Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-25

มาตรา 74 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

“มาตรา 74 หรือ มาตรา 74 อาญา คืออะไร?


“มาตรา 74 ” หรือ “มาตรา 74 อาญา” คือหนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายอาญา 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “เด็กอายุกว่าสิบสองปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปี กระทําการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอํานาจที่จะดําเนินการ ดังต่อไปนี้
              (๑) ว่ากล่าวตักเตือนเด็กนั้นแล้วปล่อยตัวไป และถ้าศาลเห็นสมควรจะเรียกบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่มาตักเตือนด้วยก็ได้
              (๒) ถ้าศาลเห็นว่าบิดา มารดา หรือผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กนั้นได้ ศาลจะมีคําสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้แก่บิดา มารดา หรือผู้ปกครองไป โดยวางข้อกําหนดให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกําหนดซึ่งต้องไม่เกินสามปีและกําหนดจํานวนเงินตามที่เห็นสมควรซึ่งบิดา มารดา หรือผู้ปกครองจะต้องชําระต่อศาลไม่เกินครั้งละหนึ่งหมื่นบาท ในเมื่อเด็กนั้นก่อเหตุร้ายขึ้น แต่ถ้าเด็กนั้นอาศัยอยู่กับบุคคลอื่นนอกจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง และศาลเห็นว่าไม่สมควรจะเรียกบิดา มารดา หรือผู้ปกครองมาวางข้อกําหนดดังกล่าวข้างต้น ศาลจะเรียกตัวบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่มาสอบถามว่าจะยอมรับข้อกําหนดทํานองที่บัญญัติไว้สําหรับบิดา มารดา หรือผู้ปกครองดังกล่าวมาข้างต้นหรือไม่ก็ได้ ถ้าบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ยอมรับข้อกําหนดเช่นว่านั้น ก็ให้ศาลมีคําสั่งมอบตัวเด็กให้แก่บุคคลนั้นไปโดยวางข้อกําหนดดังกล่าว

 

ปรึกษาปัญหาทางกฎหมายฟรี
ตลอด 24 ชั่วโมง

  • ทนายให้ ปรึกษามากกว่า 3000 ครั้ง
    ฟรีบนแพล็ตฟอร์ม
  • ฟรี และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
  • ปรึกษาได้ทุกเรื่องราว ไม่ระบุตัวตนของผู้ถาม


              (๓) ส่งตัวเด็กนั้นไปยังสถานศึกษา หรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานแนะนําทางจิต หรือสถานที่ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก ตลอดระยะเวลาที่ศาลกําหนด แต่ไม่ให้เกินกว่าวันที่เด็กนั้นจะมีอายุครบสิบแปดปี
              ในกรณีที่ศาลมอบตัวเด็กให้แก่บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ตาม (๒) ศาลจะกําหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติเด็กนั้นเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๖ ด้วยก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลแต่งตั้งพนักงานคุมประพฤติหรือพนักงานอื่นใดเพื่อคุมความประพฤติเด็กนั้น
              ในกรณีที่เด็กนั้นไม่มีบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง หรือมีแต่ศาลเห็นว่าไม่สามารถดูแลเด็กนั้นได้ หรือในกรณีที่เด็กอาศัยอยู่กับบุคคลอื่นนอกจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง และบุคคลนั้นไม่ยอมรับข้อกําหนดดังกล่าวใน (๒) ศาลจะมีคําสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้อยู่กับบุคคลหรือองค์การที่ศาลเห็นสมควร เพื่อดูแล อบรม และสั่งสอนตามระยะเวลาที่ศาลกําหนดก็ได้ในเมื่อบุคคลหรือองค์การนั้นยินยอม ในกรณีเช่นว่านี้ ให้บุคคลหรือองค์การนั้นมีอํานาจเช่นผู้ปกครองเฉพาะเพื่อดูแล อบรม และสั่งสอน รวมตลอดถึงการกําหนดที่อยู่และการจัดให้เด็กมีงานทําตามสมควรหรือให้ดําเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นก็ได้
              คําสั่งของศาลดังกล่าวใน (๒) (๓) วรรคสอง และวรรคสามนั้น ถ้าในขณะใดภายในระยะเวลาที่ศาลกําหนดไว้ ความปรากฏแก่ศาลโดยศาลรู้เองหรือตามคําเสนอของผู้มีส่วนได้เสีย พนักงานอัยการ หรือบุคคลหรือองค์การที่ศาลมอบตัวเด็กเพื่อดูแล อบรม และสั่งสอน หรือเจ้าพนักงานว่าพฤติการณ์เกี่ยวกับคําสั่งนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป ก็ให้ศาลมีอํานาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขคําสั่งนั้นหรือมีคําสั่งใหม่ตามอํานาจในมาตรานี้”


3 ตัวอย่างจริงของการใช้ “มาตรา 74” หรือ “มาตรา 74 อาญา” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10272/2559
พฤติการณ์ที่จำเลยเป็นฝ่ายโทรศัพท์นัดหมายผู้เสียหายที่ 1 แล้วขับรถจักรยานยนต์พา อ. นั่งซ้อนท้ายไปรับผู้เสียหายที่ 1 หน้าโรงเรียนและพาออกนอกเส้นทางไปที่ร้านถ่ายรูป และไปขายบริการที่โรงแรมก็ดี และมีการรับตัวผู้เสียหายที่ 1 ไปพักที่บ้าน ด. ก็ดี แล้วผู้เสียหายที่ 1 ถูก อ. กระทำชำเราล้วนบ่งชี้ให้เห็นว่า จำเลยกับ อ. ได้นัดกันไว้แล้วล่วงหน้า แม้ผู้เสียหายที่ 1 จะยินยอมสมัครใจเดินทางไปทุกหนแห่งกับจำเลยและ อ. รวมทั้งยินยอมให้ อ. กระทำชำเราก็ตาม แต่ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาของผู้เสียหายที่ 1 มิได้ตกลงยินยอมด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการก้าวล่วง กระทบกระเทือนต่ออำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 และขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 อายุเพียง 14 ปีเศษ ความยินยอมของผู้เสียหายที่ 1 หาได้มีผลทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดแต่อย่างใดไม่ พฤติการณ์ของจำเลยมีลักษณะเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำระหว่างจำเลยกับพวก การกระทำของจำเลยจึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิด ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารและร่วมกันพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร หาใช่เป็นเพียงผู้สนับสนุนไม่
ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 14 ปีเศษ ไม่ต้องรับโทษ ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 2 (จังหวัดราชบุรี) มีกำหนดขั้นต่ำ 1 ปี ขั้นสูง 2 ปี แต่ไม่เกินกว่าจำเลยมีอายุสิบแปดปี ตาม ปอ. มาตรา 74 (5) โดยมีเจตนารมณ์เพื่อแก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของจำเลยให้กลับตนเป็นคนดี แต่ปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยมีอายุครบสิบแปดปี ศาลจึงไม่อาจส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกและอบรมได้ จึงสมควรที่จะดำเนินการแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 74 ประการอื่นที่เหมาะสมแก่จำเลย โดยเห็นว่าควรมอบตัวจำเลยให้มารดา หรือผู้ปกครองซึ่งยังสามารถดูแลจำเลยได้ไป โดยวางข้อกำหนดให้มารดาหรือผู้ปกครองปฏิบัติตามและเพื่อให้จำเลยหลาบจำตามมาตรา 74 (2) เห็นสมควรกำหนดวิธีการและเงื่อนไขเพื่อคุมประพฤติจำเลยตามมาตรา 74 (3) ด้วย


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6065/2559
แม้ ป.อ. มาตรา 74 (3) กำหนดให้ศาลมีอำนาจที่จะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมประพฤติเด็ก ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 56 โดยมาตรา 56 (5) กำหนดให้ศาลสามารถกำหนดเงื่อนไขอื่นๆ ตามที่ศาลเห็นสมควร แต่เงื่อนไขดังกล่าว ย่อมต้องเป็นไปเพื่อแก้ไข ฟื้นฟู หรือป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดกระทำหรือมีโอกาสกระทำความผิดขึ้นอีก ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่มุ่งเน้นคุ้มครองสังคมและฟื้นฟูตัวผู้กระทำความผิดเป็นสำคัญ ในขณะเดียวกันก็เพื่อให้ผู้กระทำความผิดหลาบจำไม่ก่อเหตุซ้ำอีก โดยเงื่อนไขดังกล่าวย่อมต้องเป็นไปในทำนองที่บัญญัติไว้ใน (1) (2) (3) หรือ (4) คือเป็นบทบังคับเกี่ยวกับตัวเด็กซึ่งเป็นผู้กระทำความผิด ทั้งมาตรการเยียวยาความเสียหายในทางแพ่งก็มีกฎหมายบัญญัติไว้ต่างหากแล้ว และคดีนี้ศาลพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องเป็นเงิน 520,000 บาท แล้ว การกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติจำเลย โดยกำหนดให้จำเลยและผู้ปกครองเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ร้องเดือนละ 2,000 บาท เป็นเวลา 1 ปี จึงเป็นการซ้ำซ้อนกับค่าสินไหมทดแทนที่ผู้เสียหายมีสิทธิได้รับจากจำเลย และเงื่อนไขดังกล่าวไม่ได้เป็นไปเพื่อแก้ไข ฟื้นฟู หรือป้องกันไม่ให้กระทำความผิดขึ้นอีก ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 56 (5) การที่ศาลชั้นต้นกำหนดเงื่อนไขการคุมประพฤติดังกล่าวจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5826/2558
จำเลยฎีกาโดยคัดลอกข้อความตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 และกล่าวไว้ในท้ายฎีกาว่า ขอให้ศาลฎีกาพิจารณาพิพากษาใหม่อีกครั้งหนึ่งและขอถือเอาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็นส่วนหนึ่งในฎีกาของจำเลย ไม่มีข้อความระบุว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ส่วนใดมีข้อวินิจฉัยผิดพลาดคลาดเคลื่อนอย่างไร และที่ถูกต้องควรเป็นอย่างใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาของจำเลยก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่อาจรับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาพิพากษาได้เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
ป.อ. มาตรา 18 วรรคสาม บัญญัติว่า ในกรณีผู้ซึ่งกระทำผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ได้กระทำความผิดที่มีระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตให้ถือว่าระวางโทษดังกล่าวได้เปลี่ยนเป็นระวางโทษห้าสิบปี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) ประกอบกับมาตรา 80 และ 83 ขณะกระทำผิดจำเลยอายุ 15 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 75 ประกอบมาตรา 18 วรรคสอง และวรรคสาม แล้วคงจำคุก 25 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 74 คงจำคุก 12 ปี 6 เดือนนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะจะทำให้เด็กได้รับโทษเท่ากับผู้ใหญ่ ต้องเปลี่ยนโทษประหารชีวิตเป็นห้าสิบปีเสียก่อน แล้วจึงนำ ป.อ. มาตรา 80 ที่ให้ระวางโทษสองในสามของโทษห้าสิบปีมาปรับ ดังนั้นเมื่อลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 75 ประกอบมาตรา 18 วรรคสาม แล้ว โทษจำคุกที่กำหนดแก่จำเลย คือ 16 ปี 8 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 แล้วคงจำคุกเพียง 8 ปี 4 เดือน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
mini_call_to_action_picture

ทนายความมากกว่า 500 คน ทั่วประเทศ พร้อมให้คำปรึกษา เพียง 33 บาท