ถ้ามีการซื้อสินค้าในประเทศ แต่คู่สัญญาเป็นคนต่างชาติ จะถือว่าเป็นการค้าระหว่างประเทศหรือไม่นั้น
ขออธิบายดังนี้ว่า ลักษณะสำคัญของการค้าระหว่างประเทศ คือ จะต้องมีองค์ประกอบระหว่างประเทศ (Foreign elements) เสมอ ซึ่งอาจเป็นเรื่องสัญชาติ ถิ่นที่อยู่ สถานที่ที่จะปฏิบัติการชำระหนี้ ฯลฯ
ตัวอย่างเช่น ผู้ซื้อเป็นคนไทยอยู่ในประเทศไทย ผู้ขายเป็นคนอังกฤษอยู่ในประเทศอังกฤษ เช่นนี้ถือเป็นการค้าระหว่างประเทศ เพราะผู้ซื้อและผู้ขายอยู่คนละประเทศ แต่หากมีการซื้อสินค้าในประเทศเดียวกัน แม้ผู้ซื้อและผู้ขายจะต่างสัญชาติกัน แต่ทั้งสองฝ่ายมีสถานประกอบการอยู่ในประเทศไทยเหมือนกัน ดังนี้เป็นการค้าภายในประเทศ มิใช่การค้าระหว่างประเทศ
ทั้งนี้คำอธิบายข้างต้น อ้างอิงให้สอดคล้องหลักตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศ (United Nations Convention on Contracts for the International sale of goods 1980) หรือเรียกชื่อย่อว่า CISG และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 คือ การที่ผู้ซื้อและผู้ขายอยู่กันคนละประเทศ และต้องมีการส่งสินค้าจากประเทศหนึ่งไปสู่ประเทศหนึ่ง หรือสื่อความหมายให้ชัดเจน คือ ผู้ซื้อและผู้ขายแต่ละฝ่ายอยู่ภายใต้เขตอำนาจศาล (Jurisdiction) ที่แตกต่างกัน ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่ใช้กับสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศโดยเฉพาะ และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ไม่ได้ให้คำนิยามของการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศไว้แต่อย่างใด
ดังนั้นการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ หรือการค้าระหว่างประเทศจำเป็นจะต้องมีข้อตกลงในเรื่องการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ หากเป็นการซื้อขายแม้จะกระทำโดยคนต่างชาติ แต่ไม่มีการส่งสินค้าจากประเทศหนึ่งไปสู่อีกประเทศหนึ่ง ย่อมไม่ถือว่าเป็นการซื้อขายระหว่างประเทศ เช่น นายแจ็คสันชาวอังกฤษเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ซื้ออุปกรณ์กีฬาจากห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ ชำระราคาตามปกติแล้วนำอุปกรณ์กีฬาไป อย่างนี้ถือว่าเป็นการซื้อขายในประเทศ เท่านั้น ดังนั้นถ้ามีการซื้อสินค้าในประเทศ แต่คู่สัญญาเป็นคนต่างชาติ จึงไม่ถือว่าเป็นการค้าระหว่างประเทศ ตามหลักการดังกล่าว
ปรึกษาทนายตัวจริง
สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย
"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว
สมัครเป็นทนายออนไลน์
แพล็ทฟอร์มรวบรวม
งานกฎหมายจากทั่วประเทศ



