คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2518

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2529

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2529/2518

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 33 (1), 336 ทวิ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336ทวิ หาได้บัญญัติให้ถือว่ายานพาหนะดังกล่าวในมาตรานี้เป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดด้วยไม่ แต่เป็นเพียงบทบัญญัติถึงเหตุที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษหนักขึ้นเท่านั้น ส่วนปัญหาที่ว่ายานพาหนะใดเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดซึ่งศาลมีอำนาจสั่งริบตามมาตรา 33(1) นั้น ต้องพิจารณาดูตามพฤติการณ์ของการกระทำแต่ละเรื่องไป ว่าผู้กระทำผิดได้ใช้ยานพาหนะนั้นในการกระทำความผิดหรือไม่

จำเลยวิ่งราวสร้อยคอโดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้าแล้วพาหนีไปโดยใช้รถจักรยานสองล้อเป็นพาหนะ รถดังกล่าวเป็นเพียงยานพาหนะที่จำเลยใช้ภายหลังการวิ่งราวทรัพย์หาใช่ใช้ในการวิ่งราวทรัพย์ไม่ จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลมีอำนาจสั่งริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2511

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2511/2518

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1299 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 145

โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยครอบครองเกิน 10 ปี แต่ไม่ได้จดทะเบียน ใช้ยัน อ. ผู้ซื้อโดยสุจริตไม่ได้ โจทก์ครอบครองต่อมาไม่ถึง 10 ปี อ. ขายที่ดินต่อไปแก่จำเลย ไม่ว่าจำเลยสุจริตหรือไม่ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลย คำสั่งศาลที่โจทก์ร้องขอให้แสดงว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ใช้ยัน อ. และจำเลยไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2389

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2389/2518

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 211

ซื้อขายที่ดิน ส.ค.1 อาจขอ น.ส.3 พร้อมกับโอนขายได้การที่ผู้ขายไปหอทะเบียนเพื่อออก น.ส.3 กับขอขาย แต่ผู้ซื้อไม่ไปรับโอน ผู้ซื้อเป็นผู้ผิดสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2538

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2538/2518

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 425

ลูกจ้างกรมทางหลวงฯ ขับรถยนต์ของกรมทางหลวงฯไปรับเสด็จตามคำขอของนายอำเภอ ซึ่งนายช่างโครงการหัวหน้าศูนย์ของกรมทางหลวงฯอนุมัติ และผู้ขับรถประจำยอมให้ขับและนั่งไปด้วย ถือได้ว่าได้ใช้รถในทางการที่กรมทางหลวงฯจ้างนายจ้างต้องรับผิดในละเมิดของลูกจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2479

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2479/2518

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 680, 681

จำเลยที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานขับรถยนต์ของโจทก์ไว้ต่อโจทก์ว่า ในระหว่างที่จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานของโจทก์ หากปฏิบัติงานด้วยความประมาทหรือเจตนาทุจริต หรือทุจริตต่อหน้าที่ ยักยอก ฉ้อโกงอันเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 4 ยินยอมใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ดังนี้ การที่ผู้จัดการโจทก์ได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์พาจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์ทำหน้าที่เคลียริ่งไปแลกเงินที่กระทรวงการคลัง เมื่อขับรถไประหว่างทางจำเลยที่ 2 ได้แวะไปถ่ายอุจจาระเสีย แล้วยินยอมให้จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีหน้าที่ขับรถยนต์และไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ขับรถยนต์นั้นไปตามลำพังเป็นเหตุให้ไปชนรถผู้อื่นที่จอดอยู่ข้างทางโดยประมาทและทำให้โจทก์เสียหาย ย่อมถือว่าจำเลยที่ 2 ขาดความระมัดระวังตามวิสัยของปกติชน จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์โดยตรง จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2513

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2513/2518

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 861

กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์สิ้นอายุเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม วันที่ 24 กรกฎาคม เกิดอุบัติเหตุ ต่อมาผู้รับประกันภัยออกกรมธรรม์ประกันใหม่ย้อนหลังไปถึงวันที่ 22 กรกฎาคมผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2512

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2512/2518

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1500 (3)

การที่จำเลย(สามี) ต้องไปอยู่ต่างจังหวัดเพราะถูกทางราชการย้ายไป และโจทก์(ภรรยา) มิได้ตามไปอยู่ด้วยเพราะมีภาระที่จะต้องดูแลบุตร บ้าน และทำการค้าขาย จะถือว่าจำเลยจงใจจะทิ้งร้างโจทก์ไม่ได้ และแม้หากจะฟังว่าจำเลยไม่เสียกับหญิงอื่น และได้พาหญิงอื่นไปไหว้มารดาจำเลยซึ่งอยู่บ้านเดียวกันกับโจทก์ ก็ยังไม่เป็นพฤติการณ์เพียงพอที่จะถือว่าจำเลยกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงอันเป็นเหตุหย่าได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2497

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2497/2518

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 91 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 219

ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 10,000 บาท รอการลงโทษจำคุก ศาลอุทธรณ์แก้เป็นไม่รอการลงโทษ จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุก เป็นข้อเท็จจริง ฎีกาไม่ได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 แก้ไขฉบับที่ 8 พ.ศ.2517 มาตรา 6

ใช้ให้ทำผิดและร่วมทำผิดด้วย เป็นความผิดกรรมเดียวฐานตัวการร่วมกระทำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2496

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2496/2518

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 113 พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ.2493 ม. 5, 6, 7, 8, 16

พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2493 นอกจากจะมีบทบัญญัติห้ามมิให้ผู้ให้เช่าเรียกเก็บค่าเช่านาเกินกว่าอัตราไว้ในมาตรา 5 และมีบทกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนในมาตรา 16 แล้ว ยังมีบทมาตราอื่น ๆ ที่แสดงให้เห็นได้ชัดว่ามุ่งประสงค์ที่จะคุ้มครองผู้เช่านาอีกหลายกรณี

การที่จำเลยเต็มใจให้ค่าเช่านาเกินกว่าอัตราที่พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2493 กำหนดไว้ และโจทก์ผู้ให้เช่าก็ตกลงยอมรับนั้น ถือได้ว่าเป็นการให้จำเลยผู้เช่ามีหน้าที่หรือรับภาระซึ่งตามกฎหมายจำเลยไม่ต้องมีหน้าที่หรือต้องรับภาระ จึงไม่เป็นการผูกพันจำเลยตามนัย มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2493ที่จะต้องชำระค่าเช่านาให้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2492

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2492/2518

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 183

การกำหนดประเด็นข้อพิพาทต้องกล่าวในฟ้อง คำให้การหรือแถลงให้ปรากฏต่อศาลตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183 มิใช่กล่าวในคำแถลงการณ์ปิดคดี

« »
ติดต่อเราทาง LINE