หมวด ๖
บทกำหนดโทษ
-------------------------
มาตรา ๑๐๗ บุคคลใดยื่นคำขอ คำคัดค้าน หรือเอกสารอื่นใดเกี่ยวกับการขอจดทะเบียนการแก้ไขเปลี่ยนแปลงการจดทะเบียน การต่ออายุการจดทะเบียน หรือการเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วม หรือการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า หรือเครื่องหมายบริการ โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่นายทะเบียนหรือคณะกรรมการ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๐๘ บุคคลใดปลอมเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสี่ปี หรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๐๙ บุคคลใดเลียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๐๙/๑๑ บุคคลใดนำหีบห่อหรือภาชนะที่แสดงเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วม ของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักรมาใช้สำหรับสินค้าของตนเองหรือของบุคคลอื่น เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายร่วม หรือเชื่อว่าเป็นสินค้าที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสี่ปี หรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๑๐ บุคคลใด
(๑) นำเข้ามาในราชอาณาจักร จำหน่าย เสนอจำหน่าย หรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมปลอมตามมาตรา ๑๐๘ หรือที่เลียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่น ตามมาตรา ๑๐๙ หรือ
(๒) ให้บริการหรือเสนอให้บริการที่ใช้เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมปลอมตามมาตรา ๑๐๘ หรือที่เลียนเครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นตามมาตรา ๑๐๙
ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ
มาตรา ๑๑๑ บุคคลใด
(๑) แสดงเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมที่มิได้จดทะเบียนในราชอาณาจักรว่าเป็นเครื่องหมายดังกล่าวที่ได้จดทะเบียนในราชอาณาจักรแล้ว
(๒) จำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายรับรองหรือเครื่องหมายร่วมตาม (๑) ที่ตนรู้อยู่ว่าเป็นเท็จ หรือ
(๓) ให้บริการหรือเสนอให้บริการโดยแสดงเครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมตาม (๑) ที่ตนรู้อยู่ว่าเป็นเท็จ
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๑๒ บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๙๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
มาตรา ๑๑๒ ทวิ๒ ผู้ใดขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหนาที่ตามมาตรา ๑๐๖ ทวิ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๑๒ ตรี๓ ผู้ใดไม่อำนวยความสะดวกแก่นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหนาที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๑๐๖ ทวิ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๑๓ บุคคลใดกระทำความผิดต้องระวางโทษตามพระราชบัญญัตินี้ เมื่อพ้นโทษแล้วยังไม่ครบกำหนดห้าปีกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้อีก ให้วางโทษทวีคูณ
มาตรา ๑๑๔๔ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจาการสั่งการ การกระทำ หรือไม่สั่งการ หรือไม่กระทำการอันเป็นหนาที่ที่ต้องกระทำของกรรมการผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย
มาตรา ๑๑๕ บรรดาสินค้าที่ได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายอันเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่
มาตรา ๑๑๖ ในกรณีที่มีหลักฐานโดยชัดแจ้งว่ามีผู้กระทำการหรือกำลังกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา ๑๐๘ มาตรา ๑๐๙ หรือมาตรา ๑๑๐ เจ้าของเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วม อาจขอให้ศาลมีคำสั่งให้บุคคลดังกล่าวระงับหรือละเว้นการกระทำดังกล่าวนั้นได้
๑ มาตรา ๑๐๙/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
๒ มาตรา ๑๑๒ ทวิ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๓
๓ มาตรา ๑๑๒ ตรี เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๓
๔ มาตรา ๑๑๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๓