ทำความรู้จักกับ "ภาษีมรดก" ทรัพย์สินประเภทไหนบ้าง
เรื่องเกี่ยวกับ ภาษีมรดก เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่หลายคนไม่ค่อยมีความเข้าใจมากนักเท่าใด จนอาจทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา อาทิ การเสียภาษีมรดกซ้ำซ้อนที่มักเกิดขึ้นกับหลาย ๆ ครอบครัว ซึ่งบทความนี้จะมาพูดถึงภาษีมรดก เจาะลึกเกี่ยวกับภาษีมรดก ถึงสิ่งที่ควรรู้และจัดการ เพื่อเป็นการวางแผนล่วงหน้าเสียตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยในบทความนี้ได้รวบรวมสรุปเนื้อหาสำคัญเน้น ๆ มาให้โดยเฉพาะ
ภาษีมรดกคืออะไร
ภาษีมรดก หรือ Inheritance Tax คือ ภาษีที่จะมีการถูกเรียกเก็บโดยสรรพากรจากผู้ที่ได้รับมรดกแต่ละราย ที่มีมูลค่าของมรดกเกิน 100,000,000 (หนึ่งร้อยล้าน) บาทขึ้นไป โดยการเสียภาษีมรดกจะเป็นหน้าที่ของผู้ได้รับมรดก โดยจะมีการจัดเก็บในอัตรา 5-10% สำหรับมรดกในส่วนที่มีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท
ทรัพย์สินประเภทไหนบ้างที่ต้องเสียภาษี
การวางแผนที่ดีจะช่วยรักษาผลประโยชน์ของตนเองในอนาคต ดังนั้นควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเภทของมรดกที่ต้องเสียภาษีมรดกตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งทรัพย์สินมรดกที่จะต้องทำการเสียภาษีนั้นจะแบ่งออกตามกฎหมายกำหนดได้เป็น 5 ประเภท ดังต่อไปนี้
1. อสังหาริมทรัพย์
มรดกประเภทแรก คือ อสังหาริมทรัพย์ ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยและในต่างประเทศ อันได้แก่ บ้าน, ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ โดยการคำนวณมูลค่าทรัพย์ในวันที่ต้องเสียภาษีมรดกนั้นจะแตกต่างกันออกไป หากเป็นอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศไทยให้ถือตามราคาประเมินหักด้วยภาระที่ถูกรอนสิทธิ แต่หากเป็นอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศอาจมีการใช้ราคาประเมินหรือราคาที่รับรองด้วยหน่วยงานขึ้นอยู่กับประเทศที่ตั้งอสังหาริมทรัพย์
2. หลักทรัพย์ตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์
มรดกประเภทที่สอง คือ หลักทรัพย์ตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ อันได้แก่ หน่วยลงทุน, หุ้น, หุ้นกู้, ตราสารหนี้ รวมไปถึงตราสารอนุพันธ์ต่าง ๆ ทั้งที่ออกโดยนิติบุคคลที่มีการจดทะเบียนในประเทศไทยและในต่างประเทศ โดยถือเอาราคาในเวลาที่สิ้นสุดวันทำการของตลาดหลักทรัพย์ในวันที่มีการได้รับมรดก
3. เงินฝาก
มรดกประเภทที่สาม คือ เงินฝาก หรือเงินที่มีลักษณะทำนองเดียวกันที่เจ้าของมรดกมีสิทธิในการถอนคืนจากสถาบันการเงินหรือผู้ที่ได้รับเงินนั้น ๆ โดยในการคำนวณมูลค่าให้คำนึงถึงมูลค่าของเงินฝากรวมถึงดอกเบี้ย และผลประโยชน์อื่น ๆ ที่อาจจะได้รับจากเงินดังกล่าวในวันที่ได้รับมรดก ส่วนเงินต่างประเทศจะต้องใช้การคำนวณเงินด้วยการเปลี่ยนเป็นเงินไทยเสียก่อนที่จะคำนวณภาษีมรดกที่เป็นเงินตราต่างประเทศ
4. ยานพาหนะ
มรดกประเภทที่สี่ คือ ยานพาหนะ อันได้แก่ รถยนต์ , รถจักรยานยนต์, เรือ, เครื่องบิน และอื่นๆ อาจใช้การประเมินมูลค่าจากบุคคลหรือหน่วยงานที่เป็นสมาชิกขององค์กรนั้นในการประเมินทรัพย์ หรืออาจประเมินตามราคาตลาดในวันที่ได้รับมรดก โดยยานพาหนะนั้นกล่าวรวมถึงทั้งที่มีการจดทะเบียนภายในประเทศไทยและภายในต่างประเทศ
5. ทรัพย์สินทางการเงิน
มรดกประเภทที่ห้า คือ ทรัพย์สินทางการเงินที่มีการกำหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา หรือกำหนดเพิ่มตามกฎหมายในอนาคต
ต้องการค้นหาด้านกฎหมายใช่ไหม ? สามารถค้นหาบทความ, คำปรึกษาจริง, มาตราที่เกี่ยวข้อง คลิกที่นี่ !
กรณีใดบ้างที่ต้องเสียภาษีมรดก
สำหรับกรณีที่จะต้องเสียภาษีมรดกตามกฎหมายนั้น ผู้ที่จะต้องมีการเสียภาษีจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ภาษีสำหรับบุคคลภายนอกที่ได้รับมรดกแต่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ให้มรดก จักต้องเสียภาษีในอัตราคงที่อยู่ที่ 10% และภาษีสำหรับบุคคลที่ได้รับมรดกและมีความเกี่ยวข้องกับผู้ให้มรดก โดยเป็นบุพการี อาทิ พ่อ, แม่, ปู, ย่า, ตา, ยาย หรือผู้สืบสันดาน ต้องเสียภาษีในอัตราคงที่อยู่ที่ 5%
กรณีใดบ้างที่ได้รับการยกเว้น
ในกรณีที่มีการยกเว้นภาษีมรดก มีการแบ่งออกเป็น 2 ประเภทเช่นเดียวกัน คือ ในกรณีที่มีการยกมรดกให้แก่สามีหรือภรรยา ที่มีการจดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จักไม่มีการเรียกเก็บภาษีมรดก และในกรณีที่มีการยกมรดกให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือยกมรดกให้แก่สาธารณะ มรดกนั้นจะได้รับการยกเว้นการเสียภาษีเช่นเดียวกัน
สรุปบทความ
เรื่องภาษีมรดกเป็นเรื่องใกล้ตัวที่อาจต้องทำความเข้าใจไว้ล่วงหน้า เนื่องจากเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นและต้องจัดการอย่างไม่ทันตั้งตัว สำหรับผู้ที่กำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องภาษีมรดก หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับผู้อ่านได้ไม่มากก็น้อย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเรื่องเกี่ยวกับภาษีมรดกยังมีรายละเอียดที่ต้องทำการเจาะลึก หากมีข้อสงสัยต้องการปรึกษาทนายความเพื่อหาทางออกกฎหมาย สามารถติดต่อผ่าน Legardy ได้ตลอด 24ชั่วโมงครับหรือคลิกที่นี่ได้เลย !
ปรึกษาทนายตัวจริง
สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย
"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว
สมัครเป็นทนายออนไลน์
แพล็ทฟอร์มรวบรวม
งานกฎหมายจากทั่วประเทศ



