“มาตรา 158 หรือ มาตรา 158 อาญา คืออะไร?
“มาตรา 158 ” หรือ “มาตรา 158 อาญา” คือหนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายอาญา
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์หรือเอกสารใดอันเป็นหน้าที่ของตนที่จะปกครองหรือรักษาไว้ หรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำเช่นนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]”
อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่อง "เจ้าพนักงาน" ได้ที่นี่ คลิกเลย !
ค้นหาคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติมเรื่อง "เจ้าพนักงาน" ได้ที่นี่ คลิกเลย !
3 ตัวอย่างจริงของการใช้ “มาตรา 158” หรือ “มาตรา 158 อาญา” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7504/2561
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 142 เป็นกรณีที่ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สิน หรือเอกสารใด ๆ อันเจ้าพนักงานได้ยึด รักษาไว้หรือสั่งให้ส่งเพื่อเป็นพยานหลักฐาน... ไม่ว่าเจ้าพนักงานจะรักษาทรัพย์หรือเอกสารนั้นไว้เอง... ต้องระวางโทษจำคุก... เป็นการกระทำความผิดต่อเจ้าพนักงานและรัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหาย กฎหมายมิได้บัญญัติถึงองค์ประกอบความผิดในส่วนที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่นหรือประชาชนไว้ ดังนั้น บุคคลทั่วไปหรือประชาชนจึงไม่อาจเป็นผู้เสียหายในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 142 ได้
สำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 นั้น เมื่อการกระทำที่โจทก์กล่าวหาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 142, 151 และ 158 ไม่ได้เป็นการกระทำความผิดต่อโจทก์โดยตรง และโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจดำเนินคดีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ในความผิดตามมาตรา 142, 151 และ 158 แล้ว การที่จำเลยที่ 7 ถึงที่ 10 กระทำการเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 3 และที่ 4 แม้จะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม โจทก์ก็ไม่ใช่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยที่ 7 ถึงที่ 10 โดยตรง แม้โจทก์จะเคยร้องเรียนให้ดำเนินการสอบสวนลงโทษทางวินัยแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็ตาม การที่โจทก์เป็นผู้ร้องเรียนให้ลงโทษทางวินัยแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิที่โจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 แต่ก็ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษซึ่งจะทำให้โจทก์เป็นผู้เสียหายตามมาตรา 157
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17978/2557
ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุบัญญัติไว้ชัดเจนว่า ให้คณะกรรมการ กสช. ก็ดี คณะกรรมการ กทช. ก็ดี และพนักงานสำนักงานของคณะกรรมการดังกล่าว ก็ดี เป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. แต่ในกฎหมายฉบับเดียวกัน มาตรา 49 ว่าด้วยคณะกรรมการสรรหา ที่มา และบทบาทหน้าที่ ไม่ได้กำหนดว่าคณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการโทรคมนาคมเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. เช่นเดียวกันกับคณะกรรมการ กสช. หรือ กทช. หรือพนักงานดังกล่าว เช่นนี้ ย่อมเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวได้ชัดเจนว่า กฎหมายไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะให้คณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการโทรคมนาคมต้องมีอำนาจหน้าที่หรือมีความรับผิดในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. จำเลยเป็นเพียงคณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการโทรคมนาคม จึงไม่ใช่เจ้าพนักงานที่จะต้องรับผิดในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 157, 158, 161 และ 162
ตำแหน่งประธานวุฒิสภา เป็นตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ ไม่ใช่ตำแหน่งเจ้าพนักงานตามความหมายในลักษณะ 2 หมวด 1 แห่ง ป.อ. การยื่นรายงานเรื่องผลการพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็น กทช. จึงไม่อาจที่จะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 ได้
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 929/2537
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 139 บัญญัติให้พนักงานสอบสวนบันทึกการสอบสวนตามหลักทั่วไปในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันว่าด้วยการสอบสวนและให้เอาบันทึกเอกสารอื่นซึ่งได้มา อีกทั้งบันทึกและเอกสารทั้งหลายซึ่งเจ้าพนักงานอื่นผู้สอบสวนคดีเดียวกันนั้นส่งมารวมเข้าสำนวนไว้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนจะอ้างว่าได้ทำบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาและผู้กล่าวหาใหม่แล้วของเดิมไม่สำคัญ หรือผู้ให้ถ้อยคำไม่ประสงค์จะใช้ของเดิมจึงไม่นำเข้ารวมสำนวนไว้หาได้ไม่ การที่จำเลยที่ 1 เอาไปเสียซึ่งคำให้การฉบับเดิมของผู้ต้องหาและผู้กล่าวหาซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ปกครองดูแลรักษาไว้ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 158 นั้น ก็โดยเจตนาเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหามิให้ต้องโทษ ซึ่งเป็นการกระทำการในตำแหน่งพนักงานสอบสวนโดยมิชอบอันเป็นความผิด ตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157,200 วรรคแรกด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดกรรมเดียวกัน