“มาตรา 76 หรือ มาตรา 76 อาญา คืออะไร?
“มาตรา 76 ” หรือ “มาตรา 76 อาญา” คือหนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายอาญา
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดอายุตั้งแต่สิบแปดปีแต่ยังไม่เกินยี่สิบปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นลงหนึ่งในสามหรือกึ่งหนึ่งก็ได้”
3 ตัวอย่างจริงของการใช้ “มาตรา 76” หรือ “มาตรา 76 อาญา” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3345/2560
เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยแล้วเห็นว่า พฤติการณ์แห่งคดียังไม่สมควรลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราขั้นต่ำตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 แต่เห็นสมควรลงโทษจำเลยเบากว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ และลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 76 ซึ่งความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อศาลอุทธรณ์ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามแล้ว คงระวางโทษที่จะลงแก่จำเลยจำคุกตั้งแต่สี่เดือนถึงสองปี หรือปรับตั้งแต่หกพันหกร้อยหกสิบหกบาทหกสิบหกสตางค์ถึงสี่หมื่นบาท ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 76 แล้วจำคุก 3 เดือน เป็นการลงโทษจำคุกจำเลยต่ำกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17058/2555
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, วรรคสาม (2), 66 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 19 ปี ลดโทษมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 76 ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี 4 เดือน และปรับ 140,000 บาท จำเลยอุทธรณ์การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 และลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 20,000 บาท โดยไม่ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 76 นั้นถือได้ว่าเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย โดยที่โจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้ไม่ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งแก่จำเลย เป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ มาตรา 212 แม้จำเลยไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. 225 ประกอบมาตรา 195 วรรคสอง
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1085/2554
การลดมาตราส่วนโทษให้แก่จำเลยกึ่งหนึ่งนั้น ศาลต้องลดอัตราโทษขั้นสูงและขั้นต่ำจากโทษที่กฎหมายกำหนดสำหรับความผิดที่จำเลยกระทำลงกึ่งหนึ่ง แล้วจึงกำหนดโทษจำเลยในระวางโทษที่ลดแล้วนั้น จะกำหนดโทษจำเลยก่อน แล้วลดมาตราส่วนโทษลงย่อมไม่ถูกต้อง
ศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำเลยจำคุก 18 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 9 ปี แม้ไม่ถูกต้อง แต่การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว จำคุก 12 ปี โดยโจทก์ไม่อุทธรณ์ ย่อมเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 225