Banner blog website1.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-06-19

หมวด ๓/๑ กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

ส่วนที่ ๑
บทนิยาม

-------------------------

               มาตรา ๙๐/๑  ในหมวดนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
               “เจ้าหนี้” หมายความว่า เจ้าหนี้มีประกันหรือเจ้าหนี้ไม่มีประกัน
               “ลูกหนี้” หมายความว่า ลูกหนี้ที่เป็นบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด หรือนิติบุคคลอื่นตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
               “คำร้องขอ” หมายความว่า คำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ
               “ผู้ร้องขอ” หมายความว่า ผู้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ
               “แผน” หมายความว่า แผนฟื้นฟูกิจการ
               “ผู้ถือหุ้นของลูกหนี้” หมายความว่า ผู้ถือหุ้นของบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัดซึ่งเป็นลูกหนี้ และหมายความรวมถึงผู้มีส่วนได้เสียในนิติบุคคลอื่นซึ่งเป็นลูกหนี้ทำนองเดียวกับผู้ถือหุ้น
               “ผู้ทำแผน” หมายความว่า ผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ
               “ผู้บริหารแผน” หมายความว่า ผู้จัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ
               “ผู้บริหารของลูกหนี้” หมายความว่า กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจดำเนินกิจการของลูกหนี้อยู่ในวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ
               “ผู้บริหารชั่วคราว” หมายความว่า ผู้บริหารของลูกหนี้หรือบุคคลอื่นที่ศาลสั่งให้มีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ชั่วคราวในระหว่างที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแต่ยังไม่มีการตั้งผู้ทำแผน

 

ส่วนที่ ๒
การขอและการให้ฟื้นฟูกิจการ

-------------------------

               มาตรา ๙๐/๒  เจ้าหนี้หรือลูกหนี้หรือหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๙๐/๔ อาจร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้ตามบทบัญญัติแห่งหมวดนี้ ไม่ว่าลูกหนี้จะถูกฟ้องให้ล้มละลายแล้วหรือไม่
               กระบวนพิจารณาส่วนใดที่มิได้บัญญัติไว้ในหมวดนี้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติในหมวดอื่นแห่งพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

ปรึกษาปัญหาทางกฎหมายฟรี
ตลอด 24 ชั่วโมง

  • ทนายให้ ปรึกษามากกว่า 3000 ครั้ง
    ฟรีบนแพล็ตฟอร์ม
  • ฟรี และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
  • ปรึกษาได้ทุกเรื่องราว ไม่ระบุตัวตนของผู้ถาม

               มาตรา ๙๐/๓  เมื่อลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่สามารถที่จะชำระหนี้ตามกำหนดได้ และเป็นหนี้เจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนรวมกันเป็นจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม ถ้ามีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ บุคคลตามมาตรา ๙๐/๔ อาจยื่นคำร้องขอต่อศาลให้มีการฟื้นฟูกิจการได้

               มาตรา ๙๐/๔  ภายใต้บังคับมาตรา ๙๐/๕ บุคคลซึ่งมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ฟื้นฟูกิจการ ได้แก่บุคคลดังต่อไปนี้
               (๑) เจ้าหนี้ซึ่งอาจเป็นคนเดียวหรือหลายคนรวมกันและมีจำนวนหนี้แน่นอนไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท
               (๒) ลูกหนี้ซึ่งมีลักษณะตามมาตรา ๙๐/๓
               (๓) ธนาคารแห่งประเทศไทย ในกรณีที่ลูกหนี้ตามมาตรา ๙๐/๓ เป็นธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์
               (๔) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในกรณีที่ลูกหนี้ตามมาตรา ๙๐/๓ เป็นบริษัทหลักทรัพย์
               (๕) กรมการประกันภัย ในกรณีที่ลูกหนี้ตามมาตรา ๙๐/๓ เป็นบริษัทประกันวินาศภัยหรือบริษัทประกันชีวิต
               (๖) หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการของลูกหนี้ตามมาตรา ๙๐/๓ ซึ่งเป็นนิติบุคคล หน่วยงานของรัฐและลูกหนี้ดังกล่าวให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
               เจ้าหนี้ของลูกหนี้ตาม (๓) (๔) (๕) หรือ (๖) หรือลูกหนี้นั้นเอง จะยื่นคำร้องขอตามมาตรา ๙๐/๓ ด้วยตนเองได้เมื่อได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมการประกันภัย หรือหน่วยงานของรัฐตาม (๖) แล้วแต่กรณี
               การขอความยินยอม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่หน่วยงานตามวรรคสองประกาศกำหนด
               เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมการประกันภัย หรือหน่วยงานของรัฐตาม (๖) แล้วแต่กรณี ได้รับคำขอความยินยอม ให้หน่วยงานนั้นแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ขอทราบภายในสิบห้าวันนับตั้งแต่วันที่ได้รับคำขอ ในกรณีที่ไม่ให้ความยินยอมให้แจ้งเหตุผลโดยย่อ และให้ผู้ขอมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลหน่วยงานนั้นภายในเจ็ดวันนับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการพิจารณา ให้รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในสิบห้าวันนับตั้งแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

               มาตรา ๙๐/๕  บุคคลตามมาตรา ๙๐/๔ จะยื่นคำร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไม่ได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
               (๑) ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด
               (๒) ศาลหรือนายทะเบียนได้มีคำสั่งให้เลิกหรือเพิกถอนทะเบียนนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้ หรือมีการจดทะเบียนเลิกนิติบุคคลนั้น หรือนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้ต้องเลิกกันด้วยเหตุอื่น ทั้งนี้ ไม่ว่าการชำระบัญชีของนิติบุคคลดังกล่าวจะเสร็จแล้วหรือไม่
               (๓) ศาลได้เคยมีคำสั่งยกคำร้องขอ ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ หรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ตามความในหมวดนี้ ภายในระยะเวลาหกเดือนก่อนยื่นคำร้องขอ
 

               มาตรา ๙๐/๖  คำร้องขอของบุคคลตามมาตรา ๙๐/๔ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ จะต้องแสดงโดยชัดแจ้งถึง
               (๑) ความมีหนี้สินล้นพ้นตัวของลูกหนี้หรือไม่สามารถที่จะชำระหนี้ตามกำหนดได้
               (๒) รายชื่อและที่อยู่ของเจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนที่ลูกหนี้เป็นหนี้อยู่รวมกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท
               (๓) เหตุอันสมควรและช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการ
               (๔) ชื่อและคุณสมบัติของผู้ทำแผน
               (๕) หนังสือยินยอมของผู้ทำแผน
               ผู้ทำแผนอาจเป็นบุคคลธรรมดา นิติบุคคล คณะบุคคล เจ้าหนี้หรือผู้บริหารของลูกหนี้ก็ได้
               ถ้าเจ้าหนี้เป็นผู้ร้องขอ จะต้องแนบรายชื่อและที่อยู่ของเจ้าหนี้อื่นเท่าที่ทราบมาพร้อมคำร้องขอ
               ถ้าลูกหนี้เป็นผู้ร้องขอ จะต้องแนบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดที่มีอยู่ รายชื่อและที่อยู่โดยชัดแจ้งของเจ้าหนี้ทั้งหลายมาพร้อมคำร้องขอ

               มาตรา ๙๐/๗  ในการร้องขอฟื้นฟูกิจการ ผู้ร้องขอต้องชำระค่าขึ้นศาลหนึ่งพันบาท และต้องวางเงินประกันค่าใช้จ่ายที่ผู้ร้องขอต้องรับผิดชอบในการขอฟื้นฟูกิจการไว้ต่อศาลเป็นจำนวนห้าหมื่นบาทในขณะยื่นคำร้องขอ หากค่าใช้จ่ายนั้นไม่เพียงพอ ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ร้องขอวางเงินประกันค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามจำนวนที่เห็นสมควรก็ได้
               ในกรณีที่ผู้ร้องขอไม่ยอมวางเงินประกันเพิ่มตามวรรคหนึ่ง ถ้าศาลยังไม่มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ให้ถือว่าผู้ร้องขอทิ้งคำร้องขอ แต่ถ้าศาลได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายและธนาคารแห่งประเทศไทย หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือกรมการประกันภัย หรือหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการของลูกหนี้ตามมาตรา ๙๐/๓ ซึ่งได้ให้ความยินยอมตามมาตรา ๙๐/๔ แล้วแต่กรณี เพื่อแต่งตั้งเจ้าหนี้อื่นหรือลูกหนี้หรือผู้ให้ความยินยอมเป็นผู้ร้องขอแทนต่อไปโดยเร็วที่สุด ถ้าไม่มีผู้ร้องขอแทนหรือมีแต่ไม่วางเงินประกันดังกล่าวภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ผู้ร้องขอไม่ยอมวางเงินประกันดังกล่าวตามคำสั่งศาล ให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
               ในกรณีที่เจ้าหนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมการประกันภัย หรือหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๙๐/๔ (๖) แล้วแต่กรณี เป็นผู้ร้องขอ ให้ผู้ทำแผนชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าวจากทรัพย์สินของลูกหนี้คืนให้แก่ผู้ร้องขอภายหลังที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้วโดยไม่ชักช้า
               ในการดำเนินกระบวนพิจารณาเพื่อฟื้นฟูกิจการ ให้ถือว่าธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมการประกันภัย หรือหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๙๐/๔ (๖) แล้วแต่กรณี มีฐานะเช่นเดียวกับเจ้าหนี้

               มาตรา ๙๐/๘  ผู้ร้องขอจะถอนคำร้องขอไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต แต่ถ้าศาลได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว ศาลจะอนุญาตให้ถอนคำร้องขอไม่ได้
               ในกรณีที่ผู้ร้องขอทิ้งคำร้องขอ หรือขาดนัดพิจารณา หรือศาลอนุญาตให้ถอนคำร้องขอ ก่อนที่ศาลจะสั่งจำหน่ายคดี ให้โฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อยหนึ่งฉบับเพื่อให้เจ้าหนี้ทั้งหลายและลูกหนี้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน

               มาตรา ๙๐/๙  เมื่อศาลสั่งรับคำร้องขอแล้ว ให้ดำเนินการไต่สวนเป็นการด่วนและให้ศาลประกาศคำสั่งรับคำร้องขอและวันเวลานัดไต่สวนในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อยหนึ่งฉบับไม่น้อยกว่าสองครั้งห่างกันไม่เกินเจ็ดวัน กับให้ส่งสำเนาคำร้องขอแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายเท่าที่ทราบและแก่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทหรือนายทะเบียนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อนายทะเบียนจะได้จดแจ้งคำสั่งศาลไว้ในทะเบียน และให้ส่งให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมการประกันภัย หรือหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๙๐/๔ (๖) แล้วแต่กรณีด้วย ทั้งนี้ ให้ส่งก่อนวันนัดไต่สวนไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
               ถ้าเจ้าหนี้เป็นผู้ร้องขอ ให้ผู้ร้องขอนำส่งสำเนาคำร้องขอให้ลูกหนี้ทราบก่อนวันนัดไต่สวนไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และให้ลูกหนี้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดที่มีอยู่ รายชื่อและที่อยู่โดยชัดแจ้งของเจ้าหนี้ทั้งหลายต่อศาลก่อนวันนัดไต่สวนด้วย
               ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้อาจยื่นคำคัดค้านก่อนวันนัดไต่สวนนัดแรกไม่น้อยกว่าสามวัน ในกรณีที่เป็นการคัดค้านผู้ทำแผน ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้จะเสนอชื่อบุคคลอื่นเป็นผู้ทำแผนด้วยหรือไม่ก็ได้ การเสนอชื่อผู้ทำแผนต้องเสนอหนังสือยินยอมของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ทำแผนด้วย
               ในกรณีที่ลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว ให้ผู้ร้องขอนำส่งสำเนาคำร้องขอแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วย

               มาตรา ๙๐/๑๐  ในการไต่สวนคำร้องขอ ศาลต้องไต่สวนเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๐/๓ ถ้าได้ความจริงและมีเหตุอันสมควรที่จะฟื้นฟูกิจการ ทั้งผู้ร้องขอยื่นคำร้องขอโดยสุจริต ให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ มิฉะนั้นให้มีคำสั่งยกคำร้องขอ
               ในกรณีที่ไม่มีผู้คัดค้านคำร้องขอ ถ้าศาลเห็นสมควรจะงดการไต่สวนและมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการก็ได้

               มาตรา ๙๐/๑๑  ให้ศาลดำเนินการไต่สวนคำร้องขอติดต่อกันไป โดยไม่ต้องเลื่อนจนกว่าจะเสร็จการไต่สวนและมีคำสั่ง เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย
               ให้ผู้ร้องขอและผู้คัดค้านมาศาลในวันนัดไต่สวนทุกนัด ฝ่ายใดมีหน้าที่นำสืบในนัดใดให้เตรียมพยานหลักฐานมาให้พร้อม ถ้าผู้ร้องขอหรือผู้คัดค้านไม่มาหรือไม่เตรียมพยานหลักฐานมาให้ถือว่าไม่ติดใจร้องขอหรือคัดค้าน หรือไม่ติดใจนำสืบพยานหลักฐานอีกต่อไป แล้วแต่กรณี
               ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่นำสืบมีคำขอว่าไม่อาจนำพยานหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีมาศาลในนัดใด เพราะมีความจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้เกี่ยวกับพยานหลักฐานนั้น ถ้าศาลเห็นสมควร ศาลจะสั่งให้เลื่อนการสืบพยานหลักฐานนั้นไปก็ได้ แต่ให้สั่งเลื่อนได้เพียงครั้งเดียว
               ในกรณีที่ผู้ร้องขอหรือผู้คัดค้านไม่มีหน้าที่นำสืบในนัดใด เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแล้วจะไม่มาศาลในนัดนั้นก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ให้ถือว่าผู้นั้นสละสิทธิถามค้านพยานที่นำสืบในนัดนั้น
               ในกรณีที่ผู้ร้องขอหรือผู้คัดค้านไม่มาศาลในนัดใด ไม่ว่าจะได้รับอนุญาตจากศาลหรือไม่ ให้ถือว่าผู้นั้นได้ทราบกระบวนพิจารณาของศาลในนัดนั้นแล้ว

               มาตรา ๙๐/๑๒  ภายใต้บังคับของมาตรา ๙๐/๑๓ และมาตรา ๙๐/๑๔ นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผน หรือวันที่ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผนหรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอ หรือจำหน่ายคดีหรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการหรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามความในหมวดนี้
               (๑) ห้ามมิให้ฟ้องหรือร้องขอให้ศาลพิพากษาหรือสั่งให้เลิกนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้ ถ้ามีการฟ้องหรือร้องขอคดีดังกล่าวไว้ก่อนแล้ว ให้ศาลงดการพิจารณาคดีนั้นไว้
               (๒) ห้ามมิให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้เลิกหรือจดทะเบียนเลิกนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้ และห้ามมิให้นิติบุคคลนั้นเลิกกันโดยประการอื่น
               (๓) ห้ามมิให้ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมการประกันภัย หรือหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๙๐/๔ (๖) แล้วแต่กรณี สั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประอบกิจการของลูกหนี้หรือสั่งให้ลูกหนี้หยุดประกอบกิจการ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคำร้องขอ
               (๔) ห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้หรือเสนอข้อพิพาทที่ลูกหนี้อาจต้องรับผิดหรือได้รับความเสียหายให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ถ้ามูลแห่งหนี้นั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน และห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลาย ในกรณีที่มีการฟ้องคดีหรือเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดไว้ก่อนแล้ว ให้งดการพิจารณาไว้ เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
               (๕) ห้ามมิให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ ถ้ามูลแห่งหนี้ตามคำพิพากษานั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน ในกรณีที่ได้ดำเนินการบังคับคดีไว้ก่อนแล้วให้ศาลงดการบังคับคดีนั้นไว้ เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น หรือการบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะทราบว่าได้มีการยื่นคำร้องขอ หรือการบังคับคดีตามคำพิพากษาให้ลูกหนี้ส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่งเสร็จก่อนวันดังกล่าวนั้น
                     ในกรณีที่ทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้เป็นของเสียง่าย หรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงต่อความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายจะเกินส่วนแห่งค่าของทรัพย์สินนั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายได้โดยวิธีขายทอดตลาดหรือวิธีอื่นที่สมควร แล้วให้กักเงินไว้ ถ้าศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนก็ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมอบเงินนั้นแก่ผู้บริหารแผนนำไปใช้จ่ายได้ ถ้าศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอหรือจำหน่ายคดีหรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการก็ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แต่ถ้าศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดและยังเหลือเงินอยู่ ให้ส่งอบให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อไป
               (๖) ห้ามมิให้เจ้าหนี้มีประกันบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคำร้องขอ หรือเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอ ระยะเวลาดังกล่าวศาลอาจขยายได้อีกไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินหกเดือน
               (๗) ห้ามมิให้เจ้าหนี้ซึ่งบังคับชำระหนี้ได้เองตามกฎหมาย ยึดทรัพย์สินหรือขายทรัพย์สินของลูกหนี้
               (๘) ห้ามมิให้เจ้าของทรัพย์สินที่เป็นสาระสำคัญในการดำเนินกิจการของลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ สัญญาซื้อขายหรือสัญญาอื่นที่มีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาในการโอนกรรมสิทธิ์ หรือสัญญาเช่าที่ยังไม่สิ้นกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ ติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวที่อยู่ในความครอบครองของลูกหนี้หรือของบุคคลอื่นที่อาศัยสิทธิของลูกหนี้ รวมตลอดจนฟ้องร้องบังคับคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินและหนี้ซึ่งเกิดขึ้นจากสัญญาดังกล่าว ถ้ามีการฟ้องคดีดังกล่าวไว้ก่อนแล้ว ให้ศาลงดการพิจารณาคดีนั้นไว้ เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น หรือหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือผู้บริหารแผนชั่วคราว แล้วแต่กรณี ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ ราคา ค่าตอบแทนการใช้ทรัพย์ หรือค่าเช่าตามสัญญา สองคราวติดต่อกัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นสาระสำคัญ
               (๙) ห้ามมิให้ลูกหนี้จำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า ชำระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สิน นอกจากเป็นการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดำเนินต่อไปได้ เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
               (๑๐) คำสั่งตามวิธีการชั่วคราวของศาลที่ให้ยึด อายัด ห้ามจำหน่าย จ่าย โอน ทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราว ซึ่งมีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้เพื่อพิจารณานั้น ให้ศาลที่รับคำร้องขอมีอำนาจสั่งให้ระงับผลบังคับไว้ หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่ถ้าต่อมาศาลนั้นมีคำสั่งยกคำร้องขอหรือจำหน่ายคดีหรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการก็ให้มีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวหรือคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราวดังกล่าวตามที่เห็นสมควรต่อไป
               (๑๑) ห้ามมิให้ผู้ประกอบการสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ งดให้บริการแก่ลูกหนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคำร้องขอ หรือหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือผู้บริหารแผนชั่วคราว แล้วแต่กรณี ไม่ชำระค่าบริการที่เกิดขึ้นหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการสองคราวติดต่อกัน
               บทบัญญัติในวรรคหนึ่งไม่ห้ามผู้ประกอบการสาธารณูปโภคที่จะมีคำร้องให้ศาลที่รับคำร้องขอมีคำสั่งเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้องตามที่ศาลเห็นสมควร
               คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลหรือคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดของวรรคหนึ่งไม่มีผลผูกพันลูกหนี้
               การออกคำสั่งของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท นายทะเบียนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับนิติบุคคลซึ่งเป็นลูกหนี้ การทำนิติกรรม หรือการชำระหนี้ใด ๆ ที่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดของวรรคหนึ่ง การนั้นเป็นโมฆะ

               มาตรา ๙๐/๑๓  เจ้าหนี้และบุคคลซึ่งถูกจำกัดสิทธิตามมาตรา ๙๐/๑๒ อาจยื่นคำร้องต่อศาลที่รับคำร้องขอเพื่อให้มีคำสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อจำกัดสิทธิของตนตามมาตรา ๙๐/๑๒ ได้ หากการจำกัดสิทธิของผู้ร้องนั้น
               (๑) ไม่มีความจำเป็นต่อการฟื้นฟูกิจการ หรือ
               (๒) มิได้ให้ความคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันอย่างเพียงพอ
               เมื่อได้รับคำร้องตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลดำเนินการพิจารณาเป็นการด่วน หากปรากฏเหตุตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลมีคำสั่งตามที่เห็นสมควรเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้อง และหากเป็นกรณีตาม (๒) ศาลอาจมีคำสั่งให้ดำเนินการแก้ไขเพื่อให้เจ้าหนี้มีประกันได้รับความคุ้มครองอย่างเพียงพอก็ได้

               มาตรา ๙๐/๑๔  การดำเนินการดังต่อไปนี้ถือเป็นการให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหนี้มีประกันอย่างเพียงพอแล้ว
               (๑) มีการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้มีประกันในจำนวนเท่ากับมูลค่าที่ลดลงไปของทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันที่ตกอยู่ภายใต้บังคับของการจำกัดสิทธิตามมาตรา ๙๐/๑๒ (๖) เพราะเหตุของการจำกัดสิทธินั้น
               (๒) มีการให้หลักประกันแก่เจ้าหนี้มีประกันเพื่อชดเชยหลักประกันเดิมในจำนวนเท่ากับมูลค่าที่ลดลงไปของทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันที่ตกอยู่ภายใต้บังคับของการจำกัดสิทธิตามมาตรา ๙๐/๑๒ (๖) เพราะเหตุการจำกัดสิทธินั้น หรือ
               (๓) มีการดำเนินการอื่นใดที่เจ้าหนี้มีประกันนั้นยินยอม หรือที่ศาลเห็นว่าจะทำให้เจ้าหนี้มีประกันสามารถได้รับชำระหนี้ของตนตามมูลค่าของทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันในเวลาที่มีการยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการพร้อมดอกเบี้ยและผลประโยชน์ตามสัญญา เมื่อการดำเนินการตามความในหมวดนี้สิ้นสุดลง

               มาตรา ๙๐/๑๔ ทวิ  ในกรณีทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันมีสภาพเป็นของสดเสียง่าย หรือหากหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงต่อความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาจะเกินส่วนกับค่าของทรัพย์สิน เจ้าหนี้มีประกันอาจใช้สิทธิจำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าวตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องแล้วเก็บเงินไว้แทน

               มาตรา ๙๐/๑๕  ถ้าอายุความหรือระยะเวลาเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาและการบังคับคดี หรือระยะเวลาเกี่ยวกับการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการที่ถูกห้ามมิให้ดำเนินการหรือถูกงดไว้ตามมาตรา ๙๐/๑๒ ครบกำหนดก่อนวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผนหรือวันที่ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผนหรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอหรือจำหน่ายคดีหรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้หรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามความในหมวดนี้ หรือจะครบกำหนดภายในหกเดือนนับแต่วันดังกล่าว ให้อายุความหรือระยะเวลานั้นยังไม่ครบกำหนดจนกว่าจะพ้นกำหนดเวลาหนึ่งปีนับแต่วันดังกล่าว แล้วแต่กรณี แต่ถ้าอายุความหรือระยะเวลานั้นตามกฎหมายมีน้อยกว่าหนึ่งปี ก็ให้นำอายุความหรือระยะเวลาที่สั้นกว่าดังกล่าวนั้นมาใช้แทนกำหนดเวลาหนึ่งปีดังกล่าว

 

ส่วนที่ ๓
การตั้งผู้ทำแผน

-------------------------

               มาตรา ๙๐/๑๖  ในกรณีที่รัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ของการฟื้นฟูกิจการ รัฐมนตรีจะออกกฎกระทรวงที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนและการกำหนดคุณสมบัติของผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนก็ได้

               มาตรา ๙๐/๑๗  ในการพิจารณาตั้งผู้ทำแผน ถ้าลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ผู้คัดค้านไม่ได้เสนอบุคคลอื่นเป็นผู้ทำแผนด้วย เมื่อศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ศาลจะมีคำสั่งตั้งบุคคลที่ผู้ร้องขอเสนอเป็นผู้ทำแผนก็ได้ ถ้าศาลเห็นว่าบุคคลที่ผู้ร้องขอเสนอไม่สมควรเป็นผู้ทำแผนก็ดี หรือลูกหนี้เจ้าหนี้ผู้คัดค้านเสนอบุคคลอื่นเป็นผู้ทำแผนด้วยก็ดี ให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุดเพื่อพิจารณาเลือกว่าบุคคลใดสมควรเป็นผู้ทำแผน
               ในกรณีที่ลูกหนี้มิได้เสนอผู้ทำแผน มติเลือกผู้ทำแผนต้องเป็นมติของเจ้าหนี้ฝ่ายที่มีจำนวนหนี้ข้างมากซึ่งได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้น แต่ในกรณีที่ลูกหนี้เสนอผู้ทำแผนด้วย ให้ผู้ทำแผนที่ลูกหนี้เสนอเป็นผู้ทำแผน เว้นแต่จะมีมติของเจ้าหนี้ฝ่ายที่มีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ซึ่งได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้นกำหนดให้บุคคลอื่นเป็นผู้ทำแผน ในการลงมติตามมาตรานี้ ให้เจ้าหนี้มีประกันออกเสียงได้เต็มตามจำนวนหนี้
               ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาเลือกผู้ทำแผน ถ้าที่ประชุมมีมติเลือกผู้ทำแผนได้และศาลเห็นชอบด้วย ให้ศาลตั้งบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ทำแผน หากศาลไม่เห็นชอบด้วย ให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อเลือกบุคคลหนึ่งบุคคลใดซึ่งเจ้าหนี้หรือลูกหนี้เสนอชื่อเป็นผู้ทำแผน
               ถ้าที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่อาจมีมติเลือกผู้ทำแผนได้ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาเลือกผู้ทำแผนอีกครั้งหนึ่ง เว้นแต่ในกรณีที่เห็นสมควรศาลจะมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการก็ได้
               ในการประชุมเจ้าหนี้ในวรรคสามหรือวรรคสี่ ถ้าที่ประชุมีมติเลือกผู้ทำแผนได้ ให้ศาลตั้งบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ทำแผน เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุผลอันสมควรที่จะไม่ตั้งบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ทำแผนหรือที่ประชุมไม่อาจมีมติเลือกผู้ทำแผนได้ ให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ
               ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานผลของการประชุมเจ้าหนี้ที่พิจารณาเลือกผู้ทำแผนทุกครั้งต่อศาลภายในสามวันนับแต่วันประชุม เพื่อให้ศาลพิจารณาและมีคำสั่งต่อไป
               การเสนอชื่อผู้ทำแผนต่อที่ประชุมเจ้าหนี้ต้องเสนอหนังสือยินยอมของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ทำแผนด้วย

               มาตรา ๙๐/๑๘  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องโฆษณากำหนดวัน เวลา และสถานที่ที่จะประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาเลือกผู้ทำแผนในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อยหนึ่งฉบับ ล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และต้องแจ้งไปยังลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลายตามบัญชีรายชื่อที่ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้เสนอต่อศาลและเจ้าหนี้อื่นเท่าที่ทราบด้วย
               ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นประธานในการประชุมเจ้าหนี้ และให้มีรายงานการประชุม ลงลายมือชื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เก็บไว้เป็นหลักฐาน

               มาตรา ๙๐/๑๙  ในการพิจารณาของศาลและการประชุมเจ้าหนี้ทุกครั้งให้ลูกหนี้ไปศาล ไปประชุมและตอบคำถามของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน ผู้บริหารแผนชั่วคราว หรือเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของตน ในกรณีเช่นนี้ลูกหนี้จะเสนอความเห็นอย่างหนึ่งอย่างใดต่อศาลหรือที่ประชุมก็ได้
               เมื่อลูกหนี้ร้องขอ ศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะอนุญาตให้ลูกหนี้ไม่ต้องไปศาลหรือไม่ไปประชุมเจ้าหนี้ในนัดใดก็ได้ แล้วแต่กรณี
               ให้นำบทบัญญัติในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับแก่ผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน และผู้บริหารแผนชั่วคราว ในการพิจารณาของศาลและการประชุมเจ้าหนี้ในระหว่างที่บุคคลเหล่านี้ยังคงมีหน้าที่ตามตำแหน่งดังกล่าวด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๙๐/๒๐  ในกรณีที่ศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแต่ยังไม่มีการตั้งผู้ทำแผน ให้อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของผู้บริหารของลูกหนี้สิ้นสุดลง ให้ศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหลายคนหรือผู้บริหารของลูกหนี้เป็นผู้บริหารชั่วคราวมีอำนาจหน้าที่จัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไปภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จนกว่าจะมีการตั้งผู้ทำแผน ในระหว่างที่ไม่สามารถมีคำสั่งตั้งผู้บริหารชั่วคราวได้ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ชั่วคราว
               ในการกำกับดูแลนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะกำหนดอำนาจหน้าที่ รวมทั้งสั่งให้ผู้บริหารชั่วคราวทำคำชี้แจงในเรื่องบัญชี เรื่องการเงินหรือเรื่องใด ๆ เกี่ยวกับการจัดการกิจการและทรัพย์สิน หรือจะสั่งให้กระทำหรือมิให้กระทำการใด ๆ ตามที่เห็นสมควรก็ได้
               เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอ ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้บริหารชั่วคราวพ้นจากอำนาจหน้าที่ ในกรณีเช่นนี้ศาลจะสั่งตั้งผู้บริหารชั่วคราวใหม่ขึ้นทำหน้าที่ก็ได้ ถ้าศาลไม่มีคำสั่งตั้งผู้บริหารชั่วคราวใหม่ ก็ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ชั่วคราวไปตามวรรคหนึ่ง
               ให้ศาลแจ้งคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและคำสั่งตั้งหรือให้ผู้บริหารชั่วคราวพ้นจากอำนาจหน้าที่ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบ และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการในราชกิจจานุเบกษาและหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายไม่น้อยกว่าสองฉบับ และแจ้งคำสั่งดังกล่าวไปยังนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทหรือนายทะเบียนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยด่วน เพื่อนายทะเบียนจะได้จดแจ้งคำสั่งศาลไว้ในทะเบียนและแจ้งไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมการประกันภัย หรือหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๙๐/๔ (๖) แล้วแต่กรณี เพื่อทราบด้วย

               มาตรา ๙๐/๒๑  ภายใต้บังคับมาตรา ๙๐/๔๒ และมาตรา ๙๐/๖๔ ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแต่ยังไม่มีการตั้งผู้ทำแผน ให้บรรดาสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นของลูกหนี้ระงับลง เว้นแต่สิทธิที่จะได้รับเงินปันผล และให้สิทธิดังกล่าวตกแก่ผู้บริหารชั่วคราวหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แล้วแต่รณี จนกว่าจะมีการตั้งผู้ทำแผน
               ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๐/๑๒ (๙) มาใช้บังคับแก่ผู้บริหารชั่วคราวและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยอนุโลม
               เมื่อได้รับทราบคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว ผู้บริหารของลูกหนี้ต้องส่งมอบทรัพย์สิน ดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารเกี่ยวกับทรัพย์สิน หนี้สิน และกิจการของลูกหนี้แก่ผู้บริหารชั่วคราวหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แล้วแต่กรณี โดยเร็วที่สุด เพื่อการนี้ให้ผู้บริหารชั่วคราวหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจเรียกให้ผู้ครอบครองส่งมอบทรัพย์สิน ดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารข้างต้นแก่ตนได้ด้วย
               ให้ผู้บริหารชั่วคราวที่ศาลมีคำสั่งให้พ้นจากอำนาจหน้าที่มีหน้าที่ตามความในวรรคสามด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๙๐/๒๒  เจ้าหนี้ที่มีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาเลือกผู้ทำแผนต้องเป็นเจ้าหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ และลูกหนี้ได้ก่อนิติสัมพันธ์ดังกล่าวนั้นขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม โดยเจ้าหนี้ได้แสดงความประสงค์จะเข้าประชุมตามแบบพิมพ์ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดและแสดงหลักฐานแห่งความเป็นเจ้าหนี้จนเป็นที่พอใจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก่อนวันประชุม
               เจ้าหนี้และลูกหนี้จะขอตรวจหลักฐานแห่งความเป็นเจ้าหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ได้
               เจ้าหนี้จะออกเสียงด้วยตนเองหรือมอบฉันทะเป็นหนังสือให้ผู้อื่นออกเสียงแทนก็ได้

               มาตรา ๙๐/๒๓  ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาเลือกผู้ทำแผน ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ถามลูกหนี้และเจ้าหนี้ที่มาประชุมว่าจะคัดค้านการออกเสียงของเจ้าหนี้รายใดหรือไม่ ถ้ามีผู้คัดค้านการออกเสียงของเจ้าหนี้รายใด ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบถามผู้คัดค้าน เจ้าหนี้ผู้ถูกคัดค้านและลูกหนี้เกี่ยวกับเรื่องที่คัดค้าน ถ้าบุคคลดังกล่าวมาประชุม แล้วมีคำสั่งให้เจ้าหนี้รายนั้นออกเสียงในจำนวนหนี้ได้หรือไม่เท่าใด
               คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามวรรคหนึ่งให้เป็นที่สุด โดยให้มีผลเฉพาะให้เจ้าหนี้มีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมเจ้าหนี้หรือไม่เท่านั้น แต่ไม่มีผลให้มติเลือกผู้ทำแผนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลเปลี่ยนแปลงไปหรือกระทบถึงสิทธิในการได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้

               มาตรา ๙๐/๒๔  ถ้าศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผน ให้ศาลแจ้งคำสั่งนั้นแก่ผู้ทำแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารของลูกหนี้ และผู้บริหารชั่วคราวโดยไม่ชักช้า อำนาจหน้าที่ของผู้ทำแผนให้เริ่มแต่วันที่ศาลมีคำสั่งดังกล่าว และให้อำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารของลูกหนี้หรือผู้บริหารชั่วคราวสิ้นสุดลง
               เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนแล้วให้นำความในมาตรา ๙๐/๒๐ วรรคสี่ และมาตรา ๙๐/๒๑ วรรคสามมาใช้บังคับโดยอนุโลม กับให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งคำสั่งดังกล่าวไปยังเจ้าหนี้ทั้งหลายตามบัญชีรายชื่อที่ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้เสนอต่อศาลและเจ้าหนี้อื่นเท่าที่ทราบ
               ในคำโฆษณาและหนังสือแจ้งคำสั่งตามวรรคสอง ให้แจ้งกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ทั้งหลายเสนอคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามแบบพิมพ์ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วย

               มาตรา ๙๐/๒๕  ภายใต้บังคับมาตรา ๙๐/๔๒ และมาตรา ๙๐/๖๔ เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนแล้ว ให้อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ และบรรดาสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นของลูกหนี้ ยกเว้นสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลตกแก่ผู้ทำแผน และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๐/๑๒ (๙) มาใช้บังคับแก่ผู้ทำแผนโดยอนุโลม

 

ส่วนที่ ๔
การขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ

-------------------------

               มาตรา ๙๐/๒๖  เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กล่าวไว้ในส่วนนี้ แม้จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หรือเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้วแต่คดียังอยู่ระหว่างพิจารณาก็ตาม ทั้งนี้ ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้พร้อมสำเนาต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนและให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งสำเนาคำขอรับชำระหนี้ให้ผู้ทำแผนโดยไม่ชักช้า
               บุคคลใดได้รับความเสียหายเพราะการโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ๆ ถูกเพิกถอนตามมาตรา ๙๐/๔๑ หรือเพราะผู้บริหารแผนไม่ยอมรับทรัพย์สินหรือสิทธิตามสัญญาตามมาตรา ๙๐/๔๑ ทวิ มีสิทธิขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการสำหรับหนี้เดิม หรือค่าเสียหายได้ แล้วแต่กรณี ภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง แต่ให้นับจากวันที่อาจใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ ถ้ามีข้อโต้เถียงเป็นคดีให้นับจากวันคดีถึงที่สุด
               ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๑ วรรคสอง มาตรา ๑๐๕ มาตรา ๑๐๘ และบทบัญญัติในหมวด ๘ ส่วนที่ ๓ ว่าด้วยเรื่องค่าธรรมเนียมมาใช้บังคับเกี่ยวกับการขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการโดยอนุโลม

               มาตรา ๙๐/๒๗  เจ้าหนี้อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีหรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้
               ผู้ซึ่งมีสิทธิขอรับชำระหนี้ตามมาตรา ๑๐๑ อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการสำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าได้ เว้นแต่เจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ไว้เต็มจำนวนแล้ว
               หนี้ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือผู้บริหารชั่วคราวก่อขึ้น หนี้ที่ลูกหนี้จะต้องรับผิดตามมาตรา ๙๐/๑๒ (๘) หรือ (๑๑) และหนี้ภาษีอากรหรือหนี้อื่นอันมีลักษณะเดียวกันซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผน เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผนโดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ แต่เจ้าหนี้ดังกล่าวจะต้องมีหนังสือขอให้ผู้ทำแผนออกหนังสือรับรองสิทธิของตนก่อนวันประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผน ถ้าผู้ทำแผนจะปฏิเสธสิทธิของเจ้าหนี้จะต้องปฏิเสธเป็นหนังสือไปยังเจ้าหนี้ภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือของเจ้าหนี้ มิฉะนั้น ให้ถือว่ายอมรับสิทธิของเจ้าหนี้ตามที่ขอมา ถ้าเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือขอให้ผู้ทำแผนออกหนังสือรับรองสิทธิของตนเองหรือผู้ทำแผนมีหนังสือปฏิเสธสิทธิของเจ้าหนี้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวข้างต้น เจ้าหนี้นั้นอาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในสิบสี่วันนับแต่วันประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนหรือวันที่เจ้าหนี้ได้รับคำปฏิเสธนั้น แล้วแต่กรณี

               มาตรา ๙๐/๒๘  ภายใต้บังคับมาตรา ๙๐/๑๒ (๖) มาตรา ๙๐/๑๓ และมาตรา ๙๐/๑๔ เจ้าหนี้มีประกันจะใช้สิทธิบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันโดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการก็ได้ แต่ต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือผู้ทำแผนตรวจดูทรัพย์สินนั้น

               มาตรา ๙๐/๒๙  เจ้าหนี้ ลูกหนี้ หรือผู้ทำแผนอาจขอตรวจและโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ แต่ต้องกระทำภายในกำหนดสิบสี่วันนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้

               มาตรา ๙๐/๓๐  คำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของเจ้าหนี้รายใด ถ้าเจ้าหนี้อื่น ลูกหนี้ หรือผู้ทำแผนไม่โต้แย้ง ให้เจ้าหนี้รายนั้นมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนได้เต็มจำนวนหนี้ตามที่ระบุไว้ในคำขอรับชำระหนี้ ถ้ามีผู้โต้แย้ง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนโดยด่วนแล้วมีคำสั่งว่าจะให้เจ้าหนี้รายนั้นออกเสียงในจำนวนหนี้ได้หรือไม่เท่าใด และให้นำความในมาตรา ๙๐/๒๓ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๙๐/๓๑  เพื่อประโยชน์ในการคำนวณหนี้ที่ใช้ในการออกเสียงลงคะแนน ถ้าหนี้ได้กำหนดไว้เป็นเงินตราต่างประเทศให้คิดเป็นเงินตราไทยในวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราประจำวันของธนาคารแห่งประเทศไทย

               มาตรา ๙๐/๓๒  คำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของเจ้าหนี้รายใด ถ้าเจ้าหนี้อื่น ลูกหนี้ หรือผู้ทำแผนไม่โต้แย้ง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจสั่งอนุญาตให้รับชำระหนี้ได้ เว้นแต่มีเหตุอันสมควรสั่งเป็นอย่างอื่น
               คำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของเจ้าหนี้รายใด ถ้ามีผู้โต้แย้ง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
               (๑) ให้ยกคำขอรับชำระหนี้
               (๒) อนุญาตให้ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวน
               (๓) อนุญาตให้ได้รับชำระหนี้บางส่วน
               การคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ผู้มีส่วนได้เสียอาจยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลได้ภายในกำหนดสิบสี่วันนับแต่วันที่ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

               มาตรา ๙๐/๓๓  ถ้าเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการเป็นหนี้ลูกหนี้ในเวลาที่มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้นั้นอาจใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ได้ เว้นแต่เจ้าหนี้ได้สิทธิเรียกร้องต่อลูกหนี้ภายหลังที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ

 

ส่วนที่ ๕
คำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้

-------------------------

               มาตรา ๙๐/๓๔  ภายในเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่งตั้งผู้ทำแผน ให้ผู้บริหารของลูกหนี้ยื่นคำชี้แจงตามมาตรา ๙๐/๓๕ เกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ตนรับรองแล้วตามแบบพิมพ์ต่อผู้ทำแผน
               เมื่อผู้บริหารของลูกหนี้มีคำขอขยายระยะเวลาก่อนสิ้นกำหนดเวลาดังกล่าวข้างต้นโดยมีเหตุอันควร ผู้ทำแผนอาจขยายระยะเวลาให้อีกได้ตามที่เห็นสมควรแต่ไม่เกินสามสิบวัน
               ถ้าผู้บริหารของลูกหนี้ไม่ทำหรือไม่สามารถทำคำชี้แจงได้ ให้ผู้ทำแผนเป็นผู้ทำแทน และเพื่อการนี้ให้มีอำนาจจ้างบุคคลอื่นเข้าช่วยตามที่เห็นจำเป็นโดยคิดหักค่าใช้จ่ายจากทรัพย์สินของลูกหนี้

               มาตรา ๙๐/๓๕  คำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้จะต้องแสดงโดยชัดแจ้งถึงรายการต่อไปนี้ ณ วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้พิจารณา
               (๑) กิจการของลูกหนี้
               (๒) สินทรัพย์ หนี้สิน และภาระผูกพันต่าง ๆ ที่ลูกหนี้มีต่อบุคคลภายนอก
               (๓) ทรัพย์สินที่ได้ให้เป็นประกันแก่เจ้าหนี้ และวันที่ได้ให้ทรัพย์สินนั้นเป็นประกัน
               (๔) ทรัพย์สินของบุคคลอื่นที่อยู่ในความยึดถือของลูกหนี้
               (๕) การเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทหรือนิติบุคคลหรือเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนอื่น
               (๖) ชื่อ อาชีพและที่อยู่โดยละเอียดของเจ้าหนี้ทั้งหลาย
               (๗) ชื่อ อาชีพและที่อยู่โดยละเอียดของผู้เป็นลูกหนี้ของลูกหนี้
               (๘) รายละเอียดแห่งทรัพย์สินที่จะตกแก่ลูกหนี้ในภายหน้า
               (๙) ข้อมูลอื่นตามที่ผู้ทำแผนเห็นสมควรให้แจ้งเพิ่มเติม
               คำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นหลักฐานอันถูกต้องที่ใช้ยันลูกหนี้ได้

               มาตรา ๙๐/๓๖  ผู้บริหารชั่วคราวหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องทำคำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อผู้ทำแผนตามมาตรา ๙๐/๓๕ ในช่วงเวลาที่ตนมีอำนาจบริหารกิจการชั่วคราว และให้นำมาตรา ๙๐/๓๔ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๙๐/๓๗  ในกรณีจำเป็น เพื่อประโยชน์ในการทำแผนและการบริหารแผน ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือผู้บริหารแผนชั่วคราวอาจขอให้ศาลออกหมายเรียกผู้เป็นหรือเคยเป็นผู้บริหารของลูกหนี้ ลูจ้างของลูกหนี้ ผู้สอบบัญชีของลูกหนี้ ผู้บริหารชั่วคราว หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดซึ่งได้ความหรือสงสัยว่ามีทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ในครอบครอง หรือเชื่อว่าเป็นหนี้ลูกหนี้หรือเห็นว่าสามารถแจ้งข้อความเกี่ยวกับกิจการหรือทรัพย์สินของลูกหนี้มาพบตนเพื่อสอบถามหรือขอให้ศาลสั่งให้บุคคลนั้น ๆ ส่งเอกสารหรือวัตถุพยานซึ่งอยู่ในความยึดถือหรืออำนาจของผู้นั้นอันเกี่ยวกับกิจการหรือทรัพย์สินของลูกหนี้มาให้ตนก็ได้
               เพื่อประโยชน์ในการทำแผนและการบริหารแผน ศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะออกหมายเรียบุคคลตามวรรคหนึ่งมาไต่สวนหรือสอบสวนเองหรือสั่งให้บุคคลนั้น ๆ ส่งเอกสารหรือวัตถุพยานก็ได้
               บุคคลใดจงใจขัดขืนหมายเรียกหรือคำสั่งของศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ให้ศาลมีอำนาจออกหมายจับบุคคลนั้นมาขังไว้จนกว่าจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

               มาตรา ๙๐/๓๘  เมื่อผู้ทำแผน ผู้บริหารแผนหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอ ศาลมีอำนาจบังคับให้บุคคลที่รับว่าเป็นหนี้ลูกหนี้หรือรับว่ามีทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ในครอบครองชำระหนี้หรือส่งมอบทรัพย์สินแก่ตนได้ภายในกำหนดเวลาตามที่ศาลเห็นสมควร ถ้าไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเสมือนหนึ่งว่าบุคคลนั้นเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา

               มาตรา ๙๐/๓๙  เมื่อปรากฏว่าลูกหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดชำระหนี้หรือส่งมอบทรัพย์สินแก่ลูกหนี้และบุคคลนั้นไม่ได้รับว่าเป็นหนี้ลูกหนี้หรือมีทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ในครอบครอง ให้ผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนแจ้งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อดำเนินการ
               ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งความเป็นหนังสือไปยังบุคคลดังกล่าวให้ชำระหนี้หรือส่งมอบทรัพย์สินตามที่ได้แจ้งไป และให้แจ้งไปด้วยว่าถ้าจะปฏิเสธ ให้แสดงเหตุผลประกอบข้อปฏิเสธเป็นหนังสือมายังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสิบสี่วันนับแต่วันได้รับแจ้งความ มิฉะนั้น จะถือว่าเป็นหนี้ลูกหนี้ตามที่แจ้งไปเป็นการเด็ดขาด
               ถ้าบุคคลที่รับแจ้งความนั้นปฏิเสธหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาตามวรรคสอง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวน เมื่อเห็นว่าบุคคลนั้นไม่ได้เป็นหนี้ให้แจ้งต่อผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนและบุคคลนั้นทราบ ถ้าเห็นว่าบุคลนั้นเป็นหนี้เท่าใด ให้แจ้งเป็นหนังสือยืนยันไปยังบุคคลที่จะต้องรับผิดชอบนั้น และให้แจ้งไปด้วยว่าถ้าจะคัดค้านประการใด ให้ร้องคัดค้านต่อศาลภายในกำหนดเวลาสิบสี่วันนับแต่ได้รับแจ้งความยืนยัน
               ถ้าบุคคลที่ได้รับแจ้งความยืนยันนั้นคัดค้านต่อศาลโดยทำเป็นคำร้องภายในกำหนดเวลาตามวรรคสาม ให้ศาลพิจารณา ถ้าพอใจว่าเป็นหนี้ให้มีคำบังคับให้บุคคลนั้นชำระหนี้หรือส่งมอบทรัพย์สินแก่ผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผน ถ้าเห็นว่าไม่ได้เป็นหนี้ ให้มีคำสั่งจำหน่ายจากบัญชีลูกหนี้
               ถ้าบุคคลที่ได้รับแจ้งความจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้ปฏิเสธต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือมิได้ร้องคัดค้านต่อศาลตามกำหนดเวลาที่กล่าวข้างต้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอต่อศาลให้บังคับให้บุคคลนั้นชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามที่ศาลเห็นสมควร
               ถ้าบุคคลนั้นไม่ปฏิบัติตามคำบังคับของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเสมือนหนึ่งว่าบุคคลนั้นเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา
               ในกรณีที่ผู้ถูกทวงหนี้ร้องคัดค้านต่อศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลให้สั่งยึด หรืออายัดทรัพย์สินของผู้ร้องคัดค้านไว้ชั่วคราวก่อนมีคำสั่งในเรื่องหนี้นั้นได้

 

ส่วนที่ ๖
การเพิกถอนนิติกรรมที่ได้กระทำไปแล้ว

-------------------------

               มาตรา ๙๐/๔๐  การขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น ให้ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอได้โดยทำเป็นคำร้อง
               ถ้านิติกรรมที่ขอเพิกถอนการฉ้อฉลนั้นเกิดขึ้นภายในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนวันยื่นคำร้องขอและภายหลังนั้น หรือเป็นการทำให้โดยเสน่หา หรือเป็นการที่ลูกหนี้ได้รับค่าตอบแทนน้อยเกินสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการกระทำที่ลูกหนี้และผู้ที่ได้ลาภงอกแต่การนั้น รู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ

               มาตรา ๙๐/๔๑  เมื่อปรากฏว่ามีการโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ๆ ซึ่งลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำ ในระหว่างระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการยื่นคำร้องขอและภายหลังนั้น โดยมีจุดมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจยื่นคำขอต่อศาลโดยทำเป็นคำร้อง ในการนี้ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนหรือการกระทำนั้นได้
               ถ้าเจ้าหนี้ผู้ได้เปรียบเป็นบุคคลภายในของลูกหนี้ ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนหรือการกระทำตามวรรคหนึ่งที่ได้กระทำขึ้นในระหว่างระยะเวลาหนึ่งปีก่อนมีการยื่นคำร้องขอและภายหลังนั้น
               การเพิกถอนการโอนหรือการกระทำตามมาตรานี้ ไม่กระทบถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันได้มาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนก่อนมีการยื่นคำร้องขอ

               มาตรา ๙๐/๔๑ ทวิ  ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันที่ผู้บริหารแผนทราบ คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนของศาล ให้ผู้บริหารแผนมีอำนาจไม่ยอมรับทรัพย์สินของลูกหนี้หรือสิทธิตามสัญญาที่มีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้ ตามที่ได้กำหนดไว้ในแผน
               เจ้าหนี้หรือบุคคลใดได้รับความเสียหายโดยการกระทำของผู้บริหารแผนตามมาตรานี้ บุคคลนั้นอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลภายในกำหนดเวลาสิบสี่วัน นับแต่วันที่ได้ทราบการกระทำนั้น ศาลมีอำนาจสั่งยืนตาม กลับ หรือแก้ไข หรือสั่งประการใดตามที่เห็นสมควร
               บุคคลใดได้รับความเสียหายตามมาตรานี้ มีสิทธิขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการสำหรับค่าเสียหายได้

 

ส่วนที่ ๗
การประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ

-------------------------

               มาตรา ๙๐/๔๒  ในแผนให้มีรายการต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย
               (๑) เหตุผลที่ทำให้มีการฟื้นฟูกิจการ
               (๒) รายละเอียดแห่งสินทรัพย์ หนี้สินและภาระผูกพันต่าง ๆ ของลูกหนี้ในขณะที่ศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ
               (๓) หลักการและวิธีการฟื้นฟูกิจการ
                     (ก) ขั้นตอนของการฟื้นฟูกิจการ
                     (ข) การชำระหนี้ การยืดกำหนดเวลาชำระหนี้ การลดจำนวนหนี้ลง และการจัดกลุ่มเจ้าหนี้
                     (ค) การลดทุนและเพิ่มทุน
                     (ง) การก่อหนี้และระดมเงินทุน รวมตลอดถึงแหล่งของเงินทุนและเงื่อนไขแห่งหนี้สินและเงินทุนดังกล่าว
                     (จ) การจัดการและการหาประโยชน์จากทรัพย์สินของลูกหนี้
                     (ฉ) เงื่อนไขการจ่ายเงินปันผลและประโยชน์อื่นใด
               (๔) การไถ่ถอนหลักประกันในกรณีที่มีเจ้าหนี้มีประกันและความรับผิดของผู้ค้ำประกัน
               (๕) แนวทางแก้ปัญหาในกรณีขาดสภาพคล่องชั่วคราวระหว่างการปฏิบัติตามแผน
               (๖) วิธีปฏิบัติในกรณีที่มีการโอนสิทธิเรียกร้องหรือโอนหนี้
               (๗) ชื่อ คุณสมบัติ หนังสือยินยอมของผู้บริหารแผน และค่าตอบแทน โดยนำความในมาตรา ๙๐/๖ วรรคสอง มาใช้บังคับเกี่ยวกับผู้บริหารแผนโดยอนุโลม
               (๘) การแต่งตั้งและการพ้นตำแหน่งของผู้บริหารแผน
               (๙) ระยะเวลาดำเนินการตามแผนซึ่งไม่เกินห้าปี
               (๑๐) การไม่ยอมรับทรัพย์สินของลูกหนี้หรือสิทธิตามสัญญา ในกรณีที่ทรัพย์สินของลูกหนี้หรือสิทธิตามสัญญามีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้
               มิให้นำมาตรา ๑๑๑๗ มาตรา ๑๑๑๙ มาตรา ๑๑๔๕ มาตรา ๑๒๒๐ ถึงมาตรา ๑๒๒๘ มาตรา ๑๒๓๘ ถึงมาตรา ๑๒๔๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๓ มาตรา ๕๐ มาตรา ๕๑ มาตรา ๕๒ มาตรา ๕๔ มาตรา ๘๔ มาตรา ๑๐๒ มาตรา ๑๐๗ มาตรา ๑๑๖ มาตรา ๑๑๙ มาตรา ๑๓๖ มาตรา ๑๓๗ มาตรา ๑๓๙ มาตรา ๑๔๐ มาตรา ๑๔๑ มาตรา ๑๔๖ ถึงมาตรา ๑๔๘ แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. ๒๕๓๕ และมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ มาใช้บังคับแก่แผนตามมาตรานี้

               มาตรา ๙๐/๔๒ ทวิ  การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ตามมาตรา ๙๐/๔๒ (๓) (ข) ให้จัดดังต่อไปนี้
               (๑) เจ้าหนี้มีประกันแต่ละรายที่มีจำนวนหนี้มีประกันไม่น้อยกว่าร้อยละสิบห้าของจำนวนหนี้ทั้งหมดที่อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ ให้จัดเป็นรายละกลุ่ม
               (๒) เจ้าหนี้มีประกันที่ไม่ได้จัดกลุ่มไว้ใน (๑) ให้จัดเป็นหนึ่งกลุ่ม
               (๓) เจ้าหนี้ไม่มีประกัน อาจจัดได้เป็นหลายกลุ่ม โดยให้เจ้าหนี้ไม่มีประกันที่มีสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์ที่มีสาระสำคัญเหมือนกันหรือทำนองเดียวกันอยู่ในกลุ่มเดียวกัน
               (๔) เจ้าหนี้ตามมาตรา ๑๓๐ ทวิ ให้จัดเป็นหนึ่งกลุ่ม
               เจ้าหนี้รายใดเห็นว่าการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่ได้เป็นไปตามวรรคหนึ่ง อาจยื่นคำร้องขอต่อศาลภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รู้ถึงการจัดกลุ่ม และศาลอาจมีคำสั่งให้จัดกลุ่มเสียใหม่ให้ถูกต้องโดยเร็ว คำสั่งศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด

               มาตรา ๙๐/๔๒ ตรี  สิทธิของเจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันต้องได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน เว้นแต่เจ้าหนี้ผู้ได้รับการปฏิบัติที่เสียเปรียบในกลุ่มนั้นจะให้ความยินยอมเป็นหนังสือ

               มาตรา ๙๐/๔๓  ภายในกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนในราชกิจจานุเบกษา ให้ผู้ทำแผนส่งแผนแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ พร้อมด้วยสำเนาจำนวนอันเพียงพอเพื่อส่งให้แก่เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิออกเสียงและลูกหนี้
               กำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ศาลอาจขยายให้อีกได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินหนึ่งเดือน

               มาตรา ๙๐/๔๔  เมื่อได้รับแผนพร้อมด้วยสำเนาจากผู้ทำแผนแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดประชุมเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิออกเสียงโดยเร็วที่สุด เพื่อปรึกษาลงมติว่าจะยอมรับแผนหรือไม่หรือจะแก้ไขอย่างไร โดยให้ส่งสำเนาแผนและแจ้งกำหนดวัน เวลา สถานที่ และหัวข้อประชุมไปยังเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิออกเสียง ลูกหนี้ และผู้ทำแผน กับให้โฆษณากำหนดการประชุมดังกล่าวในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อยหนึ่งฉบับล่วงหน้าก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่าสิบวัน
               ในกรณีที่ผู้ทำแผนมาประชุมไม่ได้เพราะมีเหตุผลพิเศษ ให้แจ้งขอเลื่อนการประชุมต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก่อนวันประชุม เว้นแต่จะมีเหตุสุดวิสัยทำให้แจ้งล่วงหน้าไม่ได้
               ถ้าผู้ทำแผนไม่มาประชุม ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ถามที่ประชุมเจ้าหนี้ว่าจะให้เลื่อนการพิจารณาแผนไปหรือไม่ ถ้าที่ประชุมมีมติให้เลื่อน ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เลื่อนการพิจารณาแผนได้ตามที่เห็นสมควโดยแจ้งกำหนดวันเวลานัดประชุมใหม่ต่อที่ประชุม และให้ถือว่าเจ้าหนี้ ลูกหนี้ หรือผู้ทำแผนซึ่งไม่ได้มาประชุมได้ทราบนัดแล้ว

               มาตรา ๙๐/๔๕  เจ้าหนี้ ลูกหนี้หรือผู้ทำแผนอาจขอแก้ไขแผน โดยยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ล่วงหน้าก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่าสามวัน
               ในกรณีที่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้เป็นผู้ขอต้องส่งสำเนาคำขอแก้ไขแผนให้ผู้ทำแผนทราบล่วงหน้าก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่าสามวันด้วย
               ผู้ขอแก้ไขแผนโดยขอเปลี่ยนตัวผู้บริหารแผนต้องส่งหนังสือยินยอมของผู้ที่จะให้เป็นผู้บริหารแผนไปพร้อมกับคำขอแก้ไขแผนด้วย

               มาตรา ๙๐/๔๖  มติยอมรับแผนต้องเป็นไปดังนี้
               (๑) ที่ประชุมเจ้าหนี้แต่ละกลุ่มทุกกลุ่ม ซึ่งมิใช่กลุ่มเจ้าหนี้ตามมาตรา ๙๐/๔๖ ทวิ มีมติของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมากและมีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่าสองในสามแห่งจำนวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ซึ่งได้เข้าประชุมด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทนในที่ประชุมเจ้าหนี้และได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้น หรือ
               (๒) ที่ประชุมเจ้าหนี้อย่างน้อยหนึ่งกลุ่ม ซึ่งมิใช่กลุ่มเจ้าหนี้ตามมาตรา ๙๐/๔๖ ทวิ มีมติของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมากและมีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่าสองในสามแห่งจำนวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ในกลุ่มนั้นซึ่งได้เข้าประชุมด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทนในที่ประชุมเจ้าหนี้และได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้น และเมื่อนับรวมจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้ที่ยอมรับแผนในที่ประชุมเจ้าหนี้ทุกกลุ่มแล้วมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบแห่งจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้ซึ่งได้เข้าประชุมด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทนในที่ประชุมเจ้าหนี้และได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้น
               ในการนับจำนวนหนี้ให้ถือว่าเจ้าหนี้ตามมาตรา ๙๐/๔๖ ทวิ ได้มาประชุมและได้ออกเสียงลงคะแนนในมติยอมรับแผนนั้นด้วย

               มาตรา ๙๐/๔๖ ทวิ  เจ้าหนี้ดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นเจ้าหนี้ที่ยอมรับแผนตามมาตรา ๙๐/๔๖ แล้ว
               (๑) เจ้าหนี้ที่ได้รับข้อเสนอจากผู้ทำแผนให้ได้รับชำระหนี้ที่ผิดนัดเต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ย และจะได้รับชำระหนี้ที่ผิดนัดเต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ยภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน และเจ้าหนี้นั้นยังคงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามสัญญา หรือข้อตกลงเดิมต่อไปโดยให้ถือเสมือนว่าลูกหนี้ไม่เคยตกเป็นผู้ผิดนัดเลย
               (๒) เจ้าหนี้ที่ได้รับข้อเสนอจากผู้ทำแผนให้ได้รับชำระหนี้ตามสัญญาหรือข้อตกลงเดิม
               (๓) เจ้าหนี้ตามมาตรา ๑๓๐ ทวิ

               มาตรา ๙๐/๔๗  ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผน ถ้าที่ประชุมไม่อาจพิจารณากิจการต่าง ๆ ให้เสร็จสิ้นไปได้ในวันนั้น ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เลื่อนการประชุมไปในวันทำการถัดไป โดยนำบทบัญญัติเกี่ยวกับการแจ้งนัดประชุมใหม่ตามมาตรา ๙๐/๔๔ วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๙๐/๔๘  ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผน ถ้ามีการขอแก้ไขแผนให้ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติว่าจะให้แก้ไขตามคำขอนั้นและข้อที่เกี่ยวเนื่องกันหรือไม่ก่อน ถ้าที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติให้แก้ไขและผู้ทำแผนมาประชุม ก็ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบถามผู้ทำแผนว่ายอมให้แก้ไขแผนตามมติหรือไม่ เมื่อผู้ทำแผนยอมให้แก้ไขแผนแล้ว จึงให้ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติตามมาตรา ๙๐/๔๖ ว่าจะยอมรับแผนที่มีการแก้ไขนั้นหรือไม่
               ในกรณีที่ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติให้แก้ไขแผนแต่ผู้ทำแผนไม่มาประชุม ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เลื่อนการประชุมไปเพื่อสอบถามผู้ทำแผนว่ายอมให้แก้ไขแผนตามมตินั้นหรือไม่ แล้วดำเนินการต่อไปตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง โดยให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการแจ้งนัดประชุมใหม่ตามมาตรา ๙๐/๔๔ วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม
               ในกรณีที่ไม่มีการขอแก้ไขแผนหรือผู้ทำแผนยอมให้แก้ไขแผนแล้ว ถ้าที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่มีมติตามมาตรา ๙๐/๔๖ ยอมรับแผนดังกล่าวก็ดี หรือไม่ลงมติประการใดก็ดี หรือไม่มีเจ้าหนี้ไปประชุมก็ดี ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลโดยไม่ชักช้า
               เมื่อศาลได้รับรายงาน ให้ศาลนัดพิจารณาเป็นการด่วน และแจ้งวันเวลานัดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งแจ้งความให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน ในการพิจารณาให้ศาลพิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนและฟังคำชี้แจงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้ และคำคัดค้านของลูกหนี้ ถ้าศาลฟังได้ความตามวรรคสาม ให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แต่ถ้าเป็นกรณีลูกหนี้ได้ถูกฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลายไว้ก่อนแล้ว และศาลเห็นสมควรให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ให้ยกคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการเสีย แล้วให้ดำเนินคดีล้มละลายที่ได้ให้งดการพิจารณาไว้นั้นต่อไป

               มาตรา ๙๐/๔๙  ในกรณีที่มีการขอแก้ไขแผนในสาระสำคัญ เมื่อผู้ทำแผน ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนซึ่งมีจำนวนหนี้รวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ซึ่งได้เข้าประชุมขอให้เลื่อนการพิจารณาแผนไป เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจให้เลื่อนการพิจารณาแผนได้ตามที่เห็นสมควร โดยให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการแจ้งนัดประชุมใหม่ตามมาตรา ๙๐/๔๔ วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๙๐/๕๐  ในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งที่ต้องเลื่อนมาเพราะผู้ทำแผนไม่มาประชุมตามมาตรา ๙๐/๔๔ หรือมาตรา ๙๐/๔๘ วรรคสอง ถ้าผู้ทำแผนไม่มาประชุมอีกหรือมาแต่ไม่อาจแสดงให้เป็นที่พอใจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่ามีเหตุผลพิเศษหรือมีเหตุสุดวิสัยจึงมาประชุมไม่ได้หรือแจ้งล่วงหน้าก่อนวันประชุมครั้งก่อนไม่ได้ แล้วแต่กรณี ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาว่าสมควรให้ตั้งผู้ทำแผนคนใหม่หรือไม่ ในกรณีที่ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติให้ตั้งผู้ทำแผนคนใหม่ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๐/๕๑ เกี่ยวกับการเลือกผู้ทำแผนคนใหม่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
               ในกรณีที่ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติไม่ให้ตั้งผู้ทำแผนคนใหม่ ไม่ว่าจะมีการขอแก้ไขแผนหรือไม่ ถ้าผู้ทำแผนไม่มาประชุมอีกให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาแล้วลงมติตามมาตรา ๙๐/๔๖ ว่าจะยอมรับแผนหรือแผนที่มีการแก้ไขนั้นหรือไม่ ถ้าผู้ทำแผนมาประชุม ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการประชุมเจ้าหนี้ต่อไป ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๙๐/๔๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๙๐/๕๑  ในกรณีที่ผู้ทำแผนไม่ยอมให้แก้ไขแผนตามที่ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติให้แก้ไขไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ถ้าที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่มีมติตามมาตรา ๙๐/๔๖ ยอมรับแผนของผู้ทำแผน ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ถามที่ประชุมเจ้าหนี้ว่าจะให้ตั้งผู้ทำแผนคนใหม่หรือไม่ ถ้าที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติให้มีการตั้งผู้ทำแผนคนใหม่ ให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาเลือกผู้ทำแผนคนใหม่ในวันนั้น
               เจ้าหนี้ที่มาประชุมหรือลูกหนี้มีสิทธิเสนอชื่อผู้ทำแผนคนใหม่โดยต้องแสดงหนังสือยินยอมของผู้ถูกเสนอชื่อด้วย
               ถ้าไม่มีผู้ใดเสนอชื่อผู้ทำแผนตามความในวรรคสอง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เลื่อนการประชุมไปเพื่อเลือกผู้ทำแผนคนใหม่ภายในกำหนดเวลาไม่น้อยกว่าสามวันแต่ไม่เกินเจ็ดวัน โดยให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการแจ้งนัดประชุมใหม่ตามมาตรา ๙๐/๔๔ วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๙๐/๕๒  ถ้าที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติเลือกผู้ทำแผนคนใหม่ได้ ให้ศาลตั้งบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ทำแผนคนใหม่ โดยให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๐/๑๗ วรรคสอง และวรรคหก มาใช้บังคับโดยอนุโลม
               ถ้าที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติไม่ให้ตั้งผู้ทำแผนคนใหม่หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่อาจมีมติเลือกผู้ทำแผนคนใหม่ได้ หรือศาลมีเหตุผลอันสมควที่จะไม่ให้มีการตั้งผู้ทำแผนคนใหม่ตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดโดยเร็ว ในกรณีเช่นนี้ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๙๐/๔๘ วรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๙๐/๕๓  เมื่อศาลตั้งผู้ทำแผนคนใหม่ ให้อำนาจหน้าที่ของผู้ทำแผนคนใหม่และผู้ทำแผนคนเดิมเริ่มและสิ้นสุดในวันที่ศาลมีคำสั่งดังกล่าว และให้ศาลแจ้งคำสั่งนั้นแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้ทำแผนคนเดิมและผู้ทำแผนคนใหม่โดยไม่ชักช้า
               เมื่อได้ทราบคำสั่งศาล ให้ผู้ทำแผนคนเดิมส่งมอบทรัพย์สิน ดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารเกี่ยวกับทรัพย์สินและกิจการของลูกหนี้แก่ผู้ทำแผนคนใหม่โดยเร็วที่สุด
               ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำสั่งนั้นในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อยหนึ่งฉบับ กับแจ้งคำสั่งดังกล่าวไปยังบรรดาเจ้าหนี้ที่มีสิทธิออกเสียงและนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท หรือนายทะเบียนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยด่วน เพื่อนายทะเบียนจะได้จดแจ้งคำสั่งศาลไว้ในทะเบียน และให้แจ้งไปยังผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับนิติบุคคลซึ่งเป็นลูกหนี้เพื่อทราบด้วย

               มาตรา ๙๐/๕๔  ภายในกำหนดเวลาสี่สิบห้าวันนับแต่วันทราบคำสั่งศาลให้ผู้ทำแผนคนใหม่ส่งแผนแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อนัดประชุมเจ้าหนี้ตามมาตรา ๙๐/๔๔ วรรคหนึ่งต่อไป
               กำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ศาลอาจขยายให้อีกได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสิบห้าวัน
               ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนดังกล่าว ถ้าไม่มีการขอแก้ไขแผน ให้เสนอแผนนั้นต่อที่ประชุมเจ้าหนี้เพื่อลงมติตามมาตรา ๙๐/๔๖ ว่าจะยอมรับหรือไม่
               ถ้ามีการขอแก้ไขแผน ให้ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติว่าจะให้แก้ไขตามคำขอนั้น และข้อที่เกี่ยวเนื่องกันก่อน หากไม่มีมติให้แก้ไข ก็ให้ลงมติตามมาตรา ๙๐/๔๖ ว่าจะยอมรับแผนที่เสนอตามวรรคหนึ่งหรือไม่
               ถ้ามีมติให้แก้ไขแผนแต่ผู้ทำแผนไม่มาประชุม ก็ให้ลงมติตามมาตรา ๙๐/๔๖ ว่าจะยอมรับแผนที่มีการแก้ไขนั้นหรือไม่ ถ้าไม่มีมติตามมาตรา ๙๐/๔๖ ยอมรับแผนดังกล่าว ก็ให้ลงมติตามมาตรา ๙๐/๔๖ ว่าจะยอมรับแผนที่เสนอตามวรรคหนึ่งหรือไม่
               ถ้ามีมติให้แก้ไขแผนและผู้ทำแผนมาประชุม ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบถามความยินยอมของผู้ทำแผนก่อน เมื่อผู้ทำแผนยอมให้แก้ไขแผนตามมติแล้ว จึงให้ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติตามมาตรา ๙๐/๔๖ ว่าจะยอมรับแผนที่มีการแก้ไขตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้หรือไม่ ในกรณีที่ผู้ทำแผนไม่ยอมให้แก้ไขแผนตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ให้ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติตามมาตรา ๙๐/๔๖ ว่าจะยอมรับแผนที่มีการแก้ไขตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้หรือไม่ ถ้าไม่มีมติตามมาตรา ๙๐/๔๖ ยอมรับแผนดังกล่าว ก็ให้ลงมติตามมาตรา ๙๐/๔๖ ว่าจะยอมรับแผนที่ผู้ทำแผนยอมให้แก้ไขเพียงบางส่วน หรือแผนที่เสนอตามวรรคหนึ่งหรือไม่
               ถ้าที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่มีมติตามมาตรา ๙๐/๔๖ ยอมรับแผนของผู้ทำแผนคนใหม่หรือแผนที่มีการแก้ไขก็ดี หรือไม่ลงมติประการใดก็ดี หรือไม่มีเจ้าหนี้ไปประชุมก็ดี ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลโดยไม่ชักช้า และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๐/๔๘ วรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
               ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๐/๔๕ วรรคสาม มาตรา ๙๐/๔๗ และมาตรา ๙๐/๔๙ มาใช้บังคับแก่การพิจารณาแผนที่เสนอใหม่โดยอนุโลม

               มาตรา ๙๐/๕๕  ถ้าที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติตามมาตรา ๙๐/๔๖ ยอมรับแผนที่ประชุมเจ้าหนี้อาจลงมติตั้งคณะกรรมการเจ้าหนี้แทนเจ้าหนี้ทั้งหลายในการสอดส่องดูแลการปฏิบัติงานตามแผนได้
               คณะกรรมการเจ้าหนี้ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าสามคนและไม่เกินเจ็ดคน โดยเลือกจากเจ้าหนี้หรือผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ เจ้าหนี้คนหนึ่งจะมีผู้แทนเป็นกรรมการเจ้าหนี้เกินกว่าหนึ่งคนไม่ได้

 

ส่วนที่ ๘
การพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ

-------------------------

               มาตรา ๙๐/๕๖  ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ที่ยอมรับแผนต่อศาลโดยเร็วเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจะเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่ ในกรณีเช่นนี้ให้ศาลกำหนดวันพิจารณาแผนเป็นการด่วน และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีเวลาส่งแจ้งความให้ผู้ทำแผนลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน

               มาตรา ๙๐/๕๗  ในการพิจารณาแผน ให้ศาลพิจารณาคำชี้แจงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และผู้ทำแผนรวมทั้งข้อคัดค้านของลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิออกเสียงตามมาตรา ๙๐/๓๐ ซึ่งไม่ได้ลงมติยอมรับแผน

               มาตรา ๙๐/๕๘  ให้ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน เมื่อศาลพิจารณาแล้ว เห็นว่า
               (๑) แผนมีรายการครบถ้วนตามมาตรา ๙๐/๔๒
               (๒) ข้อเสนอในการชำระหนี้ไม่ขัดต่อมาตรา ๙๐/๔๒ ตรี และในกรณีที่มติยอมรับแผนเป็นมติตามมาตรา ๙๐/๔๖ (๒) ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนนั้นจะต้องเป็นไปตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลาย เว้นแต่เจ้าหนี้นั้นจะให้ความยินยอม และ
               (๓) เมื่อการดำเนินการตามแผนสำเร็จจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย
               ในกรณีที่แผนมีรายการไม่ครบถ้วนตามมาตรา ๙๐/๔๒ ให้ศาลสอบถามผู้ทำแผน ถ้าศาลเห็นว่ารายการในแผนที่ขาดไปนั้น ไม่ใช่สาระสำคัญในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ให้ถือว่าแผนมีรายการครบถ้วนตามมาตรา ๙๐/๔๒
               ถ้าศาลมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผน ให้ศาลนัดพิจารณาว่าสมควรให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่ ในกรณีเช่นนี้ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๙๐/๔๘ วรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๙๐/๕๙  ภายใต้บังคับมาตรา ๙๐/๔๒ และมาตรา ๙๐/๖๔ เมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน ให้ศาลแจ้งคำสั่งนั้นแก่ผู้บริหารแผนและผู้ทำแผนโดยไม่ชักช้า ให้บรรดาสิทธิและอำนาจหน้าที่ของผู้ทำแผนตกเป็นของผู้บริหารแผนตั้งแต่ผู้บริหารแผนได้ทราบคำสั่งศาล
               ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๐/๒๐ วรรคสี่ และมาตรา ๙๐/๒๑ วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม
               ในกรณีที่ลูกหนี้เป็นลูกหนี้ตามมาตรา ๙๐/๔ (๓) (๔) (๕) หรือ (๖) ให้ศาลแจ้งคำสั่งแก่ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมการประกันภัย หรือหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๙๐/๔ (๖) แล้วแต่กรณีด้วย และห้ามมิให้ผู้มีอำนาจหน้าที่นั้นมีคำสั่งใด ๆ ที่ขัดหรือแย้งกับแผนที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้ว เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคำร้องขอ

 

 

ส่วนที่ ๙
การดำเนินการภายหลังศาลมีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ

-------------------------

               มาตรา ๙๐/๖๐  แผนซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้ว ผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้และเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ ทั้งนี้ ตามมาตรา ๙๐/๒๗
               คำสั่งของศาลซึ่งเห็นชอบด้วยแผนไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของบุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้ หรือผู้รับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกัน หรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ ในหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน และไม่มีผลให้บุคคลเช่นว่านั้นต้องรับผิดในหนี้ที่ก่อขึ้นตามแผนตั้งแต่วันดังกล่าว เว้นแต่บุคคลเช่นว่านั้นจะยินยอมโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย

               มาตรา ๙๐/๖๑  เจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการผู้ใดไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในเวลาที่กำหนดไว้ตามมาตรา ๙๐/๒๖ หรือมาตรา ๙๐/๒๗ วรรคสาม แล้วแต่กรณี เจ้าหนี้ผู้นั้นย่อมหมดสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ไม่ว่าการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้จะเป็นผลสำเร็จตามแผนหรือไม่ เว้นแต่
               (๑) แผนจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น หรือ
               (๒) ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ

               มาตรา ๙๐/๖๒  เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามแผน ดังต่อไปนี้
               (๑) หนี้ซึ่งผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน ผู้บริหารแผนชั่วคราว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หรือตัวแทนของบุคคลดังกล่าวก่อขึ้น
               (๒) หนี้ภาษีอากร และ
               (๓) หนี้อย่างอื่นที่มีกฎหมายเฉพาะกำหนดให้ต้องชำระ เช่น เงินสมทบกองทุนเงินทดแทน เป็นต้น

               มาตรา ๙๐/๖๒ ทวิ  กรณีศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ หนี้ตามมาตรา ๙๐/๖๒ (๑) ที่เกิดขึ้นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดำเนินต่อไปได้ในระหว่างการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้โดยสุจริต ย่อมมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของลูกหนี้โดยให้อยู่ในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิลำดับที่ ๑ ตามมาตรา ๒๕๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตรา ๙๐/๖๓  เมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว ถ้ามีความจำเป็นต้องแก้ไขแผนเพื่อให้การฟื้นฟูกิจการสำเร็จลุล่วงไปได้ ผู้บริหารแผนอาจเสนอขอแก้ไขแผน ในกรณีเช่นว่านี้ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๐/๒๐ วรรคสี่ มาตรา ๙๐/๔๔ มาตรา ๙๐/๔๕ วรรคหนึ่งและวรรคสอง มาตรา ๙๐/๔๖ มาตรา ๙๐/๔๗ มาตรา ๙๐/๕๖ มาตรา ๙๐/๕๗ มาตรา ๙๐/๕๘ วรรคหนึ่งและวรรคสอง มาตรา ๙๐/๕๙ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๙๐/๖๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ห้ามมิให้เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ขอแก้ไขข้อเสนอขอแก้ไขแผนนั้น เว้นแต่ผู้บริหารแผนจะยินยอมด้วย
               การแก้ไขแผนโดยขอขยายกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผนให้ทำได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินหนึ่งปี เว้นแต่ในกรณีเป็นที่เห็นได้แน่ชัดว่าแผนได้ดำเนินมาใกล้จะสำเร็จแล้ว ผู้บริหารแผนจะขอขยายเวลาต่อไปอีกตามควรแก่กรณีก็ได้
               ถ้าที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่มีมติตามมาตรา ๙๐/๔๖ ยอมรับข้อเสนอขอแก้ไขแผนตามวรรคหนึ่ง หรือศาลมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยข้อเสนอขอแก้ไขแผนดังกล่าว ให้ผู้บริหารแผนบริหารกิจการของลูกหนี้ต่อไปตามแผนเดิม

               มาตรา ๙๐/๖๔  ผู้บริหารแผนอาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ทำข้อบังคับของลูกหนี้ขึ้นใหม่หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับหรือข้อความในหนังสือบริคณห์สนธิของลูกหนี้ตามแนวทางที่กำหนดในแผนหรือแผนที่แก้ไข
               เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๐/๒๐ วรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๙๐/๖๕  ผู้บริหารแผนพ้นจากตำแหน่งในกรณีดังต่อไปนี้
               (๑) ตาย
               (๒) นิติบุคคลซึ่งเป็นผู้บริหารแผนเลิกกัน
               (๓) ศาลอนุญาตให้ลาออก
               (๔) ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์หรือให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
               (๕) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
               (๖) พ้นจากตำแหน่งตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผน
               (๗) เมื่อระยะเวลาดำเนินการตามแผนสิ้นสุดลงหรือเมื่อได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผน
               (๘) ศาลมีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๙๐/๖๗

               มาตรา ๙๐/๖๖  ให้ผู้บริหารแผนจัดทำรายงานการปฏิบัติงานตามแผนเสนอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทุกรอบสามเดือนตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนด

               มาตรา ๙๐/๖๗  ในกรณีที่ผู้บริหารแผนไม่ดำเนินการตามแผน หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ หรือขาดคุณสมบัติของผู้บริหารแผนตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง หรือมีเหตุอื่นที่ไม่สมควรเป็นผู้บริหารแผนต่อไป เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานหรือคณะกรรมการเจ้าหนี้หรือผู้บริหารของลูกหนี้มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้บริหารแผนพ้นจากตำแหน่ง หรือมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรก็ได้

               มาตรา ๙๐/๖๘  เมื่อผู้บริหารแผนพ้นจากตำแหน่งและยังมีกิจการตามแผนที่จะต้องดำเนินต่อไป ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อลงมติตามมาตรา ๙๐/๔๖ เลือกผู้บริหารแผนคนใหม่โดยเร็วที่สุด
               เมื่อได้มีการประชุมเจ้าหนี้สองครั้งแล้ว แต่ที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่อาจมีมติตามมาตรา ๙๐/๔๖ เลือกผู้บริหารแผนคนใหม่ได้ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาล ในกรณีเช่นนี้ให้ศาลนัดพิจารณารายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นการด่วน และต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีเวลาส่งแจ้งความให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน
               เมื่อศาลได้พิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนและฟังคำชี้แจงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้ และลูกหนี้แล้ว ศาลจะมีคำสั่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้บริหารแผน หรือมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควร ถ้าศาลเห็นสมควรให้ลูกหนี้ล้มละลายให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าศาลไม่เห็นสมควรให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ให้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ
               ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๐/๒๑ วรรคสาม มาตรา ๙๐/๔๔ วรรคหนึ่ง มาตรา ๙๐/๕๑ วรรคสองและวรรคสาม มาตรา ๙๐/๕๒ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๙๐/๕๓ วรรคหนึ่งและวรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๙๐/๖๙  ในกรณีที่มีเหตุทำให้ผู้บริหารแผนทำหน้าที่ไม่ได้เป็นการชั่วคราว หรือในระหว่างที่ผู้บริหารแผนพ้นจากตำแหน่งและศาลยังมิได้มีคำสั่งตั้งผู้บริหารแผนคนใหม่ ให้ศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้บริหารแผนชั่วคราวจนกว่าเหตุเช่นว่านั้นสิ้นสุดลง ในระหว่างที่ไม่สามารถมีคำสั่งตั้งผู้บริหารแผนชั่วคราวได้ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้บริหารแผนชั่วคราว
               ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้บริหารแผนชั่วคราวให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๐/๒๐ วรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๙๐/๗๐  ถ้าผู้บริหารของลูกหนี้ ผู้บริหารแผน ผู้บริหารแผนชั่วคราวหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แล้วแต่กรณี เห็นว่าการฟื้นฟูกิจการได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผนแล้วให้รายงานขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการโดยไม่ชักช้า และให้ศาลนัดพิจารณาหากได้ความว่ากาฟื้นฟูกิจการได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตาแผน ก็ให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการโดยไม่ชักช้า แต่ถ้าได้ความว่าการฟื้นฟูกิจการยังไม่เป็นผลสำเร็จตามแผน ในกรณีที่ยังเหลือระยะเวลาดำเนินการตามแผน ก็ให้ศาลมีคำสั่งให้ดำเนินการฟื้นฟูกิจการต่อไปภายในกำหนดระยะเวลาตามแผน ถ้าในระหว่างนั้นระยะเวลาดำเนินการตามแผนสิ้นสุดลงแล้ว แต่เป็นที่เห็นได้แน่ชัดว่าแผนได้ดำเนินการมาใกล้จะสำเร็จแล้ว ศาลจะขยายระยะเวลาดำเนินการตามแผนต่อไปอีกตามควรแก่กรณีก็ได้ มิฉะนั้นให้ศาลดำเนินการต่อไปตามวรรคสอง
               เมื่อระยะเวลาดำเนินการตามแผนสิ้นสุดลง แต่การฟื้นฟูกิจการยังไม่เป็นผลสำเร็จตามแผน ให้ผู้บริหารแผน ผู้บริหารแผนชั่วคราว หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แล้วแต่กรณี รายงานให้ศาลทราบภายในสิบสี่วันนับแต่ระยะเวลาดำเนินการตามแผนสิ้นสุดลง ในกรณีเช่นนี้ให้ศาลนัดพิจารณาเป็นการด่วนและแจ้งวันเวลานัดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งแจ้งความให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน ในการพิจารณาให้ศาลพิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนและฟังคำชี้แจงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้และคำคัดค้านของลูกหนี้ ถ้าศาลเห็นสมควรให้ลูกหนี้ล้มละลายให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าศาลไม่เห็นสมควรให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ให้มีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ
               นับแต่ระยะเวลาดำเนินการตามแผนสิ้นสุดลงจนกระทั่งศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการตามวรรคสอง ให้ผู้บริหารแผน ผู้บริหารแผนชั่วคราว หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แล้วแต่กรณี คงมีอำนาจหน้าที่จัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไปเท่าที่จำเป็น

               มาตรา ๙๐/๗๑  เมื่อศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ แต่ผู้บริหารของลูกหนี้ยังไม่ได้เข้าไปจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ ให้ผู้บริหารแผน ผู้บริหารแผนชั่วคราว หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แล้วแต่กรณี มีอำนาจจัดการเพื่อรักษาประโยชน์ของลูกหนี้ตามสมควรแก่พฤติการณ์จนกว่าผู้บริหารของลูกหนี้จะเข้าจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้
               ถ้าตำแหน่งผู้บริหารของลูกหนี้ว่างอยู่ในวันที่ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการจนเป็นเหตุให้ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมผู้ถือหุ้นของลูกหนี้ หรือดำเนินการตามกฎหมายเพื่อให้มีการแต่งตั้งผู้บริหารของลูกหนี้โดยเร็วที่สุด
               ในกรณีที่ต้องมีการประชุมเพื่อดำเนินการตามวรรคสอง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นประธานในการประชุมดังกล่าว และให้ถือว่าเป็นการประชุมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
 

ส่วนที่ ๑๐
การยกคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการ การยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ
และการยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ

-------------------------

               มาตรา ๙๐/๗๒  ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอ ให้ศาลประกาศคำสั่งดังกล่าวในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อยหนึ่งฉบับ กับให้ศาลแจ้งคำสั่งดังกล่าวไปยังนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทหรือนายทะเบียนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยด่วนเพื่อนายทะเบียนจะได้จดแจ้งคำสั่งศาลไว้ในทะเบียน และให้ศาลแจ้งไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมการประกันภัย หรือหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๙๐/๔ (๖) แล้วแต่กรณี เพื่อทราบด้วย

               มาตรา ๙๐/๗๓  ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ให้ศาลแจ้งคำสั่งดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือผู้บริหารแผนชั่วคราว แล้วแต่กรณี และผู้บริหารของลูกหนี้โดยไม่ชักช้า
               เมื่อได้ทราบคำสั่งของศาลตามวรรคหนึ่งแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือผู้บริหารแผนชั่วคราว แล้วแต่กรณี ต้องส่งมอบทรัพย์สิน ดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารเกี่ยวกับทรัพย์สินและกิจการของลูกหนี้แก่ผู้บริหารของลูกหนี้โดยเร็วที่สุด
               ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ แล้วแต่กรณี ในราชกิจจานุเบกษาและหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายไม่น้อยกว่าสองฉบับ และแจ้งคำสั่งดังกล่าวไปยังนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทหรือนายทะเบียนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยด่วนเพื่อนายทะเบียนจะได้จดแจ้งคำสั่งศาลไว้ในทะเบียน และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมการประกันภัย หรือหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๙๐/๔ (๖) แล้วแต่กรณี เพื่อทราบด้วย

               มาตรา ๙๐/๗๔  ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ให้อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้กลับเป็นของผู้บริหารของลูกหนี้ และให้ผู้ถือหุ้นของลูกหนี้กลับมีสิทธิตามกฎหมายต่อไป

               มาตรา ๙๐/๗๕  คำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการมีผลให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ เว้นแต่หนี้ซึ่งเจ้าหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการจะได้ขอรับชำระหนี้ไว้แล้ว และให้มีผลดังนี้
               (๑) ผู้บริหารของลูกหนี้กลับมีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไป
               (๒) ผู้ถือหุ้นของลูกหนี้กลับมีสิทธิตามกฎหมายต่อไป
               (๓) ค่าตอบแทนของผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน ผู้บริหารแผนชั่วคราว และหนี้ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือผู้บริหารแผนชั่วคราวก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ยกเว้นหนี้ละเมิด เป็นหนี้บุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของลูกหนี้โดยให้อยู่ในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิลำดับที่ ๑ ตามมาตรา ๒๕๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตรา ๙๐/๗๖  คำสั่งศาลที่ให้ยกคำร้องขอ ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ไม่กระทบถึงการใดที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผนหรือผู้บริหารแผนชั่วคราวได้กระทำไปแล้ว ก่อนศาลมีคำสั่งเช่นว่านั้น

 

ส่วนที่ ๑๑
การขอรับชำระหนี้เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด

-------------------------

               มาตรา ๙๐/๗๗  ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามมาตรา ๙๐/๔๘ มาตรา ๙๐/๕๐ มาตรา ๙๐/๕๒ มาตรา ๙๐/๕๔ มาตรา ๙๐/๕๘ มาตรา ๙๐/๖๘ และมาตรา ๙๐/๗๐ ให้ถือว่าวันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้เพื่อพิจารณาเป็นวันที่มีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย และให้เจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งเจ้าหนี้ในหนี้อื่นที่อาจขอรับชำระหนี้ได้จากมูลหนี้ที่ได้เกิดขึ้นตั้งแต่ศาลได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๙๑ แล้วให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๑๐๔ ถึงมาตรา ๑๐๘
               หนี้ค่าตอบแทนของผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน และผู้บริหารแผนชั่วคราว และหนี้ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือผู้บริหารแผนชั่วคราวก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ รวมถึงหนี้ซึ่งลูกหนี้ก่อขึ้นโดยชอบตามมาตรา ๙๐/๑๒ (๙) มิให้อยู่ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๙๔ (๒)
               หนี้ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือผู้บริหารแผนชั่วคราวก่อขึ้นตามแผนเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ให้จัดอยู่ในลำดับเดียวกับค่าใช้จ่ายของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา ๑๓๐ (๒)
               หนี้จำนวนใดที่เจ้าหนี้ตามวรรคหนึ่งได้ชำระค่าธรรมเนียมคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการแล้ว เจ้าหนี้ไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายสำหรับหนี้จำนวนนั้นอีก
               ให้ที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกแต่งตั้งเจ้าหนี้คนหนึ่งหรือหลายคนทำหน้าที่เป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์

               มาตรา ๙๐/๗๘  คำสั่งของศาลที่ให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามความในมาตรา ๙๐/๔๘ มาตรา ๙๐/๕๐ มาตรา ๙๐/๕๒ มาตรา ๙๐/๕๔ มาตรา ๙๐/๕๘ มาตรา ๙๐/๖๘ และมาตรา ๙๐/๗๐ ไม่กระทบถึงการใดที่ได้กระทำโดยสุจริตและเป็นไปตามแผนแล้วก่อนศาลมีคำสั่งเช่นว่านั้น และมีผลให้หนี้ที่เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระในการฟื้นฟูกิจการกลับคืนสู่สถานะดังที่เป็นอยู่เดิม เว้นแต่สภาพหนี้ในขณะนั้นจะไม่เปิดช่องให้กระทำได้

 

ส่วนที่ ๑๒
การอุทธรณ์

-------------------------

               มาตรา ๙๐/๗๙  (ยกเลิก)

 

 

ส่วนที่ ๑๓
บทกำหนดโทษว่าด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

-------------------------

               มาตรา ๙๐/๘๐  ผู้ใดยื่นคำร้องขอตามมาตรา ๙๐/๓ หรือแบบแสดงความประสงค์จะเข้าประชุมเพื่อเลือกผู้ทำแผนตามมาตรา ๙๐/๒๒ หรือคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามมาตรา ๙๐/๒๖ หรือหนังสือขอให้ผู้ทำแผนออกหนังสือรับรองสิทธิของตนตามมาตรา ๙๐/๒๗ วรรคสาม อันเป็นเท็จในสาระสำคัญซึ่งอาจทำให้ลูกหนี้ เจ้าหนี้ ผู้อื่น หรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินสามปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

               มาตรา ๙๐/๘๑  ผู้ใดให้ถ้อยคำหรือส่งสมุดบัญชี เอกสารหรือวัตถุพยานอันเป็นเท็จในสาระสำคัญเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้หรือการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือผู้บริหารแผนชั่วคราว ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินสามปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

               มาตรา ๙๐/๘๒  ผู้ใดฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งมาตรา ๙๐/๑๒ (๙) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินสามปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

               มาตรา ๙๐/๘๓  ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ออกตามความในมาตรา ๙๐/๒๐ วรรคสอง หรือฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งมาตรา ๙๐/๑๙ มาตรา ๙๐/๒๑ วรรคสาม มาตรา ๙๐/๒๔ วรรคสอง มาตรา ๙๐/๓๔ มาตรา ๙๐/๓๖ มาตรา ๙๐/๕๓ วรรคสอง มาตรา ๙๐/๕๙ วรรคสอง มาตรา ๙๐/๖๘ วรรคสี่ มาตรา ๙๐/๗๐ วรรคสอง หรือมาตรา ๙๐/๗๓ วรรคสอง โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

               มาตรา ๙๐/๘๔  ผู้บริหารของลูกหนี้ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
               (๑) ไม่ชี้แจงข้อความอันเป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับกิจการหรือทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่ามิได้มีเจตนาฉ้อฉล
               (๒) มิได้แจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบภายในกำหนดเวลาสิบห้าวัน เมื่อได้ทราบว่ามีผู้นำหนี้สินอันเป็นเท็จมากล่าวอ้างเพื่อเลือกผู้ทำแผนหรือขอรับชำระหนี้ตามแผน
               (๓) มิได้แจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบภายในกำหนดเวลาสิบห้าวัน เมื่อได้ทราบว่ามีผู้นำหนี้สินอันเป็นเท็จมาขอให้ชำระหนี้ตามมาตรา ๙๐/๒๗ วรรคสาม หรือมาตรา ๙๐/๖๒
               (๔) ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดที่มีอยู่ รายชื่อและที่อยู่ของเจ้าหนี้ทั้งหลายของลูกหนี้ตามมาตรา ๙๐/๖ วรรคสี่ หรือมาตรา ๙๐/๙ วรรคสอง หรือยื่นคำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา ๙๐/๓๕ อันเป็นเท็จในสาระสำคัญซึ่งอาจทำให้เจ้าหนี้เสียหาย
               ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

               มาตรา ๙๐/๘๕  ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าหนี้หรือผู้อื่น โดยมุ่งหมายที่จะได้รับการสนับสนุนหรือการยอมรับของเจ้าหนี้ในการเลือกผู้ทำแผน

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
mini_call_to_action_picture

ทนายความมากกว่า 500 คน ทั่วประเทศ พร้อมให้คำปรึกษา เพียง 33 บาท