คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7943/2542
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 222 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 87 พระราชบัญญัติการกักเรือ พ.ศ. 2534 ม. 4
เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าเรือที่ไม่นำเรือที่โจทก์เช่าไปบรรทุกสินค้าตามวันเวลาที่ตกลงกับโจทก์ตามสัญญาเช่าเรือทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยได้เพียงใดหรือไม่ ย่อมเป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องนำสืบพิสูจน์ เว้นแต่หากโจทก์พิสูจน์ความเสียหายไม่ได้ตามที่เรียกร้องมาแล้ว ศาลก็มีอำนาจที่จะกำหนดค่าเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นจากการที่จำเลยผิดสัญญาเช่าเรือได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 แต่ค่าเสียหายที่โจทก์จะได้รับก็ต้องอยู่ในเงื่อนไขสัญญาเช่าเรือด้วย หากโจทก์พิสูจน์ได้ว่าเสียหายไปจริง โจทก์ก็มีสิทธิได้รับค่าเสียหายไปตามจำนวนที่เรียกร้อง แต่ต้องไม่เกินกว่าค่าระวางโดยประมาณ
ความรับผิดในค่าเสียหายคงมีแต่เฉพาะความเสียหายที่เกิดขึ้นตามปกติในการผิดสัญญาเท่านั้น การที่ผู้ว่าจ้างโจทก์ซึ่งไม่ได้เป็นคู่สัญญาเช่าเรือได้ทำสัญญากับบริษัทผู้ซื้อสินค้าว่า หากผิดสัญญาจะต้องถูกปรับในอัตราร้อยละ 30 ของราคาซื้อขายกันหรือไม่นั้น ย่อมเป็นพฤติการณ์พิเศษ ซึ่งจำเลยมิอาจคาดเห็นได้ว่ามีข้อตกลงเช่นนั้น โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยรับผิดค่าเสียหายที่เกิดจากพฤติการณ์พิเศษส่วนนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 วรรคสอง การที่โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าเรือจากจำเลยย่อมก่อให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับเรือ ในการที่จะยื่นคำร้องต่อศาลขอให้กักเรือไว้ไม่ให้เดินทางออกจากท่าได้ด้วยเหตุที่จำเลยผิดสัญญาเช่าเรือตาม พ.ร.บ.การกักเรือ พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ซึ่งถือเป็นการดำเนินการเพื่อให้เป็นประกันในการที่จะบังคับให้จำเลยชำระหนี้ค่าเสียหายอันเกิดจากการที่จำเลยผิดสัญญาเช่าเรือ
โจทก์ฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ว่า เมื่อประมาณปลายเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๐ บริษัทฟังเชง (เอช. เค) ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด ว่าจ้างโจทก์ให้ขนส่งสินค้าน้ำตาลบรรจุกระสอบจำนวน ๑,๙๐๐ เมตริกตัน จากท่าเรือกรุงเทพหรือท่าเรือแหลมฉบัง หรือท่าเรือศรีราชา ไปยังท่าเรือเมืองไปไห่ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่เนื่องจากโจทก์ไม่มีเรือเป็นของตนเอง จึงติดต่อขอเช่าเรือจากจำเลย โดยเมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๔๐ โจทก์ทำสัญญาเช่าเรือ "มรกต" ให้บรรทุกสินค้าน้ำตาลดังกล่าวข้างต้นในอัตราค่าระวาง ๑๙ ดอลลาร์สหรัฐต่อเมตริกตัน กำหนดบรรทุกสินค้าลงเรือในระหว่างวันที่ ๒๔ ถึง ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๐ แต่เมื่อถึงกำหนดจำเลยผิดสัญญาโดยนำเรือมรกตไปบรรทุกสินค้าปูนซีเมนต์ของผู้เช่ารายอื่นแทน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายในการที่สินค้าไปถึงท่าเรือปลายทางล่าช้าทำให้เจ้าของผู้ขายสินค้าต้องจ่ายค่าปรับแก่ผู้รับสินค้า (ผู้ซื้อ) ในอัตราร้อยละ ๓๐ ของราคาสินค้า คิดเป็นเงินจำนวน ๑๗๑,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเบี้ยประกันภัยสินค้าเป็นเงิน ๑๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเช่าเรือลำใหม่ซึ่งต้องจ่ายค่าระวางเรือเพิ่มขึ้นประมาณ ๑๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑๙๑,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๔๐ ในอัตรา ๑ ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ ๓๖.๗๕ บาท เป็นเงิน ๖,๙๒๓,๗๕๐ บาท และจำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๐ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๐ เป็นเวลา ๓๘ วัน เป็นเงิน ๕๔,๐๖๒.๑๕ บาท เมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๔๐ โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ขอกักเรือมรกตของจำเลยตาม พ.ร.บ.การกักเรือ พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งในวันเดียวกันศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้มีคำสั่งให้กักเรือมรกต เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการปิดหมายกักเรือไว้บนเรือมรกต ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๔๙๓๙/๒๕๔๐ ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ในการที่โจทก์ร้องขอกักเรือมรกตดังกล่าว ทำให้โจทก์ต้องเสียค่าธรรมเนียมกักเรือ ค่าขึ้นศาล และค่าใช้จ่ายในการกักเรือเป็นเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท และค่าทนายความ ๑๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยต้องรับผิดชำระให้แก่โจทก์ด้วย รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น ๗,๒๗๗,๘๑๒.๑๕ บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน ๗,๒๗๗,๘๑๒.๑๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๖,๙๒๙,๗๕๐ บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาคู่ความยื่นคำร้องร่วมกันขอให้โอนคดีนี้ไปพิจารณาพิพากษาที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้โอนคดีนี้ไปพิจารณาที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๔๖
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๐ บริษัทฟังเชง (เอช. เค) ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด ว่าจ้างโจทก์ขนส่งน้ำตาลบรรจุกระสอบจำนวน ๑,๙๐๐ เมตริกตัน จากท่าเรือกรุงเทพ หรือท่าเรือแหลมฉบัง หรือท่าเรือศรีราชาไปยังท่าเรือไปไห่ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๔๐ โจทก์จึงทำสัญญาเช่าเรือมรกตของจำเลย โดยให้จำเลยนำเรือมรกตไปบรรทุกสินค้าน้ำตาลดังกล่าวลงเรือในระหว่างวันที่ ๒๔ ถึง ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๐ แต่จำเลยผิดสัญญามิได้นำเรือมรกตไปบรรทุกสินค้าน้ำตาลตามกำหนดดังกล่าว โดยจำเลยอ้างว่าเครื่องรับส่งวิทยุทางไกลของเรือมรกตชำรุด ต้องรออะไหล่จากประเทศสิงคโปร์เพื่อนำไปเปลี่ยนให้เรียบร้อยก่อน เพราะหากไม่มีเครื่องรับส่งวิทยุทางไกลแล้วเรือมรกตไม่อาจออกแล่นในทะเลหลวงเป็นระยะทางไกล ๆ ได้ เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๐ จำเลยนำเรือมรกตไปบรรทุกสินค้าปูนซีเมนต์ที่มีผู้ว่าจ้างให้ขนส่งไปยังท่าเรือกัมปงโสม ประเทศกัมพูชา และได้ขนสินค้าปูนซีเมนต์บรรทุกลงเรือมรกตเสร็จในวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๔๐ แต่ในวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๔๐ ได้มีหมายกักเรือมรกตไม่ให้เดินทางออกจากท่าเรือกรุงเทพตามคำร้องของโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๔๙๓๙/๒๕๔๐ ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการเดียวว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าเสียหายได้เพียงใดหรือไม่เท่านั้น ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายของโจทก์ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเรือ "เจนคอน" (Gencon) ตามที่ระบุไว้เป็นเงื่อนไข ซึ่งเงื่อนไขสัญญาเช่าเรือ "เจนคอน" ข้อ ๑๒ เรื่องการชดใช้ค่าเสียหายที่ระบุว่า "การชดใช้สำหรับการไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญานี้ ความเสียหายที่พิสูจน์แล้วไม่เกินค่าระวางโดยประมาณ" นั้น เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น เพราะไม่ปรากฏว่าจำเลยให้การต่อสู้คดีว่า การเช่าเรือมรกตอยู่ภายใต้เงื่อนไขสัญญาเช่าเรือ "เจนคอน" โดยเฉพาะข้อ ๑๒ แต่อย่างใด เป็นกรณีที่ศาลหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเอง จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติว่าด้วยการทำคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. นั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์นั้น โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าเรือมรกตจากจำเลยตามสัญญาเช่าเรือ จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ แต่เมื่อปรากฏว่ามีข้อตกลงในสัญญาเช่าเรือไว้ให้สัญญาเช่าเรือนี้อยู่ภายใต้เงื่อนไขสัญญาเช่าเรือ "เจนคอน" ด้วยแล้ว ดังนั้น แม้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ถึงความรับผิดของจำเลยไว้ว่าจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเรือ "เจนคอน" โดยจำเลยให้การต่อสู้เพียงว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เช่าเรือมรกต แต่เป็นเพียงนายหน้าหรือตัวแทน หากโจทก์เสียหายก็คงมีเฉพาะที่ไม่ได้ค่านายหน้า หาใช่ต้องเสียหายจากการที่จำเลยผิดสัญญาเช่าดังข้อกล่าวอ้างของโจทก์เท่านั้นก็ตาม จำเลยก็ยังมีสิทธิที่จะนำสืบว่าตามสัญญาเช่าเรือที่โจทก์อ้างมีข้อตกลงอะไรบ้าง เพราะหากศาลวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยนำสืบมาฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้เช่าเรือมรกตจากจำเลย มิใช่เป็นเพียงนายหน้าหรือตัวแทนแล้ว การที่จะพิจารณาว่าโจทก์และจำเลยมีความผูกพันกันอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาเช่าเรือที่ทำต่อกันไว้นั่นเอง เมื่อข้อตกลงในสัญญาเช่าเรือระบุว่า สัญญาเช่านี้อยู่ภายใต้เงื่อนไขสัญญาเช่าเรือ "เจนคอน" แล้ว การที่จำเลยนำสืบถึงสัญญาเช่าเรือ "เจนคอน" เพื่อให้เห็นว่าสัญญาเช่าเรือ "เจนคอน" มีข้อกำหนดอะไรบ้างก็ย่อมกระทำได้ ดังนั้น การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหยิบยกเงื่อนไขในสัญญาเช่าเรือ "เจนคอน" ข้อ ๑๒ ขึ้นมาแล้ววินิจฉัยถึงความรับผิดของโจทก์และจำเลยที่เป็นคู่กรณีว่าจะมีต่อกันเพียงใดนั้น ย่อมเป็นการชอบแล้ว ไม่ใช่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นดังที่โจทก์อุทธรณ์ ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยตามสัญญาเช่าเรือ "เจนคอน" ข้อ ๑๒ ระบุว่า "การชดใช้สำหรับการไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญานี้ ความเสียหายที่พิสูจน์แล้วจะไม่เกินจำนวนค่าระวางโดยประมาณ" ว่าโจทก์พิสูจน์ความเสียหายไม่ได้ จึงถือไม่ได้ว่าค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องเป็นความเสียหายพิสูจน์แล้วเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อพิจารณาถ้อยคำในภาษาอังกฤษที่ว่า "๑๒. Indemnity : Indemnity for non-performance of this Charterparty, proved damages, not exceeding Estimated amount of freight" นั้นแปลว่า "ค่าชดเชยสำหรับการไม่ชำระหนี้ตามสัญญาเช่าเรือนี้ ค่าเสียหายที่พิสูจน์ได้ไม่เกินค่าระวางโดยประมาณ" มีความหมายอยู่ ๒ นัย หาใช่มีความหมายเพียงว่า โจทก์จะต้องพิสูจน์ความเสียหายให้ได้เสียก่อน จำเลยจึงจะต้องชดใช้ให้ดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยไม่ เพราะเจตนารมณ์ของสัญญาเช่าเรือ "เจนคอน" ข้อ ๑๒ มีขึ้นเพื่อเป็นการลงโทษฝ่ายผิดสัญญาเช่าเรือ ซึ่งสอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา ๒๑๕ แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งให้ศาลกำหนดค่าสินไหมทดแทนได้ตามที่เห็นสมควรในการที่ฝ่ายถูกเรียกร้องละเลยไม่ชำระหนี้ตามสัญญา แต่ถ้าฝ่ายเรียกร้องพิสูจน์ความเสียหายที่แท้จริงได้ ก็ต้องชดใช้ตามที่พิสูจน์ได้นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าเรือมรกตที่ไม่นำเรือมรกตไปบรรทุกสินค้าตามวันเวลาที่ตกลงกับโจทก์ตามสัญญาเช่าเรือ ตามคำวินิจฉัยของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ซึ่งผลแห่งการที่จำเลยผิดสัญญาดังกล่าว โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายและมีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาจากจำเลยได้โดยชอบ แต่ความเสียหายที่โจทก์เรียกร้องกล่าวอ้างมาตามฟ้องนั้น โจทก์จะมีสิทธิเรียกร้องได้เพียงใดหรือไม่ ย่อมเป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องนำสืบพิสูจน์ให้ได้ความเช่นนั้น เว้นแต่หากโจทก์พิสูจน์ความเสียหายไม่ได้ตามที่เรียกร้องมาแล้ว ศาลก็มีอำนาจที่จะกำหนดค่าเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นจากการที่จำเลยผิดสัญญาเช่าเรือได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๒๒ แต่ทั้งนี้ไม่ว่าค่าเสียหายที่โจทก์จะพึงได้รับจากการที่ศาลเป็นผู้กำหนดให้ในกรณีที่โจทก์พิสูจน์ความเสียหายตามที่เรียกร้องไม่ได้ หรือหากโจทก์สามารถพิสูจน์ความเสียหายที่เรียกร้องได้ตามฟ้อง ค่าเสียหายที่โจทก์จะได้รับก็ต้องอยู่ในเงื่อนไขสัญญาเช่าเรือ "เจนคอน" ข้อ ๑๒ ด้วย โดยค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมานั้น ไม่ว่าถ้อยคำภาษาอังกฤษที่ว่า "proved damages" ที่โจทก์อุทธรณ์แปลว่า "ค่าเสียหายที่พิสูจน์ได้" ไม่ใช่แปลว่า "ค่าเสียหายที่พิสูจน์แล้ว" ดังเช่นจำเลยแปลก็ตาม ก็หามีความหมายแตกต่างกันไม่ คือโจทก์มีหน้าที่ต้องพิสูจน์ความเสียหายที่เรียกร้องมาตามฟ้อง หากพิสูจน์ได้ว่าเสียหายไปจริง โจทก์ก็มีสิทธิได้รับค่าเสียหายไปตามจำนวนที่เรียกร้อง แต่ต้องไม่เกินกว่าค่าระวางโดยประมาณเท่านั้น ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์สามารถพิสูจน์ความเสียหายที่เรียกร้องได้ เพราะเมื่อจำเลยผิดสัญญาไม่นำเรือมรกตไปบรรทุกสินค้า เป็นเหตุให้ผู้ว่าจ้างโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายสินค้าผิดสัญญาต่อผู้ซื้อสินค้า บริษัทฟังเชง (เอช. เค.) ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด ผู้ว่าจ้างโจทก์แจ้งให้โจทก์รับผิดชอบใช้ค่าเสียหายและโจทก์ได้ชำระค่าเสียหายแล้วตามใบเรียกเก็บเงินและใบรับเงิน แม้โจทก์ไม่มีหลักฐานการส่งเงินมาแสดงก็เพียงพอให้รับฟังว่า โจทก์ได้ชำระค่าเสียหายเท่ากับค่าปรับร้อยละ ๓๐ ของราคาซื้อขายเป็นจำนวนเงิน ๑๗๑,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ค่าประกันภัยจำนวน ๑๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ และค่าที่จ่ายค่าระวางเรือลำใหม่เพิ่มขึ้นอีก ๑๘,๔๐๓ ดอลลาร์สหรัฐ (ตามฟ้องเป็นจำนวน ๑๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ) นั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะมีหลักฐานใบเรียกเก็บเงินและใบรับเงินมาแสดงเพื่อให้เห็นว่า โจทก์ได้รับความเสียหายจากการผิดสัญญาของจำเลยจึงทำให้โจทก์ต้องชำระค่าเสียหายให้แก่บริษัทฟังเชง (เอช. เค.) ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด ผู้ว่าจ้างโจทก์เป็นเงินรวม ๑๙๑,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ก็ตาม แต่ก็เป็นการนำสืบลอย ๆ ว่า โจทก์ยอมชำระเงินค่าเสียหายตามที่บริษังฟังเชง (เอช. เค.) ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด เรียกร้องมาโดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าบริษัทฟังเชง (เอช. เค.) ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนดังกล่าวจริง เสมือนหนึ่งว่าเป็นการจ่ายเงินไปตามอำเภอใจ กล่าวคือ สำหรับค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องในส่วนค่าระวางที่เพิ่มขึ้นนั้น โจทก์อุทธรณ์ว่า เหตุที่โจทก์ชำระเงินค่าระวางเพิ่มขึ้นให้แก่บริษัทฟังเชง (เอช. เค.) ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด เป็นจำนวน ๑๘,๔๐๓ ดอลลาร์สหรัฐ เพราะได้คำนวณแล้วเห็นว่ามีเหตุผล เมื่อเอาจำนวนดังกล่าวเป็นตัวตั้งหารด้วยจำนวนสินค้า ๑,๙๐๐ เมตริกตันแล้ว ค่าระวางเพิ่มขึ้นเมตริกตันละ ๙.๖ ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นไปตามภาวการณ์ตลาดในขณะนั้น เนื่องจากไม่มีเรือเดินทางไปประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จึงเป็นโอกาสให้เจ้าของเรือลำใหม่มีอำนาจต่อรองสูง แม้จะทราบว่าถูกโก่งราคา แต่เพื่อให้สินค้าส่งไปถึงมือผู้ซื้อตามสัญญา บริษัทฟังเชง (เอช. เค.) ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด จึงตกลงจ่ายค่าระวางที่เพิ่มขึ้นนั้น เห็นว่า เป็นกรณีที่โจทก์ยอมจ่ายค่าระวางที่เพิ่มขึ้นให้ไปโดยความเห็นของโจทก์เองว่าเป็นการสมควรตามที่บริษัทฟังเชง (เอช. เค.) ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด เรียกร้อง ทั้ง ๆ ที่ไม่มีหลักฐานใด ๆ มายืนยันว่าได้มีการว่าจ้างให้ขนส่งสินค้าหรือมีการเช่าเรือลำใหม่เพื่อขนส่งสินค้าในอัตราค่าระวางเท่าใด จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่ามีการจ่ายค่าระวางเพิ่มขึ้นตามจำนวนที่โจทก์กล่าวอ้างไปจริง ส่วนค่าเสียหายที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่บริษัทฟังเชง (เอช. เค.) ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด ที่ต้องถูกบริษัทผู้ซื้อสินค้าปรับอัตราร้อยละ ๓๐ ของราคาซื้อขาย เป็นเงินจำนวน ๑๗๑,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ให้โจทก์นั้น เห็นว่า แม้จะรับฟังว่าโจทก์ต้องเสียหายจากการที่จำเลยผิดสัญญาเช่าเรือมรกต เป็นเหตุให้บริษัทฟังเชง (เอช. เค.) ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด ผู้ว่าจ้างโจทก์ต้องถูกปรับเป็นเงินจำนวน ๑๗๑,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ดังเช่นที่โจทก์อุทธรณ์ก็ตาม แต่ความรับผิดในค่าเสียหายที่จำเลยผู้ผิดสัญญาจะต้องชดใช้ให้แก่โจทก์นั้น ก็คงมีแต่เฉพาะความเสียหายที่เกิดขึ้นตามปกติในการผิดสัญญาเท่านั้น แต่การที่บริษัทฟังเชง (เอช. เค.) ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด ผู้ว่าจ้างโจทก์จะได้ทำสัญญากับบริษัทผู้ซื้อสินค้าว่าหากผิดสัญญาจะต้องถูกปรับในอัตราร้อยละ ๓๐ ของราคาซื้อขายกันหรือไม่นั้น ย่อมเป็นพฤติการณ์พิเศษเพราะบริษัทฟังเชง (เอช. เค.) ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด มิได้เป็นคู่สัญญาเช่าเรือมรกตจากจำเลย ซึ่งจำเลยย่อมมิอาจคาดเห็นได้ว่ามีข้อตกลงเช่นนั้น ทั้งตามสัญญาเช่าเรือที่โจทก์ให้จำเลยนำเรือมรกตไปบรรทุกสินค้านั้น ก็มิได้ระบุว่าเป็นสินค้าของบริษัทฟังเชง (เอช. เค.) ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด แต่อย่างใด และจากทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ได้ความว่า โจทก์ได้บอกให้จำเลยทราบถึงข้อตกลงดังกล่าวเลย เช่นนี้โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยรับผิดค่าเสียหายดังกล่าวซึ่งเป็นค่าเสียหายที่เกิดจากพฤติการณ์พิเศษส่วนนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๒๒ วรรคสอง สำหรับค่าเสียหายที่เป็นค่าประกันภัยจำนวน ๑๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ในการที่บริษัทฟังเชง (เอช. เค.) ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด
ต้องจ่ายให้แก่บริษัทประกันภัยในการประกันภัยสินค้าที่จะต้องขนส่งโดยเรือมรกตของจำเลยนั้น ทางนำสืบของโจทก์ได้ความแต่เพียงว่า บริษัทฟังเชง (เอช. เค.) ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด ได้ทำประกันภัยสินค้าที่บรรทุกโดยเรือมรกตตามสำเนากรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลเท่านั้น แต่เอกสารดังกล่าวนี้ไม่ปรากฏว่าจำนวนเบี้ยประกันภัยที่บริษัทฟังเชง (เอช. เค.) ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด ต้องจ่ายเป็นจำนวนเท่าใด คงระบุแต่เพียงทุนประกันภัยจำนวน ๕,๐๘๙,๐๐๐ ดอลลาร์ฮ่องกง เท่านั้น เมื่อโจทก์ไม่มีหลักฐานใด ๆ มาแสดงให้เห็นว่าบริษัทฟังเชง (เอช. เค.) ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด ได้จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยสินค้าเป็นจำนวนตามที่โจทก์เรียกร้อง และเหตุใดจึงไม่ได้รับคืนเมื่อไม่มีการขนส่งสินค้าโดยเรือมรกตตามที่ระบุในกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเล ทำให้โจทก์ต้องเสียหายเนื่องจากต้องจ่ายค่าเสียหายในส่วนค่าเบี้ยประกันภัยไปตามที่บริษัทฟังเชง (เอช. เค.) ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด เรียกร้องดังที่โจทก์กล่าวอ้าง การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ จึงเป็นการชอบแล้ว ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการที่โจทก์ยื่นคำร้องขอกักเรือมรกตของจำเลยรวม ๓๐๐,๐๐๐ บาท ว่าเป็นค่าเสียหายที่จำเลยต้องชำระให้แก่โจทก์ด้วยเหตุที่จำเลยผิดสัญญาเช่าเรือด้วยนั้น เห็นว่า การที่โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าเรือมรกตจากจำเลย ย่อมก่อให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับเรือมรกตในการที่จะยื่นคำร้องต่อศาลขอให้กักเรือมรกตไว้ไม่ให้เดินทางออกจากท่าได้ด้วยเหตุที่จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าเรือมรกตตาม พ.ร.บ. การกักเรือ พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔ ซึ่งถือเป็นการดำเนินการเพื่อให้เป็นประกันในการที่จะบังคับให้จำเลยชำระหนี้ค่าเสียหายอันเกิดจากการที่จำเลยผิดสัญญาเช่าเรือมรกต โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้จากจำเลย แต่ที่โจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการร้องขอกักเรือมรกตรวมทั้งค่าทนายความจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท พยานโจทก์เบิกความลอย ๆ ว่าโจทก์ต้องจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวไปโดยมิได้มีใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานอื่นใดมาแสดง ข้อเท็จจริงจึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่า โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนที่โจทก์กล่าวอ้างจริง ส่วนค่าประกันความเสียหายที่โจทก์ต้องวางต่อศาลจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท นั้น หากไม่มีความเสียหายใด ๆ เกิดขึ้นแก่จำเลยในการที่โจทก์ขอกักเรือมรกตแล้วโจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับคืน โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าประกันดังกล่าวจากจำเลย อย่างไรก็ตาม การที่จำเลยไม่นำเรือมรกตไปบรรทุกสินค้าให้โจทก์ตามสัญญาเช่าเรือ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ผลแห่งการที่จำเลยผิดสัญญาเช่าเรือดังกล่าวย่อมเห็นได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหาย และในเบื้องต้นโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าเสียหายซึ่งตามปกติย่อมเกิดจากการผิดสัญญานั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๒๒ วรรคแรก ดังนั้น แม้โจทก์จะนำสืบไม่ได้แน่นอนว่า โจทก์ได้เสียหายในส่วนค่าระวางที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการขนส่งสินค้าโดยเรือลำอื่น และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการร้องขอกักเรือมรกตของจำเลยเป็นจำนวนตามที่โจทก์เรียกร้องดังวินิจฉัยมาแล้วก็ตาม เมื่อฟังได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายในส่วนดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ตามสมควร การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้กำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์เลยแล้วพิพากษายกฟ้องนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งตามพฤติการณ์แห่งรูปคดีเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน ๓๕๐,๐๐๐ บาท อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน ๓๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ.
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - บริษัทโอเวอร์ซีส์ ชิปปิ้ง แอนด์ เอเย่นซี่ส์ จำกัด จำเลย - บริษัทเดลต้า มาริไทม์ จำกัด
ชื่อองค์คณะ พินิจ เพชรรุ่ง สุรินทร์ นาควิเชียร จรัญ หัตถกรรม
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ - นายจักร อุตตโม ศาลอุทธรณ์