คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8572/2563
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 277, 283 ทวิ, 317 วรรคสาม
จำเลยชักชวนผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาออกจากห้องเช่าของผู้เสียหายที่ 1 ไปเล่นโทรศัพท์ในห้องเช่าของจำเลยซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน ไม่ว่าจะขออนุญาตผู้เสียหายที่ 1 หรือไม่ เมื่อผู้เสียหายที่ 2 ถูกจำเลยพาไปพยายามกระทำชำเรา ถือได้ว่าเป็นการพาและแยกเด็กไปจากความปกครองดูแล และล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 อันเป็นความหมายของคำว่า "พราก" แล้ว จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม
จำเลยมีเจตนาพรากผู้เสียหายที่ 2 ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 1 เพื่อการอนาจาร เป็นเจตนาที่กระทำต่อผู้เสียหายที่ 1 มารดาของผู้เสียหายที่ 2 ส่วนที่จำเลยเจตนากระทำอนาจารและพยายามกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 เป็นเจตนาต่างหากจากเจตนาพรากผู้เสียหายที่ 2 ไป มิใช่กระทำโดยมีเจตนาเดียวกัน จึงเป็นความผิดสองกรรมต่างกัน
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 59, 80, 91, 92, 277, 279, 283 ทวิ, 317 บวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2041/2559 และ 2875/2560 ของศาลจังหวัดพระโขนง เข้ากับโทษจำคุกคดีนี้
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 80, 279 วรรคแรก, 283 ทวิ วรรคสอง, 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 8 ปี ฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี และฐานพยายามกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานพยายามกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 8 ปี รวมจำคุก 16 ปี คำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 12 ปี บวกโทษจำคุกคดีละ 1 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2041/2559 และ 2875/2560 ของศาลจังหวัดพระโขนง เข้ากับโทษจำคุกในคดีนี้เป็นจำคุก 12 ปี 2 เดือน ส่วนที่โจทก์มีคำขอให้เพิ่มโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 นั้น เมื่อไม่ปรากฏจากคำฟ้องโจทก์ว่าจำเลยถูกจำคุกมาก่อน จึงไม่อาจเพิ่มโทษได้ ให้ยกคำขอในส่วนนี้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เด็กหญิง พ. ผู้เสียหายที่ 2 ขณะเกิดเหตุอายุ 6 ปีเศษ เป็นบุตรของนางสาว บ. ผู้เสียหายที่ 1 และนาย ฉ. ผู้เสียหายที่ 2 พักอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 1 และนาย ฉ. ที่ห้องเช่าไม่มีชื่อ ห้องหมายเลข 1 ส่วนจำเลยพักอาศัยที่ห้องเช่า ห้องหมายเลข 5 ซึ่งเป็นห้องที่เกิดเหตุ ผู้เสียหายที่ 1 พาผู้เสียหายที่ 2 ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรว่า จำเลยพยายามกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 พนักงานสอบสวนส่งผู้เสียหายที่ 1 ไปให้แพทย์ตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล แพทย์ตรวจไม่พบหลักฐานว่าผ่านการร่วมประเวณี และพนักงานสอบสวนสอบคำให้การผู้เสียหายทั้งสองไว้ ชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์ปากร้อยตำรวจโท อ. พนักงานสอบสวนเป็นเจ้าพนักงานกระทำการไปตามหน้าที่ไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุให้น่าระแวงสงสัยว่าจะแกล้งกล่าวหาและเบิกความปรักปรำจำเลยให้ต้องรับโทษ น่าเชื่อว่าได้เบิกความไปตามความจริง นอกจากนั้นตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา จำเลยให้การรับสารภาพและให้รายละเอียดก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุจำเลยกระทำการล่วงละเมิดทางเพศผู้เสียหายที่ 2 อย่างไร และภายหลังเกิดเหตุจำเลยวิ่งหลบหนีไปโดยมีผู้เสียหายที่ 1 วิ่งติดตามไปในทันที เมื่อไปถึงบริเวณตรงข้ามปากซอย ผู้เสียหายที่ 1 ร้องเรียกให้เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลย เชื่อว่าจำเลยให้การรับสารภาพโดยระบุถึงพฤติการณ์การกระทำของตนเองไปตามความเป็นจริง โดยปรากฏตามคำเบิกความของร้อยตำรวจโท อ. ที่ยืนยันว่า ในชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพ พนักงานสอบสวนไม่ได้ขู่เข็ญ บังคับ ให้คำมั่นสัญญา หรือหลอกลวงจำเลยแต่อย่างใด และพยานอ่านข้อความในบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา ให้จำเลยฟังก่อนลงลายมือชื่อ ตามบันทึกคำให้การดังกล่าวระบุว่าพนักงานสอบสวนได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/4 คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนจึงเป็นพยานบอกเล่าซึ่งตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 นำคำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนดังกล่าวมาฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์เพื่อลงโทษจำเลยเป็นการวินิจฉัยโดยชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อมาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม หรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานนี้กฎหมายมุ่งหมายที่จะคุ้มครองอำนาจของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็ก อันไม่ใช่ตัวเด็กที่ถูกพราก และปกป้องมิให้ผู้ใดมาก่อการรบกวนหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการกระทบกระทั่งต่ออำนาจปกครอง ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยปริยาย เด็กแม้จะไปอยู่ที่แห่งใดหากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ยังดูแลเอาใจใส่อยู่ เด็กย่อมอยู่ในอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตลอดเวลาโดยไม่ขาดตอน ทั้งเป็นการลงโทษผู้ที่ละเมิดต่ออำนาจปกครองดูแลเด็กของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล นอกจากนี้กฎหมายมิได้จำกัดคำว่า "พราก" โดยวิธีการอย่างใด และไม่ว่าเด็กจะเป็นฝ่ายออกจากบ้านเองหรือโดยมีผู้ชักนำหรือไม่มีผู้ชักนำ หากมีผู้กระทำต่อเด็กในทางเสื่อมเสียและเสียหายย่อมถือได้ว่าเป็นความผิด ผู้เสียหายที่ 2 เบิกความยืนยันว่า จำเลยเป็นผู้ชักชวนผู้เสียหายที่ 2 เข้าไปเล่นโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยในห้องเช่าของจำเลย การที่ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาออกจากห้องเช่าของผู้เสียหายที่ 1 ไปเล่นในห้องเช่าที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน ไม่ว่าจะขออนุญาตผู้เสียหายที่ 1 หรือไม่ก็ตาม เมื่อถูกจำเลยพาไปพยายามกระทำชำเรา การกระทำของจำเลยดังกล่าวย่อมทำให้อำนาจปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาถูกตัดขาดพรากไปแล้ว ดังนั้น เมื่อผู้เสียหายที่ 2 ถูกจำเลยกระทำลักษณะเสื่อมเสียเยี่ยงนี้ ถือได้ว่าเป็นการพาและแยกเด็กไปจากความปกครองดูแล และล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดา อันเป็นความหมายของคำว่าพรากแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อมาว่า ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจาร ความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี และความผิดฐานพยายามกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทนั้น เห็นว่า การที่จำเลยพรากผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร และได้พยายามกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 แม้การกระทำของจำเลยดังกล่าวจะเป็นการกระทำต่อเนื่องในวันเดียวกันก็ตาม แต่เห็นได้ว่าจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาต่างกัน กล่าวคือ จำเลยมีเจตนาพรากผู้เสียหายที่ 2 ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 1 เพื่อการอนาจารอันเป็นเจตนาที่กระทำต่อผู้เสียหายที่ 1 มารดาของผู้เสียหายที่ 2 ส่วนที่จำเลยกระทำต่อผู้เสียหายที่ 2 เป็นเจตนากระทำอนาจารและพยายามกระทำชำเราอันเป็นเจตนาต่างหากจากเจตนาพรากผู้เสียหายที่ 2 ไปดังกล่าว จึงมิใช่กระทำโดยมีเจตนาเดียวกัน การกระทำของจำเลยตามคำฟ้องจึงเป็นความผิดสองกรรมต่างกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำเลยมานั้นจึงชอบแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ส่วนฎีกาของจำเลยที่ขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่าที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษจำคุกจำเลยก่อนลดโทษฐานพยายามกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีให้จำคุก 8 ปี และฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารให้จำคุก 8 ปี นั้น หนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้เหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งคดีอนึ่ง แม้ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะมีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 มาตรา 5 และมาตรา 9 ให้ยกเลิกความในมาตรา 277 และมาตรา 279 ตามลำดับ และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมา
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี จำคุก 5 ปี และฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 10 ปี คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี 18 เดือน บวกโทษจำคุก 2 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2041/2559 และ 2875/2560 ของศาลจังหวัดพระโขนงเข้ากับโทษในคดีนี้เป็นจำคุกจำเลย 6 ปี 20 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.1152/2563
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัด จำเลย - นาย ว.
ชื่อองค์คณะ ภัทรศักดิ์ วรรณแสง อำพันธ์ สมบัติสถาพรกุล สืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดสมุทรปราการ - นางสาวศิริเพ็ญ ตั้งทวีสุโข ศาลอุทธรณ์ภาค 1 - นายสมควร ศิริยุทธ