การลาป่วยโดยใช้ใบรับรองแพทย์ตามกฎหมายแรงงาน
เมื่อลูกจ้างหรือพนักงานของบริษัทมีอาการเจ็บป่วย เช่น เป็นไข้ ปวดหัว ปวดท้องประจำเดือน หรือมีอาการบาดเจ็บ หรืออาการอื่นๆ ที่เป็นการเจ็บป่วย พนักงานที่มีอาการเจ็บป่วยผู้นั้นย่อมต้องการพักผ่อนเพื่อบรรเทาอาการ หรือ ไปพบแพทย์เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยเหล่านั้น ซึ่งเมื่อลูกจ้างลาป่วยย่อมเกี่ยวข้องกับใบรับรองแพทย์ ดังนั้น พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 32 จึงได้มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการแสดงใบรับรองแพทย์ คือการลาป่วยตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไป
นายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองแพทย์ให้นายจ้างทราบได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้
กรณีพนักงานไปพบแพทย์
หากพนักงานไปพบแพทย์มักจะไม่มีปัญหาเรื่องใบรับรองแพทย์เนื่องจากพนักงานสามารถขอใบรับรองแพทย์เพื่อนำมาใช้ยืนยันกับบริษัท หรือ นายจ้างได้ ดังนั้นเมื่อพนักงานที่มีอาการป่วยเมื่อไปพบแพทย์แล้วจึงควรขอใบรับรองแพทย์ไว้ทุกครั้งไม่ว่าจะเป็นการลาป่วยกี่วันก็ตาม
'ลูกจ้างต้องรู้! สิ่งที่จะได้รับเมื่อโดนนายจ้างไล่ออก อ่านได้ที่นี่! คลิกเลย'
กรณีพนักงานไม่ได้ไปพบแพทย์
เช่น มีอาการท้องเสีย ไม่สามารถไปทำงานได้ และหากจะไปหาหมอก็อาจใช้เวลาในการรอเรียกคิวเพื่อเข้าตรวจอีกค่อนข้างนาน อีกทั้งต้องเดินเข้าห้องน้ำบ่อยๆ จึงเกิดความไม่สะดวก พนักงานจึงยังไม่ได้ไปพบแพทย์ แต่ได้นอนพักและดื่มเกลือแร่เพื่อบรรเทาอาการ และปรากฎว่าในวันต่อไปอาการท้องเสียดีขึ้น สามารถกลับมาปฏิบัติงานในวันต่อไปได้ตามปกติ เช่นนี้ เมื่อพนักงานหยุดงานเพื่อพักบรรเทาอาการหรือรักษาตัวเพียง 1 วัน กรณีเช่นนี้ เมื่อบริษัท ขอให้พนักงานส่งใบรับรองแพทย์เพื่อประกอบการลานั้นย่อมไม่สามารถทำได้ เนื่องจากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานมาตรา 32 กำหนดให้นายจ้างสามารถขอให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองแพทย์ได้เมื่อพนักงานลาป่วยตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไปเท่านั้น ดังนั้น หากพนักงานป่วย (**ต้องป่วยจริงเท่านั้น**) โดยลาป่วยเพียง 1 หรือ 2 วัน พนักงานไม่ต้องแสดงใบรับรองแพทย์ให้บริษัททราบแต่อย่างใด ทั้งนี้หากพนักงานต้องการจะส่งใบรับรองแพทย์ให้กับบริษัทแม้ลาป่วยเพียงครึ่งวันพนักงานก็สามารถส่งได้ เนื่องจากไม่ได้มีกฎหมายห้ามไว้
หากลูกจ้างมีอาการป่วยต่อเนื่องครบ 3 วัน แน่นอนว่าหากมีอาการป่วยนานเช่นนี้ คนทั่วไปย่อมต้องไปพบแพทย์เพื่อให้วินิจฉัยอาการป่วยเพื่อจะได้รักษาได้อย่างถูกวิธี ดังนั้นแน่นอนว่าหากพนักงานคนใดลาป่วยตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไปย่อมต้องมีใบรับรองแพทย์เพื่อแสดงสาเหตุแห่งการลาป่วยให้กับนายจ้างหรือบริษัททราบทุกครั้ง
'ปลอมใบรับรองแพทย์หมอมีความผิดอย่างไรบ้าง ที่นี่มีคำตอบ คลิกเลย!'
รูปแบบของใบรับรองแพทย์
• กรณีไปพบแพทย์ทั่วไปที่ไม่ใช่สถานพยาบาลของราชการ
ใบรับรองแพทย์ที่จะใช้ในการลาป่วยได้นั้นต้องออกโดยแพทย์หรือแพทย์เป็นผู้ลงชื่อกำกับเท่านั้น กรณีไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลของราชการ ใบรับรองแพทย์ไม่จำเป็นต้องออกโดยแพทย์เพียงเท่านั้นสามารถใช้ใบรับรองแพทย์ที่ออกโดยสถานพยาบาลนั้นได้เช่นกันโดยไม่จำเป็นต้องออกใบรับรองโดยแพทย์แต่อย่างใด เบื้องต้นขอเพียงให้เป็นใบรับรองแพทย์ที่เราได้รับมาอย่างถูกต้องจากสถานพยาบาลนั้นก็เพียงพอแล้ว
'รวมกฎหมายแรงงานที่ลูกจ้างรายวันต้องรู้ อ่านเลย คลิก!'
• ไม่ได้ไปพบแพทย์หรือไม่มีใบรับรองแพทย์แต่มีอาการป่วยจริงทำอย่างไร
กฎหมายกำหนดให้ลูกจ้างชี้แจงให้นายจ้างทราบโดยการชี้แจงนั้นอาจเป็นวิธีใดก็ได้ที่ให้นายจ้างเชื่อว่าลูกจ้างนั้นป่วยจริง เช่น หากได้รับบาดเจ็บก็สามารถแสดงแผลหรือรอยช้ำให้นายจ้างตรวจสอบได้ หรือหากไปพบแพทย์แต่ไม่ได้ขอใบรับรองแพทย์แต่ได้รับยามาทานก็สามารถใช้ซองยานั้นยืนยันได้เช่นเดียวกัน
'โดนหักเงินค่าลาป่วย ทำอย่างไรได้บ้าง? อ่านคำตอบจากทนายความได้ที่นี่'
อาการป่วยที่สามารถลาป่วยได้
หลายคนมีความสงสัยว่าอาการป่วยที่สามารถใช้สิทธิ์ลาป่วยได้นั้นจะต้องมีอาการถึงขั้นไหนจึงจะสามารถลาป่วยได้ เช่น พนักงานปวดท้องแต่มีคนพบว่าพนักงานคนนั้นเดินไปซื้ออาหารที่หน้าปากซอย หรือ พนักงานหญิง ปวดท้องประจำเดือน จะสามารถลาป่วยได้ไหม ซึ่งการลาป่วยบางประเภทหากต้องไปพบแพทย์เพื่อขอใบรับรองแพทย์ทุกครั้งย่อมก่อภาระแก่ลูกจ้างเกินสมควร เห็นว่าเมื่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 32 กำหนดให้พนักงานสามารถลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง ไม่ได้กำหนดว่าต้องป่วยถึงขั้นใด ขอเพียงแค่พนักงานผู้นั้นป่วยจริง ก็สามารถลาป่วยได้แล้ว ยกตัวอย่างเช่น คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 2598/2541 วินิจฉัยทำนองว่า กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าการลาป่วยจะต้องเป็นอาการป่วยจนไม่สามารถทำงานได้ เพียงแค่ไม่ใช่เป็นการลาป่วยเท็จ ก็เป็นสิทธิของพนักงานที่จะลาป่วยได้ตามกฎหมาย
โดนบีบให้เขียนใบลาออกเพราะลาป่วยบ่อย ต้องรับมืออย่างไร? ที่นี่มีคำตอบ อ่านเลย คลิก!
สรุป
หากพนักงานหรือลูกจ้างมีอาการป่วยสามารถลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง และหากลาป่วยครบ 3 วันทำงานติดต่อกันหากนายจ้างขอลูกจ้างต้องมีใบรับรองแพทย์มาแสดงต่อนายจ้าง หากไม่มีใบรับรองแพทย์ ให้ลูกจ้างชี้แจงให้นายจ้างทราบ หรืออาจส่งหลักฐานอย่างอื่นให้นายจ้างทราบและเชื่อได้ว่าพนักงานผู้นั้นมีอาการป่วยจริง ซึ่งอาการป่วยนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นอาการป่วยถึงขั้นที่ไม่สามารถทำงานได้ แค่เพียงมีอาการป่วยก็สามารถใช้สิทธิลาป่วยได้แล้ว
ส่วน 3 วันทำงานนั้นนับเฉพาะวันที่ต้องปฏิบัติงานเท่านั้น ไม่นับรวมวันหยุดแต่อย่างใด เช่น ลาป่วยวันศุกร์ ถึง วันจันทร์ หากบริษัทนั้นหยุดประจำสัปดาห์ทุกวันเสาร์และอาทิตย์ ย่อมถือว่าพนักงานลาป่วยเพียง 2 วัน คือวันศุกร์และวันจันทร์ เป็นต้น
หากมีข้อสงสัยต้องการปรึกษาทนายความเพื่อหาทางออกกฎหมาย สามารถติดต่อผ่าน Legardy ได้ตลอด 24ชั่วโมงครับ
ปรึกษาทนายตัวจริง
สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย
"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว
สมัครเป็นทนายออนไลน์
แพล็ทฟอร์มรวบรวม
งานกฎหมายจากทั่วประเทศ



