สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8482/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8482/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 264, 265, 266, 268 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 ม. 42

จำเลยที่ 1 กรรมการคนหนึ่งของบริษัท ช. ลงลายมือชื่อในรายการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมและ/หรือมติพิเศษ (แบบ บอจ.4) โดยระบุชื่อโจทก์เป็นกรรมการที่ออกจากตำแหน่ง เป็นการลงลายมือชื่อในนามของจำเลยที่ 1 เอง มิได้เป็นการปลอมลายมือชื่อผู้อื่นในเอกสารและไม่ใช่การเพิ่มเติมข้อความในเอกสารที่แท้จริง เอกสารดังกล่าวจึงมิใช่เอกสารปลอม แม้ไม่มีตราประทับของบริษัท ช. ก็ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำในนามของบุคคลอื่น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 90, 91, 137, 264, 265, 266, 267, 268 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 10, 11, 16, 17, 27, 28, 42, 47

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 4 ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ จำเลยที่ 1 และนางสาวทิพสุคนธ์ เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน เดิมโจทก์ จำเลยที่ 1 และนางสาวทิพสุคนธ์เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นบริษัทช่วง ทรัพย์ทวี จำกัด กรรมการคนหนึ่งลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทกระทำการผูกพันบริษัทได้ โจทก์ถือหุ้น 8,000 หุ้น จำเลยที่ 1 ถือหุ้น 1,000 หุ้น และนางสาวทิพสุคนธ์ถือหุ้น 1,000 หุ้น บริษัทจัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการร้านขายสินค้าสะดวกซื้อหรือร้านค้าเซเว่นอีเลฟเว่นสโตร์ โดยรับสินค้าของบริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) มาจำหน่าย ในการควบคุมสินค้าและการเงินการบัญชีของร้าน บริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ควบคุม เมื่อเดือนมกราคม 2559 เกิดปัญหาเงินในบัญชีของร้านหายไป 50,000 บาท ซึ่งอยู่ในช่วงที่โจทก์บริหารงาน จากนั้นวันที่ 11 มกราคม 2559 เจ้าหน้าที่ของบริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เรียกโจทก์ จำเลยที่ 1 และนางสาวทิพสุคนธ์มาเจรจาและได้มีการชำระเงินคืนส่วนที่หายไป ต่อมาวันที่ 15 มกราคม 2559 เจ้าหน้าที่ของบริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เรียกโจทก์ จำเลยที่ 1 และนางสาวทิพสุคนธ์มาเจรจาอีกครั้งที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเกี่ยวกับเรื่องการบริหารร้านค้าเซเว่นอีเลฟเว่นสโตร์ที่บริษัทช่วง ทรัพย์ทวี จำกัด รับโอนกิจการมาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป หลังจากวันดังกล่าวโจทก์ไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจการของบริษัทช่วง ทรัพย์ทวี จำกัด อีก ต่อมาวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 จำเลยที่ 1 จ้างบริษัทพี เอ็น แอ๊คเคาน์ ซิสเต็ม แอนด์ คอนเซาน์ จำกัด ที่มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการ จำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้าง ดำเนินการยื่นเอกสารต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดกระบี่ ขอจดทะเบียนเอาชื่อโจทก์ออกจากกรรมการและผู้ถือหุ้นของบริษัทช่วง ทรัพย์ทวี จำกัด โดยอ้างรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2559 ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 ว่ามีมติให้โจทก์ออกจากกรรมการ โดยจำเลยที่ 1 รับว่าไม่มีการประชุมกันจริงและไม่มีการส่งคำบอกกล่าวให้แก่ผู้ถือหุ้น ทั้งนี้บริษัทช่วง ทรัพย์ทวี จำกัด มอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 ยื่นคำขอจดทะเบียนกรรมการออก 1 คน คือ โจทก์ โดยมีจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้มอบอำนาจและประทับตราสำคัญของบริษัท มีจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับมอบอำนาจ และมีจำเลยที่ 4 ลงลายมือชื่อเป็นพยาน ในการยื่นขอจดทะเบียนดังกล่าว จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทในสำเนาคำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัด สำเนาคำรับรองการจดทะเบียนบริษัทจำกัด สำเนารายการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมและ/หรือมติพิเศษ (แบบ บอจ.4) และจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในหนังสือเรื่องส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทช่วง ทรัพย์ทวี จำกัด โดยอ้างการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2559 ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 มีผู้ถือหุ้น 3 คน คือ นางสาวทิพสุคนธ์ถือหุ้น 1,000 หุ้น นางสาวปัญจณัฐฎา ซึ่งเป็นบุตรสาวของโจทก์ถือหุ้น 1,000 หุ้น และจำเลยที่ 1 ถือหุ้น 8,000 หุ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันปลอมรายการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมและ/หรือมติพิเศษ (แบบ บอจ.4) และใช้เอกสารปลอมดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการคนหนึ่งของบริษัทช่วง ทรัพย์ทวี จำกัด ลงลายมือชื่อในรายการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมและ/หรือมติพิเศษ (แบบ บอจ.4) โดยระบุชื่อโจทก์เป็นกรรมการที่ออกจากตำแหน่งนั้น เป็นการลงลายมือชื่อในนามของจำเลยที่ 1 เอง มิได้เป็นการปลอมลายมือชื่อผู้อื่นในเอกสารและไม่ใช่การเพิ่มเติมข้อความในเอกสารที่แท้จริง เอกสารดังกล่าวจึงมิใช่เอกสารปลอม แม้ไม่มีตราประทับของบริษัทก็ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำในนามของบุคคลอื่น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานปลอมเอกสารและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันใช้เอกสารปลอมหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการที่สองว่า การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานโดยเชื่อว่าโจทก์ให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ 1 ไปยื่นคำขอจดทะเบียนเอาโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการบริษัทช่วง ทรัพย์ทวี จำกัด เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันปลอมรายการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมและ/หรือมติพิเศษ (แบบ บอจ.4) และใช้เอกสารปลอม ร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการและร่วมกันใช้เอกสารเท็จ โดยโจทก์ไม่รู้เห็นยินยอมให้กระทำการดังกล่าว ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 90, 91, 137, 264, 265, 266, 267, 268 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 10, 11, 16, 17, 27, 28, 42, 47 เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การปฏิเสธ แม้จะไม่ได้ให้การต่อสู้ในรายละเอียดว่าจำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนเอาโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการบริษัทโดยได้รับความยินยอมจากโจทก์ดังที่โจทก์ฎีกามาก็ตาม เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ไม่รู้เห็นยินยอมให้กระทำการดังกล่าว ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานโจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แล้วฟังเชื่อว่า โจทก์ให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ 1 ไปยื่นคำขอจดทะเบียนเอาโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการบริษัทช่วง ทรัพย์ทวี จำกัด จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการที่สามว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 และมาตรา 268 และพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 ไม่นำเจ้าหน้าที่ของบริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) มาเบิกความสนับสนุนคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ที่กล่าวอ้างว่าโจทก์เอาเงินของร้านค้าเซเว่นอีเลฟเว่นสโตร์ สาขาเขาต่อ ไป แต่ในชั้นพิจารณาโจทก์ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า ในเดือนมกราคม 2559 มีเจ้าหน้าที่ของบริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) สาขาสำนักงานใหญ่ มาตรวจเงินคงเหลือพบว่าเงินหายไป 50,000 บาท ซึ่งอยู่ในช่วงที่โจทก์บริหารกิจการ วันที่ 11 มกราคม 2559 เจ้าหน้าที่ของบริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เรียกโจทก์ จำเลยที่ 1 และนางสาวทิพสุคนธ์มาสอบถามแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จำเลยที่ 1 และนางสาวทิพสุคนธ์นำเงินจำนวน 50,000 บาท ชำระให้บริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) วันที่ 15 มกราคม 2559 บริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เรียกโจทก์ จำเลยที่ 1 และนางสาวทิพสุคนธ์ไปเจรจาเกี่ยวกับเรื่องการบริหารร้านค้าเซเว่นอีเลฟเว่นสโตร์ สาขาเขาต่อ ที่บริษัทช่วง ทรัพย์ทวี จำกัด รับโอนกิจการมาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ครั้นหลังจากวันที่ 15 มกราคม 2559 โจทก์ไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจการของบริษัทช่วง ทรัพย์ทวี จำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทก์ตอบทนายจำเลยที่ 3 และที่ 4 ถามค้านยอมรับว่า โจทก์ขอยืนยันว่าบริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เคยแจ้งให้โจทก์ทราบว่า หากโจทก์ยังคงเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นในบริษัทช่วง ทรัพย์ทวี จำกัด บริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) จะยกเลิกสัญญาระหว่างบริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กับบริษัทช่วง ทรัพย์ทวี จำกัด ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ที่ว่า บริษัทซีพี ออลล์ จำกัด ตรวจสอบพบว่าในช่วงที่โจทก์เป็นผู้บริหารร้านค้าเซเว่นอีเลฟเว่นสโตร์ สาขาเขาต่อ มีเงินหายไปจำนวน 50,000 บาท และหลังจากที่มีการเจรจาระหว่างบริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กับโจทก์ จำเลยที่ 1 และนางสาวทิพสุคนธ์แล้ว บริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ให้ยกเลิกสัญญาฉบับแรกที่โจทก์เป็นกรรมการผู้จัดการร้าน โดยให้จำเลยที่ 1 เข้ามาเป็นผู้บริหารและเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทช่วง ทรัพย์ทวี จำกัด แทนโจทก์และต้องคัดชื่อโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการของบริษัทช่วง ทรัพย์ทวี จำกัด มิฉะนั้นจะถูกยึดร้านค้าคืนและถูกริบเงินประกันความเสียหาย ประกอบกับหลังจากที่มีการเจรจากับบริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) แล้ว โจทก์ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องดำเนินการใด ๆ ของบริษัทช่วง ทรัพย์ทวี จำกัด อีก นอกจากนี้ยังเจือสมกับคำเบิกความของจำเลยที่ 3 ว่า ประมาณกลางเดือนมกราคม 2559 โจทก์โทรศัพท์แจ้งจำเลยที่ 3 ว่า โจทก์จะลาออกจากกรรมการของบริษัทช่วง ทรัพย์ทวี จำกัด ขอให้ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนในบริษัท อันเป็นการสนับสนุนให้คำเบิกความของจำเลยที่ 1 มีน้ำหนักน่ารับฟัง ประกอบกับช่วงเวลาหลังจากโจทก์รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ของบริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) จนถึงวันที่จำเลยที่ 1 แจ้งต่อนายทะเบียนเอาชื่อโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการบริษัทเกิดขึ้นในระยะเวลาต่อเนื่องเชื่อมโยงกันตามลำดับ พฤติการณ์น่าเชื่อว่าในขณะที่โจทก์เป็นผู้บริหารกิจการร้านค้าเซเว่นอีเลฟเว่นสโตร์ สาขาเขาต่อ มีเงินหายไปจำนวน 50,000 บาท จากนั้นมีการเจรจาระหว่างบริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กับโจทก์ จำเลยที่ 1 และนางสาวทิพสุคนธ์ โดยจำเลยที่ 1 นำเงินจำนวน 50,000 บาท มาชำระคืนแก่บริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และมีข้อตกลงให้เอาโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้น และไม่ให้โจทก์เข้าไปเกี่ยวข้องดำเนินการใด ๆ ในบริษัทช่วง ทรัพย์ทวี จำกัด อีก มิฉะนั้นบริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) จะยกเลิกสัญญาระหว่างบริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กับบริษัทช่วง ทรัพย์ทวี จำกัด โจทก์จึงยินยอมให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการขอจดทะเบียนเอาชื่อโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้น และโจทก์ทราบว่ามีการจดทะเบียนเอาชื่อโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการบริษัทช่วง ทรัพย์ทวี จำกัด แล้ว ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 ดำเนินการขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมเอาชื่อโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการโดยไม่มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 จริง แต่ก็มีชื่อนางสาวปัญจณัฐฎา บุตรสาวโจทก์เป็นผู้ถือหุ้น เมื่อฟังเชื่อว่าโจทก์ให้ความยินยอมในการดำเนินการขอจดทะเบียนเอาชื่อโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้น โจทก์ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 และมาตรา 268 และพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันกระทำความผิดในข้อหาแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ และข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเพียงผู้รับจ้างจากจำเลยที่ 1 ให้ดำเนินการยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการและผู้ถือหุ้นของบริษัทช่วง ทรัพย์ทวี จำกัด โดยเอาชื่อโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นตามข้อมูลที่ได้รับจากจำเลยที่ 1 เท่านั้น แม้ในการขอจดทะเบียนเอาชื่อโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการของบริษัทช่วง ทรัพย์ทวี จำกัด จะอ้างถึงการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2559 ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งไม่มีการประชุมจริงก็ตาม แต่นายบุญปลูก นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดกระบี่ เบิกความว่า การนำชื่อโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการของบริษัท ผู้ขอซึ่งเป็นกรรมการไม่จำต้องแนบเอกสารหนังสือคำบอกกล่าวการเรียกประชุม เพียงแต่กรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อในคำรับรองการจดทะเบียนบริษัทจำกัดก็เพียงพอแล้วต่อการจดแจ้งต่อนายทะเบียน นอกจากนี้นายบุญปลูกยังตอบทนายจำเลยที่ 3 และที่ 4 ถามค้านว่า การประชุมผู้ถือหุ้น รายงานการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท และการส่งหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้นบริษัท เป็นเรื่องที่กรรมการผู้ประชุมต้องแจ้งคำบอกกล่าวให้แก่ผู้ถือหุ้นทุกคนในบริษัททราบเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องภายในของบริษัทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เมื่อไม่ปรากฏว่านายบุญปลูกมีสาเหตุโกรธเคืองหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับฝ่ายใด น่าเชื่อว่าเบิกความไปตามความเป็นจริง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีส่วนรู้เห็นกับจำเลยที่ 1 ที่ไม่จัดให้มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2559 ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 เพื่อเอาชื่อโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันพิมพ์ข้อความในหนังสือมอบอำนาจ คำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัด คำรับรองการจดทะเบียนบริษัทจำกัด รายการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมและ/หรือมติพิเศษ แล้วนำไปยื่นต่อนายทะเบียนเพื่อเอาชื่อโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นของบริษัทช่วง ทรัพย์ทวี จำกัด โดยรับรายละเอียดข้อมูลจากจำเลยที่ 1 และโจทก์ จึงเป็นการกระทำตามขั้นตอนการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการและผู้ถือหุ้นให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ได้รับจากผู้ว่าจ้างเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นการร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ และข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

พิพากษายืน

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.1398/2563

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย ด. จำเลย - นาง ว. กับพวก

ชื่อองค์คณะ อดิศักดิ์ ปัตรวลี เทพ อิงคสิทธิ์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดกระบี่ - นายกฤษ ศิริอ่อน ศาลอุทธรณ์ภาค 8 - นายเกรียงศักดิ์ ตั้งปรัชญากูล

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE