คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2446/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 226, 227, 1070, 1080 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 91
หนี้ที่จำเลยที่ 2 เป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2ให้ล้มละลายในคดีก่อนนั้น เป็นหนี้อันเกิดแต่มูลหนี้ส่วนตัวของจำเลยที่ 2 โดยเฉพาะ แม้จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 แต่ห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 ก็มิได้เป็นลูกหนี้ที่ถูกฟ้องด้วย โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงมิใช่เจ้าหนี้โดยตรงของจำเลยที่ 2 ในอันที่จะใช้สิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ได้ และแม้จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดในหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ในฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการด้วยก็เป็นเรื่องของเจ้าหนี้ที่อาจใช้สิทธิเรียกให้ชำระหนี้เอาแต่ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดคนใดคนหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1070,1080 คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการให้ร่วมรับผิดกับห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้โดยตรงของโจทก์ เมื่อจำเลยทั้งสองได้รับการทวงถามให้ชำระหนี้แล้วไม่ชำระโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้
จำเลยที่ 1 มอบฟิล์มภาพยนตร์ให้ไว้แก่ธนาคาร ท. เพื่อยึดถือไว้เป็นการประกันหนี้ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต้องใช้เงินแก่ธนาคาร ท. แทนจำเลยที่ 1 ธนาคาร ท. ได้มอบฟิล์มภาพยนตร์ดังกล่าวให้แก่โจทก์ โจทก์จึงเข้าเป็นผู้รับช่วงสิทธิในฟิล์มภาพยนตร์ดังกล่าวในอันที่จะยึดถือไว้เพื่อเป็นประกันหนี้เช่นเดียวกัน มิใช่เป็นเรื่องโจทก์รับซื้อฟิล์มภาพยนตร์ดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 โดยตีราคาเท่าหนี้สินที่โจทก์ค้ำประกันไว้ อันจะทำให้หนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ระงับไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2495/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 1374 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55
การที่ ส.มอบที่พิพาทให้โจทก์ไว้เป็นประกันเงินกู้และให้ทำกินต่างดอกเบี้ยนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิครอบครองที่พิพาทจนกว่าจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วนตามสัญญาเมื่อจำเลยบุกรุกเข้าไปทำนาในที่พิพาทจึงเป็นการละเมิดสิทธิครอบครองของโจทก์ โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2493/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 148 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31
คดีก่อนโจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยจากจำเลยเนื่องจากจำเลยเลิกจ้างด้วยเหตุเกษียณอายุคดีถึงที่สุดแล้ว การเลิกจ้างโดยเหตุที่จำเลยเกษียณอายุนอกจากจะเป็นมูลฐานก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะฟ้องเรียกค่าชดเชยแล้วยังก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะเรียกเงินบำเหน็จตามระเบียบของจำเลยด้วยดังนั้น การฟ้องเรียกเงินบำเหน็จจากจำเลยตามระเบียบดังกล่าวโจทก์อาจฟ้องเรียกร้องรวมไปในคดีก่อนได้อยู่แล้วการที่โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เรียกเงินบำเหน็จอีกประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในคดีทั้งสองเนื่องมาจากมูลฐานเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 31
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2492/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 183, 225 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31, 52 พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 5, 10
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยอาศัยอำนาจตามระเบียบของจำเลยเนื่องจากโจทก์ขับรถจำเลยชนกับรถผู้อื่นโจทก์เห็นว่าคำสั่งและระเบียบของจำเลยดังกล่าวขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมจำเลยให้การต่อสู้ว่าระเบียบและคำสั่งของจำเลยไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและชอบด้วยกฎหมายแล้ว เป็นการเลิกจ้างที่ชอบด้วยกฎหมาย ประเด็นจึงมีว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่
โจทก์ขับรถไปเกิดอุบัติเหตุก่อนที่ระเบียบฉบับใหม่ของจำเลยจะใช้บังคับระเบียบฉบับใหม่จึงไม่มีผลบังคับสำหรับกรณีโจทก์ คดีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าระเบียบฉบับใหม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือไม่ กรณีต้องบังคับตามระเบียบฉบับเดิมซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและใช้บังคับในขณะเกิดอุบัติเหตุ เมื่อได้ความว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอันเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงซึ่งระเบียบฉบับเดิมระบุโทษให้ไล่ออกฉะนั้นที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าระเบียบของจำเลยฉบับใหม่ไม่มีผลบังคับในกรณีของโจทก์ การกระทำของโจทก์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยอย่างร้ายแรงจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม จึงมิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น
โจทก์อุทธรณ์ในข้อที่มิได้อ้างมาในฟ้อง จึงมิใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2467 - 2468/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 144, 173
ฟ้องโจทก์สำนวนหลังเป็นการฟ้องหาว่าจำเลยบุกรุกที่ดินแปลงเดียวกับสำนวนแรกและบุกรุกในวันเดียวกัน แต่สำนวนแรกโจทก์ไม่ได้บรรยายว่า จำเลยบุกรุกที่ดินส่วนไหน เนื้อที่เท่าไร และโจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใด โจทก์เพิ่งมาบรรยายฟ้องในสำนวนหลังว่า จำเลยบุกรุกเป็นบางส่วน โจทก์จึงได้ฟ้องขับไล่จำเลยตามสำนวนแรก ภายหลังฟ้องแล้วจำเลยยังทำการบุกรุกเรื่อยมาจนกระทั่งหมดทั้งแปลง และขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายด้วย ดังนี้ ฟ้องโจทก์สำนวนหลังระบุถึงการบุกรุกของจำเลยในที่ดินแปลงเดียวกันในคราวเดียวกัน และเกี่ยวเนื่องกันกับสำนวนแรกความประสงค์ของโจทก์ที่ฟ้องสำนวนหลังก็เพื่อจะเรียกร้องเอาค่าเสียหายจากจำเลยซึ่งโจทก์อาจเรียกร้องได้ตั้งแต่สำนวนแรก แต่โจทก์มิได้เรียกร้องไว้ โจทก์เพิ่งมาเรียกร้องในสำนวนหลัง ฟ้องโจทก์สำนวนหลัง จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2452/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 537, 552, 553, 562
สัญญาเช่ารถยนต์เป็นสัญญาเดิมที่ทำขึ้นระหว่างบริษัทมหานครขนส่ง จำกัด กับโจทก์ ต่อมาเมื่อจำเลยตั้งขึ้นเป็นองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้รับโอนกิจการและทรัพย์สินของบริษัทมหานครขนส่ง จำกัด มาดำเนินกิจการ ได้เช่ารถยนต์คันพิพาทสืบต่อมาโดยไม่ได้ทำสัญญาเช่ากันใหม่จึงนำสัญญาเช่าซึ่งมีอยู่เดิมมาใช้บังคับได้
สัญญาเช่ามีข้อความว่า ผู้ให้เช่าเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดจากการใช้รถที่เช่า รวมถึงความเสียหายอันเกิดจากอุบัติเหตุและเหตุสุดวิสัย เป็นต้นข้อที่ผู้ให้เช่าต้องรับผิดชอบในความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดจากการใช้รถที่เช่านั้น หมายความถึงการที่ผู้เช่าใช้รถที่เช่าอย่างปกติธรรมดาตามประเพณีนิยม โดยได้สงวนทรัพย์สินนั้นเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง ผู้เช่าจึงจะไม่ต้องรับผิดในความเสียหายต่าง ๆ ที่โดยปกติย่อมเกิดขึ้นจากการใช้รถที่เช่า เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ผู้เช่าได้ขับรถยนต์ที่เช่าด้วยความประมาทไปชนกับรถยนต์คันอื่นได้รับความเสียหายอันเป็นการละเมิดจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในความเสียหายของทรัพย์สินที่เช่า
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2412/2525
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 318
การที่ผู้เสียหายซึ่งมีอายุ 13 ปีเศษ ยินยอมไปกับจำเลยเพราะจำเลยใช้อุบายหลอกลวงว่าจะพาผู้เสียหายไปซื้อผ้า แล้วพาผู้เสียหายไปข่มขืนกระทำชำเรานั้น ถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายเต็มใจไปด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 318 อีกกระทงหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2411/2525
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 8
เมื่อคดีที่โจทก์ฟ้องเป็นเรื่องการบังคับใช้แรงงาน มิได้เกิดจากการตกลงจ้างระหว่างโจทก์จำเลย และโจทก์จำเลยก็มิได้มีความสัมพันธ์ในฐานะลูกจ้างและนายจ้างกันด้วย ข้อกล่าวหาของโจทก์จึงมิใช่ข้อพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือ มีคำสั่งของศาลแรงงาน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2410/2525
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 86, 98 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. ,
แม้การกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีจะเป็นสิทธิของนายจ้างที่ จะเป็นผู้กำหนดก็ตาม แต่การหยุดนั้นนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้เท่ากับค่าจ้างในวันทำงาน ดังนั้น การที่นายจ้างประกาศหยุดพักผ่อนประจำปีให้ลูกจ้างที่ยังไม่มีสิทธิหยุดกับลูกจ้างที่ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีไปแล้วให้ได้หยุดโดยไม่ได้รับค่าจ้างจึงไม่ชอบ
การที่สหภาพแรงงานยินยอมให้นายจ้างกำหนดให้ลูกจ้างหยุดพักผ่อนประจำปีได้โดยนายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง ย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นประโยชน์แก่สมาชิกสหภาพแรงงานแต่อย่างใด การกระทำของสหภาพจึงไม่มีผลผูกพันลูกจ้างผู้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานนั้น แม้ลูกจ้างจะไม่คัดค้านประกาศ และการประชุมชี้แจงของนายจ้างก็ยังไม่เพียงพอที่จะถือว่าลูกจ้างยินยอมที่จะไม่รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2407/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 225 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31, 54
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ จำเลยอุทธรณ์ว่าเห็นด้วย กับผลของคำพิพากษา แต่ไม่เห็นด้วยในเหตุผลที่ศาลแรงงานกลางอ้าง เป็นอุทธรณ์ที่มิได้โต้แย้งผลของคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ทั้งมิได้อ้างว่าผลแห่งคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางทำให้จำเลยเสียสิทธิ หรือมีผลกระทบกระเทือนถึงสิทธิของจำเลยประการใด จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ชอบที่จะรับไว้พิจารณา