
บังคับส่งมอบกุญเจรถในที่จอดมีความผิดทางกฎหมายไหม ?
บทความนี้ ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายๆ
สมมุตินายเอบังคับให้นางบีส่งมอบกุญแจรถยนต์ให้แก่นายเอเท่านั้น โดยนายเอไม่ได้บอกว่าจะยึดรถยนต์ของนางบีไว้หรือไม่ก็ตาม แต่สามารถเข้าใจได้ว่าการที่นายเอยึดหน่วงกุญแจรถยนต์คันดังกล่าวของนางบีไว้ เป็นเหตุทำให้นางบีไม่สามารถใช้รถยนต์ได้ตามปกติ มีผลเท่ากับว่านายเอได้ยึดรถยนต์ของนางบีไว้นั่นเอง
การที่นายเอบังคับให้นางบีส่งมอบกุญแจรถยนต์ของนางบีให้แก่นายเอ พฤติการณ์นี้ถือเป็นการข่มขืนใจให้ผู้อื่นให้ส่งมอบกุญแจรถยนต์
แม้นายเอไม่ได้บอกกล่าวว่าจะยึดรถยนต์ของนางบีไว้ แต่นางบีก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากรถยนต์ของนางบีได้ มีผลเสมือนหนึ่งนายเอได้ยึดรถยนต์คันดังกล่าวไว้แต่เพียงผู้เดียว นายเอจึงมีความผิดในคดีอาญาฐานกรรโชก
ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 337 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้ว่า
"ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญ หรือของบุคคลที่สาม จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกรรโชก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท"
ทั้งนี้ นางบียังสามารถฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาเป็นคดีที่ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดที่สืบเนื่องมากจากความผิดในคดีอาญาฐานกรรโชกได้ ดังนั้น นางบีจึงฟ้องคดีเเพ่งได้ว่านายเอยึดกุญแจรถยนต์ไว้ จนเป็นเหตุให้นางบีได้รับความเสียหาย นางบีจึงสามารถฟ้องนายเอเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญาเพื่อเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์จากนายเอได้
สรุป การบังคับให้คนอื่นส่งมอบกุญแจรถยนต์ขณะจอดรถอยู่ที่ลานจอดรถ มีความผิดในคดีอาญาฐานกรรโชก และมีสิทธิถูกฟ้องเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาเป็นคดีละเมิดเเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ได้
อ้างอิงมาจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 226/2565
ปรึกษาทนายตัวจริง
สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย
"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว
สมัครเป็นทนายออนไลน์
แพล็ทฟอร์มรวบรวม
งานกฎหมายจากทั่วประเทศ



