คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8659 - 8660/2563
พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ม. 3 (18), 50 วรรคหนึ่ง (2), 51 วรรคสาม
ผู้คัดค้านที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทมาจากผู้คัดค้านที่ 1 ในระหว่างที่ผู้คัดค้านที่ 1 ถูกแจ้งความดำเนินคดีโดยเหตุจากพฤติการณ์อันมีลักษณะที่เป็นการกระทำความผิดมูลฐานฉ้อโกงฐานเดียวกับที่กระทำมาหลายครั้งตั้งแต่ปี 2542 ทั้งผู้คัดค้านที่ 3 ก็เป็นผู้ไปดำเนินการขอปล่อยชั่วคราวผู้คัดค้านที่ 1 หลายครั้ง โดยเดินทางมาจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อขอประกันตัวผู้คัดค้านที่ 1 ที่กรุงเทพมหานคร พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าผู้คัดค้านที่ 3 มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้คัดค้านที่ 1 เป็นอย่างมาก ซึ่งต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ารับโอนที่ดินมาโดยไม่สุจริตตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคสาม
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกผู้ร้องทั้งสองสำนวนว่า ผู้ร้อง เรียกผู้คัดค้านที่ 1 ในสำนวนแรกและในสำนวนหลังว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เรียกผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 ในสำนวนแรกว่า ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 เรียกผู้คัดค้านที่ 5 ในสำนวนแรกและผู้คัดค้านที่ 2 ในสำนวนหลังว่า ผู้คัดค้านที่ 5 เรียกผู้คัดค้านที่ 6 ในสำนวนแรกว่า ผู้คัดค้านที่ 6 เรียกผู้คัดค้านที่ 7 ในสำนวนแรกและผู้คัดค้านที่ 3 ในสำนวนหลังว่า ผู้คัดค้านที่ 7 เรียกผู้คัดค้านที่ 8 ในสำนวนแรกว่า ผู้คัดค้านที่ 8 และเรียกผู้คัดค้านที่ 4 ในสำนวนหลังว่า ผู้คัดค้านที่ 9
ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องทั้งสองสำนวนเป็นใจความทำนองเดียวกันขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินทั้ง 26 รายการ พร้อมดอกผลไปเฉลี่ยคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหายตามสัดส่วนความเสียหาย และทรัพย์สินพร้อมดอกผลของทรัพย์สินส่วนที่เหลือให้ตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49 วรรคหก ประกอบมาตรา 51
ผู้คัดค้านที่ 1, ที่ 2, ที่ 3, ที่ 4 และที่ 9 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องและคืนทรัพย์สินแก่ผู้คัดค้านที่ 1, ที่ 2, ที่ 3, ที่ 4 และที่ 9
ผู้คัดค้านที่ 5 ยื่นคำคัดค้านขอให้มีคำสั่งคุ้มครองสิทธิของผู้คัดค้านที่ 5
ผู้คัดค้านที่ 6 ยื่นคำคัดค้านขอให้เพิกถอนการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 18047 และ 18049 พร้อมสิ่งปลูกสร้างหรือหากศาลมีคำสั่งให้ขายทอดตลาดที่ดินก็ให้นำเงินมาชำระให้แก่ผู้คัดค้านที่ 6 ก่อน
ผู้คัดค้านที่ 7 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 8 ยื่นคำคัดค้านขอให้คืนเงิน 800,000 บาท หรือมีคำสั่งคุ้มครองสิทธิผู้คัดค้านที่ 8
ระหว่างพิจารณา ผู้คัดค้านที่ 5 ขอถอนคำคัดค้านเฉพาะรถยนต์ ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นฟอร์จูนเนอร์ หมายเลขทะเบียน 2กศ 372 กรุงเทพมหานคร ทรัพย์สินรายการที่ 13 ในสำนวนหลัง เนื่องจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้ชำระเงินชดเชยความเสียหายสำหรับทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้านที่ 5 แล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและบริษัทบริหารสินทรัพย์เอส ดับบลิว พี จำกัด ขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนผู้คัดค้านที่ 5 ในส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 147208 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ทรัพย์สินรายการที่ 8 ในสำนวนแรก ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ผู้คัดค้านที่ 8 และที่ 9 ยื่นคำร้องขอถอนคำคัดค้าน เนื่องจากผู้ร้องได้มีคำขอให้คืนทรัพย์สินหรือชดใช้ทรัพย์สินคืนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 8 และที่ 9 ตามสัดส่วนความเสียหายแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 68053 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ที่ดินโฉนดเลขที่ 47149 ที่ดินโฉนดเลขที่ 63385 ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1250 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เหรียญรัชกาลที่ 5 กรอบสีทองลงยา จำนวน 1 เหรียญ แหวนสีทองคำขาว หัวพลอยสีนํ้าเงิน 1 วง แหวนสีทองคำขาว 1 วง แหวนสีทองคำขาว หัวพลอยสีเขียว 1 วง กำไลข้อมือสีทองแดง 1 วง กำไลข้อมือสีเงิน 1 วง ซึ่งเป็นทรัพย์สินรายการที่ 1 ถึงที่ 4 และรายการที่ 9 ถึงที่ 14 ออกขายทอดตลาดนำเงินที่ได้มาเฉลี่ยคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 8 นางชนันท์กานต์ นางอัมพร นางจรัสวรรณ และนางสาวกรรณิการ์ เงินส่วนที่เหลือ (หากมี) พร้อมดอกผลให้ตกเป็นของแผ่นดิน
ให้นำเงินจากการขายทอดตลาดนาฬิกาข้อมือ ยี่ห้อ Maurice Lacroix หน้าปัดเรือนสีทองสายหนัง จำนวน 90,000 บาท เงินจากการขายทอดตลาดนาฬิกาข้อมือ ยี่ห้อ Maurice Lacroix หน้าปัดเรือนสีเงิน สายหนัง จำนวน 109,000 บาท เงินจากการขายทอดตลาดกระเป๋าสตางค์ ยี่ห้อ Bally สีดำ จำนวน 4,600 บาท เงินจากการขายทอดตลาดกระเป๋าสตางค์ ยี่ห้อ Louis Vuitton สีนํ้าตาล จำนวน 9,900 บาท เงินจากการขายทอดตลาดกระเป๋าสะพาย ยี่ห้อ Bally สีดำ จำนวน 11,000 บาท เงินจากการขายทอดตลาดกระเป๋าสะพาย ยี่ห้อ Louis Vuitton สีนํ้าตาล จำนวน 26,500 บาท เงินจากการขายทอดตลาดรถยนต์ ยี่ห้อโตโยต้า สีขาว รุ่นฟอร์จูนเนอร์ หมายเลขทะเบียน 2กศ 372 กรุงเทพมหานคร ที่เหลือหลังจากหักมูลหนี้ค่าเช่าซื้อให้ผู้คัดค้านที่ 5 แล้ว จำนวน 174,482.94 บาท และเงินจากการขายทอดตลาดรถยนต์ ยี่ห้อเบนซ์ สีขาว รุ่นอี 250 หมายเลขทะเบียน ญผ 2885 กรุงเทพมหานคร ที่เหลือหลังจากหักมูลหนี้ค่าเช่าซื้อให้ผู้คัดค้านที่ 9 แล้ว จำนวน 33,736.01 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์สินรายการที่ 15 ถึงที่ 22 มาเฉลี่ยคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 8 นางชนันท์กานต์ นางอัมพร นางจรัสวรรณ และนางสาวกรรณิการ์ ส่วนที่เหลือ (หากมี) พร้อมดอกผลให้ตกเป็นของแผ่นดิน
ให้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 18047 และ 18049 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นทรัพย์สินรายการที่ 5 และที่ 6 ออกขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองและนำเงินจากการขายทอดตลาดมาชำระหนี้แก่ผู้คัดค้านที่ 6 จนครบถ้วน เงินส่วนที่เหลือ (หากมี) ให้นำมาเฉลี่ยคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 8 นางชนันท์กานต์ นางอัมพร นางจรัสวรรณ และนางสาวกรรณิการ์ และเงินส่วนที่เหลือจากการเฉลี่ยคืนผู้เสียหายหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหาย (หากมี) พร้อมดอกผลให้ตกเป็นของแผ่นดิน
ให้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 147208 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นทรัพย์สินรายการที่ 8 ออกขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองและนำเงินจากการขายทอดตลาดมาชำระหนี้แก่ผู้สวมสิทธิแทนผู้คัดค้านที่ 5 จนครบถ้วน เงินส่วนที่เหลือ (หากมี) ให้นำมาเฉลี่ยคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหายที่ 8 นางชนันท์กานต์ นางอัมพร นางจรัสวรรณ และนางสาวกรรณิการ์ และเงินส่วนที่เหลือจากการเฉลี่ยคืนผู้เสียหายหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหาย (หากมี) พร้อมดอกผลให้ตกเป็นของแผ่นดิน
ให้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 15848 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ห้องชุดเลขที่ 66/149 ชั้นที่ 7 อาคารเลขที่ ซี ชื่ออาคารชุด แชมเบอร์ส รามอินทรา ทะเบียนอาคารชุดเลขที่ 1/2557 ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 6221 ห้องชุดเลขที่ 89/228 ชั้นที่ 8 อาคารเลขที่ เอ ชื่ออาคารชุด พาร์ค เอ็กโซ ทะเบียนอาคารชุดเลขที่ 4/2556 ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 970 ห้องชุดเลขที่ 8/1702 และห้องชุดเลขที่ 8/1703 ชั้นที่ 7 อาคารเลขที่ เอ ชื่ออาคารชุด คริสม่า คอนโดรามอินทรา ทะเบียนอาคารชุดเลขที่ 2/2557 ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 10859 ซึ่งเป็นทรัพย์รายการที่ 7 และรายการที่ 23 ถึงที่ 26 ออกขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองและนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 7 จนครบถ้วน เงินส่วนที่เหลือ (หากมี) ให้นำมาเฉลี่ยคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 8 นางชนันท์กานต์ นางอัมพร นางจรัสวรรณ และนางสาวกรรณิการ์ และเงินส่วนที่เหลือจากการเฉลี่ยคืนผู้เสียหายหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหาย (หากมี) พร้อมดอกผลให้ตกเป็นของแผ่นดิน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ทั้งสองสำนวนให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 3 ว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 15848 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ทรัพย์สินรายการที่ 7 ที่พิพาทในชั้นฎีกานี้เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ซึ่งผู้คัดค้านที่ 3 ได้มาโดยไม่สุจริตและต้องนำออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินไปชดใช้คืนแก่ผู้เสียหายและให้ส่วนที่เหลือตกเป็นของแผ่นดินตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษามาหรือไม่ ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของผู้ร้องซึ่งนำสืบพฤติการณ์ของผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกได้ความตามที่ปรากฏในคำร้อง ส่วนผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 3 รวมทั้งผู้คัดค้านที่ 7 ซึ่งเป็นผู้รับจำนองที่ดินพิพาทก็นำสืบข้อเท็จจริงได้ความตามที่ปรากฏในคำคัดค้าน
เมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ที่ต้องการใช้กฎหมายนี้เป็นมาตรการในการตัดวงจรการประกอบอาชญากรรม เนื่องจากผู้ประกอบอาชญากรรมซึ่งกระทำความผิดกฎหมายบางประเภท นำเงินหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดนั้นมากระทำการในรูปแบบต่าง ๆ อันเป็นการฟอกเงิน เพื่อนำเงินหรือทรัพย์สินนั้นไปใช้เป็นประโยชน์ในการกระทำความผิดต่อไปได้อีก ทำให้ยากแก่การปราบปรามการกระทำความผิดกฎหมายเหล่านั้น และโดยที่กฎหมายที่มีอยู่ก็ไม่สามารถปราบปรามการฟอกเงินหรือดำเนินการกับเงินหรือทรัพย์สินนั้นได้เท่าที่ควร ดังนั้น เพื่อเป็นการตัดวงจรการประกอบอาชญากรรมดังกล่าว สมควรกำหนดมาตรการต่าง ๆ ให้สามารถดำเนินการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมาตรการที่กำหนดนั้นมีความมุ่งหมายให้ดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ประกอบกับบทนิยามของคำว่า "ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด" ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 นั้น ในเบื้องต้นต้องพิจารณาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 15848 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ทรัพย์สินรายการที่ 7 ที่คงพิพาทกันในชั้นฎีกาที่ผู้คัดค้านที่ 3 รับโอนมาจากผู้คัดค้านที่ 1 นั้น เป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 1 ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานหรือกระทำความผิดฐานฟอกเงินตามบทนิยามดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่า เมื่อคดีในส่วนของผู้คัดด้านที่ 1 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ซึ่งรับฟังว่าผู้คัดค้านที่ 1 มีพฤติการณ์ในการกระทำความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (18) อันเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ตามพฤติการณ์ที่ผู้ร้องบรรยายในคำร้องว่า จากการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานของเจ้าพนักงานตำรวจ พบว่าผู้คัดค้านที่ 1 มีประวัติเคยถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหาฉ้อโกงหลายคดีต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งเป็นการกระทำที่เป็นเหตุให้คณะกรรมการธุรกรรมมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกเป็นผู้มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันเป็นปกติธุระ อันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 แล้วคณะกรรมการธุรกรรมจึงมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมและทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 กับพวก เมื่อคณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาผลการตรวจสอบของพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วเชื่อว่าทรัพย์สินรายการที่ 1 ถึงที่ 8 ตามบัญชีรายการทรัพย์สินซึ่งรวมทรัพย์สินรายการที่ 7 ที่เป็นทรัพย์สินที่พิพาทในชั้นฎีกาแปลงนี้ด้วยว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ดังกล่าว ในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานนี้ แม้ผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกจะนำสืบต่อสู้ว่ายังไม่เคยมีคำพิพากษาว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามที่ถูกดำเนินคดี แต่ข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่าในคดีที่ขึ้นสู่ชั้นศาลแล้วนั้น ฝ่ายผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นจำเลยยินยอมชดใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหายเป็นเหตุให้มีการถอนคำร้องทุกข์เป็นรายคดี พฤติการณ์ดังกล่าวเชื่อว่าผู้คัดค้านที่ 1 มีพฤติการณ์ที่เป็นการกระทำที่ครบองค์ประกอบความผิดที่เป็นความผิดมูลฐานแล้ว ทั้งคดีตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 นี้เป็นคดีในทางแพ่ง แต่ก็มิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่จะต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 และมาตรการดังกล่าวมิใช่โทษทางอาญาจึงมีผลใช้บังคับย้อนหลังได้ การรับฟังว่าผู้คัดค้านที่ 1 มีพฤติการณ์การกระทำความผิดมูลฐานหรือไม่ เป็นไปตามข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่รับฟังได้ในแต่ละคดี พยานหลักฐานตามที่ผู้ร้องนำสืบในคดีนี้รับฟังได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกเป็นผู้มีพฤติการณ์ของการกระทำความผิดมูลฐานนั้นจริง
เมื่อที่ดินโฉนดเลขที่ 15848 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ทรัพย์สินรายการที่ 7 นั้น ผู้คัดค้านที่ 1 นำสืบว่าผู้คัดค้านที่ 1 ซื้อจากการเคหะแห่งชาติเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2546 โดยกู้เงินและจำนองเป็นประกันไว้แก่ธนาคารอาคารสงเคราะห์และเปลี่ยนมาขอสินเชื่อจากผู้คัดค้านที่ 6 แต่ก็ปรากฏข้อเท็จจริงตามที่บรรยายในคำร้องและที่พันตำรวจเอกชัยนันท์ เบิกความในชั้นพิจารณาได้ความว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้มีพฤติการณ์ในการกระทำความผิดมูลฐานตามที่ผู้ร้องบรรยายในคำร้องว่าผู้คัดค้านที่ 1 ถูกดำเนินคดีในชั้นพนักงานสอบสวน ตั้งแต่ปี 2551 ถึงปี 2557 รวม 7 คดี และก่อนหน้านี้ก็เคยถูกออกหมายจับในความผิดฐานฉ้อโกง ตามหมายจับลำดับที่ 36/2542 คดีที่ 443/2542 ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2542 และได้รายงานพฤติการณ์ของผู้คัดค้านที่ 1 ตามหมายจับดังกล่าวไว้ตามรายงานการสืบสวน ตั้งแต่ปี 2549 นอกจากนั้นจากการสืบสวนตั้งแต่ปี 2545 ไม่พบว่าผู้คัดค้านที่ 1 ประกอบอาชีพอื่นใด แต่คงมีพฤติการณ์ในการฉ้อโกงและมีรายได้จากการฉ้อโกงครั้งละหลายล้านบาท แม้คดีตามหมายจับดังกล่าวพันตำรวจเอกชัยนันท์จะตอบคำถามค้านของทนายผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 3 ว่าศาลพิพากษายกฟ้องเพราะเหตุผู้เสียหายสมัครใจเข้าเล่นการพนันเอง แต่ก็ถือได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกซึ่งใช้วิธีการชักชวนให้เหยื่อเข้าร่วมเล่นการพนันเป็นขั้นตอนหนึ่งในการฉ้อโกงเป็นผู้มีพฤติการณ์ในการกระทำความผิดมูลฐานแล้ว การที่ผู้คัดค้านที่ 1 ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 15848 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ทรัพย์สินรายการที่ 7 มาเมื่อปี 2546 ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่มีพฤติการณ์ในการกระทำความผิดมูลฐานแล้ว เมื่อตามทางนำสืบของผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งอ้างว่ามีรายได้จากการทำสวนยางในที่ดินของตนเนื้อที่ประมาณ 60 ไร่ แต่ก็ปรากฏตามคำเบิกความของผู้คัดค้านที่ 1 เองว่า ขณะนั้นต้นยางยังไม่ให้ผลผลิตจะกรีดน้ำยางได้ในปี 2548 ทั้งขณะนั้นผู้คัดค้านที่ 1 ยังคงเช่าบ้านอยู่ ส่วนสวนยางในที่ดินของผู้คัดค้านที่ 4 ซึ่งมีเพียงประมาณ 15 ไร่ ก็ปรากฏว่ามีการโค่นต้นยางที่อายุมากแล้วไปในปี 2547 แต่กลับมีการซื้อทรัพย์สินหลายรายการ แม้จะอ้างว่ามีรายได้จากการปล่อยกู้ การขายประกัน และต้องกู้จากสถาบันการเงินโดยใช้ทรัพย์สินนั้นจำนองเป็นประกัน แต่ก็ต้องมีภาระในการผ่อนชำระในแต่ละเดือน ทั้งบุตรของผู้คัดค้านที่ 1 ป่วยเป็นโรคประจำตัว ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของผู้คัดค้านที่ 1 ดังกล่าว ไม่น่าเชื่อว่าผู้คัดค้านที่ 1 มีรายได้ตามที่อ้างเพียงพอที่จะซื้อที่ดินแปลงที่พิพาทในชั้นฎีกานี้ได้ เชื่อว่าที่ดินแปลงนี้เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ตามความหมายในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 ดังที่ผู้ร้องระบุในคำร้องและที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ดังนั้น เมื่อผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินแปลงพิพาทมาจากผู้คัดค้านที่ 1 ในระหว่างที่ผู้คัดค้านที่ 1 ถูกแจ้งความดำเนินคดีโดยเหตุจากพฤติการณ์อันมีลักษณะที่เป็นการกระทำความผิดฐานเดียวกับที่กระทำมาตั้งแต่ปี 2542 ทั้งผู้คัดค้านที่ 3 ก็เบิกความยอมรับว่าเป็นผู้ไปดำเนินการขอปล่อยชั่วคราวผู้คัดค้านที่ 1 แม้จะอ้างว่าไปยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวเพราะผู้คัดค้านที่ 4 ซึ่งเป็นสามีของผู้คัดค้านที่ 1 ร้องขอ รวมทั้งเมื่อตอบผู้ร้องถามค้านก็รับว่าไปดำเนินการขอปล่อยชั่วคราวผู้คัดค้านที่ 1 หลายครั้ง แต่จำจำนวนครั้งไม่ได้ โดยบางครั้งเดินทางมาโดยเครื่องบิน บางครั้งก็ขับรถจากสุราษฎร์ธานีมาติดต่อขอประกันตัวผู้คัดค้านที่ 1 ที่กรุงเทพมหานคร พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าผู้คัดค้านที่ 3 มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้คัดค้านที่ 1 เป็นอย่างมาก เพราะแม้ผู้คัดค้านที่ 4 จะออกค่าใช้จ่ายให้ ก็เป็นที่น่าสงสัยว่าเมื่อผู้คัดค้านที่ 4 เป็นสามีของผู้คัดค้านที่ 1 ทั้งผู้คัดค้านที่ 4 ก็มีทรัพย์สินที่สามารถนำไปเป็นหลักประกันได้ ในขณะที่ผู้คัดค้านที่ 1 ก็มีทรัพย์สินที่สามารถนำไปเป็นหลักประกันได้อีกหลายรายการ และในการขอปล่อยชั่วคราวเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการจะต้องแจ้งข้อหาความผิดให้ทราบเพื่อผู้ขอปล่อยชั่วคราวจะได้ตรวจสอบราคาประกันของแต่ละข้อหาได้ ที่ผู้คัดค้านที่ 3 ตอบผู้ร้องถามค้านว่าไม่ทราบว่าไปประกันตัวผู้คัดค้านที่ 1 ในข้อหาใดนั้นย่อมไม่น่าเชื่อ เมื่อพิจารณาพฤติการณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวของผู้คัดค้านที่ 3 แล้ว เชื่อว่าผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้คัดค้านที่ 1 ที่กระทำความผิดมูลฐาน รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 15848 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ทรัพย์สินรายการที่ 7 มาจากผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ารับโอนมาโดยไม่สุจริตตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคสามนั้น ไม่สามารถแสดงให้ศาลเห็นว่าตนเป็นผู้รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน โดยมีรายได้จากการงานอาชีพตามที่อ้าง หรือได้มาโดยสุจริตและตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางกุศลสาธารณะตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง (2) ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาในส่วนนี้มานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ดินโฉนดเลขที่ 15848 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง มีราคาประเมิน 681,044 บาท คิดเป็นค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกา 13,620.88 บาท ผู้คัดค้านที่ 3 ชำระค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกา 14,000 บาท เกินมา 379.12 บาท จึงให้คืนค่าขึ้นศาลที่ชำระเกินมาแก่ผู้คัดค้านที่ 3
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่ชำระเกินมาแก่ผู้คัดค้านที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากนี้ให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ปค.1-2/2563
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ ผู้ร้อง - พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้คัดค้าน - นางสาว ว. กับพวก
ชื่อองค์คณะ วิชิต ลีธรรมชโย เฉลิมชัย ศรีเลิศชัยพานิช วิบูลย์ แสงชมภู
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแพ่ง - นางดวงใจ สิงหนาท ศาลอุทธรณ์ - นายประคอง เตกฉัตร