Banner blog website1.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-06-19

หมวดที่ ๑ กระบวนพิจารณาตั้งแต่ขอให้ล้มละลายจนถึงปลดจากล้มละลาย (มาตรา ๗ - ๘๑/๔)

ส่วนที่ ๑
การขอให้ล้มละลายและการสั่งพิทักษ์ทรัพย์

-------------------------

               มาตรา ๗  ลูกหนี้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวอาจถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายได้ ถ้าลูกหนี้นั้นมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักร หรือประกอบธุรกิจในราชอาณาจักรไม่ว่าด้วยตนเองหรือโดยตัวแทนในขณะที่มีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย หรือภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีก่อนนั้น

               มาตรา ๘  ถ้ามีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้นให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
               (๑) ถ้าลูกหนี้โอนทรัพย์สินหรือสิทธิจัดการทรัพย์สินของตนให้แก่บุคคลอื่นเพื่อประโยชน์แห่งเจ้าหนี้ทั้งหลายของตน ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร
               (๒) ถ้าลูกหนี้โอนหรือส่งมอบทรัพย์สินของตนไปโดยการแสดงเจตนาลวง หรือโดยการฉ้อฉล ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร
               (๓) ถ้าลูกหนี้โอนทรัพย์สินของตนหรือก่อให้เกิดทรัพยสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นเหนือทรัพย์สินนั้น ซึ่งถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะต้องถือว่าเป็นการให้เปรียบ ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร
               (๔) ถ้าลูกหนี้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ เพื่อประวิงการชำระหนี้หรือมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้
                     ก. ออกไปเสียนอกราชอาณาจักร หรือได้ออกไปก่อนแล้วและคงอยู่นอกราชอาณาจักร
                     ข. ไปเสียจากเคหสถานที่เคยอยู่ หรือซ่อนตัวอยู่ในเคหสถาน หรือหลบไปโดยวิธีอื่น หรือปิดสถานที่ประกอบธุรกิจ
                     ค. ยักย้ายทรัพย์ไปให้พ้นอำนาจศาล
                     ง. ยอมตนให้ต้องคำพิพากษาซึ่งบังคับให้ชำระเงินซึ่งตนไม่ควรต้องชำระ
               (๕) ถ้าลูกหนี้ถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี หรือไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้
               (๖) ถ้าลูกหนี้แถลงต่อศาลในคดีใด ๆ ว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้
               (๗) ถ้าลูกหนี้แจ้งให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดของตนทราบว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้
               (๘) ถ้าลูกหนี้เสนอคำขอประนอมหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่สองคนขึ้นไป
               (๙) ถ้าลูกหนี้ได้รับหนังสือทวงถามจากเจ้าหนี้ให้ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าสองครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และลูกหนี้ไม่ชำระหนี้

 

ปรึกษาปัญหาทางกฎหมายฟรี
ตลอด 24 ชั่วโมง

  • ทนายให้ ปรึกษามากกว่า 3000 ครั้ง
    ฟรีบนแพล็ตฟอร์ม
  • ฟรี และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
  • ปรึกษาได้ทุกเรื่องราว ไม่ระบุตัวตนของผู้ถาม

               มาตรา ๙  เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ
               (๑) ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
               (๒) ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท และ
               (๓) หนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม

               มาตรา ๑๐  ภายใต้บังคับมาตรา ๙ เจ้าหนี้มีประกันจะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ
               (๑) มิได้เป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับการชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้เกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน และ
               (๒) กล่าวในฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจำนวนหนี้ของตนแล้ว เงินยังขาดอยู่สำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท

               มาตรา ๑๑  เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ต้องวางเงินประกันค่าใช้จ่ายต่อศาลเป็นจำนวนห้าพันบาทในขณะยื่นคำฟ้องคดีล้มละลาย และจะถอนคำฟ้องนั้นไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต
               ศาลมีอำนาจเรียกให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์วางเงินประกันค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร
               เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอ ศาลมีอำนาจส่งเงินประกันค่าใช้จ่ายคงเหลือภายหลังหักค่าใช้จ่ายให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในคดีล้มละลายนั้น

               มาตรา ๑๒  ถ้ามีคำฟ้องหลายรายให้ลูกหนี้คนเดียวกันล้มละลายก็ดี หรือให้ลูกหนี้ร่วมกันแต่ละคนล้มละลายก็ดี ศาลมีอำนาจสั่งให้รวมการพิจารณาได้

               มาตรา ๑๓  เมื่อศาลสั่งรับฟ้องคดีล้มละลายไว้แล้ว ให้กำหนดวันนั่งพิจารณาเป็นการด่วน และให้ออกหมายเรียกและส่งสำเนาคำฟ้องไปยังลูกหนี้ให้ทราบก่อนวันนั่งพิจารณาไม่น้อยกว่า ๗ วัน

               มาตรา ๑๔  ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้น ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๐ ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริง ให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริงหรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ให้ศาลยกฟ้อง

               มาตรา ๑๕  ตราบใดที่ลูกหนี้ยังมิได้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดจะฟ้องลูกหนี้นั้นเป็นคดีล้มละลายอีกก็ได้ แต่เมื่อศาลได้สั่งในคดีหนึ่งคดีใดให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ให้จำหน่ายคดีล้มละลายซึ่งเจ้าหนี้อื่นฟ้องลูกหนี้คนเดียวกันนั้น

               มาตรา ๑๖  เมื่อศาลได้รับคำฟ้องคดีล้มละลายแล้ว ถ้าเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์มีคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้อง และโจทก์นำสืบได้ว่าลูกหนี้ได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
               ก. ออกไปหรือกำลังจะออกไปนอกเขตอำนาจศาล หรือได้ออกไปก่อนแล้วและคงอยู่นอกเขตอำนาจศาลโดยเจตนาที่จะป้องกันหรือประวิงมิให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้
               ข. ปกปิด ซุกซ่อน โอน ขาย จำหน่าย หรือยักย้ายทรัพย์สิน ดวงตรา สมุดบัญชี หรือเอกสาร ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายในการดำเนินคดีล้มละลายให้พ้นอำนาจศาล หรือกำลังจะกระทำการดังกล่าวนั้น
               ค. กระทำหรือกำลังจะกระทำการฉ้อโกงเจ้าหนี้ หรือกระทำหรือกำลังจะกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งมีโทษตามพระราชบัญญัตินี้
               ศาลมีอำนาจสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
               (๑) ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าไปในเคหสถานหรือที่ทำการของลูกหนี้ระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตกเพื่อตรวจสอบทรัพย์สิน ดวงตรา สมุดบัญชีหรือเอกสารของลูกหนี้ และให้มีอำนาจสอบสวนลูกหนี้หรือออกหมายเรียกลูกหนี้มาสอบสวนได้
               (๒) ให้ลูกหนี้ให้ประกันจนพอใจศาลว่า ลูกหนี้จะไม่หลบหนีไปนอกอำนาจศาล และจะมาศาลทุกคราวที่ศาลสั่ง ถ้าลูกหนี้ไม่สามารถให้ประกัน ศาลมีอำนาจสั่งขังลูกหนี้ได้มีกำหนดไม่เกินครั้งละหนึ่งเดือน แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินหกเดือน
               (๓) ออกหมายจับลูกหนี้มาขังไว้จนกว่าศาลจะพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย หรือจนกว่าศาลจะยกฟ้องหรือจนกว่าลูกหนี้จะให้ประกันจนพอใจศาล

               มาตรา ๑๗  ก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้องขอให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราวก็ได้ เมื่อศาลได้รับคำร้องนี้แล้วให้ดำเนินการไต่สวนต่อไปโดยทันที ถ้าศาลเห็นว่าคดีมีมูล ก็ให้สั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราว แต่ก่อนจะสั่งดังว่านี้ จะให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ให้ประกันค่าเสียหายของลูกหนี้ตามจำนวนที่เห็นสมควรก็ได้

               มาตรา ๑๘  ถ้าคำสั่งตามมาตรา ๑๖ หรือมาตรา ๑๗ นั้น มีเหตุอันสมควรจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข โดยศาลเห็นเองก็ดีหรือลูกหนี้ได้มีคำขอขึ้นมาก็ดี ศาลมีอำนาจถอนคำสั่งนั้นหรือมีคำสั่งอย่างอื่นตามที่เห็นสมควรได้

               มาตรา ๑๙  คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ให้ถือเสมือนว่า เป็นหมายของศาลให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ายึดดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารของลูกหนี้ และบรรดาทรัพย์สินซึ่งอยู่ในความครอบครองของลูกหนี้ หรือของผู้อื่นอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลาย
               ในการยึดทรัพย์นั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ใด ๆ อันเป็นของลูกหนี้ หรือที่ลูกหนี้ได้ครอบครองอยู่ และมีอำนาจหักพังเพื่อเข้าไปในสถานที่นั้น ๆ รวมทั้งเปิดตู้นิรภัย ตู้หรือที่เก็บของอื่ๆ ตามที่จำเป็น
               ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ยึดไว้ตามมาตรานี้ ห้ามมิให้ขายจนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย เว้นแต่เป็นของเสียง่าย หรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายจะเกินส่วนแห่งค่าของทรัพย์สินนั้น

               มาตรา ๒๐  เมื่อศาลเห็นเหตุอันควรเชื่อได้ว่า มีทรัพย์สินของลูกหนี้ซุกซ่อนอยู่ในเรือนโรง เคหสถาน หรือสถานที่อื่นอันมิใช่เป็นของลูกหนี้ ศาลมีอำนาจออกหมายค้นให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือเจ้าพนักงานอื่นของศาล ให้มีอำนาจดำเนินการตามข้อความในหมายนั้น

               มาตรา ๒๑  ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอ ศาลมีอำนาจสั่งให้หน่วยงานหรือผู้ประกอบการเกี่ยวกับไปรษณีย์โทรเลขหรือการสื่อสารอื่นใด ส่งโทรเลข ไปรษณียภัณฑ์ จดหมาย หนังสือ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือข้อมูลทางการสื่อสารอื่นใด ที่มีถึงลูกหนี้ภายในกำหนดเวลาไม่เกินหกเดือนนับแต่วันที่ลูกหนี้ถูกสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

               มาตรา ๒๒  เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจดังต่อไปนี้
               (๑) จัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไป
               (๒) เก็บรวบรวมและรับเงินหรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้ หรือซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น
               (๓) ประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้

               มาตรา ๒๓  เมื่อลูกหนี้ได้รับทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ลูกหนี้ต้องส่งมอบทรัพย์สิน ดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารอันเกี่ยวกับทรัพย์สินและกิจการของตนซึ่งอยู่ในความครอบครองให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทั้งสิ้น

               มาตรา ๒๔  เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว ห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือกิจการของตน เว้นแต่จะได้กระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้จัดการทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๒๔/๑  บุคคลผู้เป็นหนี้ลูกหนี้หรือมีทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ในครอบครองซึ่งได้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับหนี้หรือทรัพย์สินของลูกหนี้ มีหน้าที่ต้องแจ้งข้อมูลดังกล่าวให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

               มาตรา ๒๕  ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแพ่งทั้งปวงอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ และเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจงดการพิจารณาคดีแพ่งนั้นไว้ หรือจะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้

               มาตรา ๒๖  ตราบใดที่ศาลยังมิได้สั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด เจ้าหนี้จะฟ้องคดีแพ่งอันเกี่ยวกับหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระได้ตามพระราชบัญญัตินี้ก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ให้นำบทบัญญัติในมาตราก่อนมาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๒๗  เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กล่าวไว้ในพระราชบัญญัตินี้ แม้จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หรือเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้ว แต่คดียังอยู่ระหว่างพิจารณาก็ตาม

               มาตรา ๒๘  เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำสั่งนั้นในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ ในคำโฆษณานั้นให้แสดงการขอให้ล้มละลาย วันที่ศาลมีคำสั่ง ชื่อ ตำบลที่อยู่ และอาชีพของลูกหนี้
               ในคำโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น ให้แจ้งกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ทั้งหลายเสนอคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วย

               มาตรา ๒๙  ถ้าปรากฏภายหลังว่า เจ้าหนี้แกล้งให้ศาลใช้อำนาจดังกล่าวไว้ในมาตรา ๑๖ หรือมาตรา ๑๗ เมื่อลูกหนี้มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจสั่งให้เจ้าหนี้ชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนที่เห็นสมควรให้ลูกหนี้ ในกรณีเช่นนี้หากเจ้าหนี้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ศาลมีอำนาจบังคับเจ้าหนี้นั้นเสมือนหนึ่งว่าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา

 

ส่วนที่ ๒
คำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้

-------------------------

               มาตรา ๓๐  เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ลูกหนี้ต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้
               (๑) ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ลูกหนี้ได้ทราบคำสั่งนั้น ลูกหนี้ต้องไปสาบานตัวต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และยื่นคำชี้แจงตามแบบพิมพ์ว่า ได้มีหุ้นส่วนกับผู้ใดหรือไม่ ถ้ามีให้ระบุชื่อและตำบลที่อยู่ของห้างหุ้นส่วนและผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมด
               (๒) ภายในเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ได้ทราบคำสั่งนั้น ลูกหนี้ต้องไปสาบานตัวต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และยื่นคำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามแบบพิมพ์ แสดงเหตุผลที่ทำให้มีหนี้สินล้นพ้นตัว สินทรัพย์และหนี้สิน ชื่อ ตำบลที่อยู่ และอาชีพของเจ้าหนี้ ทรัพย์สินที่ได้ให้เป็นประกันแก่เจ้าหนี้และวันที่ได้ให้ทรัพย์สินนั้น ๆ เป็นประกัน รายละเอียดแห่งทรัพย์สินอันจะตกได้แก่ตนในภายหน้า ทรัพย์สินของคู่สมรส ตลอดจนทรัพย์สินของบุคคลอื่นซึ่งอยู่ในความยึดถือของตน
               ระยะเวลาตามมาตรานี้ เมื่อมีเหตุผลพิเศษ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจขยายให้ได้ตามสมควร
               ถ้าลูกหนี้ไม่อยู่หรือไม่สามารถทำคำชี้แจงตามมาตรานี้ได้ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ทำแทน หรือช่วยลูกหนี้ในการทำคำชี้แจง แล้วแต่กรณี และเพื่อการนี้ให้มีอำนาจจ้างบุคคลอื่นเข้าช่วยตามที่เห็นจำเป็น โดยคิดหักค่าใช้จ่ายจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้

 

ส่วนที่ ๓
การประชุมเจ้าหนี้

-------------------------

               มาตรา ๓๑  เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุด เพื่อปรึกษาว่าจะควรยอมรับคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้ หรือควรขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย และปรึกษาถึงวิธีที่จะจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไป การประชุมนี้ให้เรียกว่าการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก
               เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องโฆษณากำหนดวันเวลา และสถานที่ที่จะประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และต้องแจ้งไปยังเจ้าหนี้ทั้งหลายเท่าที่ทราบด้วย

               มาตรา ๓๒  การประชุมเจ้าหนี้ครั้งอื่นนั้น ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกตามเวลาที่เห็นสมควร หรือตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ หรือตามที่ศาลสั่ง หรือเมื่อเจ้าหนี้ซึ่งมีจำนวนหนี้รวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนหนี้ที่ได้มีการยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ได้ทำหนังสือขอให้เรียกประชุม
               เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องแจ้งกำหนดวันเวลา และสถานที่กับหัวข้อประชุมไปยังเจ้าหนี้ที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ ล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน และในกรณีที่ยังไม่พ้นกำหนดเวลาที่เจ้าหนี้จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้นั้น ให้แจ้งไปยังเจ้าหนี้ที่ยังไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ แต่มีชื่อในบัญชีซึ่งลูกหนี้ได้ทำยื่นไว้ หรือปรากฏตามหลักฐานอื่นด้วย

               มาตรา ๓๓  ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นประธานในการประชุมเจ้าหนี้ทุกคราว และให้มีรายงานการประชุม ลงลายมือชื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เก็บไว้เป็นหลักฐาน

               มาตรา ๓๔  เจ้าหนี้ที่มีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมเจ้าหนี้ต้องเป็นเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ได้ และได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้แล้วก่อนวันประชุมนั้น
               เจ้าหนี้จะออกเสียงด้วยตนเอง หรือมอบฉันทะเป็นหนังสือให้ผู้อื่นออกเสียงแทนก็ได้
               ข้อปรึกษาใดที่ทำให้เจ้าหนี้หรือผู้แทนหรือผู้มีหุ้นส่วนกับเจ้าหนี้หรือผู้แทนได้รับผลประโยชน์จากทรัพย์สินของลูกหนี้โดยตรงหรือโดยอ้อม นอกจากที่ควรได้รับตามส่วนในฐานะเป็นเจ้าหนี้เช่นเดียวกับเจ้าหนี้อื่นนั้น เจ้าหนี้หรือผู้แทนจะออกเสียงลงคะแนนไม่ได้

               มาตรา ๓๕  ในการนับคะแนนเสียงในการประชุมเจ้าหนี้คราวหนึ่ง ๆ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ถามเจ้าหนี้ที่มาประชุมนั้นว่า ผู้ใดจะคัดค้านการออกเสียงของเจ้าหนี้ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังไม่ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้รายใดบ้างหรือไม่ ถ้าไม่มีผู้ใดคัดค้านก็ให้นับคะแนนเสียงสำหรับเจ้าหนี้รายนั้น
               ถ้ามีผู้คัดค้านคำขอรับชำระหนี้รายใด ก็ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่งให้ออกเสียงในจำนวนหนี้ได้เท่าใดหรือไม่ ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่ายังสั่งในขณะนั้นไม่ได้ ก็ให้หมายเหตุการขัดข้องไว้แล้วให้เจ้าหนี้ออกเสียงไปพลางก่อน โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าต่อไปเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่งไม่ให้ออกเสียงเพียงใดการออกเสียงของเจ้าหนี้นั้น ให้ถือว่าเป็นอันใช้ไม่ได้เพียงนั้น
               คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามวรรคสอง อาจคัดค้านไปยังศาลได้ภายในสิบสี่วันนับแต่วันมีคำสั่ง

               มาตรา ๓๖  เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่ามติของที่ประชุมเจ้าหนี้ขัดต่อกฎหมาย หรือประโยชน์อันร่วมกันของเจ้าหนี้ทั้งหลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาล และศาลอาจมีคำสั่งห้ามมิให้ปฏิบัติการตามมตินั้นได้ แต่ต้องยื่นต่อศาลภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติ

 

ส่วนที่ ๔
กรรมการเจ้าหนี้

-------------------------

               มาตรา ๓๗  ที่ประชุมเจ้าหนี้อาจลงมติตั้งกรรมการเจ้าหนี้ไว้เพื่อแทนเจ้าหนี้ทั้งหลาย ในกิจการเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้
               กรรมการเจ้าหนี้ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าสามคนและไม่เกินกว่าเจ็ดคน โดยเลือกจากเจ้าหนี้หรือผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ แต่เจ้าหนี้หรือผู้รับมอบอำนาจนั้นจะกระทำการเป็นกรรมการเจ้าหนี้ได้ต่อเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้นั้นแล้ว

               มาตรา ๓๘  มติของกรรมการเจ้าหนี้นั้น ให้ถือเสียงข้างมากของผู้มาประชุม และกรรมการเจ้าหนี้ต้องมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนจึงเป็นองค์ประชุม

               มาตรา ๓๙  กรรมการเจ้าหนี้ขาดจากตำแหน่งด้วยเหตุดังต่อไปนี้
               (๑) ลาออกโดยมีหนังสือแจ้งไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
               (๒) ถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลาย หรือถูกศาลสั่งให้เป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
               (๓) ที่ประชุมเจ้าหนี้ให้ออกจากตำแหน่ง โดยได้แจ้งการที่จะประชุมให้ออกนี้ให้เจ้าหนี้ทั้งหลายทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
               เมื่อตำแหน่งกรรมการเจ้าหนี้ว่างลง ด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดดังกล่าวแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้โดยไม่ชักช้า เพื่อเลือกตั้งผู้อื่นขึ้นแทน

               มาตรา ๔๐  ในระหว่างที่ยังไม่ได้เลือกตั้งกรรมการเจ้าหนี้ขึ้นแทนตามความในมาตราก่อน ถ้ากรรมการเจ้าหนี้มีจำนวนเหลืออยู่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งแล้ว ให้กรรมการเจ้าหนี้นั้นกระทำการต่อไปได้

               มาตรา ๔๑  ถ้าไม่ได้ตั้งกรรมการเจ้าหนี้ไว้ การกระทำใด ๆ ที่พระราชบัญญัตินี้กำหนดไว้ว่า ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรรมการเจ้าหนี้ก่อนนั้น ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอความเห็นชอบจากที่ประชุมเจ้าหนี้

 

ส่วนที่ ๕
การไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผย

-------------------------

               มาตรา ๔๒  เมื่อได้มีการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกเสร็จแล้ว ให้ศาลไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยเป็นการด่วน เพื่อทราบกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ เหตุผลที่ทำให้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ตลอดจนความประพฤติของลูกหนี้ว่าได้กระทำหรือละเว้นกระทำการใดซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่นเกี่ยวกับการล้มละลาย หรือเป็นข้อบกพร่องอันจะเป็นเหตุให้ศาลไม่ยอมปลดจากล้มละลายโดยไม่มีเงื่อนไข เว้นแต่ศาลเห็นว่าการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยยังไม่มีความจำเป็น ศาลจะพิจารณางดการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยไว้ก่อนก็ได้
               ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งประกาศแจ้งความกำหนดวันเวลาที่ศาลนัดไต่สวนโดยเปิดเผยให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และให้โฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ

               มาตรา ๔๓  ในการไต่สวนโดยเปิดเผย ลูกหนี้ต้องสาบานตัวและตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่ได้กล่าวไว้ในมาตรา ๔๒ วรรคแรก ซึ่งศาลได้อนุญาตให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเจ้าหนี้ซึ่งได้ขอรับชำระหนี้แล้ว หรือผู้ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้นั้นถาม หรือศาลจะถามเองตามที่เห็นสมควร และให้ศาลจดถ้อยคำของลูกหนี้อ่านให้ลูกหนี้ฟังแล้วให้ลูกหนี้ลงลายมือชื่อไว้ และให้ใช้เป็นพยานหลักฐานยันแก่ลูกหนี้ได้ ในการนี้ลูกหนี้จะให้ทนายความเข้าทำการแทนไม่ได้
               เมื่อศาลได้ไต่สวนลูกหนี้ได้ความเพียงพอแล้ว ให้ศาลมีคำสั่งปิดการไต่สวนและส่งสำเนาการไต่สวนให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หนึ่งฉบับ คำสั่งนี้ไม่ตัดอำนาจศาลที่จะสั่งให้ไต่สวนลูกหนี้เพิ่มเติมอีกเมื่อมีเหตุอันสมควร

               มาตรา ๔๔  เมื่อปรากฏว่าลูกหนี้เป็นคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบหรือกายพิการ ซึ่งศาลเห็นว่าไม่สามารถจะให้ศาลไต่สวนโดยเปิดเผยได้ ศาลมีอำนาจสั่งงดการไต่สวนโดยเปิดเผย หรือจะสั่งให้มีการไต่สวนโดยวิธีอื่นใด ณ ที่ใดตามที่เห็นสมควรก็ได้

 

 

ส่วนที่ ๖
การประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย

-------------------------

               มาตรา ๔๕  เมื่อลูกหนี้ประสงค์จะทำความตกลงในเรื่องหนี้สินโดยวิธีขอชำระหนี้แต่เพียงบางส่วนหรือโดยวิธีอื่น ให้ทำคำขอประนอมหนี้เป็นหนังสือยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันยื่นคำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินตามมาตรา ๓๐ หรือภายในเวลาตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กำหนดให้
               คำขอประนอมหนี้ต้องแสดงข้อความแห่งการประนอมหนี้ หรือวิธีจัดกิจการหรือทรัพย์สินและรายละเอียดแห่งหลักประกัน หรือผู้ค้ำประกัน ถ้ามี และอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
               (๑) ลำดับการชำระหนี้ตามพระราชบัญญัตินี้
               (๒) จำนวนเงินที่ขอประนอมหนี้
               (๓) แนวทางและวิธีการในการปฏิบัติตามคำขอประนอมหนี้
               (๔) กำหนดเวลาชำระหนี้
               (๕) การจัดการกับทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน ถ้ามี
               (๖) ผู้ค้ำประกัน ถ้ามี
               ถ้าคำขอประนอมหนี้มีรายการไม่ครบถ้วนชัดเจนตามวรรคสอง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งให้ลูกหนี้แก้ไขให้ครบถ้วนชัดเจน
               ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อปรึกษาลงมติพิเศษว่าจะยอมรับคำขอประนอมหนี้นั้นหรือไม่

               มาตรา ๔๖  การยอมรับคำขอประนอมหนี้โดยมติพิเศษของที่ประชุมเจ้าหนี้ยังไม่ผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหลาย จนกว่าศาลจะได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแล้ว

               มาตรา ๔๗  ลูกหนี้อาจขอแก้ไขคำขอประนอมหนี้ในเวลาประชุมเจ้าหนี้หรือในเวลาที่ศาลพิจารณาได้ ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลเห็นว่าการแก้ไขนั้นจะเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้โดยทั่วไป

               มาตรา ๔๘  ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาคำขอประนอมหนี้นั้น เจ้าหนี้ที่ไม่มาประชุมจะออกเสียงโดยทำเป็นหนังสือก็ได้ แต่ต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รับหนังสือนั้นก่อนวันประชุม ในกรณีเช่นนี้ให้ถือเสมือนหนึ่งว่าเจ้าหนี้นั้นได้มาประชุมและออกเสียงด้วยตนเอง

               มาตรา ๔๙  เมื่อเจ้าหนี้ได้ลงมติพิเศษยอมรับคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขอต่อศาลให้สั่งว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่
               การกำหนดวันนั่งพิจารณาคำขอนี้ ต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีเวลาส่งแจ้งความให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบล่วงหน้า ไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน

               มาตรา ๕๐  ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นรายงานเกี่ยวกับการประนอมหนี้ กิจการทรัพย์สินและความประพฤติของลูกหนี้ต่อศาล ไม่น้อยกว่าสามวันก่อนวันที่ศาลนั่งพิจารณา

               มาตรา ๕๑  ห้ามมิให้ศาลพิจารณาคำขอประนอมหนี้จนกว่าจะได้ไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยแล้ว เว้นแต่กรณีที่ลูกหนี้ร่วมขอประนอมหนี้นั้น แม้ศาลจะยังมิได้ไต่สวนลูกหนี้ทั้งหมดโดยเปิดเผย เพราะเหตุว่าลูกหนี้บางคนไม่สามารถจะมาศาลโดยเจ็บป่วยหรืออยู่นอกราชอาณาจักรก็ตาม ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่าไม่จำเป็นจะต้องไต่สวนลูกหนี้นั้น ๆ ศาลมีอำนาจพิจารณาคำขอประนอมหนี้ได้ แต่ต้องได้มีการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยแล้วอย่างน้อยคนหนึ่ง

               มาตรา ๕๒  ในการที่ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้หรือไม่นั้น ให้ศาลพิจารณารายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และข้อคัดค้านของเจ้าหนี้ ถ้ามี
               เจ้าหนี้ที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้แล้วมีอำนาจคัดค้านต่อศาลได้ ถึงแม้จะได้เคยออกเสียงลงมติยอมรับไว้ในที่ประชุมเจ้าหนี้ก็ตาม

               มาตรา ๕๓  ห้ามมิให้ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ในกรณีดังต่อไปนี้
               (๑) การประนอมหนี้ไม่มีข้อความให้ใช้หนี้ก่อนและหลังตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินของบุคคลล้มละลาย
               (๒) การประนอมหนี้นั้นไม่เป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั่วไป หรือทำให้เจ้าหนี้ได้เปรียบเสียเปรียบแก่กัน หรือปรากฏข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งถ้าหากว่าลูกหนี้ต้องล้มละลายแล้ว ไม่มีเหตุที่จะปลดลูกหนี้จากล้มละลายได้เลย

               มาตรา ๕๔  ถ้าปรากฏข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งถ้าหากว่าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะปลดลูกหนี้จากล้มละลายได้ก็แต่โดยมีเงื่อนไข ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก็ได้ เมื่อลูกหนี้ให้ประกันสำหรับชำระหนี้ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนหนี้ที่ไม่มีประกันซึ่งเจ้าหนี้อาจขอรับชำระได้
               ในกรณีอื่น ศาลอาจมีคำสั่งเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก็ได้ตามแต่จะเห็นสมควร

               มาตรา ๕๕  เมื่อศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้แล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบ

               มาตรา ๕๖  การประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้ว ผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระได้ แต่ไม่ผูกมัดเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดในเรื่องหนี้ซึ่งตามพระราชบัญญัตินี้ลูกหนี้ไม่อาจหลุดพ้นโดยคำสั่งปลดจากล้มละลายได้ เว้นแต่เจ้าหนี้คนนั้นได้ยินยอมด้วยในการประนอมหนี้

               มาตรา ๕๗  เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ มีอำนาจขอต่อศาลให้บังคับลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันให้ปฏิบัติตามข้อความที่ประนอมหนี้ได้

               มาตรา ๕๘  ในการประนอมหนี้ ถ้าได้ตั้งผู้จัดการทรัพย์สินหรือกิจการของลูกหนี้เพื่อจัดการชำระหนี้ ให้นำบทบัญญัติในหมวด ๔ ว่าด้วยวิธีจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ และหมวด ๕ ว่าด้วยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๕๙  การประนอมหนี้ไม่ทำให้บุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้หรือรับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือค้ำประกันหรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ หลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย

               มาตรา ๖๐  ถ้าลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่ได้ตกลงไว้ในการประนอมหนี้ก็ดี หรือปรากฏแก่ศาลโดยมีพยาหลักฐานว่า การประนอมหนี้นั้นไม่อาจดำเนินไปได้โดยปราศจากอยุติธรรมหรือจะเป็นการเนิ่นช้าเกินสมควรก็ดี หรือการที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยนั้นเป็นเพราะถูกหลอกลวงทุจริตก็ดี เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานหรือเจ้าหนี้คนใดมีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงการใดที่ได้กระทำไปแล้วตามข้อประนอมหนี้นั้น
               เมื่อศาลได้พิพากษาดังกล่าวในวรรคก่อนแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำพิพากษาในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ ในคำโฆษณาให้ระบุชื่อ ตำบลที่อยู่ อาชีพของลูกหนี้ และวันที่ศาลได้มีคำพิพากษา ทั้งให้แจ้งกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ทั้งหลายเสนอคำขอรับชำระหนี้ที่ลูกหนี้ได้กระทำขึ้นในระหว่างวันที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ถึงวันที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วย

 

ส่วนที่ ๗
คำพิพากษาให้ล้มละลาย

-------------------------

               มาตรา ๖๑  เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่า เจ้าหนี้ได้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกหรือในคราวที่ได้เลื่อนไป ขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ดี หรือไม่ลงมติประการใดก็ดี หรือไม่มีเจ้าหนี้ไปประชุมก็ดี หรือการประนอมหนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบก็ดี ให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายเพื่อแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำพิพากษาในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ ในคำโฆษณาให้ระบุชื่อ ตำบลที่อยู่ อาชีพของลูกหนี้และวันที่ศาลได้มีคำพิพากษา

               มาตรา ๖๒  การล้มละลายของลูกหนี้เริ่มต้นมีผลตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์

 

ส่วนที่ ๘
การประนอมหนี้ภายหลังล้มละลาย

-------------------------

               มาตรา ๖๓  เมื่อศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว ลูกหนี้จะเสนอคำขอประนอมหนี้ก็ได้ ในกรณีนี้ให้นำบทบัญญัติของส่วนที่ ๖ การประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย ในหมวด ๑ กระบวนพิจารณาตั้งแต่ขอให้ล้มละลายจนถึงปลดจากล้มละลาย มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้าลูกหนี้ได้เคยขอประนอมหนี้ไม่เป็นผลมาแล้ว ห้ามมิให้ลูกหนี้ขอประนอมหนี้ภายในกำหนดเวลาหกเดือนนับแต่วันที่การขอประนอมหนี้ครั้งสุดท้ายไม่เป็นผล
               การขอประนอมหนี้ตามวรรคหนึ่งไม่เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องเลื่อนหรืองดการจำหน่ายทรัพย์สิน เว้นแต่กรณีมีเหตุอันสมควรที่อาจเป็นประโยชน์แก่การขอประนอมหนี้
               ถ้าศาลเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ ศาลมีอำนาจสั่งให้ยกเลิกการล้มละลาย และจะสั่งให้ลูกหนี้กลับมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนหรือจะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้

 

 

ส่วนที่ ๙
การควบคุมตัวและทรัพย์สินของลูกหนี้และการจำกัดสิทธิ

-------------------------

               มาตรา ๖๔  ลูกหนี้ซึ่งถูกพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ต้องไปในการประชุมเจ้าหนี้ทุกครั้ง และตอบคำถามของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรรมการเจ้าหนี้ หรือเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการทรัพย์สินหรือหุ้นส่วนของตน และต้องกระทำการอันเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สิน หรือการที่จะแบ่งทรัพย์สินในระหว่างเจ้าหนี้ทั้งหลาย ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือผู้จัดการทรัพย์จะสั่งโดยมีเหตุอันสมควร หรือตามที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่ศาลจะได้มีคำสั่งให้กระทำ แล้วแต่กรณี

               มาตรา ๖๕  เมื่อศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว ลูกหนี้ต้องเป็นธุระช่วยโดยเต็มความสามารถในการจำหน่ายทรัพย์สินและในการแบ่งทรัพย์สินในระหว่างเจ้าหนี้ทั้งหลาย และเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องการให้ทำสัญญาประกันชีวิต ลูกหนี้ต้องให้แพทย์ตรวจ และต้องตอบข้อซักถาม และกระทำการต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อการนั้น

               มาตรา ๖๖  เมื่อศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายแล้ว ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานหรือเจ้าหนี้คนใดมีคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้อง และศาลพอใจจากรายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือพยานที่เจ้าหนี้นำมาสืบ ว่าลูกหนี้ได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
               (๑) ออกไปหรือกำลังจะออกไปนอกเขตอำนาจศาล หรือได้ออกไปก่อนแล้วและคงอยู่นอกเขตอำนาจศาลโดยเจตนาที่จะหลีกเลี่ยง ประวิงหรือกระทำให้ขัดข้องแก่กระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย
               (๒) กระทำหรือกำลังจะกระทำการฉ้อโกงเจ้าหนี้ หรือกระทำหรือกำลังจะกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งมีโทษตามพระราชบัญญัตินี้
               ศาลมีอำนาจออกหมายจับลูกหนี้มาขังไว้จนกว่าลูกหนี้จะได้ให้ประกันจนพอใจ แต่ไม่ให้เกินกว่าหกเดือน

               มาตรา ๖๗  เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้หรือพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายแล้ว และยังไม่ได้สั่งปลดจากล้มละลาย
               (๑) ลูกหนี้จะต้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดจำนวนเงินเพื่อใช้จ่ายเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวตามสมควรแก่ฐานานุรูป โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้อนุญาตให้ลูกหนี้จ่ายจากเงินที่ลูกหนี้ได้มาในระหว่างล้มละลาย และลูกหนี้จะต้องส่งเงินหรือทรัพย์สินที่เหลือนั้นแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในเวลาที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดพร้อมด้วยบัญชีรับจ่าย
               (๒) ทุกครั้งที่ลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับทรัพย์สินอย่างใดลูกหนี้จะต้องรายงานเป็นหนังสือให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบ โดยแสดงรายละเอียดเท่าที่สามารถจะทำได้ภายในเวลาอันสมควร และไม่ว่าในกรณีใด ลูกหนี้จะต้องแสดงบัญชีรับจ่ายเสนอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทุกระยะหกเดือน
               (๓) ลูกหนี้จะออกไปนอกราชอาณาจักรไม่ได้ เว้นแต่ศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะอนุญาตเป็นหนังสือ และถ้าจะย้ายที่อยู่ ต้องแจ้งตำบลที่อยู่ใหม่เป็นหนังสือให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบภายในเวลาอันสมควร

               มาตรา ๖๗/๑  เมื่อศาลได้พิพากษาให้ล้มละลายแล้ว บุคคลล้มละลายอาจได้รับการปลดจากล้มละลายเมื่อศาลได้มีคำสั่งปลดจาล้มละลายตามมาตรา ๗๑ หรือเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามมาตรา ๘๑/๑

 

ส่วนที่ ๑๐
การปลดจากล้มละลาย

-------------------------

               มาตรา ๖๘  เมื่อศาลได้พิพากษาให้ล้มละลายแล้ว บุคคลล้มละลายอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้มีคำสั่งปลดจากล้มละลายได้ แต่ต้องนำเงินมาวางไว้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามจำนวนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเห็นสมควรไม่เกินห้าพันบาทเพื่อเป็นประกันค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย
               การกำหนดวันนั่งพิจารณาคำขอนี้ ต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีเวลาส่งแจ้งความให้บุคคลล้มละลาย และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน และโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ

               มาตรา ๖๙  ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นรายงานเกี่ยวกับกิจการทรัพย์สินและความประพฤติของบุคคลล้มละลายในเวลาก่อนหรือระหว่างที่ล้มละลายต่อศาล และส่งสำเนารายงานนั้นให้บุคคลล้มละลายทราบไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก่อนวันนั่งพิจารณาคำขอปลดจากล้มละลาย

               มาตรา ๗๐  ในการพิจารณาคำขอปลดจากล้มละลายนั้น ศาลอาจฟังคำชี้แจงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้หรือผู้แทนเจ้าหนี้ รายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ได้ยื่นตามมาตรา ๖๙ และรายงานการไต่สวนโดยเปิดเผยของศาลนั้นเอง และศาลอาจให้บุคคลล้มละลายสาบานตัวให้การหรือพิจารณาพยานหลักฐานตามที่เห็นสมควรก็ได้

               มาตรา ๗๑  ให้ศาลมีคำสั่งปลดจากล้มละลาย เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า
               (๑) ได้แบ่งทรัพย์สินชำระให้แก่เจ้าหนี้ที่ได้ขอรับชำระหนี้ไว้แล้วไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบและ
               (๒) ไม่เป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
               คำสั่งปลดจากล้มละลายตามวรรคหนึ่ง ศาลอาจกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับทรัพย์สินที่จะพึงได้มาในเวลาต่อไปก็ได้ แต่ต้องไม่เกินระยะเวลาที่บุคคลนั้นได้รับการปลดจากล้มละลายตามมาตรา ๘๑/๑

               มาตรา ๗๒  (ยกเลิก)

               มาตรา ๗๓  (ยกเลิก)

               มาตรา ๗๔  (ยกเลิก)

               มาตรา ๗๕  (ยกเลิก)

               มาตรา ๗๖  เมื่อศาลได้มีคำสั่งปลดจากล้มละลายแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ

               มาตรา ๗๗  คำสั่งปลดจากล้มละลายทำให้บุคคลล้มละลายหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระได้ เว้นแต่
               (๑) หนี้เกี่ยวกับภาษีอากร หรือจังกอบของรัฐบาลหรือเทศบาล
               (๒) หนี้ซึ่งได้เกิดขึ้นโดยความทุจริตฉ้อโกงของบุคคลล้มละลาย หรือหนี้ซึ่งเจ้าหนี้ไม่ได้เรียกร้องเนื่องจากความทุจริตฉ้อโกงซึ่งบุคคลล้มละลายมีส่วนเกี่ยวข้องสมรู้

               มาตรา ๗๘  การที่ศาลได้มีคำสั่งปลดจากล้มละลายนั้นไม่ทำให้บุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับบุคคลล้มละลาย หรือรับผิดร่วมกับบุคคลล้มละลาย หรือค้ำประกัน หรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของบุคคลล้มละลายหลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย

               มาตรา ๗๙  บุคคลล้มละลายซึ่งได้ถูกปลดจากล้มละลายนั้น ยังมีหน้าที่ช่วยในการจำหน่ายและแบ่งทรัพย์สินของตนซึ่งตกอยู่กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องการ
               ถ้าบุคคลล้มละลายละเลยไม่ช่วย ศาลมีอำนาจเพิกถอนคำสั่งปลดจากล้มละลายนั้นได้ แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงการใดที่ได้กระทำไปภายหลังการปลดจากล้มละลายก่อนที่ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนนั้น

               มาตรา ๘๐  ในคำสั่งปลดจากล้มละลายโดยให้บุคคลล้มละลายใช้เงินแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้น ศาลมีอำนาจกำหนดจำนวนเงินสำหรับเลี้ยงชีพบุคคลล้มละลายและครอบครัวในปีหนึ่ง ๆ ที่ให้หักเอาจากทรัพย์สินซึ่งได้มาภายหลังมีคำสั่งนั้น และกำหนดให้ส่งเงินหรือทรัพย์สินที่เหลือแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เพื่อแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย และกำหนดวันให้ยื่นบัญชีแสดงการรับทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างปีทุก ๆ ปีต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
               บุคคลล้มละลายซึ่งถูกปลดจากล้มละลายโดยให้ใช้เงินแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้น มีหน้าที่ไปให้เจ้าพนักงาพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลสอบสวนหรือไต่สวนเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ได้มา ตามแต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลต้องการ
               ถ้าบุคคลล้มละลายนั้นไม่ปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในสองวรรคแรก เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอ ศาลจะเพิกถอนคำสั่งปลดจากล้มละลายก็ได้ แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงการใดที่ได้กระทำไปภายหลังการปลดจากล้มละลาย ก่อนที่ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนนั้น

               มาตรา ๘๑  เมื่อศาลได้เพิกถอนคำสั่งปลดจากล้มละลายแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ ทั้งให้แจ้งกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ทั้งหลายเสนอคำขอรับชำระหนี้ที่ลูกหนี้ได้กระทำขึ้นภายหลังที่ศาลมีคำสั่งปลดจากล้มละลาย ก่อนที่ศาลได้มีคำสั่งให้เพิกถอนนั้นด้วย

               มาตรา ๘๑/๑  ภายใต้บังคับมาตรา ๘๑/๒ บุคคลธรรมดาซึ่งศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้วให้ปลดบุคคลนั้นจากล้มละลายทันทีที่พ้นกำหนดระยะเวลาสามปีนับแต่วันที่ศาลได้พิพากษาให้ล้มละลาย เว้นแต่
               (๑) บุคคลนั้นได้เคยถูกพิพากษาให้ล้มละลายมาก่อนแล้ว และยังไม่พ้นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ศาลได้พิพากษาให้ล้มละลายครั้งก่อนจนถึงวันที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ครั้งหลังให้ขยายระยะเวลาเป็นห้าปี
               (๒) บุคคลนั้นเป็นบุคคลล้มละลายทุจริตที่ไม่มีลักษณะตาม (๓) ให้ขยายระยะเวลาเป็นสิบปี เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุผลพิเศษและบุคคลนั้นถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี ศาลจะสั่งปลดจากล้มละลายก่อนครบกำหนดสิบปีตามคำขอของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือของบุคคลล้มละลายนั้นก็ได้
               (๓) บุคคลนั้นเป็นบุคคลล้มละลายอันเนื่องมาจากหรือเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ให้ขยายระยะเวลาเป็นสิบปี
               ในกรณีที่มีเหตุตาม (๑) (๒) หรือ (๓) มากกว่าหนึ่งเหตุให้ขยายระยะเวลาโดยอาศัยเหตุใดเหตุหนึ่งที่มีระยะเวลาสูงสุดเพียงเหตุเดียว
               ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๗๖ มาตรา ๗๗ และมาตรา ๗๘ มาใช้บังคับกับการปลดจากล้มละลายตามมาตรานี้โดยอนุโลม

               มาตรา ๘๑/๒  ก่อนระยะเวลาสามปีตามมาตรา ๘๑/๑ วรรคหนึ่ง จะสิ้นสุดลง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจยื่นคำขอต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้หยุดนับระยะเวลาดังกล่าวไว้ก่อนก็ได้
               เมื่อศาลได้รับคำขอเช่นว่านี้แล้ว ให้ศาลกำหนดนัดไต่สวนเป็นการด่วน และส่งสำเนาคำขอให้แก่บุคคลล้มละลายทราบก่อนวันนัดไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน

               มาตรา ๘๑/๓  เมื่อศาลไต่สวนคำขอตามมาตรา ๘๑/๒ แล้ว ถ้าศาลเห็นว่าบุคคลล้มละลายมิได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการรวบรวมทรัพย์สินโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ศาลมีคำสั่งหยุดนับระยะเวลาตามมาตรา ๘๑/๑ ตั้งแต่วันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำขอหรือวันที่ศาลมีคำสั่งจนถึงวันที่ศาลกำหนด โดยจะกำหนดเงื่อนไขหรือไม่ก็ได้
               การหยุดนับระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ไม่ว่าศาลจะได้มีคำสั่งให้หยุดนับระยะเวลาตามคำขอกี่ครั้งก็ตาม เมื่อรวมระยะเวลาทั้งหมดแล้วจะต้องไม่เกินสองปี และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ศาลจะมีคำสั่งให้หยุดนับระยะเวลาตามมาตรา ๘๑/๑ (๑) (๒) หรือ (๓) หรือมีคำสั่งเมื่อพ้นระยะเวลาสามปีตามมาตรา ๘๑/๑ วรรคหนึ่งแล้วไม่ได้
               คำสั่งศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด

               มาตรา ๘๑/๔  เมื่อศาลมีคำสั่งตามมาตรา ๘๑/๓ แล้ว หากพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป บุคคลล้มละลายอาจยื่นคำขอต่อศาลเพื่อขอให้ยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งดังกล่าวได้
               เมื่อได้รับคำขอดังกล่าว ให้ศาลกำหนดวันนัดไต่สวน และส่งสำเนาคำขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อแจ้งให้เจ้าหนี้ทั้งหลายทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
               ศาลอาจมีคำสั่งยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งตามมาตรา ๘๑/๓ ก็ได้
               คำสั่งศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
mini_call_to_action_picture

ทนายความมากกว่า 500 คน ทั่วประเทศ พร้อมให้คำปรึกษา เพียง 33 บาท