คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2523
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 888/2523
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 175, 326, 328, 332 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (5), 161, 162
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้แกล้งนำความเท็จมาฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาในข้อหาฟ้องเท็จเบิกความเท็จ และนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานเท็จพร้อมกับอ้างสำเนาคำฟ้องที่จำเลยฟ้องโจทก์ทั้งนี้เพราะจำเลยอาฆาตแค้นโจทก์ที่เป็นทนายฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาอีกคดีหนึ่ง ดังนี้ จำเลยกระทำอย่างใดที่ว่าฟ้องเท็จ ฟ้องโจทก์จะต้องระบุมาให้เห็นว่า ความจริงเป็นอย่างไร มิฉะนั้นจำเลยย่อมไม่อาจต่อสู้คดีได้ถูก ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องที่ระบุพอสมควรที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี แม้โจทก์จะได้แนบสำเนาคำฟ้องที่จำเลยฟ้องโจทก์มาในคำฟ้องคดีนี้ด้วยก็ตาม คำฟ้องโจทก์คดีนี้ก็ต้องสมบูรณ์มาก่อน มิใช่ว่าต้องให้ศาลไปตรวจดูฟ้องของโจทก์ จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)
โจทก์บรรยายฟ้องคดีหมิ่นประมาทว่าจำเลยแกล้งเรียงคำฟ้องอันเป็นเท็จใส่ความโจทก์ต่อศาล ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ศาล ต่อพยาน และบุคคลอื่น ๆ ที่ทราบเรื่องนี้ดี ทำให้โจทก์ต้องเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ดังนี้โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องให้ชัดแจ้งว่าข้อความวรรคใด ตอนใดที่เป็นการเสียหายต่อชื่อเสียงของโจทก์ ซึ่งศาลจะได้ยกขึ้นพิจารณาได้โดยเฉพาะ ถือว่าเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่อาจทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี
เมื่อศาลดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า ฟ้องโจทก์ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลก็มีอำนาจยกฟ้องเสียได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 844/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 850, 852 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39 (2) พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ม. 3
คู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีแพ่งเกี่ยวกับเช็คฉบับที่ฟ้องจำเลยในคดีอาญาศาลพิพากษาตามยอมแล้วแต่ข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว ไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วม (ผู้เสียหาย) ได้ตกลงสละสิทธิในการดำเนินคดีส่วนอาญากับจำเลยแต่ประการใดดังนี้ ถือว่าคู่ความตกลงประนีประนอมยอมความกันแต่เฉพาะในคดีแพ่งเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 887/2523
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 35 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497
ธนาคารปฏิเสธการใช้เงินเพราะไม่มีเงินในบัญชีพอจ่ายตามเช็คที่จำเลยออกใช้ราคาของที่ซื้อจากโจทก์ ต่อมาจำเลยส่งของขายแก่โจทก์ โจทก์รับของหักใช้หนี้ตามเช็คของจำเลยนั้น ตามพฤติการณ์เห็นความมุ่งหมายว่าโจทก์จำเลยตกลงระงับข้อพิพาทไม่ดำเนินคดีอาญาสิทธิฟ้องคดีอาญาระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 886/2523
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 2 พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยบุกรุกเข้าครอบครองที่พิพาทก่อนวันที่ 4 มีนาคม 2515 ซึ่งเป็นวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 มีผลใช้บังคับ การกระทำของจำเลย จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 108 ทวิ เพราะการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 9 และมีโทษตามมาตรา 108 ทวิ นั้นจะต้องเป็นการฝ่าฝืนนับตั้งแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวใช้บังคับเป็นต้นไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 884/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 6, 1299, 1382 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84 (2), 142, 225, 249
ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้จำนอง จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินที่จำนองเพื่อขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ที่ดินที่โจทก์นำยึดดังกล่าวผู้ร้องมีกรรมสิทธิ์อยู่ด้วยส่วนหนึ่ง โดยผู้ร้องได้ครอบครองโดยความสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาเกิน 10ปีแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 จึงขอให้ปล่อยการยึดที่ดินเฉพาะส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโจทก์ให้การว่าโจทก์รับจำนองไว้โดยสุจริตเสียค่าตอบแทนข้ออ้างของผู้ร้องจึงยกขึ้นต่อสู้โจทก์ไม่ได้ ดังนี้ตามข้ออ้างของผู้ร้องเป็นเพียงการได้มาซึ่งสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นอันมิใช่เป็นการได้มาโดยทางนิติกรรม แต่ผู้ร้องไม่ได้จดทะเบียนสิทธิของตนไว้ จึงไม่อาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ ทั้งต้องห้ามมิให้ยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วดังที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 ส่วนปัญหาว่าโจทก์รับจำนองไว้โดยสุจริตหรือไม่ ผู้ร้องก็ไม่ได้กล่าวอ้างหรือยกเป็นประเด็นเพื่อการนำสืบไว้ในคำร้องทั้ง ๆ ที่ภาระการพิสูจน์ตกแก่ฝ่ายตนที่จะหักล้างข้อสันนิษฐานอันเป็นคุณแก่โจทก์ว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 คดีจึงไม่มีประเด็น ข้อพิพาทว่าโจทก์รับจำนองโดยสุจริตหรือไม่ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำร้องและคำให้การของโจทก์แล้วว่าโจทก์รับจำนองที่พิพาทโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว จึงได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1299 วรรคสอง ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาท
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์หยิบยกประเด็นเรื่องโจทก์รับจำนองไว้โดยสุจริตหรือไม่ขึ้นวินิจฉัย เป็นการไม่ชอบ ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ผู้ร้องฎีกาในปัญหาข้อนี้จึงเป็นฎีกานอกประเด็นที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 882/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 867 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 177
กรมธรรม์ประกันภัยระบุไว้ว่าโจทก์มีที่อยู่ที่แห่งหนึ่ง และได้นำสถานที่หรือทรัพย์สินที่โจทก์อยู่นั้นเองเอาประกันภัยไว้กับจำเลย ต่อมาโจทก์แจ้งที่อยู่ของโจทก์ใหม่ ซึ่งจำเลยก็ได้สลักหลังแก้ให้โจทก์แล้วการสลักหลังดังกล่าว จะฟังว่าเป็นการแก้เฉพาะที่อยู่ของโจทก์อย่างเดียวย่อมไม่ได้ เพราะสถานที่อยู่ของโจทก์ก็คือตัววัตถุที่โจทก์เอาประกันภัยไว้ แต่เดิมนั่นเองทั้งที่อยู่ของของโจทก์ผู้เอาประกันภัยจะมีการเปลี่ยนแปลง ภายหลังหรือไม่ ก็ไม่ใช่ข้อสารสำคัญที่จะต้องระบุในกรมธรรม์ประกันภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 867
โจทก์ฟ้องจำเลยผู้รับประกันภัยให้ชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยมีข้อต่อสู้อย่างไร จำเลยต้องให้การโดยชัดแจ้งและนำสืบให้ปรากฏ จึงจะเกิดประเด็นให้ศาลวินิจฉัย เมื่อจำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยมิได้ยกปัญหาว่าสัญญาซื้อขายโกดังทำกันเองไม่ได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานเป็นโมฆะ ขึ้นต่อสู้เพื่อให้พ้นความรับผิด จึงไม่มีประเด็นในข้อนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 875/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 291, 764, 767 พระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ.2474 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 พระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ.2505 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249
จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ จำเลยที่ 1, ที่ 4, ที่ 5, ที่ 6 และที่ 7 ได้จำนำหุ้นซึ่งจำเลยแต่ละคนเป็นผู้ถือเพื่อเป็นการประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 สัญญาจำนำระบุว่าผู้จำนำยอมรับผิดต่อผู้รับจำนำในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และถ้าขายทรัพย์สินที่จำนำได้เงินสุทธิต่ำกว่าต้นเงินจำนำและดอกเบี้ยที่ค้างชำระผู้จำนำยอมชดใช้เงินที่ยังขาดอีกจนครบนั้น ต้องแปลว่าจำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 ยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 เต็มมูลค่าหุ้นที่จำเลยแต่ละคนนำมาจำนำ หากภายหลังขายได้เงินสุทธิน้อยกว่ามูลค่าหุ้นแล้ว ผู้จำนำยอมรับผิดในส่วนที่ยังขาดอยู่นั้น
ปัญหาว่าการขายทอดตลาดหุ้นที่จำนำและโอนหุ้นไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่ได้รับอนุญาตให้ทำการขายทอดตลาดเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่าพ.ศ.2474 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 พ.ศ.2515 และพระราชบัญญัติโรงรับจำนำนั้น จำเลยมิได้ต่อสู้เป็นประเด็นไว้ในคำให้การ จึงมิใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 873/2523
พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2493 ม. 33, 38
พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2493 มาตรา 33,38 หาได้จำกัดเฉพาะคนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไม่เมื่อคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตพนักงานเจ้าหน้าที่จะส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร ย่อมมีอำนาจฝากกักคนต่างด้าวนั้นไว้ที่สถานีตำรวจภูธรได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 858/2523
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 157, 326, 329 (2)
เจ้าพนักงานกล่าวแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ในฐานะเป็น เจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,326
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 880/2523
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 21
ผู้ร้องขอให้นำทรัพย์ที่โจทก์ยึดไว้ออกขายทอดตลาด ศาลอนุญาตและประกาศขายทอดตลาด ถึงวันขายโจทก์ผู้นำยึดยื่นคำร้องว่าผู้ร้องทำการฉ้อฉลเพื่อให้มีการขายทอดตลาดศาลให้งดการขายและนัดไต่สวนคำร้อง ในวันที่โจทก์ยื่นคำร้องศาลสอบถามโจทก์จำเลยและผู้ร้อง แล้วสั่งว่าเหตุผลของโจทก์ยังไม่พอฟังที่จะให้งดการขายทอดตลาดได้ เช่นนี้แสดงว่าได้ไต่สวนคำร้องของโจทก์แล้ว