คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3995

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3995/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 248 วรรคหนึ่ง

ฎีกาจำเลยที่ว่า จำเลยมิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การแต่เนื่องจากจำเลยไม่ทราบขั้นตอนการดำเนินคดีในศาลจึงหลงเชื่อคำหลอกลวงของโจทก์ที่ว่าจำเลยไม่ต้องยื่นคำให้การแต่ต้องไปศาลทุกครั้งตามที่ศาลนัด โจทก์จะไม่ดำเนินการใด ๆต่อจำเลย จำเลยจึงไม่ได้ยื่นคำให้การ เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงเมื่อคดีนี้มีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 214, 224 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ม. 7

หนี้ที่จำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินนั้นเป็นมูลหนี้ตามสัญญาซื้อขายนอกจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้แล้วยังได้ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีแพ่งขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระเงินตามจำนวนในเช็คพิพาทซึ่งเป็นมูลหนี้ตามสัญญาซื้อขายพร้อมดอกเบี้ยจากการผิดนัดในอัตราร้อยละ7.5ต่อปีนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจนถึงวันที่จำเลยทั้งสองชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ดังนั้นในกรณีที่จำเลยที่2ยอมชำระเงินตามมูลหนี้สัญญาซื้อขายเพื่อให้หนี้ที่จำเลยทั้งสองได้ออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินสิ้นผลผูกพันไปนั้นจำเลยที่2จะต้องชำระเงินตามจำนวนเงินในเช็คพิพาทซึ่งเป็นมูลหนี้ตามสัญญาซื้อขายพร้อมกับต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5ต่อปีนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาทอันถือได้ว่าจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้เงินตามสัญญาซื้อขายจนถึงวันที่จำเลยที่2ชำระเงินแก่โจทก์ครบถ้วนสิ้นเชิงตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา224วรรคหนึ่งและมาตรา214ดังนั้นการที่จำเลยที่2นำเงินตามจำนวนในเช็คพิพาทมาวางต่อศาลชั้นต้นในคดีนี้เพื่อชำระหนี้เงินตามเช็คโดยมิได้ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามนัยที่ได้วินิจฉัยไว้หนี้เงินตามสัญญาซื้อขายที่จำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินนั้นจึงยังไม่ได้รับการชำระครบถ้วนสิ้นเชิงจึงไม่มีผลให้หนี้ดังกล่าวสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแต่อย่างใดฉะนั้นจึงถือว่าคดีเลิกกันตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ.2534มาตรา7สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา39(3)ยังไม่ได้แต่เมื่อปรากฏว่าระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาในคดีนี้ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ชำระดอกเบี้ยของเช็คพิพาทตามคำพิพากษาโดยจำเลยทั้งสองได้นำเงินค่าดอกเบี้ยไปวางต่อศาลและโจทก์ได้รับชำระไปแล้วหนี้ที่จำเลยทั้งสองได้ออกเช็คพิพาทดังกล่าวเพื่อใช้เงินจึงสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดคดีจึงเลิกกันและสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3994

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3994/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 203, 1754 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 4 (1), 55

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2534มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2534 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2535 คำฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องเกี่ยวกับหนี้เหนือบุคคลซึ่งตามบทมาตราดังกล่าวโจทก์สามารถเสนอคำฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มีมูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลก็ได้ เมื่อจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลชั้นต้น ทั้งมูลคดีก็เกิดขึ้นในเขตศาลชั้นต้นคดีย่อมอยู่ในอำนาจศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาพิพากษาได้โจทก์หาจำต้องยื่นคำร้องแสดงเหตุให้ศาลชั้นต้นรับคดีไว้พิจารณาด้วยไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม เป็นบทบัญญัติมิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของลูกหนี้ ในกรณีดังกล่าว เจ้าหนี้ของผู้ตายจะต้องเรียกร้องให้ชำระหนี้จากทรัพย์มรดกของผู้ตายซึ่งเป็นลูกหนี้ในกำหนด 1 ปี นับแต่ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย ดังนั้น แม้หนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่ลูกหนี้ทำไว้กับโจทก์ยังไม่ถึงกำหนดชำระ แต่ลูกหนี้ได้ถึงแก่ความตายเสียก่อน โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ภายใน 1 ปี นับแต่เมื่อโจทก์รู้ถึงความตายของลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754วรรคสาม เพราะสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมเกิดขึ้นเมื่อลูกหนี้ถึงแก่ความตายหากรอจนหนี้ถึงกำหนดชำระ อายุความ 1 ปีตามมาตรา 1754 วรรคสาม ดังกล่าวข้างต้นอาจจะล่วงพ้นไปแล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ได้แม้หนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระ แม้หนังสือกู้ยืมเงินจะระบุข้อความไว้ว่าไม่มีดอกเบี้ยแต่ข้อความตอนต้นก็ระบุไว้ว่าผู้กู้ยอมให้ดอกเบี้ยตามจำนวนเงินที่กู้แก่ผู้ให้กู้ชั่งละหนึ่งบาทต่อเดือนนับแต่วันทำสัญญา นอกจากนี้ผู้กู้ยังได้บันทึกรับรองไว้ในตอนท้ายของสัญญากู้ยืมเงินว่า ถ้าหากไม่ชำระหนี้ตามสัญญาใน 2 ปียินยอมคิดดอกเบี้ยนับจากวันครบสัญญา ดังนี้แสดงให้เห็นว่าผู้กู้ยอมรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราชั่งละหนึ่งบาทต่อเดือน (ร้อยละ 15 ต่อปี) นับแต่วันครบกำหนดชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน กรณีมิใช่คู่สัญญาไม่ได้ตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ในอันที่จะใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ เจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 839

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 839/2540

พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ม. 8, 18 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 176 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ม. 17

การประเมินค่ารายปีของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่1เป็นการประเมินของปี2537ส่วนค่าเช่าที่โจทก์อ้างถึงเป็นค่าเช่าที่โจทก์ทำสัญญากันไว้ในปี2532และสัญญาเช่าดังกล่าวมีอายุเพียงปีเดียวจึงเป็นเหตุอันสมควรที่ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่1เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่1จึงมีอำนาจทำการประเมินค่ารายปีได้ ที่โจทก์โต้แย้งว่าแม้สัญญาเช่าโจทก์มีอายุเพียงปีเดียวแต่โจทก์ก็คิดค่าเช่ากับผู้เช่าในอัตราเดิมตลอดมาเพราะตึกที่โจทก์ให้เช่ามิได้ตั้งอยู่ริมถนนเศรษฐกิจ ความเจริญของตึกที่เช่าตั้งแต่ปี2532จนถึงปัจจุบันมิได้มีการเปลี่ยนแปลงพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่1เพิ่มค่ารายปีโดยมิได้แสดงให้เห็นว่าถนนที่ตึกโจทก์ตั้งอยู่มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นการประเมินค่ารายปีของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่1ในปี2536ไม่ชอบแม้โจทก์จะฟ้องคดีและในที่สุดศาลภาษีอากรจำหน่ายคดีก็ตามก็ถือได้ว่าโจทก์โต้แย้งการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่1ในปี2536แล้วและปัญหายังมิได้ยุตินั้นเมื่อโจทก์ทิ้งคำฟ้องจนเป็นเหตุให้ศาลภาษีอากรจำหน่ายคดีคำฟ้องของโจทก์จึงตกไปและมีผลทำให้คู่ความกลับคืนเข้าสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา176ปัญหาข้อโต้แย้งการประเมินค่ารายปีของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่1ในปี2536จึงถือว่าไม่มีข้อโต้แย้งต่อไปค่ารายปีของปี2536ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่1ประเมินจึงฟังเป็นยุติโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่1ไม่ต้องแสดงว่าถนนที่ตึกโจทก์ตั้งอยู่เจริญรุ่งเรืองขึ้นจนทำให้ต้องมีการประเมินเพิ่มขึ้นการประเมินค่ารายปีของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่1โดยยึดถืออัตราค่ารายปีของปี2536ดังกล่าวประกอบทรัพย์สินขนาดพื้นที่ทำเลที่ตั้งและบริการสาธารณะของบุคคลอื่นที่อยู่ใกล้เคียงกันย่อมเป็นการประเมินที่ชอบแล้ว ทรัพย์สินที่โจทก์ใช้เป็นสำนักงานเพื่อประกอบธุรกิจของโจทก์พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่1ได้กำหนดค่ารายปีถัวเฉลี่ยตารางเมตรละ48.96บาทต่อเดือนโดยเทียบเคียงจากโรงเรือนของธนาคารซึ่งธนาคารใช้ดำเนินเองมีค่ารายปีถังเฉลี่ยตารางเมตรละ70บาทต่อเดือนเมื่อโรงเรือนของธนาคารดังกล่าวอยู่ใกล้เคียงกับโรงเรือนของโจทก์และอยู่ติดถนนสี่พระยาเช่นเดียวกับโรงเรือนของโจทก์และพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่1ก็กำหนดค่ารายปีต่ำกว่าโรงเรือนดังกล่าวมิได้กำหนดสูงเกินไปการกำหนดค่ารายปีของทรัพย์สินตามรายการดังกล่าวจึงชอบแล้ว พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพ.ศ.2475มาตรา18บัญญัติว่า"ค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วนั้นท่านให้เป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมา"เมื่อค่ารายปีของปี2536เป็นอันยุติตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้วการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่1กำหนดค่ารายปีของปี2537โดยอาศัยค่ารายปีของปี2536เป็นหลักจึงชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 838

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 838/2540

ประมวลรัษฎากร ม. 77/1 (14), 80/1 (1), 81 (3), 83/4, 89 (4), 89/1

โจทก์กรอกรายการยอดขายที่ต้องเสียบภาษีในอัตราร้อยละ0ขาดไป1,000,000บาทจึงเป็นกรณีที่โจทก์ในฐานะผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นแบนแสดงรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้องครบถ้วนโจทก์มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่งพร้อมกับชำระภาษีถ้ามีให้ถูกต้องครบถ้วนแต่ถ้าไม่มีจำนวนภาษีในเดือนภาษีเปลี่ยนแปลงไปผู้ประกอบการจดทะเบียนก็ยังคงมีหน้าที่มายื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่งให้ถูกต้องโดยไม่ต้องชำระภาษีแต่อย่างใดตามประมวลรัษฎากรมาตรา83/4คดีนี้โจทก์ส่งสินค้าประเภทเซรามิคไปขายที่ประเทศมาเลเซียและประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นการส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรเพื่อส่งไปต่างประเทศอันเป็นการส่งออกตามนัยมาตรา77/1(14)แห่งประมวลรัษฎากรโจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนสำหรับการประกอบกิจการประเภทการส่งออกสินค้าที่มิใช่การส่งออกสินค้าซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา81(3)แต่ตามมาตรา80/1(1)แห่งประมวลรัษฎากรกำหนดให้ใช้อัตราภาษีร้อยละ0ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มแม้โจทก์จะยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้องแต่โจทก์ไม่มีจำนวนภาษีในเดือนภาษีที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเปลี่ยนแปลงไปที่โจทก์จะต้องนำมาชำระให้ถูกต้องพร้อมกับยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติมตามมาตรา83/4แห่งประมวลรัษฎากรดังนี้กรณีของโจทก์จึงไม่ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามมาตรา89(4)และ89/1แห่งประมวลรัษฎากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 832

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 832/2540

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 59, 291

จำเลยใช้กระแสไฟฟ้าช็อตปลาในคลองสาธารณะถือได้ว่าเป็นการกระทำด้วยความประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา59วรรคสี่เมื่อผู้ตายถูกกระแสไฟฟ้าช็อตตายก็ต้องถือว่าเป็นผลโดยตรงที่เกิดจากความประมาทของจำเลยไม่ว่าเหตุที่เกิดขึ้นจะเป็นเพราะผู้ตายลงไปอาบน้ำในคลองหรือผู้ตายไปแก้สายไฟฟ้าที่เกี่ยวติดสิ่งของจึงถูกกระแสไฟฟ้าช็อตตายก็ไม่มีผลทำให้จำเลยพ้นผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3990

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3990/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 212, 225

ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยต่ำกว่าอัตราโทษขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดไว้จึงเป็นคำพิพากษาไม่ชอบ แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์หรือฎีกา ศาลฎีกาก็ไม่อาจจะแก้ไขให้ลงโทษจำคุกจำเลยตามอัตราโทษขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยอันขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3959

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3959/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1713 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 188

เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้ประกาศวันนัดไต่สวนตามระเบียบแล้ว การคัดค้านของผู้คัดค้านเป็นการร้องขอเข้ามาในคดีเดิม แม้จะร้องขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกด้วย ก็ไม่จำต้องมีคำสั่งให้ประกาศซ้ำอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3947

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3947/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 1 (11), 264

ผู้ที่จะร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพื่อคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างการพิจารณาหรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา264ต้องเป็นคู่ความในคดีที่ขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองนั้นผู้ร้องสอดเพียงแต่ยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องสอดเท่ากับไม่อนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความแม้ผู้ร้องสอดจะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวผู้ร้องสอดก็ไม่มีสิทธิขอให้ศาลมีคำสั่งเพื่อคุ้มครองประโยชน์ตามมาตรา264ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3946

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3946/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 79 วรรคหนึ่ง, 209 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 153

โจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2535 โดยก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2534 จำเลยได้แจ้งต่อนายทะเบียนท้องถิ่นขอย้ายภูมิลำเนาไปอยู่บ้านเลขที่ 50ถนนเรศ แขวงสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร แต่จำเลยไม่ได้ดำเนินการแจ้งย้ายภูมิลำเนาเข้าบ้านดังกล่าวแต่อย่างใดจนถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2535 หลังจากโจทก์ฟ้องคดีแล้วเป็นเวลา 7 วัน จำเลยจึงได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่บ้านเลขที่ 70/16 ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ดังนั้นจึงต้องถือว่าในระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2534ถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2535 จำเลยเป็นบุคคลที่ไม่ปรากฎภูมิลำเนาซึ่งศาลไม่อาจส่งหมายเรียกและสำเนาคำร้องโดยวิธีธรรมดาได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยทราบโดยวิธีประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 วรรคหนึ่ง แล้ว จำเลยย้ายภูมิลำเนาหลายครั้งโดยมีพฤติการณ์ไม่สุจริตเป็นการหลีกเลี่ยงที่จะไม่รับคำคู่ความหรือเอกสารใดถ้ามีถึงตนจนต้องขาดนัดพิจารณาจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะให้พิจารณาใหม่

« »
ติดต่อเราทาง LINE