"พินัยกรรม" เชื่อว่าหลายท่านคงจะเคยได้ยินคำนี้มาก่อน ซึ่งอาจจะได้ยินจากรายการบันเทิงหรือตามหน้าสื่อต่างๆ กรณีที่เป็นข่าวดัง ซึ่งโพสต์นี้ผมได้สรุปข้อกฎหมายที่เป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับ "พินัยกรรม" มาให้ทุกท่านได้ทำความเข้าใจกัน
🗞️ พินัยกรรม คือ การแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่างๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตาย
🗞️ ซึ่งการทำพินัยกรรมนั้นต้องทำตามแบบที่กฎหมายได้กำหนดไว้ และพินัยกรรมนั้นมี ๖ แบบ ดังนี้
๑.พินัยกรรมแบบธรรมดา กล่าวคือ ต้องทำเป็นหนังสือลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำขึ้น และผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อย ๒ คนพร้อมกัน ซึ่งพยาน ๒ คนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น
๒.พินัยกรรมเขียนเองทั้งฉบับ กล่าวคือ
ทำพินัยกรรมต้องเขียนด้วยมือตนเองซึ่งข้อความทั้งหมด วัน เดือน ปี และลายมือชื่อของตน
๓.พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง กล่าวคือ
๓.๑.ผู้ทำพินัยกรรมต้องไปแจ้งข้อความที่ตนประสงค์จะให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมของตนแก่กรมการอำเภอต่อหน้าพยานอีกอย่างน้อย ๒ คนพร้อมกัน
๓.๒.กรมการอำเภอต้องจดข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งให้ทราบนั้นลงไว้ และอ่านข้อความนั้นให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานฟัง
๓.๓.เมื่อผู้ทำพินัยกรรมและพยานทราบแน่ชัดว่า ข้อความที่กรมการอำเภอจดนั้นเป็นการถูกต้องตรงกันกับที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งไว้แล้ว ให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ
๓.๔.ข้อความที่กรมการอำเภอจดไว้นั้น ให้กรมการอำเภอลงลายมือชื่อและลงวัน เดือน ปี ทั้งจดลงไว้ด้วยตนเองเป็นสำคัญว่า พินัยกรรมนั้นได้ทำขึ้นถูกต้องตามข้อ ๓.๑ ถึง ๓.๓ ข้างต้น แล้วประทับตราตำแหน่งไว้เป็นสำคัญ
๔.พินัยกรรมแบบเอกสารลับ กล่าวคือ
๔.๑.ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อในพินัยกรรม
๔.๒.ผู้ทำพินัยกรรมต้องผนึกพินัยกรรมนั้น แล้วลงลายมือชื่อคาบรอยผนึกนั้น
๔.๓.ผู้ทำพินัยกรรมต้องนำพินัยกรรมที่ผนึกนั้นไปแสดงต่อกรมการอำเภอ และพยานอีกอย่างน้อย ๒ คน และให้ถ้อยคำต่อบุคคลทั้งหมดเหล่านั้นว่าเป็นพินัยกรรมของตน ถ้าพินัยกรรมนั้นผู้ทำพินัยกรรมมิได้เป็นผู้เขียนเองโดยตลอด ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องแจ้งนามและภูมิลำเนาของผู้เขียนให้ทราบด้วย
๔.๔.เมื่อกรมการอำเภอจดถ้อยคำของผู้ทำพินัยกรรมและวัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรมมาแสดงไว้บนซองนั้นและประทับตราตำแหน่งแล้ว ให้กรมการอำเภอผู้ทำพินัยกรรมและพยานลงลายมือชื่อบนซองนั้น
๕.พินัยกรรมด้วยวาจา กล่าวคือ เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษซึ่งบุคคลใดไม่สามารถจะทำพินัยกรรมตามแบบอื่นที่กำหนดไว้ได้ เช่น ตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย หรือเวลามีโรคระบาด หรือสงคราม
๕.๑.เพื่อการนี้ ผู้ทำพินัยกรรมต้องแสดงเจตนากำหนดข้อพินัยกรรมต่อหน้าพยานอย่างน้อย ๒ คนซึ่งอยู่พร้อมกัน ณ ที่นั้น
๕.๒.พยาน ๒ คนนั้นต้องไปแสดงตนต่อกรมการอำเภอโดยมิชักช้าและแจ้งข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมได้สั่งไว้ด้วยวาจานั้น ทั้งต้องแจ้งวัน เดือน ปี สถานที่ที่ทำพินัยกรรมและพฤติการณ์พิเศษนั้นไว้ด้วย
๕.๓.ให้กรมการอำเภอจดข้อความที่พยานแจ้งนั้นไว้ และพยาน ๒ คนนั้นต้องลงลายมือชื่อไว้ หรือมิฉะนั้น จะให้เสมอกับการลงลายมือชื่อได้ก็แต่ด้วยลงลายพิมพ์นิ้วมือโดยมีพยานลงลายมือชื่อรับรอง ๒ คน
๖.พินัยกรรมแบบทำตามกฎหมายต่างประเทศ กล่าวคือ เมื่อคนในบังคับไทยจะทำพินัยกรรมในต่างประเทศ พินัยกรรมนั้นอาจทำตามแบบที่กฎหมายของประเทศที่ทำพินัยกรรมบัญญัติไว้ หรือตามแบบที่กฎหมายไทยบัญญัติไว้ก็ได้
๖.๑.เมื่อทำพินัยกรรมตามแบบที่กฎหมายไทยบัญญัติไว้ อำนาจและหน้าที่ของกรมการอำเภอตามข้อ.๓, ๔, ๕ ให้ตกแก่บุคคลดังต่อไปนี้ คือ
(๑) พนักงานทูต หรือกงสุลฝ่ายไทย กระทำการตามขอบอำนาจของตน หรือ
(๒) พนักงานใดๆ ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายของต่างประเทศนั้นๆ ที่จะรับบันทึกข้อแจ้งความไว้เป็นหลักฐานได้
🗞️ ผู้เขียนพินัยกรรม (กรณีที่ผู้ทำพินัยกรรมไม่ได้เป็นคนเขียนเอง) หรือพยานในการทำพินัยกรรมรวมทั้งคู่สมรสของผู้เขียนและพยานจะเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมนั้นไม่ได้
🗞️ บุคคลต่อไปนี้จะเป็นพยานในการทำพินัยกรรมไม่ได้
(๑) ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ (อายุยังไม่ครบ ๒๐ ปี บริบูรณ์)
(๒) บุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ
(๓) บุคคลที่หูหนวก เป็นใบ้ หรือตาบอดทั้งสองข้าง
ดังกล่าวมาข้างต้นคือสาระสำคัญที่เกี่ยวกับการทำพินัยกรรม ซึ่งปัจจุบันทนายภาคย์พิชาญ นกแล - บริการด้านกฎหมาย ก็มีบริการร่างหรือจัดทำพินัยกรรมด้วย สำหรับท่านที่สนใจใช้บริการก็สามารถติดต่อสอบถามเข้ามาตามช่องทางที่สะดวกได้ตลอดเลยนะครับ 🗞️
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านนะครับ ❤️
ปรึกษาทนายตัวจริง
สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย
"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว
สมัครเป็นทนายออนไลน์
แพล็ทฟอร์มรวบรวม
งานกฎหมายจากทั่วประเทศ



