Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-26

มาตรา 191 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

“มาตรา 191 หรือ มาตรา 191 อาญา คืออะไร?


“มาตรา 191 ” หรือ “มาตรา 191 อาญา” คือหนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายอาญา 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดกระทำด้วยประการใดให้ผู้ที่ถูกคุมขังตามอำนาจของศาล ของพนักงานอัยการ ของพนักงานสอบสวน หรือของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา หลุดพ้นจากการคุมขังไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
              ถ้าผู้ที่หลุดพ้นจากการคุมขังไปนั้นเป็นบุคคลที่ต้องคำพิพากษาจากศาลหนึ่งศาลใดให้ลงโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไป หรือมีจำนวนตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
              ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้ในสองวรรคก่อนกึ่งหนึ่ง
              [อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]”

 

ปรึกษาปัญหาทางกฎหมายฟรี
ตลอด 24 ชั่วโมง

  • ทนายให้ ปรึกษามากกว่า 3000 ครั้ง
    ฟรีบนแพล็ตฟอร์ม
  • ฟรี และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
  • ปรึกษาได้ทุกเรื่องราว ไม่ระบุตัวตนของผู้ถาม


3 ตัวอย่างจริงของการใช้ “มาตรา 191” หรือ “มาตรา 191 อาญา” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7322/2557
ขณะเกิดเหตุดาบตำรวจ บ. และดาบตำรวจ ส. แต่งกายในเครื่องแบบเจ้าพนักงานตำรวจ พกพาอาวุธปืนสั้นแบบเปิดเผย กำลังมอบหมายให้ อ. ซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานดำเนินการจับกุม ส. โดยทำการใส่กุญแจมือ ส. ได้เพียงข้างเดียว แล้ว ส. ดิ้นรนขัดขืน พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นใครเห็นก็ต้องทราบดีว่า ส. กำลังถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมอยู่ ไม่จำเป็นที่จำเลยจะต้องทราบว่า ส. ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมในข้อหาอะไร เชื่อว่าจำเลยทราบดีว่าเจ้าพนักงานตำรวจและ อ. กำลังเข้าจับกุม ส. อยู่ จำเลยเข้ามาช่วย ส. โดยช่วยดึงแขนดาบตำรวจ บ. และดาบตำรวจ ส. จนเป็นเหตุให้ดาบตำรวจ บ. หกล้ม อาวุธปืนสั้นหล่นลงที่พื้น การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่และเป็นการกระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายตาม ป.อ. มาตรา 138 วรรคสองแล้ว แต่เจ้าพนักงานตำรวจและ อ. ยังไม่สามารถจับกุม ส. ได้ จึงฟังไม่ได้ว่า ส. ถูกคุมขังอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 191


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2535/2550
บ. พบกองไม้กระยาเลยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขายอันเป็นไม้ผิดกฎหมายวางกองอยู่ข้างบ้าน ว. และ ว. รับว่ามีไม้หวงห้ามยังไม่ได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจริง การกระทำของ ว. ไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้าเพราะไม่ใช่ความผิดที่เห็นกำลังกระทำหรือพบในอาการใด ซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าได้กระทำผิดมาแล้วสด ๆ ไม่เข้าข้อยกเว้นความผิดที่ระบุไว้ในบัญชีท้าย ป.วิ.อ. หรือเข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 80 วรรคสอง (1) (2) ดังนั้น บ. ไม่มีอำนาจที่จะจับ ว. โดยไม่มีหมายจับได้ การที่ ว. ตาม บ. มาที่หน่วยคุ้มครองป่าจึงไม่ใช่เป็นการถูกจับตัวมา แม้ในเวลาต่อมาจำเลยจะขับรถยนต์มาที่หน่วยคุ้มครองป่าและรับ ว. ขึ้นรถยนต์ของจำเลยขับออกจากหน่วยคุ้มครองป่าไป บ. ติดตามจำเลยไปจนทันและเกิดเหตุกระทบกระทั่งกันขึ้นระหว่างจำเลยและ บ. ยังไม่เป็นการที่จำเลยต่อสู้หรือขัดขวาง บ. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 138 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 138 แต่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 189 ฐานช่วยเหลือผู้อื่นให้ไม่ต้องรับโทษ ซึ่งเป็นเรื่องนอกฟ้องและโจทก์ไม่ได้ขอให้ลงโทษจึงลงโทษตามมาตรา 189 ไม่ได้ ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 189 และ 191 เนื่องจากโจทก์เห็นว่าการกระทำของจำเลยหลังจับกุมก็เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 138 ได้ อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3243/2528
ขณะที่ร้อยตำรวจตรี พ.ควบคุมตัวส. ผู้ต้องหา ในข้อหาไม่ยืนทำความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งเป็นความผิดมีโทษตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พุทธศักราช 2485 จะนำขึ้นรถยนต์ไปสถานีตำรวจเพื่อดำเนินคดีจำเลยได้เข้าโอบกอดจับตัวร้อยตำรวจตรีพ.ไว้ และพวกของจำเลยอีกสองคนได้ช่วยกันยื้อแย่งเอาตัว ส. ขึ้นรถยนต์หลบหนีไปถือว่า ส.ถูกคุมขังอยู่ตามอำนาจของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(12),191 แล้วการกระทำของ จำเลยจึงเป็นความผิดตามมาตรา 138,140,191
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
mini_call_to_action_picture

ทนายความมากกว่า 500 คน ทั่วประเทศ พร้อมให้คำปรึกษา เพียง 33 บาท