คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2522

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2053

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2053/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1382, 1401

ที่ดินโจทก์อยู่ติดกับที่ดินจำเลย ต่อมาจำเลยออกไปเป็นทางสาธารณะโจทก์ใช้ทางพิพาทเดินผ่านที่ดินจำเลยออกสู่ทางสาธารณะมากว่า 10 ปี แต่โจทก์ใช้โดนขออนุญาตจำเลย จึงไม่ถือว่าเป็นการใช้โดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาจะให้ได้สิทธิภารจำยอม โจทก์ไม่ได้สิทธิภารจำยอมโดยอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2052

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2052/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 194, 537 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55

บิดาโจทก์เช่าตึกจำเลยอาศัยอยู่ในตึกกับโจทก์ บิดาโจทก์ตายโจทก์ทำสัญญาเช่าแทนบิดาโจทก์จากผู้ให้เช่าเดิม จำเลยไม่ออกจากตึกแม้โจทก์อยู่ที่อื่น โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2043

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2043/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 4 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, ตาราง 1

คำสั่งนายกรัฐมนตรีให้ริบทรัพย์สิน สั่งตามอำนาจในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2515 มาตรา 17 ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในเวลานั้น ไม่ขัดแย้งและไม่ต้องวินิจฉัยตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอีก

ศาลชั้นต้นงดสืบพยานแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ ชั้นฎีกาโจทก์ขอให้สืบพยานแล้วพิพากษาใหม่ เสียค่าขึ้นศาล 50 บาทตามตาราง 1 ข้อ 2 ก. ไม่ใช่เสียตามทุนทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2041

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2041/2522

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 36

เมื่อศาลพิพากษาให้ริบรถยนต์ของกลางแล้ว เจ้าของรถไม่มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันนั้นอีกต่อไปผู้ร้องซื้อรถยนต์ของกลางขณะที่ผู้ขายไม่มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ แม้ผู้ร้องจะซื้อโดยสุจริตและแก้ทะเบียนเป็นของผู้ร้องแล้วผู้ร้องก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ของกลางไม่มีสิทธิร้องขอรถยนต์ของกลางคืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2039

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2039/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 132, 226, 1465

ในระหว่างสมรสของโจทก์จำเลย จำเลยได้ที่ดินโฉนดที่ 4084และ 4198 โดย ผ. ยกให้โดยเสน่หาระบุว่าให้เป็นสินส่วนตัวกับได้ที่ดินโฉนดที่ 5191 โดย ผ. ทำพินัยกรรมยกให้และระบุให้เป็นสินส่วนตัวเช่นเดียวกัน ต่อมา ล. อ้างว่าที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ของ ผ. แต่เป็นของภรรยาซึ่งเป็นบุตรของ น. และฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งกับแจ้งความกล่าวหาจำเลยทางอาญาหลายคดี ในที่สุด ล. กับจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีหนึ่งซึ่งศาลพิพากษาตามยอมมีใจความสำคัญว่า ให้จำเลยได้ที่ดินโฉนดที่ 1176 และให้ ล. ได้ที่ดินโฉนดที่ 5191 ส่วนที่ดินโฉนดที่ 4198 และ 4084 นั้น จำเลยตกลงโอนให้ ล. โดย ล. ต้องจ่ายเงินเป็นค่าตอบแทนให้ 3,100,000 บาท ดังนี้ต้องถือว่าที่ดินโฉนดที่ 4084 และ 4198 กับโฉนดที่ 5191 เดิมเป็นที่ดินที่จำเลยได้รับมาเป็นสินส่วนตัว แม้จำเลยจะทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับ ล. ดังกล่าว ก็เป็นการระงับข้อพิพาทระหว่างจำเลยกับ ล. ในคดีนั้นซึ่งมีประเด็นเพียงว่าที่พิพาทเป็นของ ผ. และ ย. มีอำนาจยกให้จำเลยหรือไม่เท่านั้นไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงลักษณะของทรัพย์ยังต้องถือว่าที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวของจำเลยอยู่นั่นเอง และเมื่อจำเลยต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินอันเป็นสินส่วนตัวทั้งสามแปลงนั้นให้แก่ ล. ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นเหตุให้จำเลยได้มาซึ่งที่ดินโฉนดที่ 1176 กับมีสิทธิได้เงินค่าตอบแทน 3,100,000 บาท ก็ต้องถือว่าที่ดินและเงินค่าตอบแทนดังกล่าวเข้ามาแทนที่ที่ดินทั้งสามแปลง อันเป็นสินส่วนตัวของจำเลยซึ่งมีผลเช่นเดียวกับการขายหรือแลกเปลี่ยนตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1465(1) ดังนั้น ที่ดินโฉนดที่ 1176 กับเงินค่าตอบแทน 3,100,000 บาท ซึ่งเป็นสินส่วนตัวของจำเลย หาใช่สินสมรสระหว่างโจทก์จำเลยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2023

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2023/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 442, 443

โจทก์ขับรถยนต์ทางตรงผ่านทางแยกทางร่วมเร็วกว่ากำหนด ชนกับรถของจำเลยที่ขับเลี้ยวยื่นล้ำเข้าไปในทางรถของโจทก์1 เมตร ศาลให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ลดลง 2 ใน 5 มารดาโจทก์เป็นโรคอยู่ก่อนแต่ตายเพราะรถชนกันโดยจำเลยละเมิด จำเลยต้องรับผิด ค่าส่งศพกลับคืนไปประเทศภูมิลำเนาเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการปลงศพ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2022

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2022/2522

พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ.2517 ม. 41

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ผู้ให้เช่านาได้ขายนาให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 ในราคาที่แตกต่างกันกับที่ได้แจ้งให้โจทก์ผู้เช่านาทราบ และไม่ได้แจ้งราคาขายที่แตกต่างนั้นให้โจทก์ทราบก่อน จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ.2517 มาตรา 41 วรรคสองโจทก์จึงมีสิทธิซื้อนาจากจำเลยที่ 3 ที่ 4 ในราคาและตามวิธีการชำระเงินที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ขายให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ได้ ตามมาตรา 41 วรรคสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2018

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2018/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 368, 369, 900 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 177, 183

โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามเช็ค จำเลยให้การว่าจำเลยออกเช็คพิพาทมอบให้บุตรจำเลยนำไปชำระค่าโอนสิทธิการเช่าตึกแถวจากธ. ในฐานะส่วนตัวและในฐานะ ธ. เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างโจทก์ แล้ว ธ. และโจทก์ผิดสัญญาไม่ขนย้ายออกไปและไม่มอบตึกแถวให้บุตรจำเลยตามกำหนด บุตรจำเลยจึงขอให้จำเลยแจ้งธนาคารระงับการจ่ายเงินตามเช็คไว้ดังนี้ สัญญาโอนสิทธิการเช่าตามที่จำเลยให้การเป็นสัญญาต่างตอบแทน หากโจทก์ผิดสัญญาไม่ขนย้ายออกไปและไม่ส่งมอบตึกแถวให้บุตรจำเลย โจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้บุตรจำเลยชำระหนี้ และไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยให้ใช้เงินตามเช็คพิพาทซึ่งออกเพื่อชำระหนี้ของบุตรจำเลยด้วย คำให้การจำเลยจึงเป็นการต่อสู้ว่าสิทธิของโจทก์ในฐานะผู้ทรงบกพร่องเพราะไม่อาจบังคับตามมูลหนี้ได้ และเมื่อศาลชั้นต้นก็กำหนดประเด็นพิพาทไว้ว่า เช็คมีมูลหนี้หรือไม่คดีจึงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ผิดสัญญาหรือไม่

ธ. ในฐานะส่วนตัวและในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ทำสัญญาโอนสิทธิการเช่าตึกแถวกับบุตรจำเลย ธ. ยอมรับเช็คพิพาทสั่งจ่ายวันที่ 15 มิถุนายน 2515 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ ธ. และโจทก์ต้องขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากตึกแถวแสดงว่าคู่สัญญาตกลงจะปฏิบัติชำระหนี้ตอบแทนกันในวันเดียวกัน การที่สัญญามีข้อความว่า "และผู้รับเงินได้รับเงินจำนวนนี้ไปเป็นการถูกต้องและเรียบร้อยแล้วในวันทำสัญญานี้" คงมุ่งหมายเพียงให้เป็นหลักฐานว่า ธ. และโจทก์ได้รับเช็คเป็นการชำระค่าตอบแทนไปแล้ว หาได้หมายความว่าบุตรจำเลยต้องชำระหนี้เป็นตัวเงินตอบแทนก่อน แล้ว ธ. และโจทก์จึงจะต้องขนย้ายออกไปจากตึกแถวไม่ เมื่อ ธ.และโจทก์ไม่ขนย้ายออกไปจากตึกแถวภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2515 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา และไม่มีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยให้ใช้เงินตามเช็คพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2010

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2010/2522

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (5)

โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับเวลากระทำผิดในข้อหาบุกรุกหมิ่นประมาท และ ดูหมิ่นโจทก์ว่า เหตุเกิดเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 2521 ถึงปลายเดือนสิงหาคม 2521 วันใดไม่ปรากฏชัด เวลากลางวันนั้นเป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเวลาที่เกิดการกระทำความผิดเป็นรายละเอียดมาด้วยซึ่งพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ฟ้องโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2009

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2009/2522

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 1 (5)

จำเลยชักสิ่วออกมาขู่จะทำร้ายในการปล้น เป็นการปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธติดตัวไปตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรค 2

« »
ติดต่อเราทาง LINE