คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2522

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2100

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2100/2522

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 7 (2), 296 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 19, 22, 109, 110

ศาลพิพากษาให้จำเลยซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดส่งมอบโรงภาพยนตร์คืนแก่โจทก์ผู้ให้เช่า ยกฟ้องจำเลยร่วม จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงปิดโรงภาพยนตร์ตามหมายบังคับคดี เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยร่วมร้องเข้ามาในคดีขอให้เปิดโรงภาพยนตร์ โดยอ้างว่าเป็นของ จำเลยร่วม ไม่ใช่ของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยได้ จำเลยร่วม แถลงว่าตนไม่ใช่เจ้าของ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรงภาพยนตร์ ไม่เป็นยุติมิให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2096

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2096/2522

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 271, 292

มารดาจำเลยกู้เงินบิดาโจทก์ และมอบที่พิพาทให้บิดาโจทก์ทำกินต่างดอกเบี้ยบิดาโจทก์และมารดาจำเลยต่างถึงแก่กรรมไปแล้ว จำเลยเข้าครอบครองที่พิพาทโดยมิได้ชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์ โจทก์จึง ฟ้องขับไล่จำเลย ศาลพิพากษาให้ขับไล่คดีถึงที่สุดแล้วต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกจำเลยมาศาล บังคับให้ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จำเลยมาศาลจำเลยขอชำระต้นเงินพร้อมทั้งดอกเบี้ยให้โจทก์และขอที่ดินคืน โจทก์อ้างว่าจำเลยไม่มีสิทธิทำเช่นนั้นขอให้บังคับคดีต่อไปเช่นนี้เมื่อคดีเดิมจำเลยมิได้ฟ้องแย้งขอให้โจทก์รับเงินและคืนที่พิพาทให้แก่จำเลย ผลคำพิพากษาจึงมีแต่เพียงให้ขับไล่จำเลยออกจาก ที่พิพาท ส่วนการจะขอชำระเงินและขอที่พิพาทคืนนั้น จำเลยจะต้อง ฟ้องโจทก์เป็นคดีขึ้นใหม่แต่อย่างไรก็ดี การที่จะงดการบังคับคดีไว้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 292 เป็นอำนาจและ ดุลพินิจของศาลที่จะสั่งตามที่เห็นสมควร ศาลจึงงดการบังคับคดีไว้ ชั่วคราวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2091

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2091/2522

ประมวลรัษฎากร ม. 27, 38, 51 (1), 52, 54 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 206

เมื่อบริษัทโจทก์จ่ายเงินค่าจ้างรายเดือนให้แก่คนงาน อันเป็นเงินได้ พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(1) บริษัทโจทก์จึงมีหน้าที่ หักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายค่าจ้าง ตามวิธีการในบทบัญญัติของมาตรา 50(1) โดยคำนวณภาษีจากจำนวนเงินเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี หาจำต้องรอให้ครบรอบปีภาษีเพื่อให้มีเงินได้พึงประเมินถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษี และผู้มีเงินได้ ต้องยินยอมให้หักภาษีเสียก่อนไม่

บริษัทโจทก์มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 แต่มิได้หักและนำส่งเงินภาษีนั้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 52 จึงต้องรับผิดเสียเงินเพิ่ม ตามมาตรา 27 แม้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 206 ลงวันที่ 15 กันยายน 2515 ข้อ 10 แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 52 เดิม เพิ่มความตอนท้ายว่า "ไม่ว่า ตนจะไดัหักภาษีไว้แล้วหรือไม่" ก็เพื่อให้ได้ความชัดเจนขึ้นเท่านั้น หาใช่มาตรา 52 เดิมมีความหมายว่า เมื่อบริษัทโจทก์ไม่ได้หักภาษีไว้ก็ไม่มีหน้าที่นำส่ง และเมื่อ ไม่ต้องนำส่งจึงไม่ต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 27 ไม่

บริษัทโจทก์เป็นผู้จ่ายเงินตามมาตรา 50 แต่มิได้หักภาษีและมิได้นำส่ง เงินภาษีนั้นตามมาตรา 52 บริษัทโจทก์จึงต้องรับผิดร่วมกับลูกจ้างผู้มีเงินได้ ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่ไม่ได้หักและนำส่ง ตามมาตรา 54 วรรคแรก และภาษีเงินได้ดังกล่าวเป็นประเภทภาษีอากรประเมิน ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินเป็นผู้ประเมินเกี่ยวกับภาษีในหมวดภาษีเงินได้นี้ ตามมาตรา 38 เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีจาก โจทก์ได้ แม้จะยังไม่ได้ประเมินเรียกเก็บเอาแก่ลูกจ้างผู้มีเงินได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2085

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2085/2522

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 326, 328 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192

ฟ้องว่าจำเลยให้ข่าวหนังสือพิมพ์หมิ่นประมาทโจทก์ ได้ความว่าจำเลยกล่าวแก่นักข่าวของหนังสือพิมพ์พาดพิงถึงโจทก์ โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยกล่าวแก่นักข่าวถึงโจทก์ด้วยถ้อยคำว่าอย่างไร จึงเอาคำที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยกล่าวแก่นักข่าวมาลงโทษจำเลยเกินฟ้องไม่ได้ ข้อความที่หนังสือพิมพ์ลงหมิ่นประมาทโจทก์ตามที่นักข่าวนำไปลงพิมพ์นั้นฟังไม่ได้ว่าจำเลยสมคบร่วมด้วย ข้อความพาดหัวก็ไม่ใช่ถ้อยคำของจำเลย จำเลยมิใช่ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ ไม่มีความผิดตาม มาตรา 328

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2087

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2087/2522

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83

การที่จำเลยมาพร้อมกับพวก จำเลยได้ทะเลาะกับผู้ตายทั้งยกเก้าฮี้ จะเข้าตีผู้ตายกับพวกก่อน เมื่อพวกของจำเลยได้ยิงผู้ตาย 1 นัด จำเลย ได้ร้องบอกพวกว่ายิงซ้ำมันเลย ยิงซ้ำมันเลย คำพูดของจำเลยส่อแสดงให้เห็น ชัดว่า จำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตาย เมื่อพวกของจำเลยยิงผู้ตายแล้ว จำเลยกับพวกก็วิ่งหนีไปด้วยกัน การกระทำของจำเลยดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการ่วมมือกับ พวกจำเลยฆ่าผู้ตาย จำเลยจึงต้องมีความผิดเป็นตัวการร่วมกระทำผิดด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 419

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 419/2522

ประมวลรัษฎากร ม. 20, 22 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 94

ลูกหนี้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.5 เสียภาษีไว้ไม่ถูกต้องเจ้าพนักงานประเมินจึงได้ออกคำสั่งให้ลูกหนี้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา22แต่ยังไม่ทันได้แจ้งให้ลูกหนี้ทราบคำสั่ง ลูกหนี้ก็ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีนี้เสียก่อน กรมสรรพากรผู้ร้องจึงมาขอรับชำระหนี้ดังนี้ เงินที่ลูกหนี้จะต้องเสียอีกร้อยละ 20 แห่งเงินภาษีอากรที่เพิ่มขึ้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 22 ถือว่าเป็นเงินภาษีอากรและถือว่าได้เกิดขึ้นแล้วพร้อมกับหนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคล เมื่อกรมสรรพากรผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคลก็มีสิทธิได้รับชำระเงินเพิ่มด้วย แม้ว่าเจ้าพนักงานประเมินมิได้แจ้งการประเมินไปยังลูกหนี้ก็ตามแต่มูลหนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มได้เกิดขึ้นแล้วก่อนลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ และเมื่อกรมสรรพากรผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ก็ถือได้ว่าเป็นการแจ้งคำสั่งประเมินต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้แล้ว กรมสรรพากรผู้ร้องจึงชอบที่จะได้รับชำระหนี้ค่าภาษีเงินได้ที่ค้างรวมทั้งเงินเพิ่มดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2081

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2081/2522

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172

กระทรวงมหาดไทยมิใช่เจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง และกรณีไม่ต้องตามบทบัญญัติมาตรา 78 แห่ง พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฯ ที่บัญญัติให้ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งได้เฉพาะกรณีตามมาตรา 26,32,34,51, และ 52 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งโดยอ้างเหตุว่ากระทรวงมหาดไทยโดยกรรมการปกครองกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย

การกระทำที่อ้างว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยมิชอบ ควรจะได้กล่าวถึงรายละเอียดพอสมควรว่าเกิดขึ้นที่หน่วยเลือกตั้งใด ผู้ใดกระทำ กระทำอย่างไร ผู้ใดเสียหายอันเป็นสารสำคัญ เพื่อจะได้ให้ผู้คัดค้านเข้าใจข้อหาได้ดี เมื่อไม่ได้กล่าวไว้จึงเป็นคำร้องที่เคลือบคลุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2074

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2074/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 215, 237, 823 วรรคสอง, 1546 (1), 1574 (1) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249

จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาผู้แทนโดยชอบธรรมของจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาจะขายที่พิพาทซึ่งจำเลยทั้งสองมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันทั้งส่วนของตนและส่วนของจำเลยที่ 2 ให้แก่โจทก์ โดยไม่ได้ขออนุญาตศาลขายส่วนของจำเลยที่ 2 สัญญาจะซื้อขายดังกล่าวไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 คงผูกพันเฉพาะจำเลยที่ 1 ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 2บรรลุนิติภาวะแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้โอนขายที่พิพาทให้จำเลยที่ 3 ซึ่งรับซื้อไว้โดยรู้ข้อความจริงที่ทำให้โจทก์ผู้ทำสัญญาจะซื้อขายไว้ก่อนเสียเปรียบ โจทก์ย่อมขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 3 เสียได้

เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่พิพาทส่วนของจำเลยที่ 2 ให้แก่โจทก์โดยไม่มีอำนาจที่จะทำได้และโจทก์ไม่อาจบังคับตามสัญญาให้จำเลยขายที่พิพาทส่วนของจำเลยที่ 2 ได้ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดใช้ ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์

เรื่องค่าเสียหายนี้แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาคัดค้าน แต่เมื่อโจทก์จะได้รับ โอนที่พิพาทครึ่งแปลง ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลดค่าเสียหายลงได้ตามส่วน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2065

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2065/2522

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39 (4), 221

คดีอาญาเรื่องเดียวกันเดิมจำเลยถูกฟ้องด้วยวาจาตามบทบัญญัติของวิธีพิจารณาความอาญาในแขวงโดยศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง เพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยด้วยวาจา ซึ่งศาลยังมิได้พิจารณาเรื่องที่ได้ฟ้องแต่ประการใด จึงถือไม่ได้ว่าศาลได้พิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่โจทก์ฟ้อง โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยใหม่ได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4)

คดีอาญาที่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นผู้มีอำนาจอนุญาตให้ฎีกาบันทึกว่า "มีเหตุอันควรรับรองให้ฎีกาได้" นั้นเป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 221 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2064

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2064/2522

พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496

อำนาจชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินตาม มาตรา 25 แห่ง พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475ซึ่งเป็นของอธิบดีกรมสรรพากรตกมาเป็นของคณะเทศมนตรีตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 และ พระราชบัญญัติรายได้เทศบาล พ.ศ.2497

« »
ติดต่อเราทาง LINE