Banner blog website1.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-06-21

หมวด ๑ เครื่องหมายการค้า (มาตรา ๖ - ๗๙/๑)

ส่วนที่ ๑
การขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

-------------------------

               มาตรา ๖  เครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ ต้องประกอบด้วยลักษณะดังต่อไปนี้
               (๑) เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ
               (๒) เป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัตินี้ และ
               (๓) ไม่เป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่บุคคลอื่นได้จดทะเบียนไว้แล้ว

               มาตรา ๗  เครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ได้แก่ เครื่องหมายการค้าอันมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้านั้นทราบและเข้าใจได้ว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่น
               เครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นสาระสำคัญดังต่อไปนี้ ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ
               (๑) ชื่อตัว ชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา ชื่อเต็มของนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรือชื่อในทางการค้าที่แสดงโดยลักษณะพิเศษและไม่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง
               (๒) คำหรือข้อความอันไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง และไม่เป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
               (๓) คำที่ประดิษฐ์ขึ้น
               (๔) ตัวหนังสือหรือตัวเลขที่ประดิษฐ์ขึ้น
               (๕) กลุ่มของสีที่แสดงโดยลักษณะพิเศษ
               (๖) ลายมือชื่อของผู้ขอจดทะเบียนหรือของเจ้าของเดิมของกิจการของผู้ขอจดทะเบียน หรือลายมือชื่อของบุคคลอื่นโดยได้รับอนุญาตจากบุคคลนั้นแล้ว
               (๗) ภาพของผู้ขอจดทะเบียนหรือของบุคคลอื่นโดยได้รับอนุญาตจากบุคคลนั้นแล้ว หรือในกรณีที่บุคคลนั้นตายแล้วโดยได้รับอนุญาตจากบุพการี ผู้สืบสันดาน และคู่สมรสของบุคคลนั้น ถ้ามี แล้ว
               (๘) ภาพที่ประดิษฐ์ขึ้น
               (๙) ภาพอันไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง และไม่เป็นภาพแผนที่หรือภาพแสดงสถานที่ทางภูมิศาสตร์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
               (๑๐) รูปร่างหรือรูปทรงอันไม่เป็นลักษณะโดยธรรมชาติของสินคานั้นเอง หรือไม่เป็นรูปร่างหรือรูปทรงที่จำเป็นต่อการทำงานทางเทคนิคของสินค้านั้น หรือไม่เป็นรูปร่างหรือรูปทรงที่ทำให้สินค้านั้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้น
               (๑๑) เสียงอันไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง หรือเสียงที่ไม่เป็นเสียงโดยธรรมชาติของสินค้านั้น หรือเสียงที่ไม่ได้เกิดจากการทำงานของสินค้านั้น
               เครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะตามวรรคสอง (๑) ถึง (๑๑) หากได้มีการจำหน่าย เผยแพร่ หรือโฆษณาสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นจนแพร่หลายแล้วตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และพิสูจน์ได้ว่าได้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์นั้นแล้ว ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ

 

                มาตรา ๘  เครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ห้ามมิให้รับจดทะเบียน
               (๑) ตราแผ่นดิน พระราชลัญจกร ลัญจกรในราชการ ตราจักรี ตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตราประจำตำแหน่ง ตราประจำกระทรวง ทบวง กรม หรือตราประจำจังหวัด
               (๒) ธงชาติของประเทศไทย ธงพระอิสริยยศ หรือธงราชการ
               (๓) พระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย พระปรมาภิไธยย่อ พระนามาภิไธยย่อ หรือนามพระราชวงศ์
               (๔) พระบรมฉายาลักษณ์ หรือพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือรัชทายาท
               (๕) ชื่อ คำ ข้อความ หรือเครื่องหมายใด อันแสดงถึงพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือพระราชวงศ์
               (๖) ธงชาติหรือเครื่องหมายประจำชาติของรัฐต่างประเทศ ธงหรือเครื่องหมายขององค์การระหว่างประเทศ ตราประจำประมุขของรัฐต่างประเทศ เครื่องหมายราชการและเครื่องหมายควบคุมและรับรองคุณภาพสินค้าของรัฐต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ หรือชื่อและชื่อย่อของรัฐต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ของรัฐต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศนั้น
               (๗) เครื่องหมายราชการ เครื่องหมายกาชาด นามกาชาด หรือกาเจนีวา
               (๘) เครื่องหมายที่เหมือนหรือคล้ายกับเหรียญ ใบสำคัญ หนังสือรับรอง ประกาศนียบัตร หรือเครื่องหมายอื่นใดอันได้รับเป็นรางวัลในการแสดงหรือประกวดสินค้าที่รัฐบาลไทย ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐของประเทศไทย รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศได้จัดให้มีขึ้น เว้นแต่ผู้ขอจดทะเบียนจะได้รับเหรียญ ใบสำคัญ หนังสือรับรอง ประกาศนียบัตร หรือเครื่องหมายเช่นว่านั้น เป็นรางวัลสำหรับสินค้านั้น และใช้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้านั้น แต่ทั้งนี้ต้องระบุปีปฏิทินที่ได้รับรางวัลด้วย
               (๙) เครื่องหมายที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบาย
               (๑๐) เครื่องหมายที่เหมือนกับเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด หรือคล้ายกับเครื่องหมายดังกล่าวจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ไม่ว่าจะได้จดทะเบียนไว้แล้วหรือไม่ก็ตาม
               (๑๑) เครื่องหมายที่คล้ายกับ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) หรือ (๗)
               (๑๒) สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
               (๑๓) เครื่องหมายอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

               มาตรา ๙  การขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น จะขอจดทะเบียนสำหรับสินค้าเฉพาะอย่างในจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันก็ได้ แต่ต้องระบุรายการสินค้าที่ประสงค์จะได้รับความคุ้มครองแต่ละอย่างโดยชัดแจง
               วรรคสอง (ยกเลิก)
               การกำหนดจำพวกสินค้า ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

               มาตรา ๑๐  เครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้นั้น ผู้ขอจดทะเบียนเพื่อเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นหรือตัวแทน ต้องมีสำนักงานหรือสถานที่ที่นายทะเบียนสามารถติดต่อได้ตั้งอยู่ในประเทศไทย

               มาตรา ๑๑  การขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
               ในกรณีที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองเครื่องหมายการค้า หากคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นไปตามที่กำหนดในอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศดังกล่าว ให้ถือว่าคำขอดังกล่าวเป็นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๑๒  ในการพิจารณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ให้นายทะเบียนมีอำนาจดังต่อไปนี้
               (๑) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกผู้ขอจดทะเบียน มาให้ถ้อยคำ หรือทำคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานใดเกี่ยวกับการขอจดทะเบียน เพื่อตรวจสอบหรือเพื่อประกอบการพิจารณาได้
               (๒) สั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนแปลเอกสารหรือหลักฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับการขอจดทะเบียนที่เป็นภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยให้เสร็จและส่งภายในกำหนดเวลาที่เห็นสมควร
               (๓) เชิญบุคคลใดมาให้ข้อเท็จจริง คำอธิบาย คำแนะนำ หรือความเห็น
               หากผู้ขอจดทะเบียนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนตาม (๑) หรือ (๒) โดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ถือว่าละทิ้งคำขอจดทะเบียน

               มาตรา ๑๓  ภายใต้บังคับมาตรา ๒๗ ห้ามนายทะเบียนรับจดทะเบียน ในกรณีที่เห็นว่าเครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนนั้น
               (๑) เป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ไม่ว่าจะใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่นายทะเบียนเห็นว่ามีลักษณะอย่างเดียวกัน หรือ
               (๒) เป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ไม่ว่าจะใช้กับสินคาจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่นายทะเบียนเห็นว่ามีลักษณะอย่างเดียวกัน

               มาตรา ๑๔  (ยกเลิก)

               มาตรา ๑๕  ถ้านายทะเบียนเห็นว่า
               (๑) ส่วนหนึ่งส่วนใดอันมิใช่สาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนรายใดไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา ๖ หรือ
               (๒) การขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายใดไม่ชอบด้วยมาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๐ หรือไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงตามมาตรา ๑๑
               ให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้นแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งนั้น และมีหนังสือแจ้งคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนทราบโดยไม่ชักช้า

               มาตรา ๑๖  ถ้านายทะเบียนเห็นว่าเครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนรายใดทั้งเครื่องหมายหรือส่วนหนึ่งส่วนใดอันเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้านั้น ไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา ๖ ให้นายทะเบียนมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้น และมีหนังสือแจ้งคำสั่งพร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ขอจดทะเบียนทราบโดยไม่ชักช้า

               มาตรา ๑๗  ถ้านายทะเบียนเห็นว่าเครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนรายใด หากพิจารณาทั้งเครื่องหมายแล้ว มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา ๖ แต่เครื่องหมายการค้ารายนั้นมีส่วนหนึ่งส่วนใดหรือหลายส่วน เป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายสำหรับสินค้าบางอย่างหรือบางจำพวก อันไม่ควรให้ผู้ขอจดทะเบียนรายหนึ่งรายใดถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวก็ดี หรือมีลักษณะไม่บ่งเฉพาะก็ดี ให้นายทะเบียนมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
               (๑) สั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนแสดงการปฏิเสธว่าไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้ส่วนดังกล่าวของเครื่องหมายการค้ารายนั้น ทั้งนี้ ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งนั้น
               (๒) สั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนแสดงการปฏิเสธอย่างอื่นตามที่นายทะเบียนเห็นว่าจำเป็นต่อการกำหนดสิทธิจากการจดทะเบียนของเจ้าของเครื่องหมายการค้ารายนั้น ทั้งนี้ ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งนั้น
               เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนมีอำนาจประกาศกำหนดสิ่งที่นายทะเบียนเห็นว่า เป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายสำหรับสินค้าบางอย่างหรือบางจำพวก
               ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งคำสั่งตามวรรคหนึ่งพร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ขอจดทะเบียนทราบโดยไม่ชักช้า

               มาตรา ๑๘  ผู้ขอจดทะเบียนมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา ๑๕ มาตรา ๑๖ และมาตรา ๑๗ ต่อคณะกรรมการภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของนายทะเบียน คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
               ถ้าคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่าคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา ๑๕ หรือมาตรา ๑๗ ถูกต้องแล้ว ให้ผู้ขอจดทะเบียนปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ
               ถ้าคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่าคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา ๑๕ มาตรา ๑๖ หรือมาตรา ๑๗ ไม่ถูกต้อง ให้นายทะเบียนดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนรายนั้นต่อไป

               มาตรา ๑๙๑๑  ถ้าผู้ขอจดทะเบียนมิได้อุทธรณ์ตามมาตรา ๑๘ วรรคหนึ่ง และมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา ๑๕ หรือมาตรา ๑๗ แล้วแต่กรณี หรือถ้าผู้ขอจดทะเบียนได้อุทธรณ์ตามมาตรา ๑๘ วรรคหนึ่ง แต่มิได้ปฏิบัติตามมาตรา ๑๘ วรรคสอง ให้ถือว่าผู้ขอจดทะเบียนละทิ้งคำขอจดทะเบียน

               มาตรา ๒๐๑๒  ในกรณีที่มีผู้ขอจดทะเบียนหลายรายต่างยื่นคำขอจดทะเบียนเพื่อเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ถ้านายทะเบียนเห็นว่าเครื่องหมายการค้าเหล่านั้นมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ให้นายทะเบียนดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ได้ยื่นไว้เป็นรายแรก และมีหนังสือแจ้งคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนรายหลังรอการพิจารณาดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ก่อน
               (๑) เป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนกัน ไม่ว่าจะใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่นายทะเบียนเห็นว่ามีลักษณะอย่างเดียวกัน
               (๒) เป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ไม่ว่าจะใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่นายทะเบียนเห็นว่ามีลักษณะอย่างเดียวกัน
               ในกรณีที่เครื่องหมายการค้าที่ยื่นไว้เป็นรายแรกไม่ได้รับการจดทะเบียน ให้นายทะเบียนพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ได้ยื่นไว้เป็นรายถัดไป และมีหนังสือแจ้งให้ผู้ขอจดทะเบียนรายนั้นและรายอื่นทราบโดยไม่ชักช้า

               มาตรา ๒๑๑๓  ผู้ขอจดทะเบียนซึ่งเห็นว่าเครื่องหมายการค้าที่ตนขอจดทะเบียนมิได้เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้ารายอื่นที่ได้ยื่นขอจดทะเบียนไว้ก่อน มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา ๒๐ วรรคหนึ่ง ต่อคณะกรรมการภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของนายทะเบียน ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๒๒๑๔  (ยกเลิก)

               มาตรา ๒๓๑๕  (ยกเลิก)

               มาตรา ๒๔๑๖  (ยกเลิก)

               มาตรา ๒๕๑๗  (ยกเลิก)

               มาตรา ๒๖๑๘  (ยกเลิก)

               มาตรา ๒๗๑๙  ในกรณีที่มีผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา ๑๓ หรือมาตรา ๒๐ วรรคหนึ่ง แล้วแต่กรณี ถ้านายทะเบียนเห็นว่าเครื่องหมายการค้านั้นเป็นเครื่องหมายการค้าซึ่งต่างเจ้าของต่างได้ใช้มาแล้วด้วยกันโดยสุจริต หรือมีพฤติการณ์พิเศษที่นายทะเบียนเห็นสมควรรับจดทะเบียน นายทะเบียนจะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันดังกล่าวให้แก่เจ้าของหลายคนก็ได้ โดยจะมีเงื่อนไขและข้อจำกัดเกี่ยวกับวิธีการใช้และเขตแห่งการใช้เครื่องหมายการค้านั้น หรือเงื่อนไขและข้อจำกัดอื่นตามที่นายทะเบียนเห็นสมควรกำหนดด้วยก็ได้ ทั้งนี้ ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งคำสั่งพร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ขอจดทะเบียนและเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วทราบโดยไม่ชักช้า
               ผู้ขอจดทะเบียนหรือเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนตามวรรคหนึ่งต่อคณะกรรมการภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของนายทะเบียน
               คำวินิจฉัยของคณะกรรมการตามวรรคสองให้เป็นที่สุด

               มาตรา ๒๘๒๐  บุคคลใดได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้นอกราชอาณาจักร ถ้ายื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นในราชอาณาจักรภายในหกเดือนนับแต่วันที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านอกราชอาณาจักรเป็นครั้งแรก บุคคลนั้นจะขอให้ถือว่าวันที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านอกราชอาณาจักรเป็นครั้งแรก เป็นวันที่ได้ยื่นคำขอในราชอาณาจักรก็ได้ หากบุคคลนั้นมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
               (๑) มีสัญชาติไทย หรือเป็นนิติบุคคลที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทย
               (๒) มีสัญชาติของประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย หรือ
               (๓) มีสัญชาติของประเทศที่ยินยอมให้สิทธิในทำนองเดียวกันแก่บุคคลสัญชาติไทย หรือนิติบุคคลที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทย
               (๔) มีภูมิลำเนา หรือประกอบอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรมอย่างจริงจังในประเทศไทย หรือในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย
               ในกรณีที่คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ได้ยื่นเป็นครั้งแรกนอกราชอาณาจักรถูกปฏิเสธ หรือผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนถอนคืนหรือละทิ้งคำขอ บุคคลดังกล่าวจะขอใช้สิทธิตามวรรคหนึ่งไม่ได้
               ในกรณีที่มีการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ถูกปฏิเสธ หรือคำขอที่ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนถอนคืนหรือละทิ้งตามวรรคสองนอกราชอาณาจักรซ้ำอีกภายในระยะเวลาหกเดือนนับแต่วันที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านอกราชอาณาจักรเป็นครั้งแรก บุคคลซึ่งยื่นคำขอดังกล่าวจะขอใช้สิทธิตามวรรคหนึ่งได้ เมื่อ
               (๑)๒๑ คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามวรรคสองยังมิได้มีการขอใช้สิทธิในการระบุวันยื่นคำขอจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง และ
               (๒)๒๒ คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามวรรคสองไม่อาจดำเนินการใดตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าในประเทศที่มีการยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ต่อไป และ
               (๓) การถูกปฏิเสธ ถอนคืน หรือถูกละทิ้งในครั้งแรกมิได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณชน

               มาตรา ๒๘ ทวิ๒๓  ในกรณีที่มีการนำสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าใดออกแสดงในงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศที่จัดขึ้นในประเทศไทยหรือในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย โดยส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐของประเทศไทยหรือประเทศที่เป็นภาคีดังกล่าวจัดขึ้น หรือรัฐบาลไทยรับรองการจัดงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศนั้น เจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวอาจขอใช้สิทธิตามมาตรา ๒๘ วรรคหนึ่งได้ ถ้าเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าที่นำออกแสดงในงานแสดงสินค้าดังกล่าวในราชอาณาจักรภายในหกเดือนนับแต่วันที่ได้นำสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวออกแสดง หรือวันที่ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าครั้งแรกนอกราชอาณาจักร แล้วแต่วันใดจะเกิดขึ้นก่อน แต่ทั้งนี้ การยื่นคำขอดังกล่าวต้องไม่เป็นการขยายระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๘
               การจัดงานแสดงสินค้าที่จะถือเป็นงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศและการขอใช้สิทธิตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง


               มาตรา ๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๓
               มาตรา ๙ วรรคสอง ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๑๑ วรรคสอง เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๓
               มาตรา ๑๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๑๔ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๑๕ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๑๗ (๑) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๑๗ (๒) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
               ๑๐ มาตรา ๑๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
               ๑๑ มาตรา ๑๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
               ๑๒ มาตรา ๒๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
               ๑๓ มาตรา ๒๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
               ๑๔ มาตรา ๒๒ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
               ๑๕ มาตรา ๒๓ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
               ๑๖ มาตรา ๒๔ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
               ๑๗ มาตรา ๒๕ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
               ๑๘ มาตรา ๒๖ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
               ๑๙ มาตรา ๒๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
               ๒๐ มาตรา ๒๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๓
               ๒๑ มาตรา ๒๘ วรรคสาม (๑) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
               ๒๒ มาตรา ๒๘ วรรคสาม (๒) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
               ๒๓ มาตรา ๒๘ ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๓

 

 

ส่วนที่ ๒
การรับจดทะเบียนและผลแห่งการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

-------------------------

               มาตรา ๒๙  เมื่อนายทะเบียนพิจารณาแล้วเห็นควรรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายใด ให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้ประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้น
               วรรคสอง (ยกเลิก)
               การประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียน ให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

               มาตรา ๓๐  เมื่อนายทะเบียนได้มีคำสั่งให้ประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายใดตามมาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง แล้ว หากปรากฏแก่นายทะเบียนในภายหลังว่าเครื่องหมายการค้ารายนั้นไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา ๖ ก็ดี หรือการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้นไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ อันจำเป็นจะต้องเพิกถอนคำสั่งให้ประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้นก็ดี ถ้ายังมิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้น ให้นายทะเบียนมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และมีหนังสือแจ้งคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนทราบพร้อมด้วยเหตุผลโดยไม่ชักช้า
               ในกรณีที่นายทะเบียนมีคำสั่งเพิกถอนตามวรรคหนึ่งหลังจากที่ได้มีการประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนตามมาตรา ๒๙ แล้ว ให้ประกาศโฆษณาคำสั่งเพิกถอนนั้นด้วยตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

               มาตรา ๓๑  ผู้ขอจดทะเบียนมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนของนายทะเบียนตามมาตรา ๓๐ วรรคหนึ่ง ต่อคณะกรรมการภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของนายทะเบียน
               ในกรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนมิได้อุทธรณ์คำสั่งตามวรรคหนึ่ง หรือในกรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนได้อุทธรณ์คำสั่งตามวรรคหนึ่งแล้ว และคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่าคำสั่งของนายทะเบียนถูกต้องแล้ว ให้นายทะเบียนดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนดังกล่าวต่อไปได้
               ถ้าคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่าคำสั่งเพิกถอนของนายทะเบียนไม่ถูกต้อง ให้นายทะเบียน
               (๑) ดำเนินการประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้นต่อไป ในกรณีที่นายทะเบียนได้มีคำสั่งเพิกถอนตามมาตรา ๓๐ วรรคหนึ่ง ก่อนที่จะมีประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา ๒๙
               (๒) ดำเนินการประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้นใหม่ ในกรณีที่ได้มีการประกาศโฆษณาคำสั่งเพิกถอนของนายทะเบียนตามมาตรา ๓๐ วรรคสองแล้ว
               คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการตามวรรคสองหรือวรรคสามให้เป็นที่สุด

               มาตรา ๓๒  ในกรณีที่นายทะเบียนมีคำสั่งเพิกถอนตามมาตรา ๓๐ หลังจากที่ได้มีการคัดค้านตามมาตรา ๓๕ แล้ว ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งคำสั่งเพิกถอนนั้นให้ผู้คัดค้านทราบโดยไม่ชักช้า

               มาตรา ๓๓  ในกรณีตามมาตรา ๓๒ ถ้านายทะเบียนยังมิได้มีคำวินิจฉัยคำคัดค้านนั้นให้รอการวินิจฉัยไว้ก่อนจนกว่าจะพ้นกำหนดเวลาการอุทธรณ์ตามมาตรา ๓๑ วรรคหนึ่ง หรือจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการตามมาตรา ๓๑ วรรคสองหรือวรรคสาม แล้วแต่กรณี
               ถ้าคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่า คำสั่งเพิกถอนของนายทะเบียนตามมาตรา ๓๐ ถูกต้องแล้ว ให้นายทะเบียนมีคำสั่งไม่รับคำคัดค้านนั้น และมีหนังสือแจ้งคำสั่งให้ผู้คัดค้านทราบโดยไม่ชักช้า คำสั่งเช่นว่านี้ให้เป็นที่สุด
               ถ้าคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่า คำสั่งเพิกถอนของนายทะเบียนตามมาตรา ๓๐ ไม่ถูกต้อง ให้นายทะเบียนดำเนินการวินิจฉัยคำคัดค้านนั้นต่อไป

               มาตรา ๓๔  ในกรณีตามมาตรา ๓๒ ถ้านายทะเบียนได้มีคำวินิจฉัยคำคัดค้านนั้นแล้ว และมีการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนตามมาตรา ๓๗ ให้นายทะเบียนแจ้งให้คณะกรรมการทราบ และให้นำมาตรา ๓๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๓๕  เมื่อได้ประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายใดตามมาตรา ๒๙ แล้ว บุคคลใดเห็นว่าตนมีสิทธิดีกว่าผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้น หรือเห็นว่าเครื่องหมายการค้ารายนั้นไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา ๖ หรือการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้นไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ บุคคลนั้นจะยื่นคำคัดค้านต่อนายทะเบียนก็ได้ แต่ต้องยื่นภายในหกสิบวันนับแต่วันประกาศโฆษณาตามมาตรา ๒๙ พร้อมทั้งแสดงเหตุแห่งการคัดค้าน
               การคัดค้านตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

               มาตรา ๓๖  ในกรณีที่มีการคัดค้านตามมาตรา ๓๕ ให้นายทะเบียนส่งสำเนาคำคัดค้านไปยังผู้ขอจดทะเบียนโดยไม่ชักช้า
               ให้ผู้ขอจดทะเบียนยื่นคำโต้แย้งคำคัดค้านตามแบบที่อธิบดีกำหนด โดยแสดงเหตุที่ตนอาศัยเป็นหลักในการขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำคัดค้าน และให้นายทะเบียนส่งสำเนาคำโต้แย้งนั้นไปยังผู้คัดค้านโดยไม่ชักช้า
               ในกรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนมิได้ดำเนินการตามวรรคสอง ให้ถือว่าผู้ขอจดทะเบียนละทิ้งคำขอจดทะเบียน
               ในการพิจารณาและวินิจฉัยคำคัดค้าน นายทะเบียนจะมีคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนและผู้คัดค้านมาให้ถ้อยคำ ทำคำชี้แจง หรือแสดงหลักฐานเพิ่มเติมก็ได้ หากผู้ขอจดทะเบียนหรือผู้คัดค้านไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง ให้นายทะเบียนพิจารณาและวินิจฉัยคำคัดค้านต่อไปตามหลักฐานที่มีอยู่

               มาตรา ๓๗  เมื่อนายทะเบียนได้มีคำวินิจฉัยแล้ว ให้มีหนังสือแจ้งคำวินิจฉัย พร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ขอจดทะเบียนและผู้คัดค้านทราบโดยไม่ชักช้า
               ผู้ขอจดทะเบียนหรือผู้คัดค้านมีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนต่อคณะกรรมการภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของนายทะเบียน ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นโดยไม่ชักช้า

               มาตรา ๓๘  เมื่อคณะกรรมการได้มีคำวินิจฉัยแล้ว ให้มีหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยพร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ขอจดทะเบียนและผู้คัดค้านทราบโดยไม่ชักช้า
               ผู้ขอจดทะเบียนหรือผู้คัดคานมีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการ โดยฟ้องคดีต่อศาลภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ
               การฟ้องคดีตามวรรคสอง จะกระทำได้ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามขั้นตอนตามมาตรา ๓๗ วรรคสอง แล้ว

               มาตรา ๓๙  ในกรณีที่มิได้มีการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๓๗ วรรคสอง หรือมิได้มีการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๓๘ วรรคสอง ให้ถือว่าคำวินิจฉัยของนายทะเบียนหรือของคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี เป็นที่สุด

               มาตรา ๔๐  ในกรณีที่ไม่มีการคัดค้านตามมาตรา ๓๕ ก็ดี หรือมีการคัดค้านตามมาตรา ๓๕ แต่ได้มีคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้ผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิจดทะเบียนก็ดี ให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้
               เมื่อได้มีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนทราบ และให้ชำระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่ง ถ้าผู้ขอจดทะเบียนไม่ชำระค่าธรรมเนียมภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าละทิ้งคำขอจดทะเบียน
               การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

               มาตรา ๔๑  ในกรณีที่ผู้คัดค้านตามมาตรา ๓๕ เป็นผู้ซึ่งได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่ตนคัดค้านนั้น และมีคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดว่าผู้คัดค้านมีสิทธิดีกว่าผู้ถูกคัดค้าน ถ้าเครื่องหมายการค้าที่ผู้คัดค้านขอจดทะเบียนนั้นมีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา ๖ และการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น ตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงโดยไม่ต้องประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านอีก

               มาตรา ๔๒๑๐  เมื่อได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายใดแล้ว ให้ถือว่าวันที่ยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นวันที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้น สำหรับกรณีตามมาตรา ๒๘ หรือมาตรา ๒๘ ทวิ ให้ถือว่าวันที่ยื่นคำขอจดทะเบียนในราชอาณาจักร เป็นวันที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้น

               มาตรา ๔๓  เมื่อได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว ให้นายทะเบียนออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนให้แก่ผู้ขอจดทะเบียนตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง
               ถ้าหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนชำรุดในสาระสำคัญหรือสูญหาย เจ้าของเครื่องหมายการค้าจะยื่นคำขอรับใบแทนหนังสือสำคัญดังกล่าวต่อนายทะเบียนก็ได้
               การออกใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง

               มาตรา ๔๔  ภายใต้บังคับมาตรา ๒๗ และมาตรา ๖๘ เมื่อได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว ผู้ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า เป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้

               มาตรา ๔๕  เครื่องหมายการค้าอันได้จดทะเบียนไว้โดยมิได้จำกัดสีนั้น ให้ถือว่าได้จดทะเบียนไว้ทุกสี

               มาตรา ๔๖  บุคคลใดจะฟ้องคดี เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียน หรือเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดสิทธิดังกล่าว ไม่ได้
               บทบัญญัติมาตรานี้ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียน ในอันที่จะฟ้องคดีบุคคลอื่นซึ่งเอาสินค้าของตนไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น

               มาตรา ๔๗  การจดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ไม่เป็นการขัดขวางบุคคลใดในการใช้โดยสุจริตซึ่งชื่อตัว ชื่อสกุล หรือชื่อสำนักงานการค้าของตนหรือของเจ้าของเดิมของกิจการของตนหรือไม่เป็นการขัดขวางบุคคลใดในการใช้คำบรรยายโดยสุจริตซึ่งลักษณะหรือคุณสมบัติแห่งสินค้าของตน


               มาตรา ๒๙ วรรคสอง ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๓
               มาตรา ๓๑ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๓๓ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๓
               มาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๓๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๓
               มาตรา ๓๖ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๓๖ วรรคสี่ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๓๗ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๔๐ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
               ๑๐ มาตรา ๔๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๓

 

 

 

ส่วนที่ ๓
การแก้ไขเปลี่ยนแปลงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

-------------------------

               มาตรา ๔๘  สิทธิในคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ได้ยื่นไว้แล้ว ย่อมโอนหรือรับมรดกกันได้
               ในกรณีที่มีการโอนสิทธิในคำขอจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้โอนหรือผู้รับโอนแจ้งให้นายทะเบียนทราบก่อนการจดทะเบียน
               ในกรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนตาย ให้ทายาทคนหนึ่งคนใดหรือผู้จัดการมรดกแจ้งให้นายทะเบียนทราบก่อนการจดทะเบียน เพื่อดำเนินการรับมรดกสิทธิในคำขอจดทะเบียนนั้นต่อไป
               การโอนหรือการรับมรดกสิทธิในคำขอจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

               มาตรา ๔๙  สิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วย่อมโอนหรือรับมรดกกันได้ ทั้งนี้ จะเป็นการโอนหรือรับมรดกพร้อมกับกิจการที่เกี่ยวกับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วหรือไม่ก็ได้
               การโอนหรือรับมรดกสิทธิในเครื่องหมายการค้าตามวรรคหนึ่ง จะเป็นการโอนหรือรับมรดกสำหรับสินค้าทั้งหมดหรือบางอย่างก็ได้

               มาตรา ๕๐  (ยกเลิก)

               มาตรา ๕๑  การโอนหรือการรับมรดกสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วต้องจดทะเบียนต่อนายทะเบียน
               การขอจดทะเบียนการโอนหรือการรับมรดกสิทธิในเครื่องหมายการค้าตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

               มาตรา ๕๑/๑  ในกรณีที่ผู้โอน ผู้รับโอน หรือผู้รับมรดกตามมาตรา ๔๘ หรือมาตรา ๔๙ ยื่นคำขอจดทะเบียน หรือรับโอนหรือรับมรดกสิทธิในคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่นายทะเบียนเห็นว่าเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่ผู้นั้นได้โอน ได้รับโอน หรือได้รับมรดก ไม่ว่าจะใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน ห้ามนายทะเบียนรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๓ หรือมาตรา ๒๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
               ในกรณีที่ปรากฏต่อนายทะเบียนว่าผู้ขอจดทะเบียน หรือผู้รับโอนหรือผู้รับมรดกสิทธิในคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามวรรคหนึ่งได้รับความยินยอมเป็นหนังสือให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้จากผู้โอน ผู้รับโอน หรือผู้รับมรดกทุกราย แล้วแต่กรณี ให้ถือว่าการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีพฤติการณ์พิเศษที่นายทะเบียนจะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันดังกล่าวให้แก่เจ้าของหลายรายก็ได้ ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๕๒  เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วอาจขอให้นายทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการการจดทะเบียนได้เฉพาะในเรื่องดังต่อไปนี้
               (๑) ยกเลิกรายการสินค้าบางอย่างที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว
               (๒) ชื่อ สัญชาติ ที่อยู่ และอาชีพของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น และของตัวแทน ถ้ามี
               (๓) สำนักงานหรือสถานที่ที่นายทะเบียนสามารถติดต่อได้
               (๔) รายการอื่นใดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
               การขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

               มาตรา ๕๒/๑  ในกรณีที่การขอจดทะเบียนการโอนหรือการรับมรดกสิทธิในเครื่องหมายการค้าไม่เป็นไปตามมาตรา ๕๑ วรรคสอง หรือการขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการการจดทะเบียนไม่เป็นไปตามมาตรา ๕๒ ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งให้ผู้ขอจดทะเบียนหรือเจ้าของเครื่องหมายการค้าแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งนั้น
               หากผู้ขอจดทะเบียนหรือเจ้าของเครื่องหมายการค้ามิได้ปฏิบัติตามหนังสือแจ้งของนายทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าละทิ้งคำขอจดทะเบียนการโอนหรือการรับมรดกสิทธิในเครื่องหมายการค้า หรือคำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการการจดทะเบียน แล้วแต่กรณี


               มาตรา ๔๙ วรรคสอง เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๕๐ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๕๑/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๕๒/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙

 

 

ส่วนที่ ๔
การต่ออายุและการเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

-------------------------

               มาตรา ๕๓  การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้มีอายุสิบปีนับแต่วันที่จดทะเบียนตามมาตรา ๔๒ และอาจต่ออายุได้ตามมาตรา ๕๔
               อายุการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามวรรคหนึ่ง มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างการดำเนินคดีทางศาลตามมาตรา ๓๘ ด้วย

               มาตรา ๕๔  เจ้าของเครื่องหมายการค้าใดประสงค์จะต่ออายุการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของตน ให้ยื่นคำขอต่ออายุต่อนายทะเบียนพร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุภายในสามเดือนก่อนวันสิ้นอายุ
               ในกรณีที่เจ้าของเครื่องหมายการค้ามิได้ยื่นคำขอต่ออายุตามวรรคหนึ่ง หากประสงค์จะต่ออายุการจดทะเบียน ให้ยื่นคำขอต่ออายุต่อนายทะเบียนพร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุและค่าธรรมเนียมเพิ่มร้อยละยี่สิบของค่าธรรมเนียมการต่ออายุภายในหกเดือนนับแต่วันสิ้นอายุการจดทะเบียน
               ในระหว่างระยะเวลาตามวรรคสอง หรือเมื่อเจ้าของเครื่องหมายการค้าได้ยื่นคำขอต่ออายุและชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองแล้ว แล้วแต่กรณี ให้ถือว่าเครื่องหมายการค้านั้นยังคงจดทะเบียนอยู่จนกว่านายทะเบียนจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
               การขอต่ออายุการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

               มาตรา ๕๕  ในกรณีที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าได้ยื่นคำขอต่ออายุและชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๕๔ วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง และนายทะเบียนเห็นว่าการขอต่ออายุเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงตามมาตรา ๕๔ วรรคสี่ ให้นายทะเบียนต่ออายุการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นอีกสิบปีนับแต่วันสิ้นอายุการจดทะเบียนเดิม หรือนับแต่วันสิ้นอายุการจดทะเบียนที่ได้ต่อไว้ครั้งสุดท้าย แล้วแต่กรณี
               ในกรณีที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าได้ยื่นคำขอต่ออายุและชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๕๔ วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แต่นายทะเบียนเห็นว่าการขอต่ออายุไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงตามมาตรา ๕๔ วรรคสี่ ให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้เจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งนั้น และมีหนังสือแจ้งคำสั่งให้เจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นทราบโดยไม่ชักช้า ถ้าเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้นายทะเบียนสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น

               มาตรา ๕๖  ในกรณีที่เจ้าของเครื่องหมายการค้ามิได้ยื่นคำขอต่ออายุและชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๕๔ วรรคสอง ให้ถือว่าเครื่องหมายการค้านั้นได้ถูกเพิกถอนการจดทะเบียนแล้ว

               มาตรา ๕๗  เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วอาจร้องขอต่อนายทะเบียนให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของตนเองได้ แต่ในกรณีที่มีการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้น การเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นต้องได้รับความยินยอมจากผู้ได้รับอนุญาตด้วย เว้นแต่สัญญาอนุญาตดังกล่าวจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
               การขอเพิกถอนการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

               มาตรา ๕๘  ในกรณีที่ปรากฏต่อนายทะเบียนว่า เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วฝ่าฝืนหรือมิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือข้อจำกัดที่นายทะเบียนกำหนดในการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น

               มาตรา ๕๙  ถ้าเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้ว หรือตัวแทนเลิกตั้งสำนักงานหรือสถานที่ที่ได้จดทะเบียนไว้ในประเทศไทยแล้ว ให้นายทะเบียนสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น
               ในกรณีที่นายทะเบียนมีเหตุอันควรเชื่อว่า เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วหรือตัวแทน เลิกตั้งสำนักงานหรือสถานที่ที่ไดจดทะเบียนไว้ในประเทศไทยแล้ว ให้นายทะเบียนแจ้งเป็นหนังสือไปยังเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นหรือตัวแทน ณ สำนักงานหรือสถานที่ที่ได้จดทะเบียนไว้ให้ชี้แจงเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากนายทะเบียน
               ถ้านายทะเบียนไม่ได้รับคำตอบภายในกำหนดเวลาตามวรรคสอง ให้ประกาศโฆษณาว่าจะเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
               ถ้านายทะเบียนยังไม่ได้รับคำตอบภายในสิบห้าวันนับแต่วันประกาศโฆษณาตามวรรคสาม ให้นายทะเบียนสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น

               มาตรา ๖๐  เมื่อนายทะเบียนได้มีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา ๕๕ วรรคสอง มาตรา ๕๘ หรือมาตรา ๕๙ วรรคหนึ่งแล้ว ให้มีหนังสือแจ้งคำสั่งดังกล่าวพร้อมด้วยเหตุผลให้เจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นทราบโดยไม่ชักช้า
               เจ้าของเครื่องหมายการค้ามีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนตามวรรคหนึ่งต่อคณะกรรมการภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของนายทะเบียน ถ้าไม่อุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าคำสั่งของนายทะเบียนเป็นที่สุด
               คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการตามวรรคสองให้เป็นที่สุด

               มาตรา ๖๑  ผู้มีส่วนได้เสียหรือนายทะเบียนอาจร้องขอต่อคณะกรรมการให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใดได้ หากแสดงได้ว่าเครื่องหมายการค้านั้นในขณะที่จดทะเบียน
               (๑) มิได้เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา ๗
               (๒) เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๘
               (๓) เป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ไม่ว่าจะใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน หรือ
               (๔) เป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ไม่ว่าจะใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน

               มาตรา ๖๒  บุคคลใดเห็นว่าเครื่องหมายการค่าใดขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือรัฐประศาสโนบาย บุคคลนั้นอาจร้องขอต่อคณะกรรมการให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้

               มาตรา ๖๓  ผู้มีส่วนได้เสียหรือนายทะเบียนอาจร้องขอต่อคณะกรรมการให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใดได้ หากพิสูจน์ได้ว่าในขณะที่ขอจดทะเบียน เจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นมิได้ตั้งใจโดยสุจริตที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ และตามความจริงก็ไม่เคยมีการใช้เครื่องหมายการค้านั้นโดยสุจริตสำหรับสินค้าดังกล่าวเลย หรือในระหว่างสามปีก่อนที่จะมีคำร้องขอให้เพิกถอนมิได้มีการใช้เครื่องหมายการค้านั้นโดยสุจริตสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ ทั้งนี้ เว้นแต่เจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นจะพิสูจน์ได้ว่า การที่มิได้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นมีสาเหตุมาจากพฤติการณ์พิเศษในทางการค้า และมิได้มีสาเหตุมาจากความตั้งใจที่จะไม่ใช้หรือจะละทิ้งเครื่องหมายการค้านั้นสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้

               มาตรา ๖๔  เมื่อได้รับคำร้องขอตามมาตรา ๖๑ มาตรา ๖๒ หรือมาตรา ๖๓ ให้คณะกรรมการมีหนังสือแจ้งให้เจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นและผู้ได้รับอนุญาต ถ้ามี ทราบเพื่อยื่นคำชี้แจงของตน คำชี้แจงดังกล่าวให้ยื่นต่อคณะกรรมการภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากคณะกรรมการ

               มาตรา ๖๕  เมื่อคณะกรรมการได้มีคำสั่งเพิกถอนหรือไม่เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา ๖๑ มาตรา ๖๒ หรือมาตรา ๖๓ ให้มีหนังสือแจ้งคำสั่งดังกล่าว พร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ร้องขอให้เพิกถอนเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น และผู้ได้รับอนุญาต ถ้ามี ทราบโดยไม่ชักช้า
               ผู้ร้องขอให้เพิกถอน เจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น หรือผู้ได้รับอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่งต่อศาลภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของคณะกรรมการถ้าไม่อุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าคำสั่งของคณะกรรมการเป็นที่สุด

               มาตรา ๖๖  ผู้มีส่วนได้เสียหรือนายทะเบียนอาจร้องขอต่อศาลให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใดได้ หากแสดงได้ว่าในขณะที่ร้องขอนั้นเครื่องหมายการค้านั้นได้กลายเป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายสำหรับสินค้าบางอย่างหรือบางจำพวก จนกระทั่งในวงการค้าหรือในสายตาของสาธารณชน เครื่องหมายการค้านั้นได้สูญเสียความหมายของการเป็นเครื่องหมายการค้าไปแล้ว

               มาตรา ๖๗  ภายในห้าปีนับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใดตามมาตรา ๔๐ ผู้มีส่วนได้เสียอาจร้องขอต่อศาลให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้ หากแสดงได้ว่าตนมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าผู้ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น
               ถ้าผู้ร้องแสดงได้แต่เพียงว่า ตนมีสิทธิดีกว่าเฉพาะสินค้าบางอย่างในจำพวกของสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ ให้ศาลมีคำสั่งจำกัดสิทธิแห่งการจดทะเบียนให้อยู่เฉพาะสินค้าที่ผู้ร้องไม่ได้แสดงว่าตนมีสิทธิดีกว่า


               มาตรา ๕๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๕๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๕๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๖๐ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๖๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๓
               มาตรา ๖๑ (๓) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๖๑ (๔) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙

 

ส่วนที่ ๕
การอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า

-------------------------

               มาตรา ๖๘  เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วจะทำสัญญาอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้เครื่องหมายการค้าของตน สำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ทั้งหมดหรือบางอย่างก็ได้
               สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าตามวรรคหนึ่ง ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียน
               การขอจดทะเบียนสัญญาอนุญาตดังกล่าวตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่คำขอจดทะเบียนนั้นอย่างน้อยต้องแสดงรายการดังต่อไปนี้
               (๑) เงื่อนไขหรือขอกำหนดระหว่างเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น และผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้ได้รับอนุญาต ที่จะทำให้เจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นสามารถควบคุมคุณภาพของสินค้าของผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้ได้รับอนุญาตได้อย่างแท้จริง
               (๒) สินค้าที่จะได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้น

               มาตรา ๖๙  ในกรณีที่นายทะเบียนเห็นว่าสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าตามมาตรา ๖๘ จะไม่เป็นการทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิด และไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือรัฐประศาสโนบาย ให้นายทะเบียนมีคำสั่งรับจดทะเบียนสัญญาอนุญาตดังกล่าวโดยจะมีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดใดเพื่อประโยชน์ดังกล่าวก็ได้ แต่ถ้านายทะเบียนเห็นว่าสัญญาอนุญาตดังกล่าวจะเป็นการทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิด หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบาย ให้นายทะเบียนมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนสัญญาอนุญาตดังกล่าว
               เมื่อนายทะเบียนได้มีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดตามวรรคหนึ่งแล้วให้มีหนังสือแจ้งคำสั่งให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าและผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้ได้รับอนุญาตทราบโดยไม่ชักช้า ในกรณีที่นายทะเบียนได้มีคำสั่งรับจดทะเบียนโดยมีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดหรือมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนให้แจ้งเหตุผลให้บุคคลดังกล่าวทราบด้วย
               เจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้ได้รับอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนตามวรรคหนึ่งต่อคณะกรรมการภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของนายทะเบียน ถ้าไม่อุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าคำสั่งของนายทะเบียนเป็นที่สุด
               คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการตามวรรคสามให้เป็นที่สุด

               มาตรา ๗๐  การใช้เครื่องหมายการค้าโดยผู้ได้รับอนุญาตสำหรับสินค้าในการประกอบธุรกิจของตนตามที่ได้รับอนุญาตไว้ ให้ถือว่าเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าโดยเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น

               มาตรา ๗๑  เจ้าของเครื่องหมายการค้าและผู้ได้รับอนุญาตอาจร่วมกันร้องขอต่อนายทะเบียนให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าในส่วนที่เกี่ยวกับสินค้าที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้น หรือในส่วนที่เกี่ยวกับเงื่อนไขหรือข้อจำกัดที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าได้กำหนดไว้ในสัญญาอนุญาตดังกล่าวได้ และให้นำมาตรา ๖๙ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
               การขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

               มาตรา ๗๒  เจ้าของเครื่องหมายการค้าและผู้ได้รับอนุญาตอาจร่วมกันร้องขอต่อนายทะเบียนให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าได้
               เจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือผู้ได้รับอนุญาตฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด อาจร้องขอต่อนายทะเบียนให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า หากแสดงได้ว่าสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว
               ผู้มีส่วนได้เสียหรือนายทะเบียนอาจร้องขอต่อคณะกรรมการให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าได้ หากแสดงได้ว่า
               (๑) การใช้เครื่องหมายการค้าโดยผู้ได้รับอนุญาตนั้นทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือรัฐประศาสโนบาย หรือ
               (๒) เจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นไม่อาจควบคุมคุณภาพของสินคาที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นได้อย่างแท้จริงอีกต่อไป
               การขอเพิกถอนการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

               มาตรา ๗๓  เมื่อได้รับคำร้องขอตามมาตรา ๗๒ วรรคสองหรือวรรคสาม ให้นายทะเบียนหรือคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี มีหนังสือแจ้งให้เจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นหรือผู้ได้รับอนุญาต แล้วแต่กรณี ทราบเพื่อยื่นคำชี้แจงของตนภายในเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่าสิบห้าวันและไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากนายทะเบียนหรือคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี
               ในการพิจารณาคำร้องขอตามมาตรา ๗๑ หรือมาตรา ๗๒ นายทะเบียนหรือคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี จะให้บุคคลที่เกี่ยวข้องนำพยานหลักฐานมาแสดงหรือชี้แจงเพิ่มเติมก็ได้

               มาตรา ๗๔  เมื่อนายทะเบียนได้มีคำสั่งตามมาตรา ๗๒ วรรคสองแล้วให้มีหนังสือแจ้งคำสั่งพร้อมด้วยเหตุผลให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าและผู้ได้รับอนุญาตทราบโดยไม่ชักช้า คำสั่งดังกล่าวให้มีผลนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากนายทะเบียน
               เจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือผู้ได้รับอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนตามวรรคหนึ่งต่อคณะกรรมการภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากนายทะเบียน ถ้าไม่อุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าคำสั่งของนายทะเบียนเป็นที่สุด
               คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการตามวรรคสองให้เป็นที่สุด

               มาตรา ๗๕  เมื่อคณะกรรมการได้มีคำสั่งตามมาตรา ๗๒ วรรคสามแล้วให้มีหนังสือแจ้งคำสั่งพร้อมด้วยเหตุผลให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าผู้ได้รับอนุญาต ผู้มีส่วนได้เสียซึ่งเป็นผู้ร้องขอและนายทะเบียนทราบโดยไม่ชักช้า คำสั่งดังกล่าวให้มีผลนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากคณะกรรมการ
               ผู้มีส่วนได้เสียหรือนายทะเบียนมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่งต่อศาลภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากคณะกรรมการ ถ้าไม่อุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าคำสั่งของคณะกรรมการเป็นที่สุด

               มาตรา ๗๖  ในกรณีที่มีการเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใด การอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นย่อมสิ้นผลไปด้วย

               มาตรา ๗๗  ในกรณีที่สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น เจ้าของเครื่องหมายการค้ามีสิทธิที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นเสียเองหรือจะอนุญาตให้บุคคลอื่นนอกจากผู้ได้รับอนุญาตใช้เครื่องหมายการค้านั้นอีกก็ได้

               มาตรา ๗๘  ในกรณีที่สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ผู้ได้รับอนุญาตมีสิทธิที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นได้ทั่วประเทศสำหรับสินค้าทั้งหมดที่ได้จดทะเบียนไว้ตลอดอายุการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น รวมทั้งในกรณีที่มีการต่ออายุการจดทะเบียนด้วย

               มาตรา ๗๙  ในกรณีที่สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ผู้ได้รับอนุญาตจะโอนการอนุญาตตามสัญญาดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอกไม่ได้และจะอนุญาตช่วงให้บุคคลอื่นใช้เครื่องหมายการค้านั้นอีกทอดหนึ่งก็ไม่ได้

               มาตรา ๗๙/๑  ในกรณีที่สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าย่อมไม่ระงับไปเพราะเหตุการโอนหรือการรับมรดกสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่มีการทำสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้น


               มาตรา ๖๙ วรรคสาม แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๗๔ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๗๔ วรรคสาม เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๓
               มาตรา ๗๙/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙

 

 

 

 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
mini_call_to_action_picture

ทนายความมากกว่า 500 คน ทั่วประเทศ พร้อมให้คำปรึกษา เพียง 33 บาท