ทราบหรือมีเหตุผลอันสมควรเชื่อได้ว่ามีผู้นำหนี้สินอันเป็นเท็จมาขอรับชำระในคดีล้มละลาย

               มาตรา ๑๖๔  ในระหว่างเวลาหนึ่งปีก่อนมีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย หรือภายหลังนั้น แต่ก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ลูกหนี้คนใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
               (๑) ยักย้าย ซุกซ่อน ทำลาย ก่อความชำรุด หรือเปลี่ยนแปลงดวงตรา สมุดบัญชี หรือเอกสารอันเกี่ยวกับกิจการหรือทรัพย์สินของตน หรือรู้เห็นเป็นใจด้วยการกระทำนั้น ๆ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่ามิได้มีเจตนาปกปิดสภาพแห่งกิจการของตน
                     ถ้าปรากฏว่า ดวงตรา สมุดบัญชี หรือเอกสารสูญหาย ชำรุด หรือเปลี่ยนแปลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าลูกหนี้เป็นผู้กระทำ
               (๒) ละเว้นจดข้อความอันเป็นสาระสำคัญ หรือจดข้อความเท็จลงในสมุดบัญชีหรือเอกสารอันเกี่ยวกับกิจการหรือทรัพย์สินของตน หรือรู้เห็นเป็นใจในการนั้น
               (๓) นำทรัพย์สินซึ่งได้มาโดยเชื่อและยังมิได้ชำระราคาไปจำนำ จำนอง หรือจำหน่าย เว้นแต่การนั้นเป็นปกติธุระของลูกหนี้ และพิสูจน์ได้ว่ามิได้มีเจตนาฉ้อฉล
               (๔) รับสินเชื่อจากบุคคลอื่นโดยใช้อุบายหลอกลวง หรือซุกซ่อน โอน หรือส่งมอบทรัพย์สินของตนโดยทุจริต หรือกระทำหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำให้ทรัพย์สินของตนต้องมีภาระผูกพันขึ้นโดยทุจริต หรือยอมหรือสมยอมกับบุคคลอื่นให้ศาลพิพากษาให้ตนต้องชำระหนี้ซึ่งตนมิควรต้องชำระ

 

ปรึกษาปัญหาทางกฎหมายฟรี
ตลอด 24 ชั่วโมง

  • ทนายให้ ปรึกษามากกว่า 3000 ครั้ง
    ฟรีบนแพล็ตฟอร์ม
  • ฟรี และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
  • ปรึกษาได้ทุกเรื่องราว ไม่ระบุตัวตนของผู้ถาม

               มาตรา ๑๖๕  ในระหว่างเวลาตั้งแต่ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จนถึงเวลาที่พ้นจากล้มละลาย ลูกหนี้คนใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาทหรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
               (๑) รับสินเชื่อจากผู้อื่นมีจำนวนตั้งแต่สองพันบาทขึ้นไปโดยมิได้แจ้งให้ผู้นั้นทราบว่าตนถูกพิทักษ์ทรัพย์หรือล้มละลาย
               (๒) ประกอบกาค้าหรือธุรกิจโดยใช้นามตัวหรือนามสมญาผิดจากที่ตนถูกพิทักษ์ทรัพย์หรือล้มละลาย และในการนั้นได้รับสินเชื่อจากบุคคลอื่นโดยมิได้แจ้งให้ผู้นั้นทราบว่าตนถูกพิทักษ์ทรัพย์หรือล้มละลาย
               (๓) ประกอบการค้าหรือธุรกิจโดยใช้นามหรือนามสมญาของผู้อื่นบังหน้า
               (๔) ประกอบการค้าหรือธุรกิจโดยใช้นามตัวหรือนามสมญาผิดไปจากที่ตนถูกพิทักษ์ทรัพย์หรือล้มละลาย โดยมิได้โฆษณารายการดังต่อไปนี้ในหนังสือพิมพ์รายวันอย่างน้อยสองฉบับ
                     ก. นามตัวและนามสมญาที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์หรือล้มละลาย
                     ข. ตำบลที่ตนประกอบการค้าหรือธุรกิจในขณะที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์
                     ค. นามตัวและนามสมญาซึ่งประสงค์จะใช้ต่อไปในการค้าหรือธุรกิจ
                     ง. ลักษณะของการค้าหรือธุรกิจที่จะประกอบต่อไป
                     จ. ตำบลที่จะประกอบการค้าหรือธุรกิจ

               มาตรา ๑๖๖  ลูกหนี้คนใดมีหนี้สินเนื่องในการค้าหรือธุรกิจอยู่ในขณะที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
               (๑) เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบถามหรือศาลทำการไต่สวน ลูกหนี้ไม่สามารถให้เหตุผลอันสมควรถึงการที่ได้เสียทรัพย์สินไปเป็นจำนวนมากในระหว่างเวลาหนึ่งปีก่อนมีการขอให้ล้มละลาย หรือภายหลังนั้นแต่ก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์
               (๒) กระทำหนี้สินอันพึงขอรับชำระได้ในคดีล้มละลายโดยไม่มีเหตุอันน่าเชื่อว่าจะสามารถชำระหนี้นั้นได้

               มาตรา ๑๖๗  บุคคลซึ่งประกอบพาณิชยกิจตามที่ระบุไว้ในกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนพาณิชย์คนใดไม่มีบัญชีย้อนหลังขึ้นไปสามปีนับแต่วันที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ซึ่งจะแสดงให้เห็นการประกอบพาณิชยกิจหรือฐานะการเงินของตนอย่างเพียงพอตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบัญชีซึ่งใช้อยู่ในเวลานั้น มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

               มาตรา ๑๖๘  ในระหว่างเวลาหกเดือนก่อนมีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือภายหลังนั้นแต่ก่อนเวลาที่พ้นจากล้มละลาย ลูกหนี้คนใดออกไปหรือพยายามจะออกไปนอกราชอาณาจักร โดยนำทรัพย์สินซึ่งตามกฎหมายต้องเอาไว้แบ่งใช้หนี้แก่เจ้าหนี้ราคาเกินกว่าสองพันบาทออกไปด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่ามิได้มีเจตนาฉ้อฉล มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

               มาตรา ๑๖๙  เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ลูกหนี้คนใดซ่อนตัวหรือหลบไปเสียจากที่ ๆ เคยอยู่หรือที่ทำการค้า หรือประกอบธุรกิจแห่งสุดท้าย หรือออกไปนอกราชอาณาจักร โดยเจตนาหลีกเลี่ยงหมายเรียกหรือหมายนัดของศาลในคดีล้มละลาย หรือหลีกเลี่ยงการที่จะถูกสอบสวนหรือไต่สวนเกี่ยวกับกิจการหรือทรัพย์สินของตน หรือทำให้เกิดความลำบากขัดข้องแก่กระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

               มาตรา ๑๗๐  เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ลูกหนี้คนใดกระทำการฉ้อฉล หรือให้ หรือเสนอให้ หรือตกลงว่าจะให้ประโยชน์ใด ๆ แก่เจ้าหนี้ โดยมุ่งหมายที่จะได้รับความยินยอมของเจ้าหนี้นั้นในการขอประนอมหนี้หรือข้อตกลงเกี่ยวกับกิจการหรือการล้มละลายของตน หรือเพื่อมิให้มีการคัดค้านการขอปลดจากล้มละลาย มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

               มาตรา ๑๗๑  เจ้าหนี้หรือผู้แทนเจ้าหนี้คนใดกล่าวอ้าง หรือขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายหรือการขอประนอมหนี้ หรือในการตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้โดยไม่เป็นความจริงในส่วนสาระสำคัญ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่ามิได้มีเจตนาฉ้อฉล มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

               มาตรา ๑๗๒  เจ้าหนี้หรือผู้แทนเจ้าหนี้คนใด เรียกหรือรับหรือยินยอมที่จะรับทรัพย์สินหลักประกันหรือผลประโยชน์ใด ๆ ไว้เป็นประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น เพื่อที่จะยินยอมหรือไม่คัดค้านในการขอประนอมหนี้ หรือการขอปลดจากล้มละลาย มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าเท่าของราคาผลประโยชน์อันมิควรได้นั้น

               มาตรา ๑๗๓  ผู้ใดรู้ว่าได้มีหรือจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้วยักย้าย ซุกซ่อน รับ จำหน่าย หรือจัดการแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้โดยเจตนาทุจริต มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองเท่าราคาทรัพย์สินนั้น หรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
               เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้โฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ในราชกิจจานุเบกษา และหนังสือพิมพ์รายวันหรือผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์สาธารณะอื่นใดแทนตามที่อธิบดีกรมบังคับคดีประกาศกำหนดแล้วบุคคลทุกคนได้ทราบว่ามีคำสั่งนั้น

               มาตรา ๑๗๓/๑  ผู้ใดมีหน้าที่ตามมาตรา ๒๔/๑ แล้วไม่ปฏิบัติตามมาตราดังกล่าวมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท
               ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือกระทำการและละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทำการจนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทำความผิด ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่งด้วย
               ถ้าบุคคลตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองได้ยื่นคำขอต่อศาลแสดงถึงเหตุที่ตนไม่อาจแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับหนี้หรือทรัพย์สินได้ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๒๔/๑ เมื่อศาลเห็นว่ามีเหตุอันสมควรจะให้บุคคลนั้นแจ้งข้อมูลดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบภายในเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้ เมื่อบุคคลดังกล่าวได้แจ้งข้อมูลให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบภายในกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ให้คดีอาญาเป็นอันเลิกกัน

               มาตรา ๑๗๔  ผู้ใดกล่าวอ้างโดยไม่เป็นความจริงว่าตนเป็นเจ้าหนี้ โดยมุ่งหมายที่จะได้ดูหรือคัดสำเนาเอกสารใด ๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

               มาตรา ๑๗๕  บุคคลดังต่อไปนี้มีหน้าที่และความรับผิดทางอาญาเช่นเดียวกับลูกหนี้สำหรับกิจการที่ตนได้กระทำในขณะที่เป็นผู้ประกอบการงานของลูกหนี้
               (๑) ถ้าลูกหนี้เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งได้จดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด หุ้นส่วนผู้จัดการ หรือผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงาน หรือผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนนั้น
               (๒) ถ้าลูกหนี้เป็นบริษัทจำกัด ผู้เริ่มก่อการ กรรมการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ชำระบัญชีของบริษัทนั้น
               (๓) ถ้าลูกหนี้เป็นนิติบุคคลอื่นนอกจากที่กล่าวไว้ใน (๑) และ (๒) ผู้จัดการหรือผู้ชำระบัญชีของนิติบุคคลนั้น
               (๔) ถ้าลูกหนี้มีตัวแทนหรือลูกจ้างเป็นผู้ประกอบการงาน ตัวแทนหรือลูกจ้างของลูกหนี้นั้น
               (๕) ถ้าลูกหนี้ตาย ทายาท ผู้จัดการมรดก หรือผู้ปกครองทรัพย์ของลูกหนี้นั้น

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
mini_call_to_action_picture

ทนายความมากกว่า 500 คน ทั่วประเทศ พร้อมให้คำปรึกษา เพียง 33 บาท