เผยแพร่เมื่อ: 2024-01-07

หลักฐานเป็นหนังสือในการกู้ยืมเงินมีความสำคัญอย่างไร

กฎหมายเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน

โดยปกติแล้วการกู้ยืมเงินนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 

กำหนดว่า “การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”

จากบทกฎหมายดังกล่าว ประการแรกต้องพิจารณาก่อนว่ากู้ยืมเงินจำนวนเท่าไร

1. หากกู้ยืมเงินกันไม่เกินสองพันบาท (รวมถึงกรณีสองพันบาทเป๊ะ ๆ ด้วย) แม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือหรือไม่ได้ทำสัญญาไว้เลย ก็ฟ้องได้ แต่ต้องนำสืบให้ศาลเห็นได้ว่ามีการกู้ยืมกันจริง ๆ

2. แต่หากเป็นการกู้ยืมเงินมากกว่าสองพันบาทขึ้นไป (ตั้งแต่สองพันบาทหนึ่งสตางค์ขึ้นไป) มาตรา 653 กำหนดให้ต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ กล่าวคือ ไม่จำเป็นต้องทำเป็นสัญญาก็ได้ แต่จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ พอให้ทราบได้ว่ามีการกู้ยืมเงินกันจริง จึงจะฟ้องร้องได้

ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อมา คือ หากไม่เคยทำสัญญากันไว้เลย หรือไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออะไรเลย แต่มีหลักฐานการโอนเงิน จะฟ้องร้องได้หรือไม่

มีตัวอย่างคําพิพากษาศาลฎีกาดังนี้

ล่าสุดนี้ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาไว้อย่างชัดเจนว่า (คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 4306/2565)

“หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง นั้น ในหนังสือดังกล่าวต้องมีข้อความให้รับฟังได้ว่าผู้ยืมได้กู้ยืมเงินไปจากผู้ให้กู้ยืมหรือมีข้อความว่าจะใช้คืนให้อันเป็นสาระสำคัญที่บ่งชี้ให้เห็นว่าผู้ยืมได้กู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้ยืมหรือเป็นหนี้ผู้ให้กู้ยืม หากไม่มีข้อความดังกล่าวแล้วก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินได้ เพราะการที่บุคคลหนึ่งมอบหรือโอนเงินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง ไม่จำเป็นว่าต้องเกิดจากการกู้ยืมกันเสมอไป อาจเป็นเรื่องการมอบหรือโอนเงินให้แก่กันด้วยมูลเหตุอย่างอื่นก็ได้ จากหลักฐานการถอนเงินออกไปจากบัญชีโจทก์แล้วโอนเข้าบัญชีจำเลยตามสำเนาเอกสารที่โจทก์อ้างหรือบันทึกคําเบิกความของจำเลยนั้น ไม่มีข้อความใดแสดงให้เห็นว่าเงินที่โจทก์โอนเข้าบัญชีจำเลยเป็นเงินที่จำเลยได้ยืมไปจากโจทก์หรือเป็นหนี้โจทก์แล้วจะใช้คืนให้ในภายหลังแต่อย่างใด ดังนั้น เอกสารต่าง ๆ ที่โจทก์อ้างจึงหาใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือไม่ เมื่อโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้ยืมมาแสดงโจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง ซึ่งหลักฐานแห่งการกู้ยืมดังกล่าวเป็นเรื่องที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง และห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจเบิกความประกอบเอกสารเพื่อให้ศาลรับฟังว่าการโอนเงินเข้าบัญชีโจทก์ดังกล่าวเป็นการกู้ยืมเงินกันได้”

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า เมื่อกู้ยืมเงินโดยไม่ทำสัญญาหรือไม่ได้ทำเป็นหนังสือ แม้จะมีหลักฐานแสดงให้เห็นชัดว่ามีการโอนเงินให้แก่กัน ก็ไม่อาจฟ้องร้องต่อศาลได้

ต้องการค้นหาด้านกฎหมายใช่ไหม ? สามารถค้นหาบทความ, คำปรึกษาจริง, มาตราที่เกี่ยวข้อง คลิกที่นี่ !

 


หลักฐานการกู้ยืมเงินในโลกออนไลน์

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีในปัจจุบันมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว จึงได้มีการออกกฎหมายมารองรับเทคโนโลยีดังกล่าว คือ กฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงทำให้ข้อความในการแชทยืมเงินกัน สามารถใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องศาลได้ 

โดยอาศัยพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 

มาตรา 7 ซึ่งกำหนดว่า 

“ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใด เพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” 

ประกอบกับมาตรา 9 ซึ่งกำหนดว่า

 “ในกรณีที่บุคคลพึงลงลายมือชื่อในหนังสือ ให้ถือว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น มีการลงลายมือชื่อแล้ว ถ้า

(1) ใช้วิธีการที่สามารถระบุตัวเจ้าของลายมือชื่อ และสามารถแสดงได้ว่าเจ้าของลายมือชื่อ รับรองข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นว่าเป็นของตน และ

(2) วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการที่เชื่อถือได้โดยเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการสร้างหรือส่ง ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์โดยคํานึงถึงพฤติการณ์แวดล้อมหรือข้อตกลงของคู่กรณี

ดังนั้น ในกรณีที่กู้ยืมกัน จึงควรมีการสร้างหลักฐานการกู้ยืมเงินไว้ด้วย หากไม่สะดวกทำเป็นหนังสือสัญญาหรือทำลงในกระดาษ อย่างน้อยก็ควรจะมีข้อความแชทที่คุยกันไว้ ก็จะดีที่สุด หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นในอนาคตจะได้ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ครับ

ากมีข้อสงสัยต้องการปรึกษาทนายความเพื่อหาทางออกกฎหมาย สามารถติดต่อผ่าน Legardy ได้ตลอด 24ชั่วโมงครับ

 

 

ปรึกษาทนายตัวจริง

สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย

"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว

ทนายพร้อมให้คำปรึกษาตลอด 24 ชม.
4.8/5
รีวิวจากผู้ใช้งานจริงมากกว่า 16000 รีวิว
sanook ข่าวสด มติชน spring
cta
ปรึกษาทนาย 24 ชั่วโมง
“ ได้รับคำตอบทันที ! “
ติดต่อเราทาง LINE