Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-25

มาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

“มาตรา 84 หรือ มาตรา 84 อาญา คืออะไร?


“มาตรา 84 ” หรือ “มาตรา 84 อาญา” คือหนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายอาญา 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วานหรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด
              ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำ หรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
              ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ และถ้าผู้ถูกใช้เป็นบุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี ผู้พิการ ผู้ทุพพลภาพ ลูกจ้างหรือผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้ใช้ ผู้ที่มีฐานะยากจน หรือผู้ต้องพึ่งพาผู้ใช้เพราะเหตุป่วยเจ็บหรือไม่ว่าทางใด ให้เพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้ใช้กึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับผู้นั้น”

 

ปรึกษาปัญหาทางกฎหมายฟรี
ตลอด 24 ชั่วโมง

  • ทนายให้ ปรึกษามากกว่า 3000 ครั้ง
    ฟรีบนแพล็ตฟอร์ม
  • ฟรี และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
  • ปรึกษาได้ทุกเรื่องราว ไม่ระบุตัวตนของผู้ถาม


3 ตัวอย่างจริงของการใช้ “มาตรา 84” หรือ “มาตรา 84 อาญา” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3429/2563
ผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดจะมีความผิดและถูกลงโทษฐานใช้ให้กระทำความผิดแม้ความผิดนั้นยังมิได้กระทำลงตาม ป.อ. มาตรา 84 วรรคสอง นั้น ข้อเท็จจริงต้องฟังได้ว่าผู้นั้นได้ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดข้อหาใด ต่อบุคคลใดอย่างชัดเจน ผู้ถูกใช้จึงจะสามารถลงมือกระทำความผิดนั้นได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 3 บอกจำเลยที่ 2 ให้หาคนมายิงผู้เสียหายทั้งห้า คงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ 2 ชักชวนให้จำเลยที่ 1 รับงานยิงคนที่ทะเลน้อย โดยไม่ปรากฏว่ายิงผู้ใด จำเลยที่ 1 ไม่อาจจะไปใช้อาวุธปืนยิงผู้ใดได้ ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงมือก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดฐานใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7639/2562
การที่จำเลยซึ่งเป็นนักโทษได้นัดหมายให้บุคคลภายนอกที่เข้ามาเยี่ยมนักโทษให้นำเอา โทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมอุปกรณ์มาส่งมอบแก่จำเลยในเรือนจำ เมื่อจำเลยได้รับโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมอุปกรณ์แล้วก็ลักลอบนำเข้าแดนตนเองจนถูกจับกุมดำเนินคดีนั้น เมื่อ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 มาตรา 45 (เดิม) ที่ใช้อยู่ในขณะจำเลยกระทำความผิด มิได้บัญญัติให้การครอบครองหรือการเก็บรักษาไว้ซึ่งสิ่งของต้องห้ามในเรือนจำเป็นความผิด การที่จำเลยครอบครองและเก็บรักษาไว้ซึ่งสิ่งของต้องห้าม คือโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมอุปกรณ์ของกลางที่บุคคลภายนอกนำมาส่งให้ การกระทำของจำเลยเป็นเพียงการผิดระเบียบของเรือนจำ และเป็นเรื่องที่จำเลยอาจต้องรับผิดทางวินัยของผู้ต้องขัง แต่ยังถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ส่วนการที่บุคคลภายนอกลักลอบนำโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมอุปกรณ์อันเป็นสิ่งของต้องห้ามเข้ามาให้จำเลยในเรือนจำ การกระทำของบุคคลภายนอกย่อมเป็นความผิดฐานนำสิ่งของต้องห้ามเข้ามาในเรือนจำ แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยกับบุคคลภายนอกเป็นพวกเดียวกันมาก่อน จำเลยเพิ่งรู้จักเมื่อบุคคลภายนอกมาเยี่ยมผู้ต้องขัง และไม่ได้ความว่ามีการวางแผนแบ่งหน้าที่กันกระทำผิด ทั้งจำเลยต้องขังอยู่มิได้ออกไปนอกเรือนจำ การกระทำของจำเลยจึงไม่อาจเป็นตัวการร่วมกับบุคคลภายนอกได้ แต่ถือว่าจำเลยเป็นผู้ก่อให้บุคคลภายนอกกระทำการอันเป็นความผิด จำเลยจึงเป็นผู้ใช้ตาม ป.อ. มาตรา 84 ซึ่งเป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในชั้นพิจารณาแตกต่างจากคำฟ้องในข้อสาระสำคัญ ย่อมลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดไม่ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง การกระทำของจำเลยยังคงถือได้ว่าเป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดนั้น ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนได้แม้โจทก์มิได้กล่าวในฟ้อง เนื่องจากความผิดฐานเป็นตัวการหรือผู้ใช้ย่อมรวมความผิดฐานผู้สนับสนุนด้วยในตัวเอง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยและปรับบทให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6653/2562
แม้จำเลยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการที่สังกัดในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่อำนาจหน้าที่ในการบรรจุแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการระดับ 8 ให้อธิบดีผู้บังคับบัญชาเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ดังกล่าวเมื่อได้รับความเห็นชอบจากปลัดกระทรวง ไม่ใช่เป็นอำนาจหน้าที่ของปลัดกระทรวงโดยตรง จำเลยในฐานะปลัดกระทรวง จึงไม่มีอำนาจสั่งย้ายโจทก์ไปดำรงตำแหน่งป่าไม้จังหวัดอำนาจเจริญด้วยตนเอง จึงขาดคุณสมบัติเฉพาะตัวตามที่กฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะ ไม่อาจลงโทษจำเลยในฐานะเป็นตัวการเพราะใช้ให้กระทำความผิดได้ แต่การที่จำเลยให้ ด. ออกคำสั่งย้ายโจทก์ ถือได้ว่าเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ตาม ป.อ. มาตรา 86 ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดส่วนนี้ได้
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
mini_call_to_action_picture

ทนายความมากกว่า 500 คน ทั่วประเทศ พร้อมให้คำปรึกษา เพียง 33 บาท