Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-26

มาตรา 210 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

“มาตรา 210 หรือ มาตรา 210 อาญา คืออะไร?


“มาตรา 210 ” หรือ “มาตรา 210 อาญา” คือหนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายอาญา 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค ๒ นี้ และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
              ถ้าเป็นการสมคบเพื่อกระทำความผิด ที่มีระวางโทษถึงประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท
              [อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]”

 

ปรึกษาปัญหาทางกฎหมายฟรี
ตลอด 24 ชั่วโมง

  • ทนายให้ ปรึกษามากกว่า 3000 ครั้ง
    ฟรีบนแพล็ตฟอร์ม
  • ฟรี และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
  • ปรึกษาได้ทุกเรื่องราว ไม่ระบุตัวตนของผู้ถาม


3 ตัวอย่างจริงของการใช้ “มาตรา 210” หรือ “มาตรา 210 อาญา” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 159/2564
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งห้ากับพวกสมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายและจิตใจ อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 ซึ่งเป็นความผิดที่บัญญัติไว้ในภาค 2 และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป โดยไม่ได้บรรยายฟ้องถึงองค์ประกอบความผิดว่า ความผิดนั้นมีระวางโทษถึงประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป แม้โจทก์จะมีคำขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตาม ป.อ. มาตรา 210 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งห้าตามมาตรา 210 วรรคสอง ไม่ได้ เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7997/2561
ความผิดฐานเป็นอั้งยี่เป็นความผิดสำเร็จเมื่อได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นความผิดกรรมหนึ่ง ส่วนความผิดฐานเป็นซ่องโจร เป็นความผิดสำเร็จเมื่อมีการสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 ของประมวลกฎหมายอาญา และเมื่อผู้กระทำความผิดได้สะสมกำลังพล หรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย หรือการกระทำอื่นใดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 135/2 (2) จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธ ตระเตรียมการหรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกมีเจตนาเดียวกันในการกระทำความผิดทั้งสองฐานนี้ เพื่อก่อการร้าย จึงเป็นความผิดกรรมเดียวตาม ป.อ. มาตรา 90 ซึ่งต้องลงโทษบทหนักฐานร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธ ตระเตรียมการหรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย ซึ่งเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์หรือฎีกาขอให้ลงโทษให้ถูกต้อง จึงไม่อาจแก้ไขเรียงกระทงลงโทษในส่วนนี้ได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 คงปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้เท่านั้น


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12613/2557
การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวก แอบดักซุ่มทำร้ายผู้ตายกับพวก หลังจากมีเหตุวิวาทชกต่อยกันแล้ว โดยได้ความจากคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 กับพวกบางคนมีมีดเป็นอาวุธ ส่วนคนร้ายที่ไม่มีมีด ก็ตัดต้นไม้ยูคาลิปตัสข้างทางเป็นท่อน ๆ ใช้เป็นอาวุธ เมื่อผู้ตายกับพวกขับรถจักรยานยนต์ผ่านมา จำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกก็วิ่งกรูกันออกมาทำร้าย โดยมิได้เลือกว่าจะทำร้ายบุคคลใดเป็นเฉพาะเจาะจง ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกคิดใคร่ครวญวางแผนตกลงที่จะทำร้ายผู้ตายกับพวก โดยประสงค์ถือเอาการกระทำของแต่ละคนเป็นการกระทำของตน ถือได้ว่าเป็นการร่วมกระทำความผิดด้วยกันนับเป็นตัวการ ดังนี้ แม้ไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นผู้ฟันทำร้ายผู้ตาย แต่เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นตัวการแล้ว นอกจากจำเลยที่ 1 และที่ 3 จะมีความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร และมีความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยังมีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่ความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรกับความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเกี่ยวเนื่องกัน เพราะที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรเพื่อที่จะไปทำร้ายผู้ตายกับพวก จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยกคำขอส่วนแพ่งที่ขอให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วม แม้โจทก์จะฎีกาในคดีส่วนอาญา แต่โจทก์ร่วมมิได้ฎีกาในคดีส่วนแพ่ง เท่ากับโจทก์ร่วมพอใจในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 คดีส่วนแพ่งของโจทก์ร่วมจึงเป็นอันยุติไป ศาลฎีกาไม่อาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมได้
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
mini_call_to_action_picture

ทนายความมากกว่า 500 คน ทั่วประเทศ พร้อมให้คำปรึกษา เพียง 33 บาท