Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-19

ลักษณะ ๑ บทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไป,หมวด ๒ การใช้กฎหมายอาญา (มาตรา 2)


 

“มาตรา 2 หรือ มาตรา 2 อาญา คืออะไร?


“มาตรา 2 ” หรือ “มาตรา 2 อาญา” คือหนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายอาญา 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย
              ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง”

 

ปรึกษาปัญหาทางกฎหมายฟรี
ตลอด 24 ชั่วโมง

  • ทนายให้ ปรึกษามากกว่า 3000 ครั้ง
    ฟรีบนแพล็ตฟอร์ม
  • ฟรี และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
  • ปรึกษาได้ทุกเรื่องราว ไม่ระบุตัวตนของผู้ถาม


3 ตัวอย่างจริงของการใช้ “มาตรา 2” หรือ “มาตรา 2 อาญา” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2623/2565
พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 มาตรา 49 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 กำหนดว่า ผู้ใดประสงค์จะเป็นมัคคุเทศก์ก็ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์จากนายทะเบียน การขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต การต่อใบอนุญาตและการออกใบแทนใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งถือเป็นบทกฎหมายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในการประกอบอาชีพ และมีการกำหนดโทษทางอาญาไว้ตามมาตรา 86 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น การพิจารณาว่าใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์เฉพาะพื้นที่ บัตรสีชมพู มีเงื่อนไขห้ามนำเที่ยวทางทะเลชายฝั่งในพื้นที่ที่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ จึงต้องตีความบทกฎหมายดังกล่าวตลอดจนข้อกำหนดในกฎกระทรวงโดยเคร่งครัด จะตีความเพื่อขยายความให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยหาได้ไม่ เพราะจะขัดต่อความรับผิดของบุคคลในการรับโทษทางอาญาตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคหนึ่ง เมื่อกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2539) ออกตามความในพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2535 ซึ่งคู่ความนำสืบรับกันว่ามีผลใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ ข้อ 1 กำหนดว่า ให้ยกเลิกความในข้อ 1 แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2536) ออกตามความในพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2535 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ 1 การอนุญาตให้เป็นมัคคุเทศก์ แบ่งเป็นสองประเภท ดังนี้ (1) มัคคุเทศก์ทั่วไป หมายความว่า มัคคุเทศก์ซึ่งมีความรู้เกี่ยวกับงานนำเที่ยวครอบคลุมในทุกสาขา สำหรับนำนักท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่าง ๆ โดยใช้ภาษาไทยหรือภาษาต่างประเทศ (2) มัคคุเทศก์เฉพาะ หมายความว่า มัคคุเทศก์ซึ่งมีความรู้เกี่ยวกับงานนำเที่ยวเฉพาะสาขา เช่น สาขาประวัติศาสตร์ โบราณคดี และการนำเที่ยวป่า เป็นต้น อันเป็นการให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวที่มีความสนใจในสาขานั้น ๆ ตามที่นักท่องเที่ยวต้องการจะทราบ...” และ ข้อ 2 กำหนดว่า ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของข้อ 5 แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2536) ออกตามความในพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2535 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ 5 ใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ก็มีสองประเภท ดังนี้ (1) ใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ทั่วไป ให้ใช้ได้ทั่วราชอาณาจักรตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต (2) ใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์เฉพาะ ให้ใช้ได้เฉพาะงานนำเที่ยวเฉพาะสาขาและตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต” จะเห็นว่าไม่มีข้อความตอนใดที่กล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับมัคคุเทศก์เฉพาะพื้นที่ให้ได้ความชัดเจน ทั้งที่เหตุผลในการออกกฎกระทรวงท้ายกฎกระทรวงระบุว่า “มัคคุเทศก์เฉพาะปฏิบัติงานนำเที่ยวได้เฉพาะสาขาหรือเฉพาะพื้นที่..” แสดงถึงเจตนารมณ์ในการออกกฎกระทรวงที่ต้องการแยกเงื่อนไขในการใช้ใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์เฉพาะสาขาและเฉพาะพื้นที่ออกจากกัน ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเงื่อนไขการใช้ใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์เฉพาะตามข้อกำหนดในกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวซึ่งระบุว่าให้ใช้ได้เฉพาะงานนำเที่ยวเฉพาะสาขาจะหมายความรวมถึงใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์เฉพาะพื้นที่ด้วยหรือไม่ ประกอบกับใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์เฉพาะพื้นที่ของจำเลย ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขห้ามนำเที่ยวเฉพาะสาขาด้วยแล้ว กรณีจึงต้องตีความให้เป็นคุณแก่จำเลยว่า ใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์เฉพาะพื้นที่ บัตรสีชมพู ซึ่งออกตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2539) ไม่มีเงื่อนไขที่กำหนดห้ามนำเที่ยวทางทะเลชายฝั่งในพื้นที่ที่ได้รับใบอนุญาต เมื่อพิจารณาเงื่อนไขในการใช้ใบอนุญาตมัคคุเทศก์ชนิดต่าง ๆ มัคคุเทศก์เฉพาะทางทะเลชายฝั่ง บัตรสีเหลือง สามารถนำเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยวชาวไทย หรือชาวต่างประเทศในเขตพื้นที่ทางทะเลหรือเกาะต่าง ๆ โดยมีระยะจากชายฝั่งถึงสถานที่ท่องเที่ยวได้ไม่เกิน 40 ไมล์ทะเล ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ชนิดนี้สามารถนำเที่ยวทางทะเลชายฝั่งได้ทั่วราชอาณาจักร ซึ่งมีความแตกต่างจากมัคคุเทศก์เฉพาะพื้นที่ บัตรสีชมพู ที่สามารถนำเที่ยวทะเลชายฝั่ง (หากมี) ได้เฉพาะพื้นที่จังหวัดที่ระบุไว้บนบัตรและจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกันเท่านั้น แม้รายละเอียดของหลักสูตรการฝึกอบรมวิชามัคคุเทศก์เฉพาะพื้นที่แนบท้ายประกาศคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เรื่อง หลักสูตรการฝึกอบรมวิชามัคคุเทศก์ พ.ศ. 2556 จะไม่มีการอบรมเกี่ยวกับหลักสูตรพื้นที่ทางทะเล แต่โจทก์ก็ไม่อาจอ้างข้อบกพร่องในเรื่องดังกล่าวซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากความไม่ชัดเจนของข้อกำหนดในกฎกระทรวงเพื่อให้มีการตีความขยายข้อกำหนดในกฎกระทรวงอันจะเป็นผลร้ายแก่จำเลยได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์โดยไม่ได้รับอนุญาต


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1143/2565
จำเลยกระทำความผิดเมื่อระหว่างวันที่ 10 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 14 มกราคม 2561 ต่อมาเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2562 มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562 มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 106/2557 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 7 ไม้ชนิดใดที่ขึ้นในป่าจะให้เป็นไม้หวงห้ามประเภทใด ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา สำหรับไม้ทุกชนิดที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตาม ป.ที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม หรือไม้ที่ปลูกขึ้นในที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ตามประเภทหนังสือแสดงสิทธิที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ให้ถือว่าไม่เป็นไม้หวงห้าม” และระหว่างพิจารณาคดีของศาลฎีกา เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมออกประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ตามประเภทหนังสือแสดงสิทธิเพื่อให้ไม้ที่ปลูกขึ้นในที่ดินดังกล่าวไม่เป็นไม้หวงห้าม พ.ศ. 2563 ข้อ 2 บัญญัติว่า “ให้ที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประเภทหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินตามแบบ ส.ป.ก. 4-01 ส.ป.ก. 4-01 ก ส.ป.ก. 4-01 ข ส.ป.ก. 4-01 ค หรือ ส.ป.ก. 4-01 ช เป็นที่ดินซึ่งไม้ที่ปลูกขึ้นในที่ดินดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นไม้หวงห้ามความตามวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับไม้ที่ปลูกขึ้นในที่ดินดังกล่าวก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับด้วย”ได้ความจากการไต่สวนพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นตามที่ศาลฎีกามีคำสั่งว่า ไม้สักตามฟ้องที่จำเลยทำไม้ และไม้สักที่จำเลยมีไว้ในครอบครองนั้นเป็นไม้ที่ปลูกขึ้นในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งจำเลยได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์และจำเลยได้ปลูกไม้สักที่จำเลยเข้าไปทำไม้โดยการตัดเป็นท่อนและมีไว้ในครอบครอง การกระทำของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับไม้สักดังกล่าวข้างต้นจึงไม่เป็นความผิดฐานทำไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานมีไม้สักอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 อีกต่อไป ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง และเมื่อฟังไม่ได้ว่าไม้สักของกลางเป็นไม้หวงห้าม จึงไม่อาจริบได้ ต้องคืนให้แก่เจ้าของ


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 776/2565
จำเลยกระทำความผิดฐานประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ภายหลังคดีถึงที่สุด เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2562 ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 6/2562 กำหนดไว้ในข้อ 2 (1) ของคำสั่งดังกล่าว ให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมซึ่งใช้อาคารในการประกอบธุรกิจโรงแรมอยู่ในวันก่อนที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ และอาคารนั้นมีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ. 2547 ไปแจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบถึงการฝ่าฝืนและดำเนินการปรับปรุงระบบความปลอดภัยด้านอัคคีภัยให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงฉบับที่ 47 (พ.ศ. 2540) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แล้วติดตั้งเครื่องดับเพลิงแบบมือถือ 1 เครื่อง ต่อพื้นที่อาคารไม่เกิน 200 ตารางเมตร ทุกระยะไม่เกิน 30 เมตร แต่ไม่น้อยกว่าชั้นละ 2 เครื่อง ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งมีผลใช้บังคับ พร้อมทั้งยื่นเอกสารหรือหลักฐานเพื่อประกอบการตรวจสอบ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนด จำเลยได้แจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบถึงการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทยแล้ว และสถานที่ประกอบกิจการของจำเลยได้ดำเนินการแก้ไขตามอาคารที่มีลักษณะตามข้อ 2 วรรคหนึ่ง ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาตินี้ถูกต้องเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าว ข้อ 4 กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมซึ่งผ่านการตรวจสอบจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นแล้ว ได้รับยกเว้นโทษอาญาสำหรับความผิดตามข้อ 2 ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ดังนี้ ถือว่ากรณีเป็นเรื่องที่มีกฎหมายบัญญัติในภายหลังบัญญัติให้การกระทำของจำเลยไม่ต้องรับโทษ จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสองกรณีของจำเลยต้องตามบทบัญญัติของ ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวได้แยกผลของการกระทำความผิดและการบังคับโทษตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดแล้วจากกันต่างหาก กล่าวคือ ในส่วนของการบังคับตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดนั้นหากมีส่วนใดที่ยังค้างอยู่ระหว่างการบังคับ ก็ให้การบังคับนั้นสิ้นสุดลง ไม่มีการบังคับในส่วนที่ค้างอยู่อีกต่อไปเท่านั้น หาได้มีผลให้รื้อฟื้นการบังคับโทษที่เสร็จสิ้นไปแล้วขึ้นมาพิจารณาใหม่อีกแต่อย่างใด โทษที่ได้รับมาแล้วต้องถือว่ายุติไปตามผลของคำพิพากษา ดังนั้น ค่าปรับที่จำเลยได้ชำระไปตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นถือว่าการบังคับโทษปรับในส่วนนั้นเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยจึงไม่อาจถอนคืนได้
 


 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
mini_call_to_action_picture

ทนายความมากกว่า 500 คน ทั่วประเทศ พร้อมให้คำปรึกษา เพียง 33 บาท