Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-26

มาตรา 276 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

“มาตรา 276 หรือ มาตรา 276 อาญา คืออะไร?


“มาตรา 276 ” หรือ “มาตรา 276 อาญา” คือหนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายอาญา 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสี่แสนบาท
              ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ได้กระทำโดยทำให้ผู้ถูกกระทำเข้าใจว่าผู้กระทำมีอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสี่แสนบาท
              ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ได้กระทำโดยมีอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้อาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงหรือกระทำกับชายในลักษณะเดียวกัน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต
              ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำความผิดระหว่างคู่สมรส และคู่สมรสนั้นยังประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติแทนการลงโทษก็ได้ ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกและคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาต่อไป และประสงค์จะหย่า ให้คู่สมรสฝ่ายนั้นแจ้งให้ศาลทราบ และให้ศาลแจ้งพนักงานอัยการให้ดำเนินการฟ้องหย่าให้“

 

ปรึกษาปัญหาทางกฎหมายฟรี
ตลอด 24 ชั่วโมง

  • ทนายให้ ปรึกษามากกว่า 3000 ครั้ง
    ฟรีบนแพล็ตฟอร์ม
  • ฟรี และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
  • ปรึกษาได้ทุกเรื่องราว ไม่ระบุตัวตนของผู้ถาม


3 ตัวอย่างจริงของการใช้ “มาตรา 276” หรือ “มาตรา 276 อาญา” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4456/2564
โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดหลายกระทงรวมในฟ้องเดียวกัน ซึ่งแต่ละกระทงเป็นข้อหาแยกจากข้อหาอื่นได้ และศาลอาจสั่งให้แยกสำนวนพิจารณาความผิดกระทงใดต่างหากก็ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 160 เมื่อต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นเนื่องจากเห็นว่าผู้ร้องและผู้เสียหายที่ 2 ถอนคำร้องทุกข์ และเป็นความผิดอันยอมความได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ถือได้ว่าเป็นคำสั่งที่ทำให้ประเด็นแห่งคดีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นซึ่งแยกต่างหากจากข้อหาอื่นได้นั้นเสร็จสำนวนแล้ว คำสั่งศาลชั้นต้นที่จำหน่ายคดีความผิดฐานดังกล่าวจึงมิใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา โจทก์ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 196


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4418/2564
ขณะจำเลยที่ 1 เข้าไปข่มขืนกระทำชำเราผู้ร้องในห้อง ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 หรือ ก. ได้รออยู่หน้าห้องเพื่อจะเข้าไปข่มขืนกระทำชำเราเป็นคนต่อไปอันมีลักษณะเป็นการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน หลังจากจำเลยที่ 1 ออกไปนอกห้องแล้วก็ไม่มีผู้ใดเข้าไปข่มขืนกระทำชำเราผู้ร้องอีกจนกระทั่งเช้าวันรุ่งขึ้นถึงได้มี ก. เข้าไปขอร่วมประเวณีกับผู้ร้อง 1 ครั้ง ซึ่งการกระทำของ ก. ห่างจากการข่มขืนกระทำชำเราของจำเลยที่ 1 หลายชั่วโมง การกระทำของจำเลยที่ 1 และ ก. จึงมิใช่เป็นการร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง คงฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ ตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคแรกขณะจำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราผู้ร้องในสวนปาล์ม จำเลยที่ 2 ก็อยู่ในบริเวณดังกล่าวจนจำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราเสร็จและพาผู้ร้องออกมา จากนั้นจำเลยที่ 2 ก็ร่วมกันพาผู้ร้องไปที่บ้านร้างเกิดเหตุต่อ ครั้นจำเลยที่ 1 เข้าไปข่มขืนกระทำชำเราอีกครั้งในบ้านร้าง จำเลยที่ 2 ก็อยู่ในบริเวณบ้านและรับรู้การกระทำของจำเลยที่ 1 โดยตลอด ตามพฤติการณ์ย่อมถือได้ว่า จำเลยที่ 2 มีเจตนาร่วมข่มขืนกระทำชำเราผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ ตามมาตรา 276 วรรคแรก เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2529/2564
ความผิดฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงและเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ตาม ป.อ. มาตรา 277 ตรี (2) เป็นความผิดที่เป็นผลมาจากการกระทำความผิดฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง ตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคสาม (เดิม) ทำให้ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษหนักขึ้น ไม่ว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นหรือไม่ก็ตาม ผลของการกระทำความผิดนั้นซึ่งได้แก่ความตายของผู้ถูกกระทำจึงต้องเป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้ ตาม ป.อ. มาตรา 63จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันให้ผู้ตายเสพ 3,4 เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน (ยาอี) คีตามีน (ยาเค) และไนเมตาซีแพม (ยาไฟว์) เข้าสู่ร่างกายเพื่อให้ผู้ตายมึนเมาเคลิบเคลิ้มหรือประสาทหลอน จนอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนต่อการกระทำใด ๆ ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ ย่อมเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายผู้ตายตาม ป.อ. มาตรา 1 (6) และเป็นการกระทำที่รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในการร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้ตาย ไม่อาจแยกออกจากกันเป็นคนละส่วนได้ และการที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายผู้ตายด้วยการนำสารเสพติดเข้าสู่ร่างกายของผู้ตายจนเกินขนาด แล้วผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายในขณะที่สภาพร่างกายของผู้ตายอ่อนแออย่างมากจากพิษของสารเสพติดย่อมเรียกได้ว่าเป็นการกระทำต่อผู้ตายทั้งการใช้กำลังประทุษร้ายและการข่มขืนกระทำชำเราด้วยความรุนแรงเกินกว่าที่ร่างกายของผู้ตายจะทนทานได้ จึงต้องถือว่าความตายของผู้ตายเป็นผลโดยตรงและเป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้จากการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
mini_call_to_action_picture

ทนายความมากกว่า 500 คน ทั่วประเทศ พร้อมให้คำปรึกษา เพียง 33 บาท