Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-26

มาตรา 240 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

“มาตรา 240 หรือ มาตรา 240 อาญา คืออะไร?


“มาตรา 240 ” หรือ “มาตรา 240 อาญา” คือหนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายอาญา 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตรา ไม่ว่าจะปลอมขึ้นเพื่อให้เป็นเหรียญกระษาปณ์ ธนบัตรหรือสิ่งอื่นใด ซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ หรือทำปลอมขึ้นซึ่งพันธบัตรรัฐบาลหรือใบสำคัญสำหรับรับดอกเบี้ยพันธบัตรนั้น ๆ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเงินตรา ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสี่แสนบาท
              [อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]”

 

ปรึกษาปัญหาทางกฎหมายฟรี
ตลอด 24 ชั่วโมง

  • ทนายให้ ปรึกษามากกว่า 3000 ครั้ง
    ฟรีบนแพล็ตฟอร์ม
  • ฟรี และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
  • ปรึกษาได้ทุกเรื่องราว ไม่ระบุตัวตนของผู้ถาม


3 ตัวอย่างจริงของการใช้ “มาตรา 240” หรือ “มาตรา 240 อาญา” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3986/2564
ธนบัตรดอลลาร์สหรัฐปลอมอยู่ในความครอบครองของจำเลยมาแต่แรก เจ้าพนักงานตำรวจค้นพบของกลางทั้งหมดภายในบ้านจำเลย หาได้กระทำการใดอันเป็นการก่อให้จำเลยจัดหามาไว้ในความครอบครองของตนซึ่งธนบัตรปลอมดังกล่าว การล่อซื้อน้ำยาเคมีล้างกระดาษให้กลายเป็นธนบัตรดอลลาร์สหรัฐของเจ้าพนักงานตำรวจเป็นเพียงการแสวงหาพยานหลักฐานมาเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยเท่านั้น มิใช่จำเลยขาดเจตนากระทำความผิดมาแต่แรกแล้วเจ้าพนักงานตำรวจเป็นผู้ชักจูงใจหรือก่อให้จำเลยกระทำความผิดอันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย การสอบสวนชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยเก็บธนบัตรปลอมไว้ในบ้านจำนวนมากลักษณะที่พร้อมจะนำออกมาใช้เองหรือมอบต่อให้ผู้อื่นใช้ดังเช่นธนบัตรจริง กับนำออกแสดงต่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้ล่อซื้อเพื่อให้หลงเชื่อหรือสนใจซื้อน้ำยาเคมีจากจำเลยด้วย ถือเป็นการมีธนบัตรปลอมไว้ในครอบครองเพื่อนำออกใช้แล้ว


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5584/2562
แม้ศาลชั้นต้นจะนำแบบพิมพ์คำให้การจำเลย (คดีรับสารภาพไม่ต้องสืบพยาน) มาใช้แต่ก็ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่อยู่ด้านหลังแบบพิมพ์คำให้การดังกล่าวว่า นัดสอบคำให้การวันนี้ โจทก์และจำเลยมาศาล ก่อนเริ่มพิจารณาศาลสอบถามจำเลยเรื่องทนายความแล้ว จำเลยแถลงว่าไม่มีและไม่ต้องการทนายความ อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง โจทก์และจำเลยแถลงไม่สืบพยาน คดีเสร็จการพิจารณาให้รอฟังคำพิพากษาวันนี้ และได้อ่านคำพิพากษาให้โจทก์จำเลยฟังในวันนั้นเอง โดยโจทก์จำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวแล้ว ดังนี้ หากโจทก์เห็นว่าการที่จำเลยให้การรับสารภาพ แล้วโจทก์จะต้องสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 240 โจทก์ก็ชอบที่จะคัดค้านหรือแถลงขอสืบพยานโจทก์ต่อไป เมื่อโจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยาน โจทก์จึงไม่มีพยานหลักฐานที่จะให้ศาลฟังลงโทษจำเลยในบทมาตราดังกล่าวได้ ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาชอบแล้วคดีจึงไม่มีเหตุที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตราเพื่อให้เป็นธนบัตรซึ่งรัฐบาลออกใช้ตาม ป.อ. มาตรา 240 โดยใช้เครื่องพิมพ์ของกลางพิมพ์ธนบัตรปลอมออกมา เครื่องพิมพ์ของกลางเป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิด เมื่อศาลพิพากษาว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดฐานดังกล่าว และเครื่องพิมพ์ของกลางมิใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดมีไว้เป็นความผิด ศาลย่อมไม่มีอำนาจสั่งริบให้ได้ตาม ป.อ. มาตรา 32 จึงให้คืนแก่เจ้าของ


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4930/2557
ป.อ. มาตรา 240 บัญญัติว่า "ผู้ใดทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตรา ไม่ว่าจะปลอมขึ้นเพื่อให้เป็นเหรียญกระษาปณ์ ธนบัตร หรือสิ่งอื่นใดซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเงินตรา" คำว่า "ทำปลอมขึ้น" หมายความถึงทำโดยตั้งใจให้เหมือนของจริง จึงต้องทำในประการที่จะให้มีลักษณะอย่างเดียวกับเงินตราที่รัฐบาลกำหนด เช่น มีลวดลาย สี ขนาด ลักษณะของกระดาษอย่างเดียวกัน ซึ่งจะต้องพอที่จะลวงตาให้เห็นว่าเป็นเงินตรา แต่ไม่จำต้องถึงกับต้องพิจารณาจึงจะรู้ว่าปลอม เพียงแต่ลวงตาซึ่งถ้าไม่พิจารณาให้ดีอาจหลงเข้าใจว่าเป็นเงินตราได้ ก็ถือว่าเป็นการทำปลอมขึ้นแล้ว และการทำปลอมย่อมจะเหมือนของจริงไปทุกอย่างไม่มีผิดกันเลยไม่ได้ ย่อมต้องมีบางสิ่งบางอย่างผิดจากของจริงบ้างไม่มากก็น้อย ฉะนั้น การปลอมจะผิดจากของจริงที่ตั้งใจทำให้เหมือนมากน้อยเพียงใดจึงไม่สำคัญ
การที่จำเลยนำธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท ซึ่งเป็นเงินตราที่รัฐบาลไทยออกใช้จำนวน 46 ฉบับ มาตัดออกเป็น 2 ท่อนทุกฉบับ ท่อนหนึ่งยาวเกินครึ่งฉบับ อีกท่อนหนึ่งยาวไม่ถึงครึ่งฉบับ แล้วนำท่อนซ้ายที่สั้นมาต่อสลับท่อนเข้ากับท่อนขวาที่สั้นของอีกฉบับหนึ่งด้วยเทปใส ย่อมเป็นการทำธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท ขึ้นใหม่อีก 23 ฉบับ โดยตั้งใจให้เหมือนของจริง จึงเป็นการทำปลอมขึ้นซึ่งธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท ที่รัฐบาลออกไว้ การที่ธนบัตรของกลางเป็นธนบัตรชำรุดตาม พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ.2501 มาตรา 18 ประเภทต่อท่อนผิด ทำให้ไม่เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานปลอมเงินตรา เพราะหากธนบัตรดังกล่าวเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ธนบัตรดังกล่าวย่อมไม่เป็นของปลอม การที่ใช้ชำระหนี้ไม่ได้ตามกฎหมายแสดงว่าเป็นของปลอม จำเลยจึงมีความผิดฐานปลอมเงินตราและมีเงินตราปลอมเพื่อนำออกใช้โดยรู้ว่าเป็นเงินตราปลอมตาม ป.อ. มาตรา 240 และ 244
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
mini_call_to_action_picture

ทนายความมากกว่า 500 คน ทั่วประเทศ พร้อมให้คำปรึกษา เพียง 33 บาท