Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-26

มาตรา 161 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

“มาตรา 161 หรือ มาตรา 161 อาญา คืออะไร?


“มาตรา 161 ” หรือ “มาตรา 161 อาญา” คือหนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายอาญา 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ทำเอกสาร กรอกข้อความลงในเอกสารหรือดูแลรักษาเอกสาร กระทำการปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
              [อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]”

 

ปรึกษาปัญหาทางกฎหมายฟรี
ตลอด 24 ชั่วโมง

  • ทนายให้ ปรึกษามากกว่า 3000 ครั้ง
    ฟรีบนแพล็ตฟอร์ม
  • ฟรี และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
  • ปรึกษาได้ทุกเรื่องราว ไม่ระบุตัวตนของผู้ถาม


3 ตัวอย่างจริงของการใช้ “มาตรา 161” หรือ “มาตรา 161 อาญา” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5258/2558
การที่จำเลยกระทำการปลอมเอกสารใบรับฝากส่งไปรษณีย์ด่วนพิเศษของที่ทำการไปรษณีย์พิษณุโลก ด้วยการกรอกข้อความให้ปรากฏว่าเป็นการรับฝากส่งไปรษณีย์ด่วนพิเศษว่าได้ส่งไปตามหน่วยราชการต่าง ๆ แล้วอันเป็นเท็จ นั้น ตามใบรับฝากไปรษณีย์ในประเทศ รวม 7 ฉบับ ด้านบนมีข้อความระบุว่า ผู้ฝากส่งเป็นผู้กรอกข้อความ เมื่อผู้ฝากส่งกรอกข้อความแล้วได้นำส่งให้แก่เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ เพื่อนำซองเอกสารนั้นชั่งน้ำหนักและดำเนินการต่อโดยกรอกข้อความในส่วนด้านล่างที่มีข้อความระบุว่า เจ้าหน้าที่เป็นผู้กรอกข้อความซึ่งหมายถึงเจ้าพนักงานไปรษณีย์ผู้มีหน้าที่โดยตรงในการจัดทำเอกสารดังกล่าวซึ่งเป็นเอกสารของที่ทำการไปรษณีย์พิษณุโลก ดังนั้น การที่จำเลยกระทำการปลอมเอกสารดังกล่าว โดยจำเลยมีหน้าที่ตามคำสั่งองค์การบริหารส่วนตำบล ผ. เพียงเป็นผู้ปลดและผู้นำส่งประกาศประกวดราคาจ้างเหมาของผู้เสียหาย จำเลยจึงไม่เป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการจัดทำเอกสารใบรับฝากส่งไปรษณีย์ด่วนพิเศษดังกล่าว การที่จำเลยปลอมเอกสารดังกล่าว จึงไม่ถือว่ากระทำโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น ไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 161 ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่าจำเลยได้รับการแต่งตั้งจากนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ผ. ให้เป็นเจ้าหน้าที่พัสดุ เป็นเจ้าหน้าที่มีหน้าที่ปลดและนำส่งเอกสารประกาศประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้างของผู้เสียหายซึ่งกำหนด ให้มีหน้าที่นำเอกสารประกาศประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้างดังกล่าว เผยแพร่ไปยังสถานที่ราชการต่าง ๆ รวมเจ็ดแห่ง ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2538 ข้อ 31 ดังนั้น ข้อฎีกาของโจทก์ที่ว่าจำเลยมีหน้าที่กรอกข้อความในใบรับฝากไปรษณีย์ด่วนพิเศษตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2542 และตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจึงเป็นการนอกฟ้องและเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 เป็นฎีกาที่ไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 15


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4347/2558
จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างประจำ ตำแหน่งนักการ เทศบาลตำบลจักราช มิใช่ข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งหรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ซึ่งมีกฎหมายระบุไว้โดยเฉพาะให้ถือเป็นเจ้าพนักงาน จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมาย เนื่องจาก ป.อ. มาตรา 147, 151, 161 เป็นบทบัญญัติที่ลงโทษแก่บุคคลผู้กระทำความผิดที่เป็นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่เท่านั้น แม้จำเลยที่ 2 จะร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดต่อบทบัญญัติดังกล่าว ก็จะลงโทษจำเลยที่ 2 อย่างเจ้าพนักงานไม่ได้ คงลงโทษจำเลยที่ 2 ได้แต่เพียงในฐานะผู้สนับสนุนตาม ป.อ. มาตรา 86 เท่านั้น ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17978/2557
ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุบัญญัติไว้ชัดเจนว่า ให้คณะกรรมการ กสช. ก็ดี คณะกรรมการ กทช. ก็ดี และพนักงานสำนักงานของคณะกรรมการดังกล่าว ก็ดี เป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. แต่ในกฎหมายฉบับเดียวกัน มาตรา 49 ว่าด้วยคณะกรรมการสรรหา ที่มา และบทบาทหน้าที่ ไม่ได้กำหนดว่าคณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการโทรคมนาคมเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. เช่นเดียวกันกับคณะกรรมการ กสช. หรือ กทช. หรือพนักงานดังกล่าว เช่นนี้ ย่อมเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวได้ชัดเจนว่า กฎหมายไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะให้คณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการโทรคมนาคมต้องมีอำนาจหน้าที่หรือมีความรับผิดในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. จำเลยเป็นเพียงคณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการโทรคมนาคม จึงไม่ใช่เจ้าพนักงานที่จะต้องรับผิดในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 157, 158, 161 และ 162

ตำแหน่งประธานวุฒิสภา เป็นตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ ไม่ใช่ตำแหน่งเจ้าพนักงานตามความหมายในลักษณะ 2 หมวด 1 แห่ง ป.อ. การยื่นรายงานเรื่องผลการพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็น กทช. จึงไม่อาจที่จะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 ได้
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
mini_call_to_action_picture

ทนายความมากกว่า 500 คน ทั่วประเทศ พร้อมให้คำปรึกษา เพียง 33 บาท