คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1330

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1329 - 1330/2525

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. ,

ในกรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายกระดูกสันหลังแตกยุบเป็นเหตุให้ขาทั้งสองข้างสูญเสียสมรรถภาพอย่างถาวรข้างละร้อยละ 7 นั้น การคำนวณค่าทดแทนต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 54(2)มิใช่ข้อ 54(3) เพราะเป็นกรณีที่ลูกจ้างสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของขาทั้งสองข้างไปเพียงบางส่วนซึ่งตามข้อ 54 วรรคสอง ให้ถือว่าลูกจ้างสูญเสียอวัยวะนั้นด้วย จึงต้องคำนวณค่าทดแทนรายเดือนเทียบส่วนร้อยละจากระยะเวลาที่กำหนดไว้สำหรับการสูญเสียอวัยวะบางส่วนของร่างกายตามข้อ 54(2)

ค่าครองชีพที่โจทก์จ่ายให้แก่ลูกจ้างมีวิธีการจ่ายเช่นเดียวกับการจ่ายค่าจ้างตามปกติ และวัตถุประสงค์ของการจ่ายก็เพื่อให้ลูกจ้างมีรายได้เพิ่มขึ้น ถือได้ว่าค่าครองชีพที่ลูกจ้างได้รับเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างที่โจทก์จ่ายให้เป็นการตอบแทนการทำงาน จึงเป็นค่าจ้างอันต้องนำมาคำนวณค่าทดแทนด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1240

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1240/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 112, 454, 456, 653

สัญญานี้กรอกข้อความลงในแบบพิมพ์สัญญากู้เงินว่า จำเลยที่ 1กู้เงินไป 6,500 บาท และจำเลยที่ 1 นำโฉนดให้โจทก์ยึดไว้เป็นประกัน และมีข้อความเพิ่มเติมว่า " ที่ดินแปลงนี้จะขายให้กับเจ้าของเงินจะไม่ยอมขายให้ใคร คือภายใน 3 ปี ตามราคา 20,000 บาทถ้วน ถึงราคา 20,000 บาท จึงจะขายให้ ถึงราคา 20,000 บาท ก็จะโอนให้" และด้านหลังมีผู้อื่นทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้รายนี้ ดังนี้ เป็นเรื่องกู้เงิน โจทก์แล้วมอบโฉนดเป็นประกัน ไม่มีลักษณะจะซื้อขาย ข้อความเพิ่มเติม นั้นเป็นเพียงคำปรารภของจำเลยที่ 1 ฝ่ายเดียวมิใช่มุ่งโดยตรงต่อการ ผูกนิติสัมพันธ์ จึงมิใช่คำมั่นหรือสัญญาจะขายที่ดิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 185

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 185/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 148 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 582, 851 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 31กรกฎาคม พ.ศ.2521

โจทก์เคยฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ขอให้ศาลบังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายให้ ศาลไกล่เกลี่ยจนตกลงกันได้โดยจำเลยยอม จ่ายค่าชดเชยให้และโจทก์ถอนฟ้องไป คดีถึงที่สุด ดังนี้การที่โจทก์มาฟ้องใหม่ว่าจำเลยเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น แม้จะไม่เป็นฟ้องซ้ำ เพราะคดีก่อนศาลมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีก็ตาม แต่การที่โจทก์ฟ้องคดีก่อนและตกลงกันดังกล่าวนั้น แสดงให้เห็นว่าโจทก์ยินยอมสละสิทธิอื่น ๆ อันจะพึงเรียกร้องจากจำเลยเนื่องมาจากจำเลยเลิกจ้างโจทก์นั้นทั้งสิ้นนอกจากค่าชดเชยความตกลงเช่นนี้ย่อมผูกพันโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ขึ้นมาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 141

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 141/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 115, 983 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 177, 183

ตั๋วสัญญาใช้เงินระบุชื่อ ศ. เป็นผู้ออกตั๋ว แต่ลายมือชื่อผู้ออกตั๋วเป็น ส. เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ศ. และ ส. เป็นบุคคลคนเดียวกันตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวไม่เป็นโมฆะ ทั้งไม่ขัดกับ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 983เพราะไม่มีกฎหมายบังคับ ว่าจะต้องระบุชื่อผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินคงบังคับเพียงว่าต้อง มีลายมือชื่อผู้ออกตั๋วเท่านั้น

จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า ทำสัญญาค้ำประกัน ส. เท่านั้นไม่ได้ค้ำประกัน ศ. คำให้การดังกล่าวจึงไม่มีประเด็นเรื่องสัญญาค้ำประกันเป็นเอกสารปลอม ดังนั้นที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่าสัญญาค้ำประกันเป็นเอกสารปลอม จึงเป็นการนำสืบนอกประเด็น และมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 113

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 113/2525

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 177

โจทก์ประกันภัยทรัพย์สินไว้แก่บริษัท อ. โดยกำหนดความรับผิดในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไว้ตามกรมธรรม์ประกันภัยเพราะเหตุทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้สูญหาย เช่นนี้เมื่อโจทก์ฟ้องบริษัท อ. ให้รับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวแม้จำเลยซึ่งเป็นพนักงานของบริษัท อ. จะเบิกความถึงข้อที่ได้แจ้งเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยให้โจทก์ทราบก่อนทำสัญญาหรือไม่ก็ตาม คำเบิกความของจำเลยก็ไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยข้อความที่จำเลยเบิกความในคดีแพ่งดังกล่าวจึงมิใช่ข้อสำคัญในคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1324

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1324/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 248

โจทก์ฟ้องจำเลยเรียกเงินค่าปรับตามสัญญาประกันตัว จ.ผู้ต้องหา 30,000 บาท และฟ้องเรียกเงินค่าปรับตามสัญญาประกันตัว ฉ.ผู้ต้องหา 30,000 บาท โดยฟ้องจำเลยเรียกเงินดังกล่าวมาในฟ้องฉบับเดียวกัน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยชำระค่าปรับราย จ. 5,000 บาท และราย ฉ.20,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยทุนทรัพย์ในคดีนี้ต้องถือตามจำนวนเงินในสัญญาประกันแต่ละฉบับ เพราะค่าปรับตามสัญญาประกันทั้ง 2 ฉบับเป็นคนละรายแบ่งแยกรับผิดเป็นส่วนสัดกัน เมื่อทุนทรัพย์แต่ละรายไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1322

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1322/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 443 วรรคสาม, 1564

มารดาของผู้เยาว์ถึงแก่ความตายเพราะการกระทำละเมิดของจำเลย ทำให้ผู้เยาว์ต้องขาดไร้อุปการะจากผู้ตายตามกฎหมายผู้เยาว์จึงชอบที่จะได้รับค่าขาดไร้อุปการะทั้งในปัจจุบันและอนาคตโดยไม่จำต้องคำนึงถึงว่าผู้ตายได้เคยอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์นั้นมาจริงหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1320

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1320/2525

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 68, 288

ป.และผู้ตายเดินกระแทกไหล่จำเลย จำเลยต่อว่าจึงเกิดชกกันขึ้น มีผู้ห้ามจนเลิกกันไปแล้วผู้ตายเอาปืนจี้เพื่อนจำเลยจะไปส่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อ้างว่าเพื่อนจำเลยยิงปืนจำเลยจึงไปขอให้พี่สาวจำเลยมาช่วยเจรจา ป. ไม่ยอมและชกจำเลย ช. กับ ก. เข้าช่วย ป. จำเลยล้มลงจึงใช้ไม้ตี ช.1 ที แล้วจำเลยเห็นผู้ตายถือปืนเล็งมาทางจำเลย จำเลยจึงวิ่งหนีผู้ตายวิ่งไล่ตามและยิงจำเลย จำเลยรู้สึกเจ็บที่เท้าซ้ายและน่องซ้ายล้มลง หันไปดูเห็นผู้ตายยืนอยู่ห่างจำเลย 2 วา ถือปืนจ้องมาทางจำเลยจำเลยจึงยิงผู้ตาย 1 นัดถูกผู้ตายถึงแก่ความตายดังนี้ นับว่าเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง จำเลยจึงมีสิทธิป้องกันชีวิตของตน การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1114

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1114/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1304 พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ.2485

เขตคันคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ที่ยื่นขึ้นไปฝั่งละ 1 เส้น เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2)

พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ. 2485 มาตรา 23 ให้กรมชลประทานจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ดูแลแต่มิได้รวมถึงให้มีอำนาจและหน้าที่นำเขตคันคลองรังสิตประยูรศักดิ์ไปให้เช่าโดยมิได้คำนึงถึงสิทธิของบุคคลอื่นที่มีต่อเขตคันคลองมาแต่เดิม เมื่อจำเลยที่ 2 ผู้เช่าได้ปักเสาคอนกรีตกั้นที่แนวเขตคันคลองตรงที่ติดต่อกับเขตที่ดินของโจทก์ จนไม่สามารถใช้สอยหาประโยชน์จากการที่จะผ่านเขต คันคลองไปสู่คลองได้ โจทก์ฟ้องให้เพิกถอนสัญญาเช่าระหว่างจำเลย ทั้งสองได้ แต่ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1107

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1107/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 368, 625

การชำระหนี้อันเกิดจากสัญญารับขนของนั้น กฎหมายไม่ได้ห้ามมิให้ทำความตกลงล่วงหน้า ยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดในการชำระหนี้ของลูกหนี้ เมื่อตัวแทนของโจทก์ลงลายมือชื่อแสดงความตกลงด้วยโดยชัดแจ้งว่า ถ้าเรือไม่สามารถรับขนสินค้าของโจทก์เนื่องด้วยเหตุสุดวิสัยหรือไม่มาถึงท่าเรือกรุงเทพอย่างปลอดภัย ผู้รับขนไม่ต้องรับผิด ดังนั้นการที่เครื่องยนต์เรือเกิดชำรุดเสียหาย ไม่อาจมาถึงท่าเรือในเวลาที่กำหนดอย่างปลอดภัยผู้รับขนจึงไม่ต้องรับผิด

« »
ติดต่อเราทาง LINE