สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8477/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8477/2563

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 5, 806 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5) พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ม. 7

การที่ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยที่ 2 มีชื่อร่วมในโฉนดที่ดินและสัญญาจำนองเป็นการถือกรรมสิทธิ์แทนผู้ร้องนั้น ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของผู้ร้องซึ่งเป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อในการถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทในส่วนที่จำเลยที่ 2 ยึดถือไว้แทนผู้ร้อง การที่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจะได้รับความคุ้มครองไม่ให้ต้องเสื่อมเสียถึงสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้สามัญตามคำพิพากษา เมื่อจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อไว้ต่อโจทก์ โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเป็นตัวแทนของผู้ร้องในการถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาท โจทก์จึงไม่ได้อยู่ในฐานะบุคคลภายนอกที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 806 แต่เมื่อคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดของผู้ร้องระบุว่าการมีชื่อจำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในโฉนดที่ดิน หนังสือสัญญาขายที่ดิน และสัญญาจำนอง เป็นการทำนิติกรรมอำพรางเพื่อให้ธนาคารปล่อยเงินกู้ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ร้อง ย่อมแสดงว่าผู้ร้องตระหนักดีว่าเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของผู้ร้องฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอกพฤติการณ์ของผู้ร้องเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาท ซึ่งปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7

เนื้อหาฉบับเต็ม

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากส่งคืนไม่ได้ให้ชดใช้ราคาแทนเป็นเงิน 1,641,666.67 บาท กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 440,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อหรือใช้ราคาแทน และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์อีกเดือนละ 40,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อหรือใช้ราคาแทน แต่ไม่เกิน 5 เดือน จำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์จึงขอให้ออกหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 31906 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 2 และผู้ร้องถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการยึดทรัพย์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง

โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 31906 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกกับโจทก์ มีจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันตกลงยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์ จำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอให้ออกหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 31906 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 2 และผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า ผู้ร้องขอให้เพิกถอนการยึดและปล่อยทรัพย์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวได้หรือไม่ เห็นว่า การที่ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยที่ 2 มีชื่อร่วมอยู่ในโฉนดที่ดินและสัญญาจำนองแต่เพียงในนามซึ่งเป็นการมีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนผู้ร้องเท่านั้น กรณีเช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของผู้ร้องซึ่งเป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อในการถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทสำหรับส่วนที่จำเลยที่ 2 ยึดถือไว้แทนผู้ร้อง แต่ปัญหาว่าโจทก์เป็นบุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองไม่ให้ต้องเสื่อมเสียถึงสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 806 หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 806 บัญญัติว่า ตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อจะกลับแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาใด ๆ ซึ่งตัวแทนได้ทำไว้แทนตนก็ได้ แต่ถ้าตัวการผู้ใดได้ยอมให้ตัวแทนของตนทำการออกหน้าเป็นตัวการไซร้ ท่านว่าตัวการผู้นั้นหาอาจจะทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันเขามีต่อตัวแทน และเขาขวนขวายได้มาแต่ก่อนที่รู้ว่าเป็นตัวแทนนั้นได้ไม่ โจทก์เป็นเจ้าหนี้สามัญตามคำพิพากษา เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อกับโจทก์ จำเลยที่ 2 มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำที่จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของผู้ร้องในการถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาท โจทก์จึงไม่ได้อยู่ในฐานะบุคคลภายนอกที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 806 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยแล้ว อย่างไรก็ตาม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 บัญญัติว่า ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต ตามคำร้องขอให้เพิกถอนการยึดและปล่อยทรัพย์ที่ยึดของผู้ร้องระบุว่าเหตุที่ปรากฏชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในโฉนดที่ดิน หนังสือสัญญาขายที่ดิน และในสัญญาจำนอง เป็นเพียงการทำนิติกรรมอำพรางขึ้นเพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์ที่ทางธนาคารจะสามารถดำเนินการปล่อยเงินกู้ในการซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในคดีนี้ให้แก่ผู้ร้อง ย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องตระหนักดีว่าการกระทำของผู้ร้องดังกล่าวเป็นการอำพรางเพื่อให้ได้รับเงินกู้จากสถาบันการเงินอันเป็นการกระทำไปเพื่อประโยชน์ของผู้ร้องเพียงฝ่ายเดียวทั้งสิ้น โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลภายนอกซึ่งมิอาจล่วงรู้ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ ครั้นต่อมาเมื่อโจทก์นำยึดทรัพย์พิพาท ผู้ร้องกลับมาร้องขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาทที่ยึดว่าเป็นของผู้ร้องเพียงผู้เดียว โดยอ้างว่าผู้ร้องและจำเลยที่ 2 ตกลงกันว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นของผู้ร้องเพียงผู้เดียวตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย ร.7 ทั้งบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย ร.7 เป็นเอกสารที่ทำขึ้นระหว่างผู้ร้องและจำเลยที่ 2 โดยไม่ปรากฏว่ามีพนักงานธนาคารหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาเบิกความรับรองบันทึกดังกล่าว ล้วนแต่เป็นการง่ายในการจัดทำเอกสารขึ้น จากพฤติการณ์ของผู้ร้องเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตดังที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาท และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ปล่อยทรัพย์พิพาทที่โจทก์นำยึดมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องขอ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ผบ.(พ)182/2562

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - บริษัท ร. โดยบริษัทบริหารสินทรัพย์ ท. ผู้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทน ผู้ร้อง - พันตำรวจโท ส. จำเลย - บริษัท ก. กับพวก

ชื่อองค์คณะ สันติชัย วัฒนวิกย์กรรม์ ประมวญ รักศิลธรรรม ทองธาร เหลืองเรืองรอง

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดสมุทรปราการ - นายกรณ์ ปิ่นวิรุฬห์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 - นายสรารักษ์ สุวรรณเสรี

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE