Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-26

มาตรา 298 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

“มาตรา 298 หรือ มาตรา 298 อาญา คืออะไร?


“มาตรา 298 ” หรือ “มาตรา 298 อาญา” คือหนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายอาญา 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา ๒๙๗ ถ้าความผิดนั้นมีลักษณะประการหนึ่งประการใดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๙ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท
              [อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐] “

 

ปรึกษาปัญหาทางกฎหมายฟรี
ตลอด 24 ชั่วโมง

  • ทนายให้ ปรึกษามากกว่า 3000 ครั้ง
    ฟรีบนแพล็ตฟอร์ม
  • ฟรี และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
  • ปรึกษาได้ทุกเรื่องราว ไม่ระบุตัวตนของผู้ถาม


3 ตัวอย่างจริงของการใช้ “มาตรา 298” หรือ “มาตรา 298 อาญา” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2494 - 2495/2562
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ได้เข้าไปร่วมทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมตามที่วางแผนกันไว้ โดยอยู่ที่รถจักรยานยนต์ซึ่งจอดอยู่ด้านหลังรถยนต์ของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นระยะที่ใกล้ชิดกับสถานที่เกิดเหตุ อยู่ในลักษณะที่อาจเข้าไปช่วยเหลือให้การกระทำความผิดสำเร็จ มีลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ แต่การที่พวกของจำเลยใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วม เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าอย่างกะทันหันโดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้คบคิดนัดหมายมาก่อน จึงถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าโจทก์ร่วมโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ต้องรับผลแห่งการกระทำของพวกด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงเป็นตัวการกระทำความผิดฐานทำร้ายจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมรับอันตรายสาหัสโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตาม ป.อ. มาตรา 298 อันเป็นความผิดหลายอย่างซึ่งรวมอยู่ในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลฎีกาลงโทษในความผิดดังกล่าวตามที่พิจารณาได้ความได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 แม้โจทก์ไม่ได้ฎีกาขอให้ลงโทษก็ตาม เพราะการปรับบทลงโทษเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่เมื่อโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฐานร่วมกันทำร้ายจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมรับอันตรายสาหัสตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเท่านั้น จึงไม่อาจกำหนดโทษให้สูงขึ้นในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมรับอันตรายสาหัสโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตาม ป.อ. มาตรา 298 เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1644/2554
โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยใช้อาวุธมีดของกลางฟันผู้เสียหายขณะผู้เสียหายกำลังจะแย่งมีดจากจำเลย และเมื่อได้ความว่าบาดแผลของผู้เสียหายไม่ร้ายแรงมากนักจึงเชื่อว่าจำเลยฟันผู้เสียหายไม่รุนแรง ประกอบกับไม่ได้ความว่าบาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยใช้อาวุธมีดของกลางฟันผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่า ข้อเท็จจริงฟังได้เพียงว่าจำเลยใช้อาวุธมีดฟันทำร้ายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายสาหัสเท่านั้น
ส่วนปัญหาว่าจำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่าภายหลังจำเลยมีปากเสียงทะเลาะกับผู้เสียหายและพวกผู้เสียหายแล้ว จำเลยได้ขับรถยนต์ออกไปและกลับมาใหม่พร้อมด้วยอาวุธมีดของกลางและตรงเข้ามาทำร้ายผู้เสียหายเช่นนี้ จำเลยย่อมมีเวลาคิดไตร่ตรองและตัดสินใจ การกระทำดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำเลยมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายสาหัสโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9264/2551
ผู้เสียหายทั้งสองเป็นมารดาและตาซึ่งเป็นบุพการีของจำเลย จำเลยใช้ค้อนที่ถืออยู่ในมือขณะตอกตะปูฝาบ้านตีผู้เสียหายที่ 1 แทบจะในทันทีที่ผู้เสียหายที่ 1 พูดห้ามให้หยุดตอกตะปู และใช้ค้อนดังกล่าวตีผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งอยู่คนละบ้านในเวลาต่อเนื่องกัน เมื่อพิจารณาความเกี่ยวพันระหว่างจำเลยและผู้เสียหายทั้งสองแล้ว เหตุที่ผู้เสียหายที่ 1 พูดห้ามปรามจำเลย และผู้เสียหายที่ 2 ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยในขณะนั้น ประกอบกับจำเลยเจ็บป่วยทางจิตประสาทมานานหลายปีแล้ว ฟังได้ว่าจำเลยมิได้มีเจตนาจะฆ่าผู้เสียหายทั้งสองคงมีเพียงเจตนาจะทำร้ายร่างกายเท่านั้น

ขณะที่จำเลยถูกควบคุมตัวระหว่างพิจารณาอยู่ในเรือนจำ จำเลยก่อเหตุทำร้ายร่างกายผู้ที่ถูกควบคุมอยู่ด้วยกันหลายรายเป็นการผิดปกติ เรือนจำจังหวัดนนทบุรีจึงมีหนังสือขออนุญาตศาลส่งตัวจำเลยไปรับการตรวจวินิจฉัยที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ผลการตรวจพบว่าจำเลยมีอาการจิตหวาดระแวง ขณะประกอบคดีไม่รู้ผิดชอบ ขณะนี้สามารถต่อสู้คดีได้ ทั้งในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในวันสอบคำให้การจำเลยได้บันทึกถึงความผิดปกติในการพูดของจำเลยมีลักษณะควบคุมเรื่องที่พูดไม่ได้และมีอาการไม่ปกติ ดังนั้น ข้อเท็จจริงเรื่องผลการวินิจฉัยของแพทย์ดังกล่าวจึงเป็นพยานหลักฐานโดยตรงในคดีที่ศาลรับฟังได้ และเมื่อรับฟังประกอบคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ว่าจำเลยป่วยทางจิตประสาทมาหลายปี พยานหลักฐานดังกล่าวทำให้เชื่อได้ว่าขณะทำความผิดจำเลยมีความผิดปกติในลักษณะที่มีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน แต่เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลย เมื่อจำเลยทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 แล้วก็เดินออกจากบ้านพักเพื่อไปมอบตัวกับเจ้าพนักงานตำรวจแต่ไม่พบ จึงเดินย้อนกลับมา ระหว่างทางผ่านบ้านของผู้เสียหายที่ 2 จึงเข้าไปทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 หลังจากนั้นจำเลยเดินทางไปมอบตัวกับพนักงานสอบสวน พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าขณะกระทำความผิดจำเลยยังพอจะมีความรู้สึกผิดชอบอยู่บ้าง ซึ่งศาลจะลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
mini_call_to_action_picture

ทนายความมากกว่า 500 คน ทั่วประเทศ พร้อมให้คำปรึกษา เพียง 33 บาท