คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 386, 582 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. 46
แม้นายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิจะเลิกสัญญาจ้างได้ฝ่ายเดียว โดยอีกฝ่ายหนึ่งไม่จำต้องตกลงหรือยินยอมด้วยก็ตาม แต่การเลิกจ้างจะมีผลต่อเมื่อฝ่ายที่ใช้สิทธิเลิกจ้างได้แสดงเจตนาหรือบอกกล่าวให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ทราบก่อนและการเลิกจ้างย่อมมีผลทันทีนับแต่ฝ่ายนั้นได้ทราบการแสดงเจตนาหรือการบอกกล่าวนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 252/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 387, 456 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 94
กำหนดเวลาชำระหนี้ที่ตกลงกันไว้เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซึ่งเป็นสาระสำคัญแต่คู่สัญญาจะถือปฏิบัติตามสัญญาหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่งการนำสืบข้อเท็จจริงว่าโจทก์ชำระหนี้ตามงวดไม่ตรงเวลาที่กำหนดไม่ใช่การนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารและที่จำเลยผ่อนผันให้โดยยินยอมรับชำระไว้แสดงว่าในทางปฏิบัติโจทก์จำเลยมิได้มีเจตนาถือเอากำหนดเวลาชำระเงินค่าที่ดินตามงวดเคร่งครัดตามสัญญาดังนั้นเมื่อครบกำหนดชำระเงินงวดที่10โจทก์ยังไม่ชำระจำเลยมีหน้าที่ต้องบอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้ภายในเวลาพอสมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา387หากโจทก์ไม่ชำระจำเลยมีสิทธิเลิกสัญญาได้ปรากฏว่าเมื่อถึงกำหนดชำระเงินงวดที่10โจทก์ไม่ชำระจำเลยไม่เคยแจ้งโจทก์ให้ชำระในเวลาที่กำหนดและมิได้ปฏิบัติตามมาตรา387ดังกล่าวถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาสัญญาจึงไม่เลิกกัน สัญญาจะซื้อขายที่ดินพร้อมบ้านเป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งจำเลยจะต้องสร้างบ้านให้เสร็จและโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมบ้านแก่โจทก์ในวันที่โจทก์จะชำระเงินงวดสุดท้ายซึ่งตามปกติจะต้องมีกำหนดเวลาสร้างบ้านให้แล้วเสร็จไว้ในสัญญาด้วยแต่ข้อตกลงในสัญญามีว่าเงินงวดสุดท้ายจะชำระให้ในวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารณสำนักงานที่ดินโดยไม่ได้กำหนดเวลาการปลูกบ้านให้แล้วเสร็จไว้ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของจำเลยจะต้องปลูกบ้านในที่ดินให้แล้วเสร็จและพร้อมจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์จึงจะมีสิทธิเรียกให้โจทก์ชำระงวดสุดท้ายได้แม้โจทก์จะขอชำระในงวดที่10ก่อนงวดสุดท้ายซึ่งล่วงเลยกำหนดเวลาชำระตามสัญญามา1ปีแต่ปรากฏว่าในช่วงเวลาดังกล่าวจำเลยยังปลูกบ้านไม่แล้วเสร็จจึงไม่อาจเรียกให้โจทก์ชำระเงินที่เหลือทั้งหมดได้โจทก์ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงมีสิทธิฟ้องจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 240/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 148
แม้คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างมูลเหตุว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่าย ผิดสัญญาเช่าซื้อเช่นเดียวกับคดีก่อน แต่โจทก์ได้บรรยายฟ้องอ้างว่า หลังจากศาลมีคำพิพากษาคดีก่อนแล้ว จำเลยทั้งสองไม่คืนรถแก่โจทก์ตามคำพิพากษา โจทก์ได้ไปยึดรถจากจำเลยทั้งสอง และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการยึดรถคืน ซึ่งความเสียหายของโจทก์ ตามฟ้องคดีนี้เกิดขึ้นภายหลังจากศาลมีคำพิพากษาในคดีก่อน ดังนี้คำขอให้บังคับจำเลยตามฟ้องโจทก์คดีนี้จึงต่างจาก คำขอของโจทก์ในคดีก่อน และมิใช่เป็นประเด็นที่ศาลในคดีก่อน ได้วินิจฉัยแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ทั้งมิใช่กรณี ที่จะไปว่ากล่าวในชั้นบังคับคดี ฟ้องโจทก์คดีนี้จึง ไม่เป็นฟ้องซ้ำ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4205/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 693
ตามหนังสือสัญญากู้ที่จำเลยผู้กู้ได้กู้ยืมเงินไปจาก ท.โดยมีโจทก์เป็นผู้ค้ำประกันมีข้อตกลงว่า จำเลยผู้กู้ยอมรับผิดในค่าพาหนะและค่าเสียหายต่าง ๆซึ่งผู้ให้กู้ต้องเสียไปในการทวงถาม ฟ้องร้อง จำเลยยอมใช้ให้ตามที่เสียหายจนครบถ้วน ต่อมา ท.นำสัญญากู้ฉบับนี้ไปฟ้องจำเลยและโจทก์ โจทก์ได้ชำระเงินตามคำพิพากษา 89,220 บาท และค่าใช้จ่ายอย่างอื่น 2,080 บาท ให้ ท.แม้เงินส่วนนี้ ท.จะมิได้เรียกร้องไว้ในขณะฟ้อง แต่เมื่อโจทก์ได้จ่ายเงินจำนวน2,080 บาท ให้ ท.ไปจริง จึงรวมเป็นต้นเงินทั้งหมดที่โจทก์ชำระให้ ท.ไปโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยให้จำเลยชำระเงินจำนวน 91,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยจากจำเลยตาม ป.พ.พ.มาตรา 693
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4197/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 78, 83, 336
ในขณะที่ ช. ขับรถตามผู้เสียหายจนทันและแซงขึ้นประกบคู่ด้านซ้ายมือรถจักรยานยนต์ผู้เสียหายนั้น จำเลยก็ได้ขับรถจักรยานยนต์ของตนตามไปติด ๆ และแซงขึ้นประกบคู่รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายทางด้านขวา จากนั้น ช. ก็ตะปบผู้เสียหายที่บริเวณคอซึ่งสวมสร้อยคอทองคำพร้อมพระ จึงเห็นได้ชัดว่า จำเลยได้ร่วมมือกับ ช. ในการประกบคู่รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายมิให้หักหลบหนี เป็นการประสานงานตามแผน ข้อแก้ตัวของจำเลยที่ว่าไม่ทราบว่า ช. จะลงมือกระทำความผิดนั้นจึงฟังไม่ขึ้นแต่การที่จำเลยช่วยยกรถจักรยานยนต์ที่ทับขาผู้เสียหายออกนับได้ว่าเป็นการพยายามบรรเทาผลร้ายอันเกิดจากการกระทำของจำเลย เป็นเหตุบรรเทาโทษเห็นสมควรลดโทษให้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 239/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 388, 420, 456 วรรคสอง.
จำเลยทำสัญญาจะซื้อขายบ้านและที่ดินกับโจทก์ครั้นถึงวันนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์โจทก์ไม่สามารถนำโฉนดที่ดินมาจดทะเบียนได้อันเป็นความผิดของฝ่ายโจทก์เองหาใช่ความผิดของจำเลยไม่โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์ยินยอมให้จำเลยเข้าอยู่อาศัยในบ้านและที่ดินพิพาทจนกว่าจะได้โอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินพิพาทเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเพราะไม่สามารถนำโฉนดที่ดินมาจดทะเบียนได้สิทธิอาศัยของจำเลยจึงยังคงมีอยู่ตามสัญญาเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงไม่มีสิทธิเลิกสัญญาและบอกกล่าวให้จำเลยออกจากที่ดินและอาคารพิพาทการที่จำเลยอยู่ในอาคารโดยมีสิทธิตามสัญญาจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4187/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 429
จำเลยที่ 2 และที่ 3 บิดามารดาจำเลยที่ 1 ไม่เคยทราบมาก่อน ว่าจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ อายุ 17 ปี ขับรถจักรยานยนต์ได้ ทั้ง จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็อยู่ต่างอำเภอกับจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ของเพื่อนจำเลยที่ 1 ชนโจทก์โดยละเมิดทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3มิได้รู้เห็นด้วย และไม่มีโอกาสห้ามปรามจำเลยที่ 1 มิให้ขับรถจักรยานยนต์เช่นนั้น จึงเป็นการสุดวิสัยที่จำเลยที่ 2 และที่ 3จะใช้ความระมัดระวังมิให้จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ในวันเกิดเหตุได้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2และที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4183/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2465 ม. 65, 66
เจ้าพนักงานตำรวจค้นพบเฮโรอีนบรรจุในหลอดกาแฟจำนวน28หลอดอยู่ในกล่องพลาสติกที่จำเลยถืออยู่และยังมีหลอดกาแฟเปล่าขนาดเดียวกันที่ตัดไว้โดยเปิดด้านหนึ่งอยู่อีกถึง33หลอดประกอบกับในชั้นจับกุมจำเลยรับสารภาพว่าซื้อเฮโรอีนมาแบ่งบรรจุในหลอดกาแฟและแสดงท่าบรรจุเฮโรอีนในหลอดกาแฟเปล่าให้เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับดูด้วยทั้งในชั้นสอบสวนจำเลยก็รับว่าหลอดกาแฟเปล่าเตรียมไว้เพื่อบรรจุเฮโรอีนพฤติการณ์ของจำเลยที่แบ่งเฮโรอีนออกเป็นส่วนย่อยและบรรจุลงในหลอดกาแฟดังกล่าวและยังมีหลอดกาแฟเปล่าขนาดเดียวกันจำนวนมากแม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นขั้นตอนที่จำเลยทำการแบ่งบรรจุใส่ในหลอดกาแฟแต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยกระทำเพื่อความสะดวกในการจัดจำหน่ายนั่นเองจึงฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดฐานผลิตเฮโรอีน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 238/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 204, 205, 369, 538
ตามสัญญาเช่าที่ดินมีลำดับขั้นตอนของการปฏิบัติตามสัญญาว่าชั้นแรกตามสัญญาข้อ3จำเลยทั้งสามจะต้องจัดการให้ผู้เช่าหรือผู้อาศัยเดิมและบริวารออกไปจากที่ดินรวมทั้งรื้อถอนอาคารตกแถวและบ้านของจำเลยทั้งสามออกไปจากที่ดินให้เสร็จสิ้นภายในวันที่31ธันวาคม2534เสียก่อนหลังจากนั้นก็ส่งมอบที่ดินที่เช่าให้แก่โจทก์พร้อมจดทะเบียนการเช่าส่วนโจทก์ก็ต้องชำระเงินค่าเซ้งส่วนที่เหลืออีกจำนวน8,000,000บาทให้แก่จำเลยทั้งสามในวันจดทะเบียนการเช่าการที่จำเลยยังมิได้จัดการให้ผู้เช่าหรือผู้อาศัยเดิมรวมทั้งบริวารออกจากที่ดินและยังมิได้รื้อถอนอาคารตึกแถวรวมทั้งบ้านของจำเลยทั้งสามออกจากที่ดินภายในวันที่31ธันวาคม2534แสดงว่าจำเลยยังมิได้ปฏิบัติตามสัญญาเช่าที่ดินข้อ3ซึ่งเป็นสาระสำคัญของสัญญาจำเลยทั้งสามจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าส่วนภายหลังจากที่จำเลยทั้งสามผิดสัญญาเช่าแล้วแม้ต่อมาจำเลยทั้งสามจะนัดให้โจทก์ไปจดทะเบียนการเช่าในวันที่31มกราคม2535พร้อมทั้งให้โจทก์ชำระค่าเซ้งส่วนที่เหลืออีกจำนวน8,000,000บาทแต่โจทก์ไม่ยอมจดทะเบียนการเช่าและไม่ยอมชำระเงินค่าเซ้งส่วนที่เหลือก็ไม่ถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าเพราะจำเลยทั้งสามยังมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของสัญญาเช่าที่ดินข้อ3 เมื่อจำเลยทั้งสามเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าที่ดินและตามสัญญาเช่าที่ดินได้ระบุไว้ว่าเมื่อครบ30ปีตามสัญญาเช่าแล้วผู้เช่ายอมให้อาคารและสิ่งปลุกสร้างทั้งหมดที่อยู่ในที่ดินตกเป็นของผู้ให้เช่าทันทีโดยปราศจากภาระผูกพันใดๆทั้งสิ้นสัญญาเช่าที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาแม้จะทำสัญญาเช่าที่ดินเกินกว่า3ปีแต่ยังมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ผูกพันบังคับกันได้โจทก์จึงมีสิทธิบังคับให้จำเลยทั้งสามปฏิบัติตามสัญญาเช่าที่ดินได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4130/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 155, 425, 443, 444 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 85, 87, 90, 95, 143 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ม. 78 วรรคสอง
เกิดเหตุรถชนแล้วจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขับรถคู่กรณีหลบหนีไปส่อแสดงพิรุธว่าเป็นฝ่ายกระทำผิดจริง และยังต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้กระทำผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 78 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 แม้ฝ่ายโจทก์จะมิได้นำสืบ น. ซึ่งเป็นพยานคู่กับโจทก์ที่ 1ในคราวเดียวกันก็ดี แต่ศาลย่อมใช้ดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักคำพยานดังกล่าวแล้วได้กฎหมายมิได้บัญญัติห้ามมิให้รับฟัง ร้อยตำรวจเอกป.เป็นพนักงานสอบสวนผู้ตรวจสถานที่เกิดเหตุการพบร่องรอยตลอดจนเศษวัสดุต่าง ๆ ที่ตกอยู่ในที่เกิดเหตุจึงเป็นประจักษ์พยานไม่ใช่เป็นพยานบอกเล่า สำเนาใบเสร็จรับเงินเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ที่ 1 ที่โรงพยาบาลออกให้เพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าโจทก์ที่ 1 ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตามเอกสารดังกล่าวจริง ดังนี้แม้ฝ่ายโจทก์มิได้ส่งสำเนาเอกสารให้แก่จำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 แต่กรณีเห็นได้ว่าเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในเรื่องค่ารักษาพยาบาล ฉะนั้นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานข้างต้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้ เพราะไม่สามารถประกอบการงาน และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วนทั้งในเวลาปัจจุบันและในเวลาอนาคตด้วยตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 443 วรรคสอง และมาตรา 444 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนี้ ผู้ทำละเมิดจึงต้องใช้ค่าขาดรายได้อันเป็นค่าเสียหายที่ขาดประโยชน์ทำมาหาได้อีกส่วนหนึ่ง ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 กล่าวคือ ค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์เป็นเงิน 40,000 บาท ค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 29,564 บาทค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วนเพราะทุพพลภาพเป็นเงิน 60,000 บาท และค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานเป็นเงิน 120,000 บาท รวมค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 249,564 บาท แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กลับพิพากษาให้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 209,564 บาท กรณีเป็นที่เห็นได้ชัดว่าเกิดจากความผิดพลาดหรือผิดหลงในการรวมคำนวณยอดค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 ซึ่งถือได้ว่าเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยที่แก้ไขได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้ให้ถูกต้องได้ ส.มีหน้าที่ควบคุมดูแลตรวจสอบการทำงานของคนขับรถของจำเลยที่ 1 หากคนขับไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับส.สามารถเสนอเรื่องให้กรรมการของจำเลยที่ 1 ลงโทษได้นอกจากนี้ด้านข้างของรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันเกิดเหตุระบุตัวอักษรชื่อย่อของจำเลยที่ 1 อีกทั้งภายหลังเกิดเหตุ ส. พนักงานของจำเลยที่ 1 ยังไปติดต่อขอชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ถูกกระทำละเมิด พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และได้กระทำไปในทางการที่จ้าง จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะเกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 เท่านั้น และมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 และที่ 3 เพราะต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงแต่ศาลชั้นต้นมิได้สั่งคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาของทุนทรัพย์ในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 และที่ 3 จึงยังไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาให้ศาลชั้นต้นคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาตามจำนวนทุนทรัพย์ในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ให้แก่จำเลยทั้งสองทั้งหมด