คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2532
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1014/2532
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 218
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 3 ปี ตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335,83 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335,83 ประกอบด้วยมาตรา 336 ทวิ ส่วนโทษคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นการแก้ไขเฉพาะบทกฎหมายมิได้แก้ไขโทษ จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย ดังนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218.(ที่มา-ส่งเสริม)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1011/2532
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 95, 96, 326
อายุความในการร้องทุกข์สำหรับความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 มีกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดประกอบกันทั้งสองประการ กฎหมายหาได้บัญญัติให้นับอายุความร้องทุกข์ตั้งแต่วันที่จำเลยกระทำความผิดไม่ จำเลยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์มีข้อความหมิ่นประมาทโจทก์เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2528และต่อมาวันที่ 14 มกราคม 2528 หนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวตามที่จำเลยให้สัมภาษณ์ ต้องถือว่าโจทก์รู้ตัวผู้กระทำความผิดในวันดังกล่าวเมื่อโจทก์ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในวันที่ 13 เมษายน 2528ซึ่งอยู่ภายในกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิด และรู้ตัวผู้กระทำความผิด แม้โจทก์นำคดีมาฟ้องหลังจากวันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเกินสามเดือนแต่ยังอยู่ภายในกำหนดอายุความตามมาตรา 95 คดีของโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1005/2532
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 72, 80, 288
จำเลยเข้าไปในห้องผู้เสียหายในเวลาวิกาลโดยผู้เสียหายไม่ได้ยินยอม แม้ว่าจำเลยจะเคยอยู่กินกับผู้เสียหายอย่างฉันสามีภริยามาก่อน แต่ก็ได้แยกกันอยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุอันควรที่จำเลยจะเข้าไปในลักษณะเช่นนี้ แม้ผู้เสียหายจะพูดขับไล่ให้จำเลยออกไปและด่าจำเลยว่า "เจ๊กแก่ไม่เจียมสังขารเจ๊กหน้าหนังหีกูไม่ยักกับมึงอีกแล้ว"ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยแทงทำร้ายผู้เสียหายจึงไม่เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะเพราะทูก ข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 999/2532
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 8 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 349
จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างจงใจละเว้นปฏิบัติหน้าที่ โดยขายสินค้าเงินเชื่อให้แก่ลูกค้าของโจทก์ผู้เป็นนายจ้างเกินวงเงินที่โจทก์อนุญาต และเกินวงเงินที่ธนาคารมีหนังสือค้ำประกันเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แม้ต่อมาจะมีการแปลงหนี้จากหนี้ที่ลูกค้าซื้อสินค้าเชื่อมาเป็นหนี้เงินกู้ตามจำนวนเดิมแทนทำให้หนี้ค่าซื้อสินค้าระงับไปก็ตาม ก็หาทำให้มูลหนี้ที่จำเลยที่ 1จงใจละเว้นปฏิบัติหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาจ้าง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายหมดสิ้นไปไม่ เพราะเป็นคนละเรื่องกัน โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 รับผิดในมูลหนี้ตามสัญญาจ้างได้.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 998/2532
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522 ม. 32, 35 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 132
ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่า การเลือกตั้งเป็นไปโดยมิชอบ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะและให้เลือกตั้งใหม่ ระหว่างไต่สวนคำร้องได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการเลือกตั้งทั่วไปจึงเป็นกรณีที่ศาลฎีกาไม่สามารถสั่งให้ตามคำร้องได้ ศาลฎีกามีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 996/2532
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 214, 728, 733 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172 วรรคสอง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยนำที่ดินมีโฉนดมาจำนองไว้กับโจทก์จำเลยรับเงินไปครบถ้วนในวันทำสัญญาจำนอง ต่อมาโจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยกู้เงินอีกต่อไป โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้และบังคับจำนอง และคำขอบังคับท้ายฟ้อง โจทก์ขอว่า หากจำเลยไม่ชำระเงินให้ยึดที่ดินที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์แสดงว่าโจทก์ฟ้องบังคับจำนองประสงค์จะบังคับคดีเอาจากทรัพย์จำนองเท่านั้น โจทก์นำสืบพยานหลักฐานว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์โดยถือหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมด้วย เมื่อสัญญาดังกล่าวไม่มีข้อความว่าหากโจทก์บังคับชำระหนี้เอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้ ก็ให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นได้ด้วย ดังนี้ เมื่อโจทก์บังคับคดีเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันตามคำพิพากษา โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะบังคับคดีเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้อีก.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 995/2532
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 156
ศาลชั้นต้นสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยฟ้องแย้งอย่างคนอนาถา จำเลยจะอุทธรณ์คำสั่งนั้นก็ต้องยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งภายใน 7 วันนับแต่วันทราบคำสั่งดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 156 วรรคท้าย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 994/2532
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 40, 88, 243
ในวันนัดพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอเลื่อนการพิจารณาคดี อ้างว่าตัวโจทก์ป่วย พร้อมทั้งแนบใบรับรองแพทย์มาด้วย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์มิได้ยื่นบัญชีระบุพยานจึงสิ้นสิทธิที่โจทก์จะนำพยานเข้าสืบไม่มีเหตุขอเลื่อน ให้ยกคำร้อง การที่ศาลชั้นต้นไม่ได้พิจารณาเหตุแห่งการขอเลื่อนการพิจารณาของโจทก์ว่า ตัวโจทก์ป่วยจนไม่สามารถมาศาลได้หรือไม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 40คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบ เมื่อศาลอุทธรณ์เชื่อว่าตัวโจทก์ป่วยจริงก็ชอบที่จะอนุญาตให้โจทก์เลื่อนการพิจารณาคดีไป และพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไปแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 993/2532
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 292, 293
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 292 มิใช่เป็นบทบัญญัติที่ได้กำหนดหน้าที่ของเจ้าพนักงานงานบังคับคดีอย่างเดียว แต่ได้บัญญัติให้อำนาจศาลในอันที่จะมีคำสั่งงดการบังคับคดีได้เมื่อเห็นสมควรไว้ด้วย ส่วนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 293 นั้นเป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลสั่งงดการบังคับคดีได้ในเมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ยื่นฟ้องเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นคดีอีกเรื่องหนึ่งซึ่งลูกหนี้ตามคำพิพากษาอาจจะชนะคดีและนำคดีนั้นมาหักกลบลบหนี้กันกับหนี้ตามคำพิพากษาที่กำลังบังคับคดีกันอยู่ แต่หากมีกรณีอื่นที่กฎหมายบัญญัติให้ศาลสั่งงดการบังคับคดีดังเช่นมาตรา 292(2)ศาลก็ย่อมมีอำนาจสั่งงดการบังคับคดีได้ และในการที่ศาลจะใช้ดุลพินิจสั่งให้งดการบังคับคดีหรือไม่นั้นศาลจะต้องคำนึงถึงผลได้ผลเสียของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและลูกหนี้ตามคำพิพากษาด้วยความเป็นธรรมโดยใช้วิจารณญาณประกอบด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 992/2532
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 40, 86
ในวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 1 นัดแรก ซึ่งจำเลยที่ 1 ทราบล่วงหน้าเกือบ 2 เดือน ไม่มีพยานมาศาล ทนายจำเลยที่ 1 แถลงว่าจะสืบพยาน 4 ปาก คือ จำเลยที่ 1, ป., ส. และ ก. มิได้กล่าวอ้างว่าจะต้องส่งประเด็นไปสืบ ป.ที่ศาลอื่น ทั้งมิได้กล่าวถึง พ.ด้วยศาลให้เลื่อนคดีให้จำเลยที่ 1 มีเวลาเตรียมพยาน 1 เดือนเศษโดยกำชับไว้ว่าจะไม่ให้เลื่อนคดีอีกไม่ว่ากรณีใด ๆ จะให้สืบพยานเท่าที่สามารถนำมาศาลได้ ครั้นถึงวันนัด จำเลยที่ 1 สืบพยานได้เพียงตัวเองแล้วแถลงว่ายังติดใจสืบ ป. และ พ.ซึ่งจะส่งประเด็นไปสืบที่ศาลอื่นในข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 ได้เบิกความไว้แล้ว ตามพฤติการณ์เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ประวิงคดี ศาลไม่ให้เลื่อนคดีและให้ตัดพยานที่จะสืบต่อไปได้