คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4227/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 194, 237, 420, 1298, 1360, 1361, 1387 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. ตาราง 6 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286
เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิใช้ทรัพย์สินได้ หากการ ใช้นั้นไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น ๆ และจะ จำหน่ายส่วนของตนหรือจำนองหรือก่อให้เกิดภาระติดพันก็ได้ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1360 และ 1361จำเลยที่ 1 และที่ 3 โอนขายที่ดินส่วนของตนให้แก่จำเลยอื่นและโอนขายให้แก่กัน เพื่อให้จำเลยทั้งเจ็ดเข้ามาใช้ที่ดินที่โจทก์ถือกรรมสิทธิ์รวม จึงเป็นสิทธิของเจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆที่จะกระทำได้ แม้การโอนมีวัตถุประสงค์เพื่อให้จำเลยผู้รับโอนเข้ามาใช้ทรัพย์ก็ตาม แต่เมื่อเป็นสิทธิซึ่งกฎหมายรับรองให้มีขึ้นจากการเป็นเจ้าของรวม กรณีมิใช่เป็นเจตนาลวงหรือนิติกรรมอำพราง โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอน การที่โจทก์ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 1675และ 1676 ร่วมกับจำเลย ก็เพื่อประโยชน์ในการที่โจทก์จำเลย จะสร้างถนนใช้ร่วมกันทั้งลักษณะของที่ดินทั้งสองโฉนดเป็น รูปยาวขนานกันไปประมาณ 1 กิโลเมตรเศษ ส่วนที่เหลือจากการ สร้างถนนจึงไม่เหมาะสมที่จะใช้ประโยชน์อย่างอื่นอีกเมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีข้อตกลงให้โจทก์สร้างถนนยาวตลอดที่ดินเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของจำเลยแปลงที่อยู่ด้านใน แต่โจทก์สร้างไม่เต็มตามที่ตกลงไว้ คงสร้างเฉพาะส่วนที่โจทก์ใช้ประโยชน์เท่านั้น ต่อมาจำเลยอื่นซึ่งเป็นเจ้าของรวมคนหนึ่งได้สร้างถนนต่อไปจนตลอดเพื่อใช้ร่วมกัน โดยความรู้ความเห็น ยินยอมของจำเลยอื่นผู้เป็นเจ้าของรวมทุกคน ตรงตาม วัตถุประสงค์แห่งเจ้าของรวม การใช้สิทธิของจำเลยและ จำเลยอื่นจึงไม่ขัดต่อสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1360 และ 1361 และไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ คดีไม่มีทุนทรัพย์ โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดเป็นคดีเรื่องเดียวและโจทก์เป็นฝ่ายแพ้คดีจำเลยทั้งเจ็ด การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ใช้ค่าทนายความแทนจำเลยทุกคนเป็น รายคน คนละ 2,500 บาท และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจึงเป็น การไม่ถูกต้องเนื่องจากเกินกว่า 3,000 บาท ซึ่งเป็นอัตรา ที่กฎหมายกำหนดตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แม้โจทก์จะไม่ได้ฎีกาใน ปัญหานี้ศาลฎีกาก็เห็นสมควรกำหนดใหม่ให้ถูกต้องเป็นให้ โจทก์ใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้นแทนจำเลยทั้งเจ็ดรวม 3,000 บาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 860/2540
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ม. 26 พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอปากเกร็ด พ.ศ.2530
เงินค่าทดแทนที่ดินที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนดให้แก่โจทก์ในครั้งสุดท้ายเป็นเงินเต็มตามจำนวนที่โจทก์ขอเพิ่มค่าทดแทนในการอุทธรณ์ครั้งหลังเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยวินิจฉัยกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เต็มจำนวนราคาตามคำอุทธรณ์ของโจทก์แล้วจึงไม่มีข้อที่โจทก์จะโต้แย้งได้ว่าจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินที่รัฐมนตรีกำหนดให้นั้นยังไม่เป็นที่พอใจของโจทก์โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนที่ดินเกินกว่าจำนวนที่โจทก์อุทธรณ์ขอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มาตรา26วรรคหนึ่ง ราคาต้นไม้โจทก์เป็นผู้กำหนดเองและราคาที่กำหนดนี้อาจต่อรองกันได้และเมื่อจำเลยที่1จ่ายค่าทดแทนให้แล้วจำเลยที่1ไม่ได้นำต้นไม้ไปด้วยยังคงเป็นของโจทก์อยู่ราคาต้นไม้บางชนิดเป็นราคาที่โจทก์ตั้งขึ้นเองยังสามารถลดราคาลงอีกได้จึงไม่ใช่ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาลักษณะที่โจทก์เรียกร้องค่าไม้ยืนต้นนั้นเป็นการคาดคะเนโดยรวมเอาเองทั้งสิ้นเมื่อค่าทดแทนไม้ยืนต้นที่จำเลยกำหนดให้แก่โจทก์ได้ดำเนินการไปตามหลักเกณฑ์และระเบียบของทางราชการประกอบกับโจทก์มีเวลาถึง2ปีที่จะขุดไม้ยืนต้นในบริเวณที่ดินที่ถูกเวนคืนออกขายได้ทุกต้นดังนั้นเงินค่าทดแทนไม้ยืนต้นที่โจทก์ได้รับนั้นเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4225/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 117
การที่ อ.พยานโจทก์เบิกความไม่ตรงกับที่โจทก์และพยานโจทก์ปากอื่นเบิกความ แต่คำเบิกความของ อ.กลับเจือสมกับที่จำเลยให้การ ทำให้ข้อต่อสู้และพยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานโจทก์นั้น หากโจทก์เห็นว่า อ.ซึ่งเป็นพยานที่ฝ่ายโจทก์อ้างมาเบิกความเป็นปรปักษ์แก่โจทก์เอง โจทก์ก็อาจขออนุญาตต่อศาลเพื่อซักถาม อ.เสมือนหนึ่งเป็นพยานซึ่งคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งอ้างมา ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ.มาตรา117 วรรคหก แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ขออนุญาตต่อศาลเพื่อซักถาม อ.พยานโจทก์เสมือนหนึ่งเป็นพยานที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งอ้างมา ดังนี้จะถือว่า อ.เบิกความเป็นปรปักษ์ต่อโจทก์ยังไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4224/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 155, 1336 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 145
โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 รวมทั้งขอให้ไถ่ถอนจำนองจากจำเลยที่ 4 เพื่อให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกลับมาเป็นของโจทก์ตามเดิม ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ในฐานะเจ้าของทรัพย์ฟ้องเรียกติดตามเอาทรัพย์คืนจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความและไม่ใช่เรื่องเรียกทรัพย์คืนฐานลาภมิควรได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
การที่โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 เพื่อให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ใช้ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนองเป็นประกันการกู้ยืมเงินแทนโจทก์ และเมื่อสำเร็จแล้วก็จะโอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนให้โจทก์ ถือได้ว่าการโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวทำขึ้นโดยการแสดงเจตนาลวง
จำเลยที่ 3 เคยฟ้องขับไล่โจทก์ในคดีนี้ออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาท ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินที่พิพาทโดยรู้แล้วว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 เพียงแต่มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนโจทก์ คำพิพากษาคดีดังกล่าวจึงผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวตาม ป.วิ.พ.มาตรา 145
เมื่อจำเลยที่ 4 ผู้รับจำนองเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต จำเลยที่ 4 จึงได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ.มาตรา 155 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 4 ร่วมโอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนโจทก์จึงไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4207/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 852 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ม. 7
ผู้เสียหายนำมูลหนี้ตามเช็คพิพาทไปฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งแล้วต่อมาผู้เสียหายกับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลพิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดแล้วผลของสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวย่อมทำให้สิทธิเรียกร้องของแต่ละฝ่ายที่ยอมสละนั้นระงับสิ้นไปและทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญานั้นตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 ดังนั้น หนี้ตามเช็คพิพาทจึงเป็นอันระงับสิ้นความผูกพัน คดีจึงเป็นอันเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธิของโจทก์ในการนำคดีมาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 859/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1516 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 183
ตามประเด็นแรกที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ว่าโจทก์ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้จำเลยอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องนางย.เป็นภรรยาหรือไม่อันจะนำมาพิจารณาเป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1516(1)ประเด็นดังกล่าวโจทก์จำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านจนกระทั่งได้มีการสืบพยานเสร็จแล้วประเด็นที่ศาลชั้นต้นตั้งไว้แต่แรกดังกล่าวจึงชอบแล้วการที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นขึ้นใหม่ว่าโจทก์มีเหตุฟ้องหย่าจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1516หรือไม่ประเด็นที่กำหนดใหม่นี้ได้รวมถึงเหตุหย่าทุกข้อตามมาตรา1516และครอบคลุมไปถึงประเด็นเดิมด้วยทั้งจำเลยก็ได้อุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าวดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไปตามประเด็นที่่กำหนดไว้จากข้อเท็จจริงในสำนวนโดยโจทก์มิได้โต้แย้งข้อเท็จจริงดังกล่าวว่าไม่ชอบอย่างไรคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842 - 845/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 386, 582 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน
แม้นายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิจะเลิกสัญญาจ้างได้ฝ่ายเดียวโดยอีกฝ่ายหนึ่งไม่จำต้องตกลงหรือยินยอมด้วยก็ตามแต่การเลิกจ้างจะมีผลต่อเมื่อฝ่ายที่ใช้สิทธิเลิกจ้างได้แสดงเจตนาหรือบอกกล่าวให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ทราบก่อนและการเลิกจ้างย่อมมีผลทันทีนับแต่ฝ่ายนั้นได้ทราบการแสดงเจตนาหรือการบอกกล่าวนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 257/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 110 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 224
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากตึกพิพาทซึ่งมีค่าเช่าในขณะยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละ4,000บาทจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงดังนั้นการที่จำเลยอุทธรณ์ว่าอ. มิได้เป็นผู้จัดการและช.มิได้เป็นเหรัญญิกของโจทก์โดยบุคคลทั้งสองไม่มีอำนาจทำการแทนโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้นเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา224วรรคสองที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยและศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยในปัญหานี้จึงเป็นการไม่ชอบถือว่าข้อเท็จจริงเป็นอันยุติแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น การที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากตึกพิพาทซึ่งเป็นของโจทก์นั้นถือว่าเป็นการจัดการทรัพย์สินของมูลนิธิโจทก์และตามฎีกาของจำเลยก็ไม่ปรากฎว่าการให้เช่าตึกพิพาทเป็นการกระทำเพื่อหาผลประโยชน์เพื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือเพื่อหาผลประโยชน์มาแบ่งปันกันจึงไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา110ที่ชำระใหม่แต่เป็นกรณีที่โจทก์ชอบที่จะกระทำได้เพื่อหาผลประโยชน์เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของโจทก์และการที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากตึกพิพาทเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญาเท่านั้นถือว่าเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายมิได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใดโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4206/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 249
การที่จำเลยยกปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องว่า ป.ผู้รับมอบอำนาจไม่มีอำนาจฟ้องเพราะเป็นการมอบอำนาจทั่วไป ซึ่งเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การแล้ว แต่ต่อมาได้แถลงไม่ติดใจที่จะต่อสู้ต่อไป ประเด็นข้อพิพาทเรื่องอำนาจฟ้องจึงยุติไปตามคำแถลงของจำเลย จำเลยไม่มีสิทธิยกขึ้นฎีกาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249 วรรคสองได้อีก เพราะกรณีตามกฎหมายมาตราดังกล่าว จะต้องเป็นกรณีที่จำเลยมิได้ยกปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์และเมื่อประเด็นข้อพิพาทเรื่องอำนาจฟ้องยุติไปตามคำแถลงของจำเลยดังกล่าวแล้วจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249 วรรคแรก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 254/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 222, 380
ก่อนทำสัญญาจะขายที่ดินให้จำเลยทั้งห้าโจทก์ที่1มีรายได้จากการเลี้ยงสุกรและกรีดยางเมื่อโจทก์ที่1ขายที่ดินให้จำเลยทั้งห้าโจทก์ที่1ต้องหยุดกิจการเลี้ยงสุกรและกรีดยางลงฉะนั้นเมื่อจำเลยทั้งห้าผิดสัญญาไม่ซื้อที่ดินความเสียหายที่โจทก์ได้รับจากการไม่ได้เลี้ยงสุกรและการกรีดยางจึงเป็นความเสียหายโดยตรงจากการผิดสัญญาของจำเลยทั้งห้าการที่โจทก์ที่1ไม่หวนกลับไปเลี้ยงสุกรอีกไม่ทำให้ความเสียหายที่โจทก์ที่1มีอยู่แล้วหมดสิ้นไปแต่อย่างใดและการที่โจทก์ที่1ยกรายได้จากการกรีดยางให้มารดาก็เป็นเรื่องที่โจทก์ที่1มีรายได้แล้วยกให้มารดาเมื่อโจทก์ที่1ไม่มียางให้กรีดโจทก์ที่1ย่อมเสียหายจากการขาดรายได้จำนวนนี้จำเลยทั้งห้าจะโต้แย้งว่าโจทก์ที่1ไม่ได้รับความเสียหายจากการขาดรายได้ของมารดาโจทก์ที่1หาได้ไม่ การปรับปรุงที่ดินของจำเลยทั้งห้าภายหลังทำสัญญาก็เพื่อประโยชน์ของจำเลยทั้งห้าเองจำเลยทั้งห้าจะนำเรื่องประโยชน์จากการที่จำเลยทั้งห้าเข้าปรับปรุงที่ดินมาคำนวณเพื่อลดค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองหาได้ไม่