Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-26

มาตรา 337 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

“มาตรา 337 หรือ มาตรา 337 อาญา คืออะไร?


“มาตรา 337 ” หรือ “มาตรา 337 อาญา” คือหนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายอาญา 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญหรือของบุคคลที่สาม จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกรรโชก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
              ถ้าความผิดฐานกรรโชกได้กระทำโดย
              (๑) ขู่ว่าจะฆ่า ขู่ว่าจะทำร้ายร่างกายให้ผู้ถูกข่มขืนใจ หรือผู้อื่นให้ได้รับอันตรายสาหัส หรือขู่ว่าจะทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์ของผู้ถูกข่มขืนใจหรือผู้อื่น หรือ
              (๒) มีอาวุธติดตัวมาขู่เข็ญ
              ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
              [อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐] “

 

ปรึกษาปัญหาทางกฎหมายฟรี
ตลอด 24 ชั่วโมง

  • ทนายให้ ปรึกษามากกว่า 3000 ครั้ง
    ฟรีบนแพล็ตฟอร์ม
  • ฟรี และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
  • ปรึกษาได้ทุกเรื่องราว ไม่ระบุตัวตนของผู้ถาม


3 ตัวอย่างจริงของการใช้ “มาตรา 337” หรือ “มาตรา 337 อาญา” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3123/2564
การที่จำเลยบอกผู้เสียหายว่า ก. ผู้เสียหายกระทำความผิดที่มีอัตราโทษหนักต้องจำคุกหลายปีและมีโทษปรับเป็นเงินหลายแสนบาท จำเลยสามารถช่วยเหลือผู้เสียหายให้ไม่ต้องรับโทษหนักและจะดำเนินคดีผู้เสียหายในความผิดที่มีอัตราโทษน้อย แต่ผู้เสียหายต้องชำระเงินให้แก่จำเลย 20,000 บาท มิใช่การขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้เสียหาย เพราะผู้เสียหายถูกเจ้าพนักงานจับกุมดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายอยู่แล้วในความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ซึ่งการจับกุมดำเนินคดีดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อเสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้เสียหาย จำเลยเพียงแต่บอกให้ผู้เสียหายทราบถึงโทษทัณฑ์ที่จะได้รับตามกฎหมาย และการเรียกเงินของจำเลยก็เพื่อช่วยเหลือในการดำเนินคดีมิให้ผู้เสียหายได้รับโทษหนัก ซึ่งหากผู้เสียหายไม่ให้เงินตามที่จำเลยเรียกร้องก็ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป การที่จำเลยขู่เข็ญผู้เสียหายต่อไปว่า จำเลยจะมาตรวจสอบที่ร้านค้าของผู้เสียหายทุกเดือนและหากพบการกระทำความผิดก็จะดำเนินคดีกับผู้เสียหาย แต่หากผู้เสียหายชำระเงินให้แก่จำเลยทุกเดือน เดือนละ 1,000 บาท จำเลยจะไม่มาตรวจสอบร้านค้าของผู้เสียหาย ก็มิใช่การขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้เสียหายเช่นกัน เพราะผู้เสียหายจะถูกดำเนินคดีตามที่จำเลยอ้างก็ต่อเมื่อมีการตรวจสอบร้านค้าของผู้เสียหายแล้วพบว่ามีการกระทำความผิดจริง การเรียกเงินของจำเลยเป็นเพียงเพื่อไม่ให้มีการตรวจสอบร้านค้าของผู้เสียหายเท่านั้น จำเลยมิได้ข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีแก่ผู้เสียหายแม้ไม่พบการกระทำความผิด เมื่อการกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการขู่เข็ญ คำฟ้องของโจทก์จึงขาดองค์ประกอบของการกระทำความผิดฐานกรรโชกตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคหนึ่ง ฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2656/2563
เมื่อในคดีส่วนอาญาศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นตัวการร่วมกันในการกระทำความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้ร้องที่ 2 และฐานกรรโชกทรัพย์ผู้ร้องที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มิได้กำหนดความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในส่วนนี้มา โดยผู้ร้องทั้งสองไม่ได้ฎีกามาด้วยนั้น ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกคดีส่วนแพ่งขึ้นวินิจฉัยเพื่อให้เป็นไปตามผลแห่งคดีอาญาได้ เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2581/2563
โจทก์บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยฐานรีดเอาทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา 338 แต่ข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานโจทก์ ฟังไม่ได้ว่ามีคลิปวิดีโอที่มีภาพการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับผู้เสียหายที่ 2 อันเป็นวัตถุความลับตามฟ้องที่จะไปเผยแพร่ให้บุคคลอื่นดูอยู่จริง การกระทำของจำเลยไม่อาจแน่ใจได้ว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนาจะข่มขืนใจผู้เสียหายที่ 2 ให้ยอมให้สร้อยคอทองคำ โดยการขู่เข็ญว่าหากผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอม จำเลยจะนำคลิปวิดีโอที่บันทึกภาพการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างจำเลยและผู้เสียหายที่ 2 ไปเผยแพร่ให้บุคคลอื่นดูอันเป็นการขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับโดยคลิปวิดีโอนั้น อย่างไรก็ตามได้ความว่าจำเลยกับผู้เสียหายที่ 2 มีเพศสัมพันธ์กันอันถือเป็นเรื่องเสื่อมเสีย การกระทำของจำเลยถือเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายที่ 2 ให้ยอมให้ตนได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชื่อเสียงของผู้เสียหายที่ 2 ผู้ถูกขู่เข็ญ เมื่อผู้เสียหายที่ 2 ยอมคืนสร้อยคอทองคำแก่จำเลย การกระทำจึงเข้าลักษณะเป็นความผิดฐานกรรโชกซึ่งมีโทษเบากว่า ปัญหาดังกล่าวถือเป็นข้อเท็จจริงอันเกี่ยวพันกันกับความผิดข้อหาอื่นที่ศาลฎีกาได้รับวินิจฉัยมาและเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยและลงโทษจำเลยฐานกรรโชก ตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคหนึ่ง ตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
mini_call_to_action_picture

ทนายความมากกว่า 500 คน ทั่วประเทศ พร้อมให้คำปรึกษา เพียง 33 บาท