Banner blog website1.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-06-28

ข้อความเบื้องต้น (มาตรา ๑ - ๖)

พระราชบัญญัติ
การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
พ.ศ. ๒๕๒๔

-------------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๔
เป็นปีที่ ๓๖ ในรัชกาลปัจจุบัน

               พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

               โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการเช่านา

               จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

               มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๒๔”

               มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

               มาตรา ๓  ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. ๒๕๑๗

               มาตรา ๔  พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่การเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมที่รัฐ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และสหกรณ์นิคมเป็นผู้ให้เช่า

               มาตรา ๕  ในพระราชบัญญัตินี้
               “เกษตรกรรม” หมายความว่า การทำนา ทำสวน ทำไร่ ทำนาเกลือ เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงสัตว์น้ำ และกิจการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
               “ผู้เช่า” หมายความว่า ผู้เช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมทั้งหมด หรือเป็นส่วนใหญ่
               “ผู้ให้เช่า” หมายความว่า ผู้ที่ให้เช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมทั้งหมด หรือเป็นส่วนใหญ่
               “การเช่า” หมายความว่า การเช่าหรือการเช่าช่วงโดยได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าซึ่งที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทที่การเช่าที่ดินเพื่อการนั้นมีการควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้ทั้งนี้ ไม่ว่าการเช่าหรือการเช่าช่วงนั้นจะมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือไม่ก็ตาม และหมายความรวมถึงการยินยอมให้ใช้ที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมดังกล่าวโดยได้รับค่าเช่า และการทำนิติกรรมอื่นใดอันเป็นการอำพรางการเช่านั้น
               “ค่าเช่า” หมายความว่า ผลิตผลเกษตรกรรม เงิน หรือทรัพย์สินอื่นใด ซึ่งให้เป็นค่าตอบแทนการเช่า และหมายความรวมถึงประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ที่ผู้ให้เช่า หรือบุคคลอื่นได้รับเพื่อตอบแทนการให้เช่าทั้งโดยทางตรงหรือทางอ้อม
               “ปี” หมายความว่า ระยะเวลาสิบสองเดือน โดยเริ่มนับตั้งแต่วันเริ่มต้นฤดูการประกอบเกษตรกรรมแห่งท้องถิ่น
               “จังหวัด” หมายความรวมถึง กรุงเทพมหานคร
               “อำเภอ” หมายความรวมถึง เขตของกรุงเทพมหานคร
               “ตำบล” หมายความรวมถึง แขวงของกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา
               “นายอำเภอ” หมายความรวมถึง หัวหน้าเขตของกรุงเทพมหานคร
               “กำนัน” หมายความรวมถึง หัวหน้าแขวงของกรุงเทพมหานคร
               “คชก. จังหวัด” หมายความว่า คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัด
               “คชก. อำเภอ” หมายความว่า คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำอำเภอ
               “คชก. ตำบล” หมายความว่า คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบล

 

ปรึกษาปัญหาทางกฎหมายฟรี
ตลอด 24 ชั่วโมง

  • ทนายให้ ปรึกษามากกว่า 3000 ครั้ง
    ฟรีบนแพล็ตฟอร์ม
  • ฟรี และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
  • ปรึกษาได้ทุกเรื่องราว ไม่ระบุตัวตนของผู้ถาม

               มาตรา ๕/๑  พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับกับการเช่าที่ผู้เช่าเป็นนิติบุคคล เว้นแต่ในกรณีที่มีการกระทำซึ่งฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ และเป็นการเช่าที่ผู้เช่าเป็นนิติบุคคล ให้นำบทบัญญัติตามหมวด ๔ บทกำหนดโทษ มาใช้บังคับแก่กรณีดังกล่าวด้วย

               มาตรา ๕/๒  ห้ามมิให้คนต่างด้าวเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรม หรือดำเนินการไม่ว่าด้วยวิธีการใดเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้ตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้
               คนต่างด้าวตามวรรคหนึ่ง ได้แก่
               (๑) บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย เว้นแต่
                     (ก) คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน ซึ่งได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร และได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ หรือได้รับสถานะเป็นคนที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกำหนด รวมถึงบุตรของบุคคลดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักร
                     (ข) คนไทยพลัดถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ และบุตรของบุคคลดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักร
                     (ค) บุคคลที่นายอำเภอมีหนังสือรับรองว่าอยู่ระหว่างการพิสูจน์สัญชาติไทยเพื่อการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร
               (๒) นิติบุคคลซึ่งไม่ได้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
               (๓) นิติบุคคลที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในประเทศไทย และมีลักษณะดังต่อไปนี้
                     (ก) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่มีผู้ถือหุ้นที่ไม่มีสัญชาติไทยถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละยี่สิบห้าของทุนจดทะเบียน หรือมีผู้ถือหุ้นที่ไม่มีสัญชาติไทยตั้งแต่ร้อยละยี่สิบห้าของผู้ถือหุ้น หุ้นชนิดที่ออกให้แก่ผู้ถือ ให้ถือว่าหุ้นนั้นผู้ไม่มีสัญชาติไทยเป็นผู้ถือ
                     (ข) ห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่จดทะเบียนแล้วที่มีผู้เป็นหุ้นส่วนที่ไม่มีสัญชาติไทยลงหุ้นมีมูลค่าตั้งแต่ร้อยละยี่สิบห้าของทุนทั้งหมด หรือผู้เป็นหุ้นส่วนเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทยตั้งแต่ร้อยละยี่สิบห้าของผู้เป็นหุ้นส่วน หรือหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทย
               (๔) ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มีผู้เป็นหุ้นส่วนเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทย
               (๕) สมาคมรวมทั้งสหกรณ์ที่มีสมาชิกเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทยตั้งแต่ร้อยละยี่สิบห้าของสมาชิกทั้งหมด หรือดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ของผู้ไม่มีสัญชาติไทยโดยเฉพาะหรือเป็นส่วนใหญ่
               (๖) มูลนิธิที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของผู้ไม่มีสัญชาติไทยโดยเฉพาะหรือเป็นส่วนใหญ่
               บทบัญญัติมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับกับบุคคล ดังต่อไปนี้
               (๑) คนต่างด้าวที่เช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมโดยอาศัยสนธิสัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคีหรือมีความผูกพันตามพันธกรณี และให้เป็นไปตามบทบัญญัติและเงื่อนไขของสนธิสัญญานั้น ซึ่งอาจรวมถึงการให้สิทธิคนไทยและวิสาหกิจของคนไทยเข้าไปประกอบธุรกิจในประเทศสัญชาติของคนต่างด้าวนั้นเป็นการต่างตอบแทนด้วย
               (๒) คนต่างด้าวซึ่งเป็นผู้ได้รับการส่งเสริมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนสำหรับการเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน

               มาตรา ๖  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้กฎกระทรวงนั้น เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้


               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๘/ตอนที่ ๑๓๓/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๖/๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๒
               มาตรา ๕ นิยามคำว่า "คชก. อำเภอ" เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๕/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๕/๒ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๙

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
mini_call_to_action_picture

ทนายความมากกว่า 500 คน ทั่วประเทศ พร้อมให้คำปรึกษา เพียง 33 บาท