Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-26

มาตรา 359 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

“มาตรา 359 หรือ มาตรา 359 อาญา คืออะไร?


“มาตรา 359 ” หรือ “มาตรา 359 อาญา” คือหนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายอาญา 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๓๕๘ ได้กระทำต่อ
              (๑) เครื่องกลหรือเครื่องจักรที่ใช้ในการประกอบกสิกรรมหรืออุตสาหกรรม
              (๒) ปศุสัตว์
              (๓) ยวดยานหรือสัตว์พาหนะที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะหรือในการประกอบกสิกรรมหรืออุตสาหกรรม หรือ
              (๔) พืชหรือพืชผลของกสิกร
              ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
              [อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐] “

 

ปรึกษาปัญหาทางกฎหมายฟรี
ตลอด 24 ชั่วโมง

  • ทนายให้ ปรึกษามากกว่า 3000 ครั้ง
    ฟรีบนแพล็ตฟอร์ม
  • ฟรี และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
  • ปรึกษาได้ทุกเรื่องราว ไม่ระบุตัวตนของผู้ถาม


3 ตัวอย่างจริงของการใช้ “มาตรา 359” หรือ “มาตรา 359 อาญา” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3119/2558
การที่จะเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามมาตรา 359 (4) นั้น ต้องได้ความว่าเจ้าของทรัพย์นั้นเป็นกสิกร เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า ข้าวนาปรังที่จำเลยทั้งสามร่วมกันทำให้เสียหายเป็นพืชหรือพืชผลของกสิกร จึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสามตาม ป.อ. มาตรา 359 ได้ เท่ากับความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามแต่เพียงมาตรา 358 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และโจทก์อุทธรณ์เฉพาะความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ โดยขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงใหม่ จึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้ในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ และศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับวินิจฉัยให้นั้น เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้ในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 สำหรับคดีในส่วนแพ่งนั้น แม้ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ของโจทก์จะไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง แต่ในการวินิจฉัยคดีส่วนแพ่งที่เป็นการฟ้องคดีแพ่งและคดีอาญาเกี่ยวเนื่องกัน ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5597/2553
โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. ฟ้องจำเลยทั้งห้าว่าทำให้ที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ช.เสียหาย ขอให้ลงโทษฐานทำให้เสียทรัพย์ จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพและยื่นคำร้องใจความว่าที่ดินดังกล่าวมิใช่ที่ดินโจทก์ แต่เป็นที่ดินในเขตนิคมท้ายเหมืองที่บริษัท ง. ได้รับประทานบัตรในการทำเหมืองแร่ เมื่อหมดอายุประทานบัตรแล้วบริษัท ง. และโจทก์มิได้ทำประโยชน์ในที่ดิน ที่ดินดังกล่าวมิใช่ทรัพย์มรดกของ ช. จำเลยทั้งห้าเข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวเนื่องจากไม่มีที่ทำกิน และมุ่งหวังจะได้สิทธิการเช่าที่ดินจากนิคมท้ายเหมือง ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ ทนายโจทก์แถลงขอเลื่อนคดีเนื่องจากคดีอยู่ระหว่างตกลงเรื่องค่าชดเชยในการขนย้ายให้จำเลยทั้งห้าและทำแผนที่ ต่อมาคู่ความแถลงว่าคดีไม่สามารถตกลงกันได้ขอให้ศาลมีคำพิพากษา ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งห้าตามฟ้อง จำเลยทั้งห้าฎีกาขอให้รอการลงโทษ ดังนี้ เมื่ออ่านคำให้การของจำเลยทั้งห้ารวมกับคำร้องที่ยื่นมาพร้อมกับคำให้การแล้ว จะเห็นได้ว่าจำเลยทั้งห้ายังคงโต้แย้งว่าที่ดินตามฟ้องมิใช่ที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของ ช. เหตุที่จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพอาจเป็นเพราะคดีอยู่ระหว่างเจรจาว่าจะมีการชดใช้ค่าขนย้ายให้แก่จำเลยทั้งห้าตามที่ทนายโจทก์แถลง และจำเลยทั้งห้าอาจเข้าใจว่าการกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นความผิด คำให้การของจำเลยทั้งห้ายังฟังไม่ได้ว่าเป็นคำให้การที่รับสารภาพว่าจำเลยทั้งห้าได้กระทำความผิดจริงตามที่โจทก์ฟ้อง เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานคดีจึงลงโทษจำเลยทั้งห้าไม่ได้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกฟ้องโจทก์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185

3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3412/2550
โจทก์ร่วมกับจำเลยทำบันทึกกันไว้ตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานซึ่งมีข้อความว่า คู่กรณีตกลงกันแล้วต่างฝ่ายต่างไม่ติดใจเรียกร้องฟ้องกันทั้งทางแพ่งและอาญาต่อกัน โดยจำเลยได้ช่วยเหลือค่าเสียหายของกระบือที่ถูกยิงตายให้โจทก์ร่วมเป็นเงิน 7,000 บาท จะนำเงินมาจ่ายให้หมดในวันที่ 1 ตุลาคม 2544 แล้วลงชื่อโจทก์ร่วมและจำเลย เช่นนี้ จึงเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358, 359 เป็นความผิดอันยอมความได้ จึงมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) แม้ต่อมาจำเลยจะไม่ชำระค่าเสียหายตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ร่วมก็ไม่มีสิทธิร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ หลังจากมีการยอมความกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วอีกได้ คงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
mini_call_to_action_picture

ทนายความมากกว่า 500 คน ทั่วประเทศ พร้อมให้คำปรึกษา เพียง 33 บาท